WHO-SEARO ชื่นชมคนไทย ต้นแบบร่วมสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก


เพิ่มเพื่อน    

WHO-SEARO ชื่นชมคนไทย-สสส.ต้นแบบร่วมสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก รางวัลเนลสัน แมนเดลาครั้งแรกของไทยมีสถานะสมเกียรติ ยกให้เป็น ผู้นำสร้างเสริมสุขภาพ อดีตเลขาธิการเครือข่าย สสส.โลก คนไทยทั้งชาติภาคภูมิใจรางวัลเกียรติยศ พร้อมกระตุ้นนานาชาติก่อตั้ง กองทุนสร้างเสริมสุขภาพขยายสาขาให้มากยิ่งขึ้น

 

ดร.สุวจี กู๊ด

         

           ดร.สุวจี กู๊ด ที่ปรึกษาระดับภูมิภาคด้านการสร้างเสริมสุขภาพและปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก หรือ WHO South-East Asia / World Health Organization : WHO-SEARO กล่าวแสดงความยินดีผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว suvajee ว่า ขอแสดงความยินดีกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้รับรางวัลเนลสันแมนเดลา ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ประจำปี 2564 หรือ Nelson Mandela Award for Health Promotion 2021 ซึ่งประกาศในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก สมัยที่ 148 วันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดตัวผู้นำการสร้างเสริมสุขภาพ รางวัลนี้คู่ควรกับ สสส.เป็นอย่างยิ่ง รวมถึงยินดีกับคนไทยทุกคนที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพในประเทศไทย ทำให้ฝันของการก่อตั้ง สสส.มีผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกและเป็นต้นแบบการทำงานให้หลายๆ ประเทศ

          “ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ สสส.ภาคีเครือข่าย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เครือข่ายชุมชนสุขภาพดี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และบุคลากรทางสุขภาพทั้งหมด ที่ให้คุณค่าต่องานสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการปัจจัยกำหนดสุขภาพต่างๆ ทำให้งานส่งเสริมสุขภาพของไทยเป็นที่ยอมรับระดับโลก แม้ตนเองจะเป็นคนไทยคนเดียวที่เหลืออยู่ในองค์การอนามัยโลกที่ทำงานด้านนี้ ก็จะขอผลักดันต่อไป และขยายผลดีๆ จากเมืองไทยไปสู่นานาชาติดร.สุวจีระบุ

          เมืองไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือ อสม.หมอประจำบ้าน ทำงานช่วยลดโรคและปัญหาสุขภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ ลดความแออัดของโรงพยาบาล ในเมืองไทยมี อสม. 1,040,000 คน เป็นตัวแทนประชาชนผู้มีจิตอาสา เสียสละ เข้ามามีส่วนร่วมดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัวและชุมชน ทำหน้าที่เป็นแนวร่วมสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวังป้องกันและคัดกรองภาวะสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ชุมชน

 

          ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ และอดีตเลขาธิการเครือข่ายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ (เครือข่าย สสส.โลก) ปี 2554-2556 กล่าวว่า การเกิดขึ้นของ สสส.และผลงานสร้างเสริมสุขภาพที่สั่งสมมาตลอดเกือบ 20 ปี ทำให้องค์การอนามัยโลกภาคพื้นต่างๆ เห็นถึงความสำคัญของการมีองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ จึงมุ่งสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศสมาชิกก่อตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ตามอย่าง สสส.ไทย โดยให้ สสส.ไทยและหน่วยงานสุขภาพของไทย เป็นพี่เลี้ยงช่วยในการก่อตั้งองค์กร ให้คำแนะนำในการกำหนดหลักเกณฑ์การทำงาน และแบ่งปันประสบการณ์การทำงานที่สำคัญ เช่น มาตรการทางภาษี กฎหมายคุ้มครองสุขภาพจากบุหรี่ การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา การสร้างสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยทางถนน ขณะนี้มีประเทศที่สามารถก่อตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพสำเร็จจากความช่วยเหลือของ สสส.ไทยแล้วคือ มาเลเซีย ตองกา มองโกเลีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และ สปป.ลาว

         “สสส.อยู่ในความสนใจของแวดวงสุขภาพทั่วโลกมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมา การได้รับรางวัลเนลสันแมนเดลาจากองค์การอนามัยโลก ในฐานะผู้นำการสร้างเสริมสุขภาพในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่ได้รับรางวัล ที่สำคัญไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจของ สสส. แต่เป็นรางวัลเกียรติยศของคนทั้งประเทศ ที่ร่วมกันสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพให้แตกหน่อ ออกผลกระจายทั่วประเทศ ลงลึกถึงระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีโอกาสเข้าถึงการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งผลความสำเร็จของการทำงานของ สสส.จะส่งแรงกระเพื่อมไปถึงระดับนานาชาติ สนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ผลักดันให้เกิดกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพได้มากประเทศขึ้นอดีตเลขาธิการเครือข่าย สสส.โลก กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

