ทำไมไทยเราจึงหลุดจาก จอเรดาร์ของประชาคมภูมิภาค?


เพิ่มเพื่อน    

    วิกฤติเมียนมาครั้งนี้ท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศไทย ในการมีบทบาทเพื่อช่วยกู้สถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายถึงขั้นที่เพื่อนบ้านของเราประเทศนี้จะกลายเป็น  "รัฐล้มเหลว" หรือ failed state

            "ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด" สำหรับเมียนมาวันนี้คือ การร่วงลงไปในหุบเหวแห่งหายนะของกลียุคที่กลายเป็นสงครามกลางเมืองยืดเยื้ออย่างที่เราเคยเห็นในซีเรีย, อิรัก,  ลิเบีย หรืออัฟกานิสถานในอดีตที่ลากยาวมาถึงวันนี้

            "ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด" ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่าเป็นภาพ  "โลกสวย" ที่เป็นไปไม่ได้

            นั่นคือการที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายยอมรับว่ารัฐประหารครั้งนี้ล้มเหลว พลังประชาชนชนะ และทหารยอมกลับเข้ากรมกอง

            เป็นภาพที่คนเมียนมาและชาวโลกส่วนใหญ่อยากจะเห็น...คล้ายกับการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการทหารมาเป็นสังคมประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย

            นอกจากสองสูตร "สุดขั้ว" นี้แล้วก็มีทางออกที่อยู่ระหว่างกลางที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

            แต่เป็นสูตรของการ "แบ่งสันอำนาจ" ระหว่างรัฐบาลพลเรือนที่ประชาชนเลือกกับฝ่ายทหารที่ต้องยอมลดอำนาจของตน เพื่อก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบการปกครองที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพและความเจริญก้าวหน้าสำหรับคนเมียนมาทั้งประเทศ

            อีกทั้งยังจะนำไปสู่การสร้าง "สหพันธรัฐเมียนมา" ที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายได้มาร่วมกันสร้างประเทศใหม่ ที่จับมือกับคนเมียนมาส่วนใหญ่เพื่อสร้างสังคมอันพึงปรารถนาของ "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกๆ ฝ่าย" อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ

            นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยมองว่าประเทศไทยน่าจะสามารถมีบทบาทของการเป็น "โซ่ข้อกลาง" เพื่อช่วยให้  "ฉากทัศน์" เช่นนี้เกิดขึ้นได้

            หาก "การทูตไทย" ที่เคยเป็นพลังอันสำคัญของภูมิภาคนี้ จะถูกนำกลับมาใช้เพื่อสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ภูมิภาคนี้ได้อย่างจริงจัง

            บนเวทีเสวนาเมื่อเร็วๆ นี้ หัวข้อ "โลกเปลี่ยน ไทยเปลี่ยน" คุณสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศวิเคราะห์อย่างน่าสนใจว่า

            ไทยมีปัญหาในประเด็นนโยบายต่างประเทศหลายด้าน เช่น กระทรวงการต่างประเทศขาดขีดความสามารถในการมองนโยบายต่างประเทศในระยะยาว

            ไทยขาด "ถังสมอง" หรือ Think Tank ซึ่งคงหมายถึงการระดมความคิดของผู้รู้ทุกๆ วงการเพื่อช่วยในการวิเคราะห์แนวทางเพื่อการวางยุทธศาสตร์การเมือง,  เศรษฐกิจ, ความมั่นคง และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ

            คุณสีหศักดิ์มองว่า นอกเหนือจากปัญหาที่ว่าแล้วไทยยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหรือ disruption ที่กำลังมีผลกระทบทั่วโลก

            ทั้งเป็น disruption ทางภูมิรัฐศาสตร์ เวทีพหุภาคีและเทคโนโลยี ประเทศไทยต้องตัดสินใจว่าจะไปทางไหน

            อีกประการหนึ่ง ประเทศไทยได้ "หายจากจอเรดาร์"  ของประเทศอื่นแล้ว

            เหตุเพราะปัญหาการเมืองภายใน

            หรืออาจจะเป็นเพราะการต่างประเทศของไทยไม่เข้มแข็งมากพอ

            ท่านบอกว่าเวลาต่างชาติพูดถึงอาเซียนทุกวันนี้อาจจะคิดถึงอินโดนีเซียเป็นอันดับแรก

            ด้วยความที่เป็นประเทศใหญ่และมีนโยบายที่เป็นอิสระ

            ต่อมาคือสิงคโปร์ เพราะเป็นประเทศที่พูดถึงบทบาทของตนในภูมิภาคด้วย

            ต่อมาก็คือมาเลเซีย ซึ่งมีบทบาทในโลกมุสลิมและกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

            ส่วนประเทศที่มาใหม่ในอาเซียนคือเวียดนามที่หลายประเทศมองว่าเป็น "ดาวรุ่ง"

            เพราะเวียดนามสามารถทำเรื่องนโยบายต่างประเทศจนกลายเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้

            อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศบอกว่า การที่จะให้ประเทศไทยกลับมาอยู่ในจอเรดาร์ของประเทศอื่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการต่างประเทศอย่างเดียว

            แต่ขึ้นอยู่กับการเมือง, เศรษฐกิจ และความก้าวหน้าด้วย

            แต่หากการต่างประเทศของไทยเข้มแข็งมากพอก็สามารถสร้างจุดแข็งได้

            ที่ยังเป็นคำถามอยู่ก็คือ "เราถูกข้อจำกัดของตัวเองควบคุมการดำเนินนโยบายต่างประเทศหรือไม่"

            แท้จริงแล้วเราทำได้มากกว่านี้หรือไม่?

            เป็นคำถามที่น่าใคร่ครวญและวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อวันนี้เราต้องเผชิญกับวิกฤติของเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา

            เกิดคำถามที่ต้องช่วยกันหาคำตอบคือ

            แท้จริงในเรื่องวิกฤติเมียนมานั้น ไทยเราทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่?

            ถ้าทำได้ ทำไมเราไม่ทำ

            ถ้าทำไม่ได้ ทำไมเราจึงทำไม่ได้

            และถ้าเราจะต้องทำให้ได้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศที่แท้จริง เราจะต้องทำอะไรมากกว่านี้อย่างไร?

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"