“สนธิรัตน์” เบรกจานด่วนโหนราคาก๊าซจ่อขึ้นราคาอีกจานละ 5 บาท ระบุผลการวิเคราะห์ต้นทุน พบกระทบแค่ 15-20 สตางค์เท่านั้น วอนผู้พบเห็นการฉวยโอกาสแจ้งสายด่วน 1569 ดึงผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ร่วมงานค้าส่งรวมใจ โชห่วยไทยคู่สังคม บรรเทาค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย แม่ค้าผักเมืองพิจิตรร้องอั้นไม่อยู่แล้ว ผักชีโลละ 200 พริกชี้ฟ้า 100 ขณะที่แตงกวาพุ่งไปถึง 250
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เพิ่มเป็นถังละ 395 บาท (ถัง 15 กิโลกรัม) หรือปรับขึ้นถังละ 42 บาท ผลการวิเคราะห์ต่อต้นทุนอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) มีแค่ประมาณ 15-20 สตางค์/จาน/ชามเท่านั้น จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการอาหารจานด่วนจะปรับราคาขึ้นทีละ 5 บาท/จาน/ชาม โดยผลศึกษาพบว่า ข้าวผัดกะเพรามีต้นทุนเพิ่มแค่จานละ 15 สตางค์ หรือก๋วยเตี๋ยวที่ใช้ก๊าซหุงต้มมากก็เพิ่มขึ้นแค่ 20 สตางค์ต่อชาม
ทั้งนี้ ราคาก๊าซหุงต้มในขณะนี้ถือเป็นราคาเดียวกันกับช่วงปี 2558 ช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. ที่อยู่ในระดับ 395 บาทต่อถัง และหลังจากนั้นราคาก็ปรับลดลง จนมาถึงปัจจุบันได้ปรับเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด จึงทำให้ประชาชนเกิดความกังวลว่าราคาอาหารจานด่วนจะปรับขึ้นตาม ซึ่งได้สั่งการให้กรมการค้าภายในจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบทั้งประเทศแล้ว
“แม้ราคาก๊าซหุงต้มจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้เพิ่มจนส่งผลกระทบทำให้ต้องปรับขึ้นราคา จึงอยากขอความร่วมมืออย่าปรับขึ้นราคา เพราะเมื่อต้นทุนกระทบไม่มากแล้วฉวยโอกาสปรับราคา จะถือเป็นการฉวยโอกาสต่อพี่น้องประชาชน โดยหากประชาชนพบเห็นการปรับราคาที่ไม่เป็นธรรม ก็ให้แจ้งมาที่สายด่วน 1569 จะเข้าไปตรวจสอบทุกราย” นายสนธิรัตน์กล่าว
นายสนธิรัตน์เปิดเผยด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับร้านค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย (ซัพพลายเออร์) ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค จัดงาน “ค้าส่งรวมใจ โชห่วยไทยคู่สังคม” ต้อนรับหน้าฝน โดยจะจัดงานออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 25-30 มิ.ย.2561 และช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 11-15 ส.ค.2561 ซึ่งจะมีการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคครั้งใหญ่ 20-50% เพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย พร้อมส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าส่งค้าปลีกแบบดั้งเดิมในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับชุมชน
การจัดงานนี้ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ เช่น พรอคเตอร์ แอนด์ แกรมเบิ้ล (P&G) สหพัฒนพิบูลย์ ผู้ผลิตน้ำมันพืชตราองุ่นและตรากุ๊ก น้ำปลาตราคนแบกกุ้ง และข้าวหอมมะลิตราหงส์ทอง เป็นต้น พร้อมที่จะสนับสนุนสินค้าให้กับร้านโชห่วยเพื่อนำไปจำหน่าย และยังมีสินค้าโอท็อป สินค้าของเอสเอ็มอี และสินค้าชุมชนในท้องถิ่นเข้าไปจำหน่ายด้วย นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับประโยชน์จากการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในครั้งนี้ เนื่องจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่กระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุนและติดตั้งเครื่อง EDC เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ถือบัตรสามารถนำบัตรมาจับจ่ายซื้อสินค้าได้ ส่วนร้านค้าปลีกขนาดเล็กจะได้รับประโยชน์จากการซื้อสินค้าในราคาต้นทุนที่ลดลงจากร้านค้าส่งขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ ส่งผลให้สามารถนำไปจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภคได้ในราคาที่ถูกลง
ขณะที่นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมจะจัดส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจออกตรวจสอบราคาจำหน่ายอาหารจานด่วนในท้องตลาด รวมทั้งจะติดตามการจำหน่ายก๊าซหุงต้มอย่างใกล้ชิดด้วย และในสัปดาห์นี้จะเชิญผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (ซัพพลายเออร์) มาหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ราคาขายและผลกระทบที่จะได้รับหลังการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล และผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งได้ปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 5% ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนให้กับการขนส่งราว 250 บาทต่อ 100 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม จะขอความร่วมมือให้ซัพพลายเออร์ชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้าไว้ก่อน หากต้นทุนไม่ได้ปรับขึ้นมากจนรับภาระไม่ไหว
นางพะเยาว์ แม่ค้าจำหน่ายผักสดในตลาดสดเทศบาลเมืองพิจิตร กล่าวว่า ผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาก๊าซหุงต้มปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาพืชผักผลไม้หลายชนิดที่รับมาจากแหล่งผลิตและแหล่งค้าส่งจากสถานที่ต่างๆ ปรับสูงขึ้น ประกอบกับอยู่ในช่วงที่เข้าสู่มรสุม ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรน้อยลง พืชผักเริ่มขาดตลาด จึงต้องมีการปรับขึ้นราคาหลายเท่าตัว อาทิเช่น ผักชี ต้นทุนที่รับมา กก.ละ 150 บาท ขายปลีกในราคา 200 บาทต่อ กก. พริกชี้ฟ้า ต้นทุน กก.ละ 70 บาท ขายปลีก กก.ละ 100 บาท แตงกวาเดิมรับมา กก.ละ 130 บาท ตอนนี้ขยับราคาขึ้น จึงต้องขายปลีกในราคา กก.ละ 250 บาท
"ช่วงนี้เศรษฐกิจย่ำแย่มากๆ ถึงแม้ว่าจะปรับราคาสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคมาซื้อน้อยลง ทำให้สู้กับราคาต้นทุนแทบจะไม่ไหว บางรายต้องไปกู้เงินนอกระบบมาหมุนเวียนลงทุนอีกด้วย" นางพะเยาว์กล่าว
กระบี่ ผู้สื่อข่าวออกสำรวจตลาด พบว่าผู้ประกอบการร้านขายข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง ภายในตัวเมืองกระบี่ ยังคงขายอาหาร แกงใส่ถุง ให้กับประชาชนในราคาปกติ เช่น ข้าวแกงกับข้าว 1 อย่าง ราคา 35 บาท กับข้าว 2 อย่าง ราคา 40 บาท แกงใส่ถุง ราคา 40-50 บาท อาหารตามสั่ง จานละ 45 บาท ใส่ไข่ดาว 50 บาท
นางยุพิน รักษา แม่ค้าขายข้าวแกง เปิดเผยว่า แม้ก๊าซหุงต้มจะขึ้นราคา แต่ทางร้านจะไม่ปรับขึ้นราคาอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคประสบปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำและเศรษฐกิจซบเซาอยู่แล้ว จึงไม่อยากซ้ำเติมผู้บริโภค แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบ เนื้อสัตว์ ผัก จะปรับราคาสูงขึ้นก็ตาม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |