4 เม.ย.64- นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ในเมียนมาระหว่างจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก ” อำนวยการสร้างโดย ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เป็นภาพยนตร์เพื่อสันติภาพและขันติธรรม โดยระบุว่า สถานการณ์ในพม่าหรือเมียนมา ได้เข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลวแล้วและเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอย่างแน่นอน ประเทศไทยควรเตรียมรับมือคลื่นผู้อพยพจำนวนมากตามแนวชายแดน ฝ่ายความมั่นคงไม่ควรผลักดันผู้อพยพหนีภัยสงครามและถูกคุกคามต่อชีวิตจากเผด็จการทหารพม่ากลับไปยังภูมิลำเนาที่มีความเสี่ยงภัยต่อชีวิตและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การกระทำดังกล่าวจะทำให้ความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ประเทศ เสียหายในเวทีประชาคมระหว่างประเทศและยังแสดงถึงความไม่มีมนุษยธรรม
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า กองทัพไทยและผู้นำรัฐบาลไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้นำคณะรัฐประหารในพม่าควรใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีนั้นในทางสร้างสรรค์เพื่อสร้างสันติภาพผ่านการเจรจาหารือ ฟื้นฟูประชาธิปไตย หยุดยั้งความรุนแรงนองเลือด การเข่นฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การมีบทบาทเชิงรุกและการบริหารความสัมพันธ์ในทางที่ถูกต้อง ย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทย ภูมิภาคอาเซียน เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าตามแนวชายแดน รวมทั้งสามารถหยุดยั้งการพังทลายของเศรษฐกิจเมียนมาที่จะส่งกระทบต่อกลุ่มทุนไทยจำนวนไม่น้อย ไทยและเมียนมามีมูลค่าการค้าต่อกันประมาณ 6.6-7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ มีมูลค่าโครงการลงทุนต่างๆในพม่าเป็นอันดับสามรองจากสิงคโปร์ และ จีน ผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา ได้แก่ ซีพี กรุ๊ป เครือปูนซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี กลุ่ม ปตท โดยเฉพาะ ปตท สผ กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ กลุ่มค้าปลีกและเครื่องดื่มโดยเฉพาะกลุ่มโอสถสภามีสัดส่วนรายได้จากตลาดพม่าประมาณ 10% กลุ่มสถาบันการเงินการเงิน กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลโดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลบำรุงราษฎรมีสัดส่วนรายได้จากพม่าประมาณ 8% กลุ่มธุรกิจก่อสร้างและนิคมอุตสาหกรรม ภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงรุนแรงพร้อมกับการขาดแคลนสินค้าจำเป็นบางประเภท อาจทำให้มีความต้องการสินค้าจากฝั่งไทยมากขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า แต่การค้าและการส่งมอบสินค้าจะกระทำด้วยความยากลำบาก หน่วยงานทางด้านความมั่นคงจึงต้องอำนวยความสะดวกเพื่อให้การค้าและการส่งมอบสินค้าจำเป็นสามารถดำเนินต่อไปได้ใกล้เคียงภาวะปรกติ เศรษฐกิจพม่าจะหดตัวติดลบรุนแรงในปีนี้ ระบบและกลไกทางเศรษฐกิจไม่สามารถดำเนินการได้ตามปรกติ ประสบการขาดแคลนเงินตรา เศรษฐกิจโดยภาพรวมอาจถอยหลังไปไม่ต่ำกว่า 20-30 ปีเป็นอย่างน้อยหากไม่รีบแก้ไขและเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้ดีขึ้นโดยการคืนอำนาจให้กับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในฐานะผู้ชนะการเลือกตั้ง จะมีการถอนการลงทุนออกจากพม่าครั้งใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มทุนตะวันตก สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าและสินค้าส่งออกของไทยไปพม่า ส่วนโครงการลงทุนของกลุ่มทุนไทยที่ลงทุนในเมียนมาคงจะชะลอตัวหรือหยุดลง และ บางส่วนอาจถอนการลงทุน ออก หากไม่มีการเจรจาเพื่อยุติวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงนองเลือด พม่าจะอยู่ในภาวะรัฐล้มเหลวและสงครามกลางเมืองไปอีกอย่างน้อย 5-10 ปี ขณะนี้ มีรายงานข่าวว่า ชาวบ้านในเมียนมาได้ประดิษฐ์อาวุธขึ้นเองเพื่อสู้กับเผด็จการพม่าแล้ว สถานการณ์นี้จะลุกลามสู่สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อหากมหาอำนาจนอกภูมิภาคเข้าแทรกแซง บทบาทองค์กรในภูมิภาคและกองทัพไทยจึงมีความสำคัญต่อเสถียรภาพในภูมิภาคและการแก้ปัญหาความรุนแรงนองเลือดในพม่า
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากในอนาคต บางประเทศในภูมิภาคอาเซียนอาจเกิดปัญหาภาวะรัฐล้มเหลว มีปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐ มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมอย่างแพร่หลายอย่างที่เกิดขึ้นในพม่า เกิดปัญหาความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากวิกฤติความรุนแรง สงครามกลางเมือง เกิดคลื่นอพยพของผู้ลี้ภัย เกิดการปกครองของรัฐที่ไร้ความเป็นธรรมและความไม่มีนิติรัฐนิติธรรม การใช้ความรุนแรงและสังหารประชาชนฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจรัฐ อาเซียน และ องค์กรสหประชาชาติ ควรร่วมมือกันในการสร้างเครือข่ายในภูมิภาคทั้งในระดับองค์กรของรัฐ ระดับองค์กรธุรกิจ ระดับองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคม และ ระดับประชาชน เพื่อก่อให้เกิดการส่งเสริม พัฒนาและปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรมและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดสันติภาพถาวรในภูมิภาคด้วยพลังของเครือข่ายภาคประชาสังคมในภูมิภาค.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |