หลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2561 ขยายตัวได้สูงถึง 4.8% สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส หรือ 5 ปีนั้น ถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่โดดเด่นจริงๆ และหลายฝ่ายก็คงตื่นเต้นไปกับตัวเลขการเติบโตดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยปัจจัยหลักๆ ที่สนับสนุนการเติบโตในครั้งนี้ มาจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง
ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงในขณะนี้ เป็นสัญญาณที่ดีกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะต่อๆ ไป แต่ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากว่า การขยายตัวดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของเศรษฐกิจระดับบนมากกว่า ขณะที่เศรษฐกิจระดับฐานรากยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะสถานการณ์การปรับขึ้นราคาในหลาย ๆ สินค้าขณะนี้
โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 พบว่า มีราคาสินค้าและบริการหลายตัวที่มีทิศทางการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไล่เรียงมาตั้งแต่ราคาน้ำมัน ที่ภายในเดือน พ.ค.2561 ราคามีการเปลี่ยนแปลงแล้วถึง 5 ครั้ง โดยในจำนวนนี้ 4 ครั้งเป็นการปรับขึ้นราคาขายปลีกอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลใกล้ทะลุลิตรละ 30 บาทไปแล้ว
ไม่เพียงเท่านี้ “ข้าวถุง” ก็คาดว่าจะมีการปรับราคาขายปลีกในปีนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-10 บาทต่อกิโลกรัม โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่น่าจะปรับขึ้นสูงสุดที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นเป็นไปได้สูงว่าในปีนี้เราอาจจะได้เห็นราคาข้าวหอมมะลิ ขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัม ปรับราคาขึ้นสูงทะลุ 300 บาท ทุบสถิติกันไปเลย ส่วนราคาข้าวขาวขายปลีกคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1-2 บาท และข้าวปทุมธานีคาดว่าจะปรับราคาเพิ่มขึ้น 7-8 บาท
“วัลลภ มานะธัญญา” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ระบุว่า ผลผลิตข้าวในปีนี้ต่ำ แต่ปริมาณความต้องการข้าวในตลาดยังคงสูง โดยเฉพาะตลาดโลก ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งข้าวรายใหญ่ของโลก รวมทั้งยังมีเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้ผู้ประกอบการข้าวถุงเตรียมขอปรับราคาขึ้นด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ แก๊สหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัม ยังปรับขึ้นราคาอีก 42 บาท จากราคาถังละ 353 บาท เป็น 395 บาทต่อถัง ตรงนี้สร้างความกังวลให้ประชาชนพอสมควร เพราะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าแก๊สหุงต้ม ถือเป็นต้นทุนในการปรุงอาหารสำเร็จรูป จนคาดกันไปว่าหลังจากนี้ผู้ค้าน่าจะมีการขอปรับขึ้นราคาอาหารสำเร็จรูปตามมาด้วย แต่ก็ยังดีที่ “กรมการค้าภายใน” ออกมาแตะเบรกเรื่องดังกล่าว โดยมองว่า การที่ผู้ค้าจะขอปรับขึ้นราคาขายอีกจานละ 5 บาท ไม่สมเหตุสมผลและเป็นการเอาเปรียบประชาชนมากเกินไป พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า แก๊สหุงต้ม 1 ถัง ปรุงอาหารได้ 200-300 จาน/ชาม ดังนั้น ก๋วยเตี๋ยวมีต้นทุนแก๊สหุงต้มเพิ่มขึ้นชามละ 1.88 บาท จากเดิมอยู่ที่ 1.68 บาท หรือต้นทุนแก๊สหุงต้มเพิ่มขึ้นชามละ 20 สตางค์ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการอาหารจานด่วนจะขอปรับราคาขาย เพราะกระทบต้นทุนการผลิตอาหารอย่างน้อยมาก ไม่ถึง 1 บาท
ยังมีค่าโดยสารแท็กซี่ที่ปลายปีนี้จะมีการปรับขึ้นราคาด้วยเช่นกัน โดยจะคิดราคาตามรถติด และมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 40 บาท และก่อนหน้านี้ “เจ๊เกียว” นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารขนส่ง ได้เดินทางไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณาอนุมัติปรับขึ้นราคาค่าโดยสารอีก 10 สตางค์/กิโลเมตร โดยอ้างว่าเป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจนผู้ประกอบการแบกรับภาระดังกล่าวไม่ไหวอีกต่อไป แต่แว่วๆ ว่า รมว.คมนาคมไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว
ปิดท้ายที่ “ค่าไฟฟ้า” ที่ส่งสัญญาณมาแล้วว่าอีก 6 เดือนจะปรับขึ้นราคาแน่ๆ ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนใกล้ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสะท้อนไปยังต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ที่จะปรับเพิ่มขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือประมาณเดือน พ.ย.2561 นั่นเอง ส่วนจะเป็นการปรับขึ้นหรือจะเกลี่ยให้คงที่คงต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาอีกครั้ง
ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นจริง แต่ยังเป็นขาขึ้นที่ค่อนข้างกระจุกอยู่ในบางอุตสาหกรรม บางส่วนของเศรษฐกิจเท่านั้น ขณะที่เศรษฐกิจฐานรากแม้จะไม่ได้ถึงขั้นลำบาก แต่ก็ไม่ได้ใช้จ่ายคล่องมือเหมือนที่ควรจะเป็น ด้วยราคาสินค้าต่างๆ ที่ปรับขึ้น แม้การขึ้นของราคาสินค้าและบริการจะเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก แต่ก็เป็นเรื่องที่วัดฝีมือของฝ่ายบริหารอยู่เหมือนกันว่าจะช่วยเหลือประชาชนระดับล่างที่ต้องใช้จ่ายในส่วนนี้ให้บรรเทาได้อย่างไร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |