ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาประกาศตั้ง "รัฐบาลคู่ขนาน" หรือ "รัฐบาลพลัดถิ่น" พร้อมกับ "ร่างรัฐธรรมนูญ" ฉบับใหม่เพื่อสร้าง "สหพันธรัฐเมียนมา"
เป็นก้าวย่างที่สำคัญและน่าสนใจ แม้ว่ายังมีอุปสรรคขัดขวางอยู่ข้างหน้าเต็มไปหมดก็ตาม
การประกาศตั้ง "รัฐบาลคู่ขนาน" นั้นไม่ใช่เพียงแค่ระดับชาติเท่านั้น แต่ยังเตรียมจะประกาศตั้ง "รัฐบาลคู่ขนานระดับจังหวัด" ด้วย
นั่นแปลว่านักการเมืองของพรรค NLD ที่ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือว่าพวกเขามีความชอบธรรมในการบริหารประเทศเพราะประชาชนเลือกมา
เป้าหมายหลักของความเคลื่อนไหวส่วนนี้คือ การท้าทายความชอบธรรมของรัฐบาลทหารภายใต้การนำของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย
ตัวแทนทางการเมืองของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารเรียกตัวเองว่า คณะกรรมการตัวแทนรัฐสภาเมียนมา (CRPH)
ซึ่งได้เสนอให้กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายมาร่วมกันตั้ง "รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ" เพื่อบริหารประเทศและปฏิเสธอำนาจของกองทัพที่เรียกตัวเองว่า "สภาบริหารแห่งรัฐ" หรือ State Administration Council (SAC)
กลุ่มต่อต้านรัฐประหาร CRPH ได้เจรจากับกลุ่มต่าง ๆ มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มก้อนที่ประท้วงการยึดอำนาจต่างๆ เพื่อระดมพลังสร้างระบอบการปกครองใหม่
ระบอบใหม่คือ การลดอำนาจและอิทธิพลของกองทัพ และเปิดทางให้กลุ่มชาติพันธุ์และ "ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย" ได้เข้ามาร่วมกันตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติเฉพาะกิจ"
และนำไปสู่การถกแถลงเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะให้สิทธิและเสรีภาพแก่ผู้คนในวงการต่างๆ อย่างเป็นธรรม
ตัวแทนจากขบวนการ "อารยะขัดขืน" (Civil Disobedience Movement หรือ CDM) ก็จะมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างใหม่นี้เช่นกัน
รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่เคยลงนามสงบศึกกับรัฐบาลกลางที่เรียกว่า Nationwide Ceasefire Agreement (NCA) สมัยอดีตประธานาธิบดีเต็ง เส่ง
เป็นข้อตกลงที่รัฐบาลของอองซาน ซูจีหลังชนะเลือกตั้งสืบทอดต่อมาเช่นกัน
CRPH ได้ประกาศแต่งตั้งรักษาการรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง เช่น รองประธานาธิบดี Mahn Win Khaing Than ซึ่งเป็นคนเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงและเคยเป็นประธานวุฒิสภาในรัฐสภาก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร
นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้ง "รักษาการรัฐมนตรี" ประจำกระทรวงต่างๆ โดยดึงเอาคนจากวงการต่างๆ เพื่อให้มีตัวแทนจากกลุ่มผลประโยชน์ทั้งหลายมาร่วมกันสร้าง "รัฐบาลสมานฉันท์"
ร่าง "กฎบัตรประชาธิปไตยสหพันธรัฐ" ที่ผมได้อ่านผ่านสื่อออนไลน์เป็นการพยายามจะรวบรวมความต้องการของฝ่ายต่างๆ อย่างรอบด้าน
โดยเน้นถึงการที่จะ "ประสานเสียงทุกฝ่ายให้ไปทางเดียวกัน"
แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะการที่จะหาสูตรร่วมกันจากกลุ่มก้อนที่มีความเห็นหลากหลายในเมียนมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
แต่วิกฤติที่เกิดจากกองทัพก่อรัฐประหารครั้งนี้อาจจะกลายเป็นโอกาสทองสำหรับการสร้างความปรองดองระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เคยเห็นต่างกันก็ได้
เพราะวันนี้กลุ่มที่เคยขัดแย้งเห็นต่างกันมี "ศัตรูร่วม" คือกองทัพที่นำโดยมิน อ่อง หล่ายแล้ว
อะไรที่คิดว่า "เป็นไปไม่ได้" ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องที่ "ต้องทำให้เป็นไปได้...เท่าที่จะเป็นไปได้"
กลุ่มที่อยู่ในกระบวนการเจรจาถึงวันนี้มี
Karen National Union (KNU)
Restoration Council of Shan State (RCSS)
Kachin Independence Army (KIA)
และกลุ่มอื่นๆ ที่กำลังประสานกันเพื่อ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ในยามบ้านเมืองเผชิญวิกฤติ
ตัวแทนของฝ่าย NLD ยอมรับว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ยังอาจจะมีความสงสัยคลางแคลงในความจริงใจของกลุ่มการเมืองฝั่งอองซาน ซูจีอยู่เหมือนกัน
เจ้ายอดศึก หัวหน้าฝ่ายชาติพันธุ์รัฐฉาน บอกกับนักข่าวว่าเขาให้การสนับสนุน CRPH ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจาเพื่อหาจุดร่วม
เจ้ายอดศึกได้ประกาศเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาประท้วง และบอกว่าพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของการก่อตั้งระบอบการเมืองใหม่หากสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้
ดร.ซาซา ทูตพิเศษประจำสหประชาชาติของ CRPH ยืนยันกับนักข่าวว่า วิกฤติครั้งนี้ทำให้เกิดความสามัคคีเพิ่มขึ้นอย่างมากในผู้คนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอ, ครู, นักศึกษา, วิศวกร และคนทำงานทั้งหลาย
เมียนมาวันนี้ยืนอยู่ตรงทางแยกที่เปราะบางมาก โอกาสเกิด "สงครามกลางเมือง" ยังสูงกว่าความเป็นไปได้ในการสร้าง "รัฐบาลสมานฉันท์" อยู่หลายเท่า!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |