4 เม.ย.64 - พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร.และ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวถึงกรณีที่สมาคมสถาบันการเงินของรัฐได้ออกประกาศ “เตือนภัยเกษตรกร! ระวังมิจฉาชีพหลอกยกหนี้ในระบบ” ว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่การหลอกลวงในรูปเเบบใหม่เเต่อย่างใด เป็นการหลอกลวงที่มีมานานเเล้ว เป็นการกระทำแบบเดิมๆ หลอกลวงเเบบเดิมๆ แค่เปลี่ยนข้อความในการล่อลวง เช่นเดียวกับ กรณีที่มีการส่ง SMS ว่าได้รับสิทธิ์ในการกู้เงินออนไลน์ หรือกรณีที่มีการปลอมเป็นธนาคารหลอกให้ทำธุรกรรมทางการเงินที่เคยได้เกิดขึ้นมาแล้วก่อนนี้ โดยรูปแบบของมิจฉาชีพคือ ส่งลิงก์ที่เเนบไปกับข้อความ หลอกว่าท่านได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ได้รับการยกหนี้สิน ได้รับเงิน ได้สิทธิกู้เงิน ได้ส่วนลดต่างๆ นาๆ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะคลิกลิงก์เข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ จากนั้นมิจฉาชีพก็จะติดต่อมา อ้างว่าการกู้เงินต้องมีเงินค้ำประกัน หรืออ้างว่าคนเยอะเป็นค่าลัดคิว หลอกต่อว่าถ้าอยากได้เงินเร็วต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก เมื่อมิจฉาชีพได้เงินเเล้ว ก็หลบหนีไป ซึ่งกรณีที่เป็นข่าว ก็เป็นหนึ่งในอุบายที่เหล่ามิจฉาชีพใช้นั่นเอง
รองโฆษก ตร. ยังฝากเตือนไปยังผู้กระทำความผิดว่า หากมีพยานหลักฐานไปถึงท่าน การกระทำของท่านอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รองโฆษก ตร.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีนโยบายให้ทุกหน่วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้เร่งสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชน ให้ทราบถึงพิษภัยและรูปแบบของการฉ้อโกงต่างๆ นอกจากนี้ยังได้เร่งสั่งการให้ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อน โดยการเร่งทำการสืบสวนปราบปราม จับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี เพื่อเป็นการจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และตัดโอกาสในการกระทำความผิดต่อไป
รอง โฆษก ตร. และ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชนให้ระวัดระวังเมื่อได้รับข้อความในลักษณะดังกล่าว ควรตรวจสอบแหล่งที่มาให้ดีเสียก่อนว่าเชื่อถือหรือไม่ หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่น่าสงสัยหรือไม่ทราบแหล่งที่มา อย่ากรอกข้อมูลส่วนตัวใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชัน เนื่องจากอาจจะเป็นช่องทางของกลุ่มมิจฉาชีพทำขึ้นใช้ในการล้วงข้อมูลส่วนตัวก่อนนำไปหาประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่หลงเชื่อคำเชิญชวนที่ดีเกินจริง ควรรายงานสแปม และกดบล็อกหมายเลขที่ส่งโฆษณาต้องสงสัยหรือ SMS ขยะ หากได้รับข้อความแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นความจริงหรือไม่ ก็ขอให้ตรวจสอบกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นกรณีข้างต้น ก็ขอให้ตรวจสอบกับสถาบันการเงินของรัฐ และหากพบเบาะแส สามารถแจ้งไปยัง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หมายเลขโทรศัพท์ 1111 ต่อ 87, Call Center ของ ศปอส.ตร. หมายเลขโทรศัพท์ 1599 หรือทาง Facebook กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. - CCIB.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |