ศาลชี้กฎหมายลูกส.ว.ไม่ขัดรธน.


เพิ่มเพื่อน    

    ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนกฎหมายลูก ส.ส. และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560  นัดวินิจฉัย 30 พ.ค. "วิษณุ" ตอบไม่ได้ว่าเลื่อนเลือกตั้งเร็วขึ้นได้หรือไม่ อ้างโรดแมปครอบคลุมเหตุการณ์หลายอย่าง ขณะที่ ปชป.ซีด พรรคกำนัน พรรคสมคิด แย่งดูดส.ส.
    เมื่อวันที่ 23 พ.ค.61 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องประธาน สนช. ได้ส่งความเห็นสมาชิกสนช. จำนวน 30 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 91 การขัดขวางไม่ให้ผู้มีสิทธิไปใช้สิทธิเลือกตั้ง มาตรา 92 การรับเงินหรือประโยชน์สำหรับตนเอง เพื่อเลือกหรืองดเว้นไม่เลือกผู้สมัครใด มาตรา 93 การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพบัตรลงคะแนน มาตรา  94 เรื่องการแสดงบัตรที่ลงคะแนนแล้วต่อหน้าผู้อื่น มาตรา 95 เรื่องการที่ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้าง หน่วงเหนี่ยวหรือไม่อำนวยความสะดวกต่อการไปใช้สิทธิการเลือกตั้งของลูกจ้าง และมาตรา 96 เรื่องการที่กรรมการประจำหน่วยจงใจนับบัตรลงคะแนนผิดไปจากความจริง ที่กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ซึ่งมีการกำหนดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการสมัคร และกระบวนการเลือกในบทเฉพาะกาลดังกล่าวได้กำหนดไว้แตกต่างไปจากการได้มาซึ่งวุฒิสภาตามบททั่วไป มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 จึงเสนอความเห็นต่อประธาน สนช. เพื่อส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263
    โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทำความเห็นส่วนตัวเป็นหนังสือ พร้อมแถลงวาจาต่อที่ประชุม และที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 91, 92, 93, 94, 95, 96 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล ใช้บังคับในวาระเริ่มแรกเท่านั้น ทั้งยังเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 จึงไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
    นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการอภิปรายในคำร้องที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของ สนช. 27 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรค 1 (1) ประกอบมาตรา 263 ว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดสิทธิการรับราชการของผู้ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรคสามหรือไม่ และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง กรณีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและทุพพลภาพในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 85 หรือไม่ โดยนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติในวันที่ 30 พ.ค.
    ส่วนคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 25, 26, 27 และ 45 หรือไม่นั้น ศาลได้มีคำสั่งรับคำชี้แจงที่หัวหน้า คสช.ได้ส่งความเห็นและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นหนังสือ รวมถึงคำชี้แจงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ส่งหนังสือความเห็นเพิ่มเติมเข้ามาแล้ว โดยนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อในวันที่ 30 พ.ค.
    นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะส่งคำวินิจฉัยมายัง สนช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อได้รับเรียบร้อย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะได้นำร่างกฎหมายลูก ส.ว. ส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป ส่วนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส.นั้น ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าศาลตัดสินว่าขัด ก็สามารถแก้เป็นมาตรา ไม่กระทบทั้งฉบับ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบว่าจะส่งผลให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้เร็วกว่าเดือน ก.พ.62 หรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่รัฐบาลไม่ใช่ผู้กำหนด 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะสามารถเร่งโรดแมปให้เร็วที่สุดหรือเลื่อนออกไปอย่างช้าสุดได้เท่าไร รองนายกฯ ตอบว่า โรดแมปครอบคลุมเหตุการณ์หลายอย่าง บางเหตุการณ์สามารถเร่งรัดได้ แต่บางเหตุการณ์ไม่สามารถเร่งรัดได้ และคงเข้าใจได้ว่าคือเหตุการณ์อะไร 
    เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังกำหนดให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.62 ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้คิดว่าอย่างนั้น นายกฯ ก็พูดอย่างนั้น
        นายสามารถ แก้วมีชัย ฝ่ายกฎหมายและอดีต ส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตรงนี้ก็ไม่เป็นปัญหา สามารถเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ได้ ไม่กระทบต่อการเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ฉบับที่อาจจะมีผลต่อการเลื่อนเลือกตั้งคือร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ที่ศาลจะวินิจฉัยในวันที่ 30  พ.ค. ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่พิจารณาฉบับ ส.ส. ก่อน เพราะก็รู้อยู่ว่าหากไม่ขัด รธน. ก็ต้องรอไปอีก 90 วัน กว่าจะมีผลบังคับใช้ อย่างนี้เท่ากับว่าทำให้เวลาการบังคับใช้ช้าลงไปอีก     
    เขากล่าวว่า หากผลออกมาว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับแก้ ต้องใช้เวลาอีก หากเป็นอย่างนี้ก็อาจจะกระทบต่อการเลือกตั้ง ที่อาจเลื่อนออกไปได้ การที่ศาลวินิจฉัยออกมาว่า พ.ร.ป.ส.ว.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ส.ส. แต่อย่าเพิ่งวางใจ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้นต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด
    มีรายงานข่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งพรรคการเมืองของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ในฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ว่า ล่าสุดได้ส่งเจ้าหน้าที่ประสานไปยัง กกต.ว่าจะมีการไปจดแจ้งชื่อ "พรรครวมพลังประชาชาติไทย" โดยอย่างเร็วที่สุดอาจจะเป็นวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคมนี้ 
    พรรคดังกล่าวจะทาบทามนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกรรมการคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง รวมถึงเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ เป็นหัวหน้าพรรค และมีคนที่มีชื่อเสียงไปร่วมงานการเมืองอีกหลายคน อาทิ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร, นายประสาร มฤคพิทักษ์, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ, นายสำราญ รอดเพชร และน.ส.อัญชะลี ไพรีรัก เป็นต้น 
    นอกจากนี้ยังมีการดึงตัวอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมงานกับพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ นอกจากนายเชนและนายธานี สองพี่น้องตระกูลเทือกสุบรรณแล้ว ยังมีอดีต ส.ส.นราธิวาส ที่อาจตัดสินใจทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไปสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทยแล้ว 2 คน คือ นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ และนายเจ๊ะอามิง โตะตาหยง ทั้งนี้ มีการตั้งเป้าหมายว่าจะได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าประมาณ 25-30 คน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากพรรคประชาธิปัตย์จะประสบปัญหาอดีต ส.ส.ถูกดูดจากพรรคที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่โดยนายสุเทพแล้ว ยังถูกพรรคใหม่ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดึงตัวด้วย โดยล่าสุดมีแนวโน้มว่านายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.กทม. จะตัดสินใจไปร่วมงานกับพรรคการเมืองดังกล่าว ร่วมกับนายสกลธี ภัททิยกุล และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.กทม.ที่ตัดสินใจทิ้งพรรคไปก่อนหน้านี้ 
    ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ยังเสียอดีต ส.ส.กทม.ไปอีกหนึ่งคน คือนายชื่นชอบ คงอุดม ซึ่งลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ไปทำงานกับพรรคพลังท้องถิ่นไท ซึ่งเป็นพรรคที่นายชัช เตาปูน บิดาตั้งขึ้น ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียอดีต ส.ส.ให้แก่พรรคการเมืองอื่นไม่ต่ำกว่า 8 คนแล้วในขณะนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"