บรูไน ซึ่งเป็นประธานกลุ่มอาเซียนวาระปัจจุบัน สนับสนุนให้ผู้นำกลุ่มอาเซียนประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่เตรียมการจัดประชุมที่กรุงจาการ์ตา ขณะทางการเมียนมาปล่อยตัวสามี-ภรรยาที่ปรึกษาธุรกิจชาวออสเตรเลียกลับประเทศแล้ว
แฟ้มภาพ สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน ขณะเสด็จเยือนมาเลเซียเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 (Photo by Adli Ghazali/Anadolu Agency/Getty Images)
ท่าทีของบรูไนมีออกมาภายหลังนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน ของมาเลเซีย พบปะกับสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน เมื่อวันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2564 โดยแถลงการณ์ร่วมของรัฐบาลทั้งสองกล่าวว่า ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องกันที่ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนจะประชุมเพื่อหารือพัฒนาการที่กำลังดำเนินอยู่ในเมียนมา
กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทำให้ชาวเมียนมาออกมาประท้วงต่อต้านทั่วประเทศ นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า มีคนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 557 คนจากการใช้กำลังปราบปรามของกองกำลังความมั่นคง
แถลงการณ์ร่วมของบรูไนและมาเลเซียกล่าวว่า ทั้งสองประเทศได้ร้องขอให้รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของตน "เตรียมการที่จำเป็นสำหรับการประชุมที่จะจัดขึ้นที่สำนักเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย" แต่คำแถลงไม่ได้ระบุว่าเป็นเมื่อใด
อินโดนีเซียเป็นผู้นำความพยายามของสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีการหาทางออกผ่านการเจรจา ถึงแม้ว่าอาเซียนจะมีนโยบายที่ยึดถือมายาวนานที่ไม่ก้าวก่ายปัญหาภายในของเพื่อนสมาชิก
ในการประชุมเมื่อวันจันทร์ ผู้นำมาเลเซียและบรูไนได้แสดงความกังวลต่อจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นในเมียนมาด้วย โดยทั้งสองเรียกร้องให้ทุกฝ่ายละเว้นจากการยุยงให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น และขอให้ทุกฝายใช้ความอดกลั้นและความยืดหยุ่นถึงที่สุดทันที
ก่อนหน้านี้้ ทั้งมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ต่างแสดงความตกใจต่อการสังหารผู้ชุมนุม และสนับสนุนให้มีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับเมียนมา สัปดาห์ที่แล้วรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติเหล่านี้ต่างแยกเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่ทรงอิทธิพลของเมียนมา
อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลออสเตรเลียกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า พลเมืองออสเตรเลีย 2 คนที่โดนทางการเมียนมาควบคุมตัวเมื่อเดือนที่แล้วได้รับการปล่อยตัวและเดินทางออกจากย่างกุ้งแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
บุคคลทั้งสองได้แก่ แมทธิว โอเคน และคริสตา เอเวอรี ภรรยาของเขาที่ถือสองสัญชาติแคนาดาและออสเตรเลีย เปิดธุรกิจด้านให้คำปรึกษาในเมียนมา ทั้งคู่พยายามออกจากเมียนมาด้วยเที่ยวบินบรรเทาทุกข์เมื่อเดือนมีนาคม แต่ถูกจับได้และถูกกักบริเวณที่บ้าน
ยังมีพลเมืองออสเตรเลียอีกรายคือ ฌอน เทอร์เนลล์ นักเศรษฐศาสตร์ที่ปรึกษาของนางซูจี ซึ่งเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ถูกจับกุมภายหลังการยึดอำนาจ เขายังถูกควบคุมตัวไว้จนถึงขณะนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |