3 เม.ย.64 - นายพิจารณ์ เชาวน์พัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีช่วงฤดูเกณฑ์ทหารของชายไทย ที่ดูเหมือนกองทัพไม่มีทิศทางในการปรับตัว และพร้อมที่จะปฏิรูปกองทัพอย่างเต็มรูปแบบ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของพลวัตโลกในปัจจุบัน
นายพิจารณ์ กล่าวว่า เมื่อปี่กลองของฤดูกาลเกณฑ์ทหารดังขึ้นอีกครั้งในปีนี้ เป็นน่าเสียดายที่ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ที่พวกเราเสนอไปตั้งแต่เมื่อปี 2562 ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปัดตกไปเสียก่อน ไม่อย่างนั้นปีนี้อาจจะเป็นปีแรกๆ ที่เราเปิดรับสมัครทหารกองประจำการแล้วก็ได้ โดยในปีนี้เราก็จะยื่นร่างกฎหมายนี้อีกครั้ง เพื่อยืนยันหลักการ และเผื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเปลี่ยนใจ ไม่เห็นว่าการรับพลทหารแบบสมัครใจเป็นภาระงบประมาณมากเกินไป เราจะได้พูดคุย ถกเถียงเรื่องนี้ในสภาอย่างโปร่งใส
“กำลังพลไม่พอใครรับผิดชอบ?” นี่คือคำโต้แย้งจากอดีต รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกคนปัจจุบัน โดยในวันนั้นผมไม่แน่ใจว่าเพื่อน ส.ส.ท่านใดได้ตอบท่านหรือไม่ แต่ผมจะลองตอบคำถามท่านดู“ นายพิจารณ์ กล่าว
นายพิจารณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนชายไทย 135,000 คนมากไปหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ทางกระทรวงกลาโหมไม่เคยตอบเราจริงๆ ก็คือ ภายใต้สถานการณ์ภัยคุกคามในปัจจุบันเราต้องการพลทหารมากขนาดนี้อยู่หรือไม่ เมื่อการรบแบบทหารราบ เป็นการรบทางอากาศ ทางไซเบอร์ ภัยคุกคามความมั่นคงที่แท้จริงกลายเป็นสงครามทางการค้าและการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ กระทรวงกลาโหมได้มีการประเมินความต้องการกำลังพลกันอย่างจริงจังหรือไม่ จากข้อมูลของกระทรวงกลาโหม เรามีพลทหารประจำการอยู่สูงถึงเกือบ 135,000 คน ในปีงบประมาณ 2563 และในเมื่อปัจจุบันท่านได้ยืนยันกับเราหลายครั้งว่า ไม่มี “นายทหารรับใช้” อีกต่อไป เปลี่ยนชื่อเป็น “นายทหารบริการ” แต่มีจำนวนลดลงแล้ว เหตุใดยังจำเป็นต้องเกณฑ์ทหารปีละแสนคนอยู่ ถ้าจะอ้างว่าต้องมีพลทหารไว้ช่วยเหลือประชาชนยามภัยพิบัติ เราสามารถระดมสรรพกำลังในรูปแบบอาสาสมัครชั่วคราว ไม่จำเป็นต้องจ้างพลทหารไว้ก่อนเพื่อรอรับภารกิจที่ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาในแต่ละปี
นายพิจารณ์ กล่าวต่อไปว่า กำลังพลเพิ่มสวนทางกับประเทศทั่วโลก โดยตนอ้างอิงข้อมูลจาก อ.เดชรัตน์ ว่า ถ้าเราดูอัตรากำลังพลต่อกำลังแรงงานของประเทศนั้น เทียบระหว่างปี 2533 กับปี 2561 กองทัพไทยของเรามีอัตรากำลังพลต่อกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น 23% ในขณะที่ภาพรวมของทั้งโลกลดลง 27% ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม อัตรากำลังพลต่อกำลังแรงงานลดลง 71% ส่วนมาเลเซียลดลง 52% ในยามที่ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ และต้องการแรงงานอย่างมาก ประเทศไทยกำลังดึงเอากำลังแรงงานของคนหนุ่มไปใช้ปีละ 135,000 คน ไปใช้ในค่ายทหารที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม
สิ่งที่ต้องแลกกับการเกณฑ์ทหาร - ต้นทุนค่าเสียโอกาส 2 ปี เด็กหนุ่มในวัย 20 ต้นๆ จะต้องไปเป็นแรงงานบังคับในค่ายทหาร 1-2 ปี เสียโอกาสที่เป็นกำลังหลักให้กับเศรษฐกิจของประเทศ รับเบี้ยเดือนละ 10,000 บาท เสียโอกาสในความก้าวหน้าในอาชีพเมื่อเทียบกับคนอายุรุ่นเดียวกัน และยังเสียโอกาสที่ได้อยู่กับครอบครัว ดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา ยังไม่ต้องพูดถึงการฝึกทหารที่เป็นที่โจษจัน และพลทหารบางคนอาจจะต้องเสียโอกาสที่ใหญ่กว่านั้น นั่นก็คือ... เสียชีวิต เรายังพบว่าทหารเกณฑ์ยังเป็นช่องทางในการทุจริตได้ง่าย ที่บอกว่าเงินเดือนๆ ละ 10,000 บาท นั้นเอาเข้าจริงก็จะถูกหัก! หัก! และหัก! ทั้งค่าเสื้อผ้ารองเท้าในช่วงเข้าฝึกใหม่ ค่าเบี้ยเลี้ยงก็โดนหักค่าข้าวที่กินวันละ 60 บาท (ไม่ได้กินฟรี) หักค่างานศพ (ศพใคร?) และมีการบังคับออมเงินด้วย จาก 10,000 จะเหลือแค่ราว 7,500 บาท แต่ตกถึงมือทหารเกณฑ์จริงๆ เพียง 6,600-7,000 บาท ส่วนต่างหายไปไหนไม่มีใครทราบ เพราะถึงแม้จะมีการเปลี่ยนระบบให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงินเดือนและค่าครองชีพตรง แต่เบี้ยเลี้ยงยังเบิกจ่ายโดยต้นสังกัด แถมยังมี “จ่ากองร้อย” ที่มีพฤติกรรมยึดบัตรเอทีเอ็มของเหล่าพลทหารไว้ที่ตัวเอง อ้างว่าป้องกันการหนีทหาร! และยังมีเรื่องเล่าอื่นๆ ของการจ่ายเงินเพื่อไม่ต้องอยู่ผลัด ยกเงินเดือนให้จ่ากองร้อยแลกกับการนอนอยู่บ้านไม่ต้องมาฝึก เป็นต้น
ขณะที่ กองทัพเริ่มปรับตัว แต่ยังไปไม่ถึงดวงดาว โดยปีนี้ก็เป็นปีแรกอีกเช่นเดียวกันที่กองทัพเปิดรับสมัครพลทหารที่ไม่ได้เข้าข่ายถูกเกณฑ์ในปีนี้ เปิดรับล่วงหน้าในช่วงต้นปี แทนที่จะให้สมัครตามหน่วยตรวจเลือกเหมือนในปีที่ผ่านๆ มา ตั้งเป้าไว้ที่ 1 หมื่นนาย แต่มีผู้มาสมัครและได้รับคัดเลือกเพียง 3 พันกว่านาย แต่อย่างน้อยเราก็เห็นว่ากองทัพเริ่มปรับตัว ทดลองการเพิ่มแรงจูงใจให้คนมาสมัครเป็นทหารมากขึ้น แต่กองทัพก็ยอมรับด้วยตัวเองว่าแรงจูงใจที่ให้ยังไม่มากพอ ไม่ว่าจะเป็นการให้แต้มต่อในการสมัครเข้าโรงเรียนนายสิบ สามารถเลือกหน่วยสังกัดได้
“แต่เรื่องที่กองทัพยังไม่ได้แตะ ยังไม่ได้แก้อย่างจริงจังที่เป็นแรงจูงใจสำคัญ คือ ความเป็นทหารอาชีพ ไม่ใช่เป็นทหารรับใช้ ไม่แก้ไขสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในกองทัพ ไม่ปรับปรุงเรื่องสวัสดิการและค่าตอบแทน รวมทั้งสิ่งที่สำคัญที่สุดสวัสดิภาพและความปลอดภัยของทหารเกณฑ์ ให้การสละชีพเกิดขึ้นในสนามรบ หรือการศึกสงคราม ไม่ใช่เกิดจากการ “ซ่อม” หรือธำรงวินัย หากถ้าแก้เรื่องนี้ได้ บวกกับปรับลดขนาดกำลังพลให้เหมาะสม ผมขอการันตีเราจะมีกำลังพลเพียงพอครับ" รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |