ไทยสามารถทำอะไรได้อีกมาก เพื่อช่วยหาทางออกวิกฤติพม่า


เพิ่มเพื่อน    

     ประเทศไทยควรมีบทบาทอย่างไรในกรณีวิกฤติพม่าวันนี้

                เป็นคำถามที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและเสถียรภาพของภูมิภาค

                หลายท่านที่มีความกังวลว่าจุดยืนของรัฐบาลไทยในกรณีนี้ถึงวันนี้ยังค่อนข้างสับสนและก่อให้เกิดความเข้าใจไปในทางที่มีผลเป็นลบต่อประเทศไทย

                เช่นคำถามที่ว่า รัฐบาลไทยอยู่ข้างกองทัพเมียนมาที่ใช้กำลังและอาวุธร้ายแรงไล่ล่าและสังหารประชาชนที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหารหรือไม่

                แม้นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะย้ำหลายครั้งว่าประเทศไทยมีแนวทางเดียวกับอาเซียนและสหประชาชาติ แต่ในทางปฏิบัติก็มีรายละเอียดที่ย้อนแย้งกับหลักการที่ประกาศเป็นนโยบายของไทย

                ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ วันนี้มีตำแหน่งประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) บอกว่า

                เมื่อทหารเมียนมาปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงเช่นนี้ “ทำให้หลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศอาเซียนต้องมีการทำความเข้าใจกันใหม่...”

                ตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาตินั้น เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเป็นข้อยกเว้นของหลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ

                เมื่อเกิดเรื่องอย่างนี้ ประเทศนั้นๆ ก็หมดสิทธิ์ที่จะอ้างหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน”

                เพราะเมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ก็กลายเป็นเรื่องของสังคมระหว่างประเทศแล้ว

                ดร.สุรเกียรติ์บอกว่า การที่รัฐบาลไทยเลือกที่จะนั่งเฉยโดยอ้างหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในเป็นเรื่องผิดจากหลักปฏิบัติของนานาชาติ

                ไม่แต่เท่านั้น ยังทำให้สังคมระหว่างประเทศมองไทยด้วยความเข้าใจว่าไทยยอมรับหรือสนับสนุนการใช้กระสุนจริงของกองทัพเมียนมา

                "ผมมั่นใจว่านี่ไม่ใช่จุดยืนของประเทศไทยและคนไทย” อดีตรองนายกฯ บอก

                ข้อเสนอคือให้รัฐบาลไทยประกาศจุดยืนร่วมกับนานาชาติที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาจนเกิดผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก

                “โดยไม่ต้องเป็นห่วงว่าเพื่อนบ้านจะไม่สบายใจ เพราะจุดยืนของไทยเราในการที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นนั้นยังเหมือนเดิม แต่การขอร้องให้หยุดการกระทำที่ไม่มีมนุษยธรรมย่อมเป็นสิ่งที่เพื่อนต้องตักเตือนกัน...”

                ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ความรุนแรงปราบปรามนั้นย่อมจะมีผลทำให้ไทยต้องรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย

                การใช้ “การทูตที่ไม่เป็นข่าว” (Quiet diplomacy) เพื่อให้กองทัพเมียนมากับนางอองซาน ซูจี และผู้ประท้วงมีการเจรจากันนั้น “เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง”

                ไทยและอาเซียนต้องทำงานหนักขึ้นร่วมกับจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อช่วยให้เมียนมากลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

                สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม แห่งคณะเศรษฐศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าไทยจะต้องใช้กลไกอาเซียนในการเข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤติ

                โดยใช้ “ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ” (ASEAN Coordinating Center for Humanitarian Assistance and Disaster Management หรือ AHA) เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงครามจากเมียนมา

                ไทยควรจะปรึกษาหารือกับสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่จะวางแผนช่วยเหลือผู้หนีภัยจากเมียนมาเพื่อทำในนามอาเซียน มิใช่เป็นภาระของไทยแต่เพียงผู้เดียว

                อีกทั้งหากทำในนามอาเซียนก็จะหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดของฝ่ายทหารเมียนมาว่าไทยช่วยเหลือผู้ที่อยู่คนละข้างกับกองทัพของเมียนมา

                ดร.ปิติเสนอด้วยว่า อาเซียนควรจะดำเนินการคว่ำบาตรอย่างมีเป้าหมาย หรือ Targetted Sanctions เพื่อระงับและตัดท่อน้ำเลี้ยงต่อเส้นทางการเข้าถึงและการใช้เงินของผู้นำกองทัพเมียนมาที่มาอยู่ในบางประเทศอาเซียน เช่น สิงคโปร์และไทย

                วิธีการดำเนินการควรจะต้องทำเป็นทางลับ คุยกันนอกรอบ ไม่เป็นทางการระหว่างไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์และอินโดนีเซีย

                บทบาทเปิดเผยในเรื่องนี้อาจจะเป็นของอินโดนีเซียที่เป็นประเทศใหญ่และไม่มีชายแดนติดกับเมียนมา ไม่มีความสุ่มเสี่ยงที่กองทัพเมียนมาจะผิดใจกัน

                รัฐบาลสิงคโปร์จะต้องร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะเป็นเกาะที่ผู้นำทหารเมียนมาใช้เป็นที่ฝากเงินและทรัพย์สินไม่น้อย

                ไทยเราไม่ต้องออกหน้า และยังเปิดช่องทางที่นายทหารเมียนมา, อองซาน ซูจี, มหาอำนาจและทุกชาติที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การเจรจาหาทางออกทางการเมืองที่ทุกฝ่ายจะยอมรับได้

                ได้เวลาที่รัฐบาลไทยจะใช้ “การทูตไทย” เพื่อประโยชน์ของไทยและภูมิภาคนี้อย่างเต็มที่แล้ว!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"