 

สสส.คว้ารางวัลองค์กรส่งเสริมสุขภาพระดับโล “Nelson Mandela Award”

 

            สสส.คว้ารางวัลระดับโลก “Nelson Mandela Award for Health Promotion” องค์กรส่งเสริมสุขภาพระดับโลก อนุทิน รองนายกฯ รมว.สาธารณสุข แจกแจง WHO ชื่นชมตลอด 20 ปี สสส.เป็นหน่วยงานส่งเสริมสุขภาพทั้งในประเทศและระดับโลก ดร.สุปรีดายืนยัน สสส.เป็นองค์กรเปิดกว้าง ขอบคุณภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพที่ทุ่มเททำงานจนนานาชาติยอมรับ ย้ำรางวัลเป็นของทุกคนและพันธมิตรเครือข่าย เผย 5 เหตุผลสร้างคุณประโยชน์ให้สังคมไทย ที่ กก.มีมติเอกฉันท์มอบรางวัล

          สสส.ก้าวสู่ปีที่ 20 ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผจก.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวเปิดผลงาน “องค์กรนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” พร้อมตั้ง “ThaiHealth Academy” และ “SOOK Enterprise” เครื่องมือเสริมสุขภาพคนไทย เดินหน้าสู้ PM 2.5-NCDs ผลงานเข้าตาชาวโลก

อนุทิน ชาญวีรกูล

         

          อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กองการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เสนอชื่อ “สสส.” เข้าร่วมการคัดเลือก เพื่อรับรางวัล Nelson Mandela Award for Health Promotion ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับบุคคลหรือองค์กรที่อุทิศการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ จากการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก สมัยที่ 148 เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2564 มีการประกาศรับรองให้ สสส.ได้รับรางวัลนี้ โดยจะมีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 74 ในเดือน พ.ค.2564

         

          นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ลดการเจ็บป่วย และลดภาระค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข และ สสส.มีการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชม สสส.ว่าเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพทั้งในประเทศและในระดับโลก มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพคนไทยทุกวัยตามนโยบายสุขภาพแห่งชาติ

          รางวัล Nelson Mandela Award for Heath Promotion เป็นข้อคิดริเริ่มจากกลุ่มรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคแอฟริกา เพื่อเป็นการรำลึกถึงเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ โดยองค์การอนามัยโลกมีการมอบรางวัลนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2563

          สสส.ก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพคนไทยมาตลอด 20 ปี มีการรณรงค์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ การพัฒนาศักยภาพชุมชนและองค์กรทุกภาคส่วนในการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการศึกษาและวิจัยพัฒนาความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ โดยสนับสนุนแผนงานโครงการส่งเสริมสุขภาพกว่า 2,000 โครงการต่อปี ครอบคลุมประเด็นเชิงสุขภาวะที่หลากหลาย การควบคุมการบริโภคยาสูบและแอลกอฮอล์ การจัดการด้านความปลอดภัยบนท้องถนน การจัดการด้านอาหารเพื่อสุขภาพ การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย

 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

         

          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงปี 2562-2563 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโควิด-19 สสส.ต้องปรับแผนการทำงานอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างเสริมสุขภาพวิถีใหม่ร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน อาทิ การทำงานเชิงรุก ออกแบบและพัฒนา การเฝ้าระวัง ป้องกัน ค้นหาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งระดับชุมชน เขตเมือง ร่วมสนับสนุนพัฒนาระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) เพื่อสอบสวนโรค

          “เราใช้ศักยภาพที่มีเป็นตัวกลางของรัฐสนับสนุนพัฒนาระบบสื่อสารข้อมูลสุขภาพระดับชาติ “ไทยรู้สู้โควิด” และ สสส.ยังให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงและเพิ่มปัจจัยสร้างสุขภาพอย่างเข้มข้น พบว่าอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจาก 32.7% ในปี 2547 เป็น 28.4% ในปี 2560 จำนวนประชากรไทยที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอเพิ่มขึ้นจาก 66.3% ในปี 2555 เป็น 74.6% ในปี 2562

          ดร.สุปรีดากล่าวด้วยว่า ในปี 2564 เป็นปีที่ สสส.ครบรอบ 20 ปีสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ จะเปิดตัว 2 หน่วยงานภายใต้การกำกับคือ ศูนย์กิจการสร้างสุข (SOOK Enterprise) ทำหน้าที่ขยายผลองค์ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการสร้างเสริมประสบการณ์ด้านสุขภาวะให้เข้าถึงประชาชน ผ่านกิจกรรมและผลิตภัณฑ์สุขภาวะที่สร้างสรรค์ และสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) เพื่อพัฒนาศักยภาพและให้คำปรึกษาภาคีเครือข่าย ยกระดับนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ และเดินหน้างานโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมถึงการผลักดัน “กฎหมายอากาศสะอาด” จากปัญหา PM 2.5 การนำระบบฐานข้อมูล “บิ๊กดาต้า” (Big