โอบอุ้ม "คุ้งบางกระเจ้า" สู่พื้นที่พิเศษ


เพิ่มเพื่อน    


  "บางกระเจ้า"ปอด และโอเอซีส ของคน กรุงเทพ

                      

ถ้าเปรียบเทียบ"ภูเก็ต "เป็นไข่มุกแห่งอันดามัน "บางกระเจ้า "ก็เปรียบเสมือน"เพชรเม็ดงาม"ของคนเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ  จากทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ เลียบถนนพระราม3 เพียงข้ามไปอีกฟากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาก็ถึงบางกระเจ้าแล้ว  และถ้าวัดระยะจากสีลมย่านเศรษฐกิจสำคัญ ใจกลางกรุงเทพ ก็ห่างจากบางกระเจ้าเพียงแค่ 5 กม.เท่านั้น

ล่องเรือท่องเที่ยวชมสภาพธรรมชาติ ที่เป็นป่าชายแลน

 

บางกระเจ้าที่เป็นเพียงเกาะเล็กๆ ตั้งอยู่บนบริเวณส่วนโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา มีรูปร่างคล้ายกระเพาะหมู มีพื้นที่โดยรวม 12,000ไร่ ใน 6ตำบล ได้แก่ ต.บางกระเจ้า ต.บางน้ำผึ้ง ต.บางกอบัว ต. บางกระสอบ ต.บางยอ ต.ทรงคนอง กลับทำหน้าที่ปอดฟอกอากาศและมลพิษต่างๆและคายกลับออกมาในรูปของออกซิเจน กลายเป็นอากาศสะอาดให้คนเมืองได้สูดหายใจได้สะดวก  โดยในแต่ละปีลมตะวันตกเฉียงใต้ จะพัดพาออกซิเจน และความชุ่มชื้นจากบางกระเจ้า เข้าสู่กรุงเทพมหานครนานถึง  9 เดือน   บางกระเจ้าจึงทำหน้าที่ปอดฟอกอากาศและมลพิษต่างๆและคายกลับออกมาในรูปของออกซิเจน กลายเป็นอากาศสะอาดสดใสให้คนเมืองได้สูดหายใจได้คล่อง  

ขี่จักรบาน ชม 6เส้นทางท่องเที่ยว

ในปี 2549 นิตยสาร Time Asia  ได้ยกย่องให้คุ้งบางกระเจ้า เป็น"ปอดกลางเมือง"ที่ดีที่สุดในเอเชียแห่งหนึ่ง ในอดีต และ"บางกระเจ้า" ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่อยู่ใกล้กรุงเทพที่สุด  คนที่มาเยือน จะได้เห็นถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชน  ชื่นชมกับศิลปวัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาพื้นถิ่น พร้อมกับสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดได้เต็มที่   แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากไม่มีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม หรืออนุรักษ์สิ่งต่างๆดั้งเดิมไว้ ก็อาจจะเกิดจุดเปลี่ยนขึ้นกับบางกระเจ้า ดังจะเห็นได้จาก แม้กระทั่งการเป็นพื้นที่ 3น้ำ คือ มีน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย หมุนเวียนในแต่ละปี ก็เหลือแต่สภาพน้ำเค็มกับน้ำกร่อยเท่านั้น  เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ถ้าไม่บอกคงไม่รู้ว่านี่คือบางกระเจ้า ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯมาก

แม้ว่าคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2520 จะมีมติให้อนุรักษ์บางกระเจ้าเป็นพื้นที่ธรรมชาติ อุดมด้วยต้นไม้ และมีกฎหมายห้ามสร้างอาคารสูงในพื้นที่  แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ที่จะโอบอุ้ม พิทักษ์"บางกระเจ้า" ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอก ด้วยเหตุนี้  จึงมีโครงการอนุรักษ์บางกระเจ้าเกิดขึ้น  โดยคณะอนุกรรมการกำกับโครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่ารักษ์คุ้งบางกระเจ้า ที่มี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานอนุกรรมการ บริหารการท่องเที่ยวยั่งยืน(อพท.)ได้ขับเคลื่อน โครงการตามแนวพระราชดำริใน  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  ในการพัฒนาคุ้งบางกระเจ้า และมอบหมายให้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรืออพท.ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ซึ่งต่อมาอพท.ได้ทำงานในพื้นที่ สร้างเครือข่ายส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยว ในระดับชุมชน 6 ตำบล และภาครัฐ ได้แก่ คณะทำงานประชารัฐขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนคุ้งบางกระเจ้า ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ชุมชนและภาคประชาสังคม ต่อมาภายหลังกลไกนี้ พัฒนาไปรวมกับคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้คณะอนุกรรมการกำกับโครงการ Our Khung Bangkachao  ภายใต้โครงการนี้ ต่อมามีการเปิดตัว 6เส้นทางท่องเที่ยวในบางกระเจ้า  

 

ใต้สะพานภูมิพล 1 ตรงจุดคลองลัดโพธิ์  จะเห็นตึกสูงของกรุงเทพฯ ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม


ตามโครงการ “OUR Khung BangKachao” ได้ผนึกกับ 34 องค์กรขับเคลื่อน 6 แผน พัฒนาคุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืนผนึกกำลังหน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชน พร้อมเครือข่ายชุมชน กำหนดแนวทางการบูรณาการทำงานร่วมกัน (Social Collaboration) มุ่งเป้าหมายสร้างความเจริญเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) เพิ่มขึ้น 20 % ภายใน 5 ปี (ปี 2561-2565) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนสีเขียวในเมืองของประเทศไทย

มองจากคุ้งบางกระเจ้า อีกฝั่งเป็นพระราม 3  มีตึกสูงเรียงราย

ส่วนการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ด้านการจัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง ด้านการจัดการขยะ ด้านการส่งเสริมอาชีพ ด้านการท่องเที่ยว และด้านการพัฒนาเยาวชน การศึกษา และวัฒนธรรม  ซึ่งแต่ละองค์กรสมาชิกในโครงการฯ ได้นำความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ นวัตกรรมเทคโนโลยีหลากหลายมาบูรณาการเพื่อให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ มุ่งบรรลุเป้าหมายและผลลัพธ์ร่วมกัน สอดคล้องกับความต้องการชุมชน และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ

 

เพียงแม่น้ำเจ้าพระยากางกั้น อีกฟากที่คนางกระเจ้ามองเห็นฝั่งกรุงเทพฯ 


คณะทำงานทั้ง 6 ด้านได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน และจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ 6 ตำบลในคุ้งบางกะเจ้า โดยเป้าหมายในระยะแรกมุ่งพัฒนาพื้นที่สีเขียว ซึ่ง คณะทำงานพื้นที่สีเขียว นำโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำหนดเป้าหมายมุ่ง “รักษาและพัฒนาพื้นที่สีเขียวในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าให้ได้ 6,000 ไร่ ภายใน 5 ปี” พร้อมสร้างอัตลักษณ์พื้นที่สีเขียวต้นแบบในแต่ละตำบล โดยในปี 2562 มีแผนดำเนินการระยะเริ่มต้นก่อน 400 ไร่ ในพื้นที่ราชพัสดุของกรมป่าไม้ โดยออกแบบวางแผนการปลูกและบำรุงรักษาร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวทั้ง 6 ตำบลฯ ปัจจุบันมีองค์กรภาคีที่ร่วม และมี15 องค์กร สนับสนุนงบประมาณเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว  309.50 ไร่ (77 แปลง) ซึ่งนอกจากช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่แล้ว  ยังเป็นทรัพยากรพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมคุ้งบางกะเจ้าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของประเทศต่อไปอีกด้วย

เวทีเสวนาเรื่องการยกระดับบางกระเจ้าเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษเพื่อความยั่งยืน จัดโดยอพท.(ขวา)อ.ไชยณัฐ เจติยานุวัตร จากนิด้า


อ.ไชยณัฐ เจติยานุวัตร อาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่มีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยการพัฒนาบางกระเจ้า ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษที่ยั่งยืน กล่าวว่า ชุมชนบางกระเจ้ามีประวัติศาสตร์ ลุ่มลึกยาวนาน ก่อตั้งก่อนยุครัตนโกสินทร์ มีวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมชาวมอญตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน บางกระเจ้าจึงมีเสน่ห์ ทั้งในแง่การเป็นพื้นที่สีเขียว และมีมรดกทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เหมาะกับการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างมาก แต่การเป็นเมืองท่องเที่ยวก็จะทำให้ บางกระเจ้า มีโอกาสถูกทำลายทางธรรมชาติได้เช่นกัน ปัจจุบันบางกระเจ้ามีพื้นที่สีเขียว 58% ของพื้นที่ทั้งคุ้ง ที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัย และอุตสาหกรรมบางชนิด 42%  ซึ่งการที่เราตั้งใจให้บางกระเจ้ามีพื้นที่สีเขียว 60% หรือเพิ่มขึ้นอีก 2% ประมาณ 200 ไร่นั้น  แม้ไม่ใช่พื้นที่ขนาดใหญ่มาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับชุมชนบางกระเจ้า   ซึ่งปัญหาใหญ่ก็คือ การให้คนในพื้นที่เห็นชอบร่วมกันกับแนวคิดนี้  และมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดันให้สำเร็จ   เหมือนเช่นกรณีหิ่งห้อยที่เคยหายไปจากบางกระเจ้า แต่ชุมชนได้ช่วยกัน พลิกฟื้นทำให้หิ่งห้อยกลับคืนมาได้อีกครั้ง  ซึ่งในกรณีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนเป็นสำคัญ
 
การเป็นพื้นที่สีเขียว  และทำหน้าที่ปอดให้คนกรุง  โดยถูกกฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 ฉบับ ควบคุมจำกัดการใช้พื้นที่ โดยบางกระเจ้ามีกฎหมายพิเศษ ห้ามเจ้าของที่ดินสร้างบ้านเกิน 25% ของพื้นที่ที่ครอบครอง และสูงไม่เกิน 12เมตร และยังต้องปลูกต้นไม้ในพื้นที่อยู่อาศัยตามที่ถูกกำหนดอีกด้วย   

เพียงแม่น้ำเจ้าพระยากางกั้น อีกฟากคือฝั่งกรุงเทพ ที่ได้ประโยชน์ขจากระบบนิเวศที่ยังเป็นธรรมชาติของบางกระเจ้า


           อ.ไชยณัฐ  บอกว่า  การปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นปอดให้คนกรุงเทพ  ถือว่าเป็นความเสียสละของคนบางกระเจ้า แต่คนบางกระเจ้าไม่ได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้   และอย่าว่าแต่การผลิตออกซิเจนให้คนเมืองสูดหายใจเลย การที่คนกรุงเทพ จากฝั่งพระราม 3  ที่อยู่คอนโดย สามารถเห็นวิวเขียวขจีของบางกระเจ้าได้นั้น คนบางกระเจ้าก็ไม่ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน ส่วนตัวจึงควรมีแนวคิดว่า ควรจะมีการตอบแทนกลับคืนให้คนบางกระเจ้า เช่น การให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ที่คิดเป็นค่าคาร์บอนด์เครดิต  หรือการเก็บภาษีจากคนเมือง เพื่อมอบให้คนบางกระเจ้า ที่ทำหน้าที่ดูแลคุ้งให้เเต็มไปด้วยต้นไม้ เป็นปอดของคนเมือง

 
การพัฒนาบางกระเจ้าให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษยั่งยืน และชณะนี้มีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา  โดย"อพท." เตรียมเสนอให้รัฐบาลประกาศให้" บางกะเจ้า" เป็นพื้นที่พิเศษฯ ประมาณปลายปี 2564  ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนของอพท.เป็นอย่างไร นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ  อพท. กล่าวว่า     ที่ผ่านมา อพท.ได้ลงพื้นที่เตรียมพร้อม ทำความเข้าใจกับผู้อยู่อาศัยชุมชนในชุมชน  และประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งต้องมีส่วนร่วมดำเนินการตั้งแต่ต้น เป้าหมายหลักในแผนการพัฒนานี้การยกระดับมาตรฐานให้พื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวพิเศษที่มความยั่งยืน และในปีงบประมาณ24564 อพท. ได้จัดทำ 2โครงการสำคัญ คือ 1.โครงการศึกษาความเหมาะสมการประกาศพื้นที่พิเศษคุ้งบางกะเจ้า และจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษคุ้งบางกะเจ้า และ 2.โครงการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตรฐานสากล เป็นพื้นที่ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามเกณฑ์หรือ Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council และ Green Growth ตามโครงการOur Khung BangKachao GSTC โดยได้รับกรสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยแลนวัตกรรม หรือ สกสว.  

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ  อพท


นอกจากนี้ คือ การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนในฐานะผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ และในแผนยุทธศาสตร์นี้  ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน  ขณะที่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ก็จะได้รับแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ที่อพท. ได้ศึกษาและจัดทำขึ้น และจะมีการทำแผนพัฒนา เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณการดำเนินการต่อไป  

"เป้าหมายเราคือ การทำให้บางกระเจ้า เป็นแหล่งท่องเที่ยวพิเศษที่มีความยั่งยืน  พื้นที่สามารถสร้างผลประโยชน์สูงสุดและเกิดผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุดต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ประชาชนที่อยู่อาศัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ใช้ประโยชน์และคุณค่าจากฐานทุนทางธรรมชาติแลวัฒนธรรมที่มี   เสริมสร้างศักยภาพ และมีชื่อเสียงของบางกระเจ้าให้โดดเด่นยิ่งชึ้นกว่าเดิม  แต่การจะบรรลุเป้าหมายได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือของคนในพื้นที่ ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด "ผอ.อพท.กล่าว

การทำผ้ามัดย้อมของชนชาวมอญ บางกระเจ้า

 

เมี่ยงกลีบบัวมรดกวัฒนธรรมทางอาหาร ของบางกระเจ้า

 

ทางจักรยาน ถ้าได้มาคุ้งบางกระเจ้า ควรมีโอกาสไปสัมผัสความเป็นธรรมชาติรอบเกาะ

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"