ชงศาลรธน.ตีความ ผ่าทางตันกม.ปปช./ประวิตรชู‘บิ๊กตู่’ผู้นำรุ่นใหม่


เพิ่มเพื่อน    

  "พรเพชร” เผย "มีชัย" แนะ สนช.เสนอศาลรธน.ตีความปมต่ออายุ ป.ป.ช.วินิจฉัยให้เด็ดขาดว่ายกเว้นลักษณะต้องห้ามได้หรือไม่ ชี้ 2 ช่องทางสมาชิก สนช. 1 ใน 10 หรือนายกฯ เสนอด้วยตนเอง "สมชาย" หนุน 55 สนช.ที่เคยลงมติไม่เห็นด้วยยื่นศาลชี้ขาดเพื่อสร้างบรรทัดฐาน ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ส่งตีความ "เซตซีโร กกต." อ้างศาล รธน.เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคดีต่ออายุผู้ตรวจฯ "เสรี" ยกสารพัดข้อดีจัดมหรสพจูงใจคนมาฟังปราศรัยหาเสียงได้ "วัชระ" ย้อนกลับเปิดช่องให้วงดนตรีสี่เหล่าทัพหาเสียงให้ "ประยุทธ์" หรือ 

    ที่รัฐสภา วันที่ 12 มกราคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ..... ที่มีข้อกังวลอาจขัดรัฐธรรมนูญว่า  ขณะนี้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่าง กรธ. สนช. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่ง สนช.ได้พิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้ สนช.ยังจะต้องรอความคิดเห็นอย่างเป็นทางการจาก ป.ป.ช.อีกครั้งก่อน ซึ่งจะมีกำหนดสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในวันนี้
    ประธาน สนช.กล่าวว่า ขณะเดียวกันนายมีชัยได้มีข้อเสนอแนะให้ สนช.พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งต่อไปของกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน เนื่องจากบทบัญญัติในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการยกเว้นให้กรรมการ ป.ป.ช.ที่มีลักษณะต้องห้ามคือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือกรรมการองค์กรอิสระมาก่อนยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ โดยนายมีชัยแสดงความคิดเห็นว่า ควรจะต้องมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เด็ดขาดว่าสามารถกำหนดการยกเว้นลักษณะต้องห้ามได้หรือไม่
    "สำหรับการเสนอร่างกฎหมายไปให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้สามารถดำเนินการได้ 2 วิธี ได้แก่ 1.การให้สมาชิก สนช.เข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 2.นายกรัฐมนตรีเสนอไปให้ศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง และตนในฐานะประธาน สนช.จะให้สั่งสมาชิก สนช.ยื่นหรือไม่ ไม่ได้ แต่ทำได้เพียงดำเนินการเพื่อบอกกล่าวแก่สมาชิกสนช.เท่านั้น เนื่องจากการยื่นหรือไม่ยื่นเป็นดุลพินิจของสมาชิก สนช.แต่ละคน" นายพรเพชรกล่าว 
    ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่า สนช.ลังเลจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะเกรงว่าจะสร้างปัญหาให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตัวศาลเองได้รับการต่ออายุเช่นกันนั้น  นายพรเพชรกล่าวว่า รู้สึกไม่สบายใจ และอยากเรียนว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันจำนวน 5 คน เป็นแต่เพียงทำหน้าที่รักษาการ เมื่อคนใหม่มาก็จะพ้นทันที เช่นเดียวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดังนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามอะไรทั้งสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องข้อกฎหมายที่ผิดเพี้ยนไป วันนี้ท่านไม่อยู่ในฐานะที่พูดได้ ตนจึงต้องออกมาพูดให้  
    นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำหนังสือถึงประธาน สนช.ให้ยื่นเรื่องตีความร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. กรณีต่อายุป.ป.ช. โดยเฉพาะการยกเว้นลักษณะต้องห้ามว่า ส่วนตัวเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อให้เกิดความกระจ่างและสิ้นกระแสความ ควรให้ สนช.ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว 26 คน และงดออกเสียง 29 คน ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการพิจารณากฎหมายต่อไป ซึ่งสามารถยื่นได้ตั้งแต่บัดนี้ไปจนกว่านายกฯ จะนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 148
     "แต่ส่วนตัวกำลังดูข้อกฎหมายว่าจะยื่นเองได้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เป็นคนแปรญัตติให้ ป.ป.ช.อยู่ต่อไป อีกทั้งยังลงมติเห็นชอบตามเสียงกรรมาธิการเสียงข้างมากที่ให้ ป.ป.ช.อยู่ต่อไปด้วย แต่สุดท้ายต้องดูว่าจะทำได้หรือไม่ อีกทั้งต้องไม่ขัดกับความรู้สึกและเจตนารมณ์ของตัวเองด้วย" นายสมชายกล่าว 
ผู้ตรวจหลังพิงศาล รธน.
    ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยุติเรื่องกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ามาตรา 70 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ที่บัญญัติว่า ให้ประธาน กกต.และ กกต.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2560 กรณีประธาน สนช.ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่าการที่ร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดให้ผู้ตรวจฯ ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งจนครบวาระขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
    โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า  มาตรา 273 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป  และเมื่อ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้ว การจะดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดนั้น ให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญมอบให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้มีหน้าที่พิจารณากำหนดการดำรงตำแหน่งต่อไปของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเรื่องระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หรือการพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงเหตุยกเว้นคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ ซึ่งการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดนั้น อาจกำหนดได้หลายรูปแบบ เช่น ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระ ตามรัฐธรรมนูญ 60  หรือ ให้เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ หรือให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด โดยการจะกำหนดให้ใช้รูปแบบใดนั้น จะต้องคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็น ความเหมาะสม ทั้งในเรื่ององค์ประกอบ หน้าที่ อำนาจของแต่ละองค์กร และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
    "ดังนั้น การที่มาตรา 70 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. กำหนดให้ประธาน กกต. กกต.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน วันที่ พ.ร.ป.กกต.มีผลใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนั้น จึงเป็นการกำหนดรูปแบบ 1 ใน 3 รูปแบบ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญให้พิจารณากำหนดใด้ โดยคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นและความเหมาะสมขององค์กร ซึ่งเป็นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว"
    ส่วนที่นายสมชัยอ้างว่าขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะเป็นการมีผลย้อนหลังกระทบต่อสิทธิของ กกต.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน เห็นว่าการสมัครเข้าดำรงตำแหน่งของนายสมชัยและ กกต.อยู่บนพื้นฐานความสมัครใจ ไม่ใช่เป็นการเข้ามาประกอบอาชีพ เพื่อแสวงหาสิทธิประโยชน์ เหมือนการสมัครเข้าประกอบอาชีพอื่น ซึ่งย่อมทราบดีตั้งแต่ต้นแล้ว จึงไม่ใช่สิทธิ์ดังที่อ้าง ทั้งการพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ก็ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการให้พ้นโดยผลของกฎหมาย จึงเห็นว่ามาตรา 70 ของ พ.ร.ป.กกต.ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญ จึงให้ยุติเรื่องและแจ้งผลวินิจฉัยให้นายสมชัยทราบ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มติของผู้ตรวจฯ จะถูกตำหนิหรือไม่ว่าเพราะผู้ตรวจฯ ได้ประโยชน์ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้อยู่ต่อ นายรักษเกชากล่าวว่า ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะคนวินิจฉัยไม่ใช่ผู้ตรวจฯ แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยและวางบรรทัดฐานไว้ว่าการให้พ้นจากตำแหน่งทำได้ทั้ง 3 กรณี  ซึ่งของ กกต.ก็เป็น 1 ใน 3 แนวทาง จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ตรวจจะไปมีมติให้เป็นอย่างอื่นได้ การวินิจฉัยของศาลมีผลผูกพันทุกองค์กร พิจารณาตามมติศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง  
หนุนมีมหรสพหาเสียง
    ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ กมธ.วิสามัญพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวถึงกรณี กมธ.กำหนดให้จัดมหรสพหาเสียงได้ว่า ที่ผ่านมานอกจากการปราศรัยใหญ่ที่มีผู้สนใจออกมาฟังการหาเสียงแล้ว ในระดับทั่วๆ ไป การจะให้คนออกมาฟังปราศรัยผู้สมัครอื่นๆ มักไม่มีคนออกมาฟังมากนัก  หากจะมาได้จะต้องมีการว่าจ้างกันให้ออกมา เกณฑ์กันมา หรือบังคับโดยใช้อิทธิพลหรือระบบอุปถัมภ์เกณฑ์คนออกมา ซึ่งจะมาเฉพาะพวกใครพวกมัน ทำให้บรรยากาศของการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่เคร่งเครียด ขาดแรงจูงใจ ดังนั้นจึงควรน่าจะเปิดโอกาสให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถใช้มหรสพเป็นเครื่องจูงใจให้คนทั่วไปออกมาฟังการหาเสียงหรือนโยบายของพรรคการเมือง และยังชักจูงให้เด็กเยาวชนหรือคนที่ยังมิได้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งออกมาฟังอีกด้วย อันเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาประชาธิปไตย
     นายเสรีกล่าวอีกว่า ข้อดีข้ออื่นคือการให้โอกาสประชาชนได้ออกมาค้าขาย หรือออกมาทำมาหากิน จะทำให้ในทุกๆ พื้นที่ในช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้งมีเศรษฐกิจระดับชาวบ้านที่ใช้เงินในตลาดอย่างถูกกฎหมาย รวมทั้งสร้างบรรยากาศของการหาเสียงก็จะครึกครื้น ไม่เงียบเหงาหรือซึมเศร้า ที่มีแต่ความขัดแย้งและความตึงเครียด เป็นการให้ประชาชนออกมาสัมผัสประชาธิปไตยที่เบิกบานอย่างกว้างขวาง และมิได้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือไม่เท่าเทียมอย่างที่บางคนอ้าง เพราะการจัดมหรสพนั้น จะถูกนำไปคิดคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครหรือของพรรคการเมืองที่ได้กำหนดจำนวนเงินไว้แล้ว โดยให้มีค่าใช้จ่ายไม่เกินจำนวนที่เท่ากัน  
      "ไม่ต้องห่วงว่าจะมีการซื้อเสียงขายสิทธิ์การได้โดยอาศัยมหรสพ เพราะเรามีมาตรการทางกฎหมายที่เข้มข้น มีอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่สามารถอัดเสียงอัดภาพได้ โดยเฉพาะไม่มีใครทราบว่าใครฝ่ายไหน หรือประชาชนคนไหนสนับสนุนผู้สมัครคนใด หากใครใช้เงินที่ผิดกฎหมายจะถูกถ่ายภาพหรืออัดเสียงไว้เป็นหลักฐานในการถูกดำเนินคดีหรือถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ดังนั้นมหรสพจึงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้งแต่ประการใด หากต้องการให้คนเข้าวัดก็จัดงานวัด หรือ การบวชนาค ก็ยังมีรำกลองยาวแห่นาค หรืองามสมโภชงานบวช ตอนกลางคืนก็ยังมีหนังมีลิเก ซึ่งล้วนเป็นมหรสพทั้งสิ้น” นายเสรีระบุ
    ขณะที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กฎหมายเลือกตั้งเดิมที่ใช้มานานเป็นมาตรฐานได้ห้ามจัดแสดงมหรสพ และเป็นการยุติธรรมสำหรับพรรคที่ไม่มีเงินไปจ้างมหรสพมาแสดง เพราะมีราคาค่าตัวแพงมาก ชั่วโมงละหลายแสนบาท เพื่อไม่ให้มีการเหลื่อมล้ำ เขาจึงห้ามจัดแสดงมหรสพจูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งนับเป็นหลักการที่ดีอยู่แล้วการที่นายเสรีพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จนั้น รับใบสั่งมาจากผู้มีอำนาจหรือไม่ หรือเป็นเพราะสมัยนายเสรีเป็นหัวหน้าพรรคประชาสันติจัดปราศรัยหาเสียงแล้วมีแต่ผู้สมัครฟังกันเอง ไม่มีคนไปฟังปราศรัยของนายเสรี หรือว่าต้องการเขียนเปิดช่องให้วงดนตรีของสี่เหล่าทัพออกปฏิบัติการหาเสียงให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ง่ายๆ อย่างนั้นหรือ
    "การอ้างว่าบรรยากาศเลือกตั้งเคร่งเครียด ขาดแรงจูงใจ แสดงว่านายเสรีไม่เคยฟังนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี หรือนายสัมพันธ์ ทองสมัคร ปราศรัย หรือที่นายเสรีบอกให้นับเป็นรายจ่ายในการเลือกตั้งได้ ก็ไม่เป็นธรรมต่อพรรคเล็กเช่นกัน มหรสพทุกวันนี้ราคาแพงมาก ถ้าข้อเสนอนี้ดีจริงทำไม กรธ.ไม่เสนอมาตั้งแต่ต้น หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่บรรจุมาแต่แรก กลับมาแก้ไขรายวันตามความต้องการของทหารบางคน มันเกินความพอดีแล้ว" นายวัชระกล่าว 
    มีรายงานจากสำนักงาน กกต.ระบุว่า สำหรับข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังคงดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ขณะนี้มีด้วยกัน 69 พรรคการเมือง ส่วนผู้ที่ประสงค์จัดตั้งพรรคการเมือง ทาง กกต.ได้เตรียมที่จะจัดประชุมชี้แจงเพื่อให้ทราบถึงกระบวนการจัดตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายใหม่ โดยจะจัดการประชุมชี้แจงในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ เบื้องต้นขณะนี้มีผู้ยื่นความจำนงขอร่วมเข้าร่วมรับฟังแล้ว 23 กลุ่ม อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคคลที่สนใจสามารถลงทะเบียนที่สำนักงาน กกต. หรือโทรศัพท์ 0-2141-8478 โทรสารหมายเลข 0-2143-8584 และส่งผ่านอีเมล [email protected] โดยให้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมรับฟังได้ไม่เกิน 3 คนต่อกลุ่มการจัดตั้งพรรค เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 26 มกราคม 2561
บิ๊กตู่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
    วันเดียวกัน แกนนำรุ่นใหม่ของพรรคชาติไทย นำโดยนายวราวุธ ศิลปอาชา บุตรชายนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย และนายเสมอกัน เที่ยงธรรม บุตรชายนายจองชัย เที่ยงธรรม อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม นัดพบสื่อมวลชน เพื่อเสนอข้อเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้เดินหน้าจัดเลือกตั้งในเดือนพ.ย.2561 ตามโรดแมปที่ประกาศไว้ นอกจากนี้ ขอให้ปลดล็อกพรรคการเมืองให้สามารถดำเนินกิจกรรมภายในตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดไว้ เนื่องจากเป็นห่วงการเตรียมความพร้อมขั้นตอนต่างๆ ที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด อาทิ การทำไพรมารีโหวต ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ และทำไม่ได้ในระยะเวลาจำกัด  
    “ผมไม่กังวลคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 กำหนดให้พรรคการเมืองเก่าต้องยืนยันสมาชิกในเดือนเมษายนปี 2561 จะส่งผลกระทบต่อการหาเสียง เพราะเป็นกลยุทธ์ของแต่ละพรรค แต่ห่วงเรื่องสถานะของพรรคการเมืองมากกว่าหากดำเนินการตามกระบวนการไม่ทัน” นายวราวุธกล่าว
    นายวราวุธยังปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นกรณีความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาเป็นเล่นการเมือง เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา เพราะท้ายที่สุด นายกฯ อาจตัดสินใจไม่เล่นการเมือง 
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีที่ให้ประชาชนพิจารณาว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความเหมาะสมเป็นนายกฯ คนนอกหรือไม่ ว่าสื่อเป็นผู้ถามเอง ขณะนี้ยังไม่รู้ว่านายกฯ คนนอกจะเป็นใคร จะทำอย่างไร ซึ้งทุกอย่างต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ แล้วแต่ประชาชนว่าจะเอาใคร ส่วนนักการเมืองแบบใหม่ที่ตนอยากเห็นคือ คนที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ อยู่ดีกินดี บ้านเมืองเจริญ มีความสงบเรียบร้อย เชื่อว่าทุกคนต้องการเช่นนั้น
    ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ตอบโจทย์นักการเมืองรุ่นใหม่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “แล้วท่านทำหรือเปล่าล่ะ” เมื่อถามว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ทำ ถือว่าตอบโจทย์หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ก็ท่านทำไปแล้ว”
    “แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ แล้วสื่อรู้ได้อย่างไรว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ คนนอก วันนี้สื่อคิดไปเองไม่ได้ จะคิดอย่างนั้นได้อย่างไร ผมไม่ได้พูดกับ พล.อ.ประยุทธ์ และท่านก็ไม่คิดเรื่องการเมืองเท่าไรหรอก” พล.อ.ประวิตรกล่าว เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ประกาศตัวเป็นนักการเมืองจะถูกตั้งข้อสังเกตว่า คสช.ไม่เป็นกลางทางการเมือง 
    ส่วน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เมื่อ 2-3วันที่ผ่านมา มีโทรศัพท์มาขอถามความเห็นผม เรื่องการปรากฏภาพในลอนดอน ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งหนีการจำคุกจากคำพิพากษาของศาล ในคดีจำนำข้าว ว่าผมมีความคิดเห็นอย่างไร ผมได้ปฏิเสธการแสดงความเห็นไปครับ เพราะคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของอำนาจการต่อรองระหว่างประเทศ ที่สำคัญเอาสมาธิ มาหาทางออกในเรื่องอนาคตของประเทศ ทั้งเรื่องเกษตกรพันธุ์ใหม่ เรื่องคุณภาพการศึกษาที่ดี น่าจะดีกว่าไปสนใจเรื่องของนางสาวยิ่งลักษณ์ ยกเว้นถ้าเขาทำให้ประเทศไทยเดือดร้อนค่อยว่ากัน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"