ฝรั่งเศสกับสงครามในมาลีและรวันดา


เพิ่มเพื่อน    

เด็กชายคนนี้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาโดยการนอนซ่อนตัวใต้ศพที่กองทับถมเป็นเวลา 2 วัน (ภาพจาก news.un.org)

 

 

        ภายในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการนำเสนอรายงาน 2 ชิ้นสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของฝรั่งเศสกับความรุนแรงในทวีปแอฟริกา ได้แก่ การทิ้งระเบิดถล่มในประเทศมาลีเมื่อต้นปี และความเกี่ยวข้องในสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษก่อน

            ถล่มงานมงคลสมรสในมาลี ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 19 ราย

            กรณีแรก หน่วยงานของสหประชาชาติเพื่อภารกิจความมั่นคงในประเทศมาลี ชื่อ U.N. Multidimensional Integrated Stabilization Mission in Mali (MINUSMA) ได้เสนอรายงาน 36 หน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์กองทัพฝรั่งเศสทิ้งระเบิดในมาลี ประเทศในแอฟริกาตะวันตก อดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส (จนถึง ค.ศ.1960) เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 22 ราย

            ฝรั่งเศสได้กระโจนเข้าสู่สงครามกวาดล้างกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเป็นเวลา 8 ปีเข้าไปแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับงานแต่งงานในหมู่บ้าน “บุนตี” เขต “ม็อบติ” ของประเทศมาลี ไม่กี่วันหลังทหารฝรั่งเศสถูกสังหารเสียชีวิต 5 นาย

            เครื่องบินรบ “มิราจ 2000” จำนวน 2 ลำ ทิ้งระเบิด 3 ลูกลงสู่เป้าหมาย กองทัพบกฝรั่งเศสรายงานในวันนั้นว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 30 ราย ทั้งหมดเป็นนักรบกลุ่มผู้ก่อการร้าย รัฐบาลมาลีก็ยืนยันตามนั้น ทว่าชาวบ้านในเหตุการณ์เห็นแย้งและระบายออกมาทางสังคมออนไลน์อย่างรุนแรง MINUSMA จึงส่งทีมเข้าไปตรวจสอบ

            พวกเขาได้สัมภาษณ์สอบถามพยานจำนวน 215 ปาก ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ก่อนจะมีรายงานออกมาว่า ในงานฉลองมงคลสมรสวันที่ 3 มกราคม มีผู้ร่วมงานประมาณ 100 คน ในจำนวนนี้มีกลุ่มติดอาวุธรวมอยู่ด้วย 5 คน น่าจะสังกัดกลุ่ม “คาติบา เซอร์มา” เครือข่ายของอัลกออิดะห์ ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นชาย (อายุระหว่าง 23-71 ปี) เนื่องจากเป็นงานที่อนุญาตให้เฉพาะผู้ชายเข้าร่วม เพราะหลังจากมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นมาได้สักระยะ ทางชุมชนได้ห้ามชายหญิงรวมกลุ่มในงานเดียวกัน ผู้หญิงและเด็กต้องอยู่บ้านเพื่อความปลอดภัย

            “ฮามาดุน ดิกโค” หัวหน้ากลุ่มด้านกฎหมายในพื้นที่ กล่าวว่า ผลการสอบสวนของสหประชาชาติทำให้ชาวบุนตีได้รับความยุติธรรม เขาประณามกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันก็บอกว่า “ในโลกนี้ไม่มีกองทัพที่ไหนสมบูรณ์แบบ และถึงเวลาแล้วที่ฝรั่งเศสจะต้องยอมรับความผิดพลาด”

            ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับรายงาน ยืนกรานว่าเป้าหมายที่ทิ้งระเบิดคือกลุ่มนักรบที่มีความเชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์ และผู้ก่อการร้ายรัฐอิสลามซึ่งได้ยึดครองพื้นที่ส่วนหนึ่งในมาลี ก่อเหตุโจมตีฐานของเจ้าหน้าที่และชุมชนในชนบทอยู่เป็นประจำ

            กลุ่มผู้ก่อการร้ายใช้แท็กติกแทรกซึมอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ และใช้พลเรือนผู้บริสุทธิ์เป็นเกราะกำบัง นอกจากนี้ก็ยังข่มขู่ชาวบ้านด้วยอาวุธให้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต บางทีกลับให้คำสัญญาจะทำให้พวกเขาพ้นจากความยากจนอันมีสาเหตุมาจากรัฐบาลไม่ใส่ใจพัฒนา

            สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในมาลีมีผู้เสียชีวิตในปีที่แล้วมากสุดถึงราว 2,800 คน ปัจจุบันฝรั่งเศสคงทหารไว้ประมาณ 5,100 นาย การสู้รบดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

            คนตาบอดในเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา

            จากแอฟริกาตะวันตกขยับไปทางแอฟริกาตะวันออก ประธานาธิบดี “เอ็มมานูเอล มาคง” ตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อมูลและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตที่ฝรั่งเศสถูกกล่าวหาอย่างรุนแรง มีอยู่อย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่ ความโหดร้ายในสงครามกับแอลจีเรีย และความเกี่ยวข้องในเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา

            กรณีสงครามในแอลจีเรียนั้นมีรายงานออกมาแล้วเมื่อ 20 มกราคมที่ผ่านมา ส่วนเหตุการณ์ในรวันดานั้นเพิ่งออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ในวันนี้ขออนุญาตกล่าวเฉพาะเหตุการณ์หลัง

            คณะกรรมการที่นำโดยนักประวัติศาสตร์ชื่อ “แวงซองต์ ดูแคลร์” ได้รับข้อมูลจากเอกสารเกือบ 8,000 ชิ้นที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ.1990-1994 เขียนออกมาเป็นรายงานจำนวน 992 หน้า สรุปใจความว่า ฝรั่งเศสทำตัวเหมือน “คนตาบอด” กับเหตุการณ์ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศรวันดาเมื่อปี ค.ศ.1994 ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 800,000 คน

                “ฝรั่งเศสมีส่วนต้องรับผิดชอบทางการเมืองด้วยเหตุที่ไม่ระงับยับยั้ง ทั้งที่เห็นการเตรียมการเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีโดยฝ่ายฮูตูหัวรุนแรงสุดโต่ง อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสมิได้เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าวนี้”

            รายงานไม่ได้ให้น้ำหนักกับบทบาทของฝรั่งเศสในช่วงหลายปีก่อนการนำไปสู่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงพฤติกรรมของทหารและนักการทูตฝรั่งเศสในความเกี่ยวข้องกับฝ่ายฮูตู โดยกล่าวแต่เพียงว่าเป็น “บริบทของสงคราม”, “การอพยพหนีภัย” และ “ความจริงอันแสนเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตรงหน้า”

                “ฝรั่งเศสเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับฝ่ายฮูตูเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีหรือไม่? หากหมายถึงความจงใจที่จะร่วมลงมือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีข้อมูลหลักฐานใดพิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้น” รายงานระบุ

            อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการได้ตำหนิรัฐบาลของ “ฟองซัวส์ มิตเตอรองด์” ในเวลานั้นว่า ได้ใช้หลัก Binary view หรือ “ทวิทรรศน์” ในทางการเมืองกับรวันดา นั่นคือเอาชาวฮูตูมาเป็นพวก ในขณะที่มองชาวทุตซีเป็นศัตรู นอกจากนี้ก็ยังเชื่องช้าเกินไปในการหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

            ในปฏิบัติการทางทหารและมนุษยธรรมของสหประชาชาติที่เรียกว่า “ปฏิบัติการเทอร์ควอยซ์” ซึ่งกองทัพของฝรั่งเศสได้เข้าไปในฐานะกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ เพื่อช่วยเหลือชีวิตและคุ้มภัยผู้อพยพหนีความรุนแรง รายงานฉบับนี้ชี้ว่า “ได้ช่วยชีวิตคนไว้มากมาย” แต่ “ไม่สามารถช่วยชาวทุตซีจำนวนมหาศาลที่ถูกสังหารในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

            ไม่นานมานี้ก็ได้มีการเปิดเผยหลักฐานใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสได้ออกคำสั่งอนุญาตให้ฝ่ายลงมือของฮูตูในพื้นที่ควบคุมของฝรั่งเศสหนีกองกำลัง RPF ของทุตซีออกไปได้ โดยเพิกเฉยต่อคำขอของทูตฝรั่งเศสที่ให้จับกุมกลุ่มฮูตูดังกล่าวไว้

            ก่อนหน้านี้มีหลักฐานที่เป็นเอกสารทางการและคำให้สัมภาษณ์ของผู้รอดชีวิต ได้กล่าวหาฝรั่งเศสว่าให้การสนับสนุนด้านอาวุธและที่พักพิงแก่ผู้ลงมือสังหาร ทว่ารัฐบาลกรุงปารีสปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว

            อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรวันดามีปฏิกิริยาในทางบวกต่อรายงานฉบับนี้ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของพวกเขากล่าวว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับความเข้าใจร่วมกันในเรื่องบทบาทของฝรั่งเศสในกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี

            นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศรวันดายังเปิดเผยว่า คณะกรรมการของรวันดาเองที่ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2017 จะมีรายงานออกมาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งบทสรุปที่จะออกมาคงช่วยเสริมให้รายงานของทางฝรั่งเศสมีความสมบูรณ์มากขึ้น

            เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศตึงเครียดมาโดยตลอด เมื่อปี ค.ศ.2016 รัฐบาลรวันดาได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ทหารของฝรั่งเศส 22 นาย ว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

            รายงานจาก Cunningham Levy Muse LLP บริษัทกฎหมายของอเมริกาที่ออกมาเมื่อปี ค.ศ.2017 ระบุว่า มีหลักฐานเด่นชัดที่เชื่อมโยงฝรั่งเศสในการสังหารหมู่ดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสได้อำนวยความสะดวกแก่การไหลเข้าไปของบรรดาอาวุธที่ต่อมาชาวฮูตูหัวรุนแรงใช้ในการสังหารหมู่ชาวทุตซี

            บริษัทกฎหมายนี้ยังรายงานด้วยว่า กองกำลังฝรั่งเศสในนามของกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติที่เข้าประจำการในเวลานั้น ได้สร้างโซนปลอดภัยสำหรับฆาตกรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และช่วยให้หนีเข้าไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ในเวลานั้นใช้ชื่อ “ซาอีร์”) ประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกของรวันดา

            เส้นทางสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

            ชาวฮูตูและชาวทุตซี (รวมถึงชาวทวา) อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาเป็นเวลาหลายร้อยปี ทุตซีเลี้ยงสัตว์ ส่วนฮูตูทำการเพาะปลูก ทั้ง 2 เชื้อชาติไม่มีประวัติความขัดแย้งถึงขั้นรุนแรง กระทั่งถึงยุคราชอาณาจักรรวันดา คริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ผู้ปกครองเป็นชาวทุตซี ระบบแรงงานไพร่ทำให้ชาวฮูตูต้องพิสูจน์และแสดงอะไรหลายอย่างเพื่อจะเข้าถึงการทำประโยชน์ในที่ดิน ความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้น

            ยิ่งเมื่อนักล่าอาณานิคมยุโรปเข้าไปยึดครอง เริ่มจากเยอรมนีในปี ค.ศ.1887 ซึ่งเยอรมนีปกครองผ่านกษัตริย์รวันดาเพียงคนเดียว ทำให้ใช้กำลังทหารน้อยกว่าการปกครองด้วยตัวเอง จากนั้นเบลเยียมเข้ามายึดต่อ (ทั้งรวันดา บุรุนดี และอีกบางประเทศในแถบนี้) เนื่องจากเยอรมนีแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เบลเยียมยังคงให้ความนิยมทุตซีมากว่าฮูตู และนับแต่ปี ค.ศ.1926 ก็บริหารประเทศอาณานิคมโดยตรง ชาวทุตซีอยู่เหนือกว่า ชาวฮูตูถูกเบียดขับและถูกลิดรอนสิทธิ์หลายเรื่อง

            ปี ค.ศ.1935 เบลเยียมทำให้ “การแบ่งแยก” ไม่อาจกลับคืนมาได้ กำหนดให้ระบุเชื้อชาติลงในบัตรประจำตัวประชาชน โดยรวันดามีประชากรฮูตูเป็นส่วนใหญ่ มากถึง 84 เปอร์เซ็นต์ ทุตซี 15 เปอร์เซ็นต์ และทวา 1 เปอร์เซ็นต์

            การแบ่งแยกเชื้อชาติระหว่างชาวทุตซีและฮูตูนี้ได้ถูกทำให้ชัดเจนขึ้นไปอีกด้วยการอ้างตำนานกำเนิดมนุษยชาติ มิชชันนารีเผยแพร่คติความเชื่อที่ว่าชาวทุตซีเป็นชนชาติผิวดำที่เหนือกว่าชาวฮูตู ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านทุตซีขึ้นอย่างเงียบๆ และนำไปสู่แผนโฆษณาชวนเชื่อในหมู่ชาวฮูตูเช่นกัน

            หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเคลื่อนไหวเพื่อการปลดปล่อยชาวฮูตูเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง บรรดามิชชันนารีคาทอลิกต่างก็มองว่าเป็นความรับผิดชอบของพวกเขาที่จะปลุกกำลังใจให้กับชาวฮูตูแทนที่จะเป็นชาวทุตซีชนชั้นปกครอง ในที่สุดในปี ค.ศ.1957 ก็มีกลุ่มนักวิชาการฮูตูประกาศเรียกร้องถ่ายโอนอำนาจจากทุตซีสู่ฮูตู เนื่องจากฮูตูเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ ฝ่ายเบลเยียมเองก็เปลี่ยนท่าทีไปสนับสนุนชาวฮูตู โดยแต่งตั้งชาวฮูตูให้ได้รับตำแหน่งราชการสำคัญๆ เกือบทั้งหมดในช่วงปี ค.ศ.1960

            จากนั้นปี ค.ศ.1962 รวันดาได้รับเอกราชจากเบลเยียม เป็นสาธารณรัฐที่มีชาวฮูตูเป็นใหญ่ กษัตริย์ทุตซีถูกปลด ถึงตอนนี้ชาวทุตซีเริ่มหลบลี้หนีภัยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านรายรอบ ได้แก่ บุรุนดี ยูกันดา แทนซาเนีย และซาอีร์ กลุ่มทุตซีที่หนีออกมานี้ตั้งกองกำลังขึ้นเพื่อโจมตีใส่รวันดาของฮูตู แต่ไม่สำเร็จ ถูกโต้กลับ และทุตซีที่ยังอยู่ในรวันดาถูกฆ่าไปนับหมื่น ทำให้เกิดคลื่นอพยพหนีภัยอีกรอบ

            เดือนตุลาคม ค.ศ.1990 “แนวร่วมรักชาติรวันดา” ของชนชาติทุตซี หรือกองกำลัง RPF (Rwandan Patriotic Front) ที่ตั้งฐานอยู่ทางตอนใต้ของยูกันดา ได้บุกเข้ามาในรวันดาทางเหนือ 3 วันหลังการบุก ผู้นำของพวกเขาถูกสังหาร คนใหม่ที่ขึ้นมาคือ “พอล คากาเม” ผู้มีความสามารถ ฉลาดปราดเปรื่องในการวางแผนรบ เขาระดมทุนและเกณฑ์นักรบทุตซีที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคได้เป็นจำนวนมาก จากนั้นก็เริ่มสงครามกลางเมืองกับรัฐบาลฮูตู

            การรบแบบกองโจรของ RPF สร้างความเสียหายแก่ฝ่ายรัฐบาลรวันดาได้ไม่น้อย เดือนสิงหาคม ค.ศ.1993 สามารถเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลของประธานาธิบดี “จูเวนัล ฮับเบียรีมานา” ได้ในการพูดคุยที่เมืองอุรุชา ประเทศแทนซาเนีย และขอใบเบิกทางสำหรับตำแหน่งต่างๆ ใน “รัฐบาลเปลี่ยนผ่านผสม” และในกองทัพแห่งชาติรวันดา

            อย่างไรก็ตาม เหตุเครื่องบินโดยสารถูกจรวดยิงตกก่อนลงจอดในกรุงคิกาลี เมืองหลวงของรวันดา เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1994 ผู้โดยสารเสียชีวิตยกลำ รวมถึงประธานาธิบดีฮับเบียรีมานา และประธานาธิบดีของประเทศบุรุนดี ทำให้ข้อตกลงหยุดยิงเป็นอันล้มเลิก และฝ่ายฮูตูเริ่มปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีทันที โดยการนำของ “ธีโอเนสเต บาโกโซรา” ฮูตูสายเหยี่ยวที่เข้าชิงอำนาจสั่งการในฐานะรัฐบาลเฉพาะกาล ทั้งนี้การสอบสวนหาผู้ลงมือยิงเครื่องบินสรุปไป 2 ทางว่า ฝ่ายแรกคือ RPF จากคำสั่งของ “พอล คากาเม” และอีกทางคือจากฝีมือของ “ฮูตูเพาเวอร์” ซึ่งเป็นฮูตูหัวรุนแรงที่เริ่มไม่พอใจประธานาธิบดีฮับเบียรีมานา ว่าเริ่มอ่อนข้อให้กับทุตซีมากเกินไป

            จากข้อมูลหลักฐานต่างๆ ทำให้นักประวัติศาสตร์และผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี หรืออาจย้อนไปไกลกว่านั้นหลายปี เพราะมีการโฆษณาชวนเชื่อให้เกลียดชังและทำลายชาวทุตซีอย่างเป็นระบบ มีการเตรียมพร้อมด้านอาวุธ ฝึกอาวุธ นอกจากนี้ยังได้ตกลงซื้ออาวุธล็อตใหญ่จากรัฐบาลอียิปต์ในปี 1990 ซึ่งได้รับการอำนวยความสะดวกโดย “บูโทรส บูโทรส-กาลี” รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ในขณะนั้น ผู้ที่ต่อมาขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

            ทั้งนี้ก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อุบัติขึ้น ตัวแทนของสหประชาชาติในรวันดาได้ส่งข้อมูลการเตรียมการสังหารระดับกวาดล้างทางชาติพันธุ์ไปให้สำนักงานใหญ่รับทราบแล้ว แต่ถูกเมินเฉย

            การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทำโดยทหาร ตำรวจ กองกำลังพลเรือนฮูตูเพาเวอร์ พวกเขาฆ่าชาวทุตซีไม่เลือกหน้าด้วยอาวุธหลากหลาย รวมทั้งมีดยาวที่เห็นกันทั่วไปในสื่อ ผู้หญิงประมาณ 3 แสนคนถูกข่มขืน ต่อมาเป็นโรคเอดส์จำนวนมาก เช่นเดียวกับเด็กที่คลอดจากแม่ที่ถูกข่มขืน พวกเขาฆ่าแม้แต่ชาวฮูตูด้วยกันที่เห็นอกเห็นใจชาวทุตซี หรือฮูตูสายกลาง ทั้งนักการเมืองและบุคคลทั่วไป ไม่มีกองกำลังต่างชาติใดๆ เข้าไปหยุดยั้ง อเมริกานั้นเพิ่งป่นปี้และเสียหน้ามาจากสงครามในโซมาเลียจึงได้แต่เงียบเฉยไว้

            รัฐบาลและกองทัพรวันดาของฮูตูมัวแต่มุ่งเน้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้กองกำลัง RPF ของทุตซีที่นำพอล คากาเม รุกคืบจากทางเหนือเข้ามาเรื่อยๆ สังหารฮูตูไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน สุดท้ายใช้เวลาเพียง 3 เดือนก็ยึดได้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ คราวนี้ฮูตูเป็นฝ่ายอพยพหนีตายไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ภูมิภาคที่ฝรั่งเศสในนามของกองกำลังสันติภาพเข้ามาให้ความช่วยเหลือในปฏิบัติการเทอร์ควอยซ์ และทำตัวเป็นคนตาบอดตามที่ได้มีรายงานสรุปออกมาข้างต้น

            นักวิเคราะห์มองว่า การเข้าไปมีอิทธิพลของฝรั่งเศสในภูมิภาคนี้ เพราะต้องการดำเนินนโยบาย Francafrique หรือ “ฝรั่งเศสแอฟริกา” เพื่อต้องการคานอำนาจกับอังกฤษที่มีอดีตประเทศอาณานิคมจำนวนไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะยูกันดาที่ฝ่าย RPF ใช้เป็นฐาน

            ในที่สุด “รวันดา” ก็กลับสู่การปกครองของชาวทุตซี “พอล คากาเม” ขึ้นเป็นใหญ่จนถึงทุกวันนี้ ชาวฮูตูจำนวนมากหนีเข้าสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีการตั้งกองกำลังขึ้นมาต่อสู้ ลุกลามกลายเป็นสงครามใหญ่ คือ “สงครามคองโก” ครั้งที่ 1 ระหว่าง 1996-1997 และ “สงครามคองโกครั้งที่ 2” ระหว่างปี 1998-2003 มีผู้เสียชีวิตนับล้าน

            ทั้งนี้ หลังการขึ้นสู่อำนาจของ “พอล คากาเม” บัตรประชาชนของรวันดาไม่มีการระบุเชื้อชาติอีกต่อไปแล้ว.

 

****************************

 

อ้างอิง :

 

- washingtonpost.com/world/2021/03/30/mali-france-airstrikes/

 

- theguardian.com/world/2021/mar/30/deaths-of-19-civilians-in-french-airstrike-in-mali-disputed-by-paris

 

- bbc.com/news/world-europe-56536659

 

- aa.com.tr/en/africa/france-blind-to-rwanda-genocide-report/2189691

 

- en.wikipedia.org/wiki/Rwandan_genocide

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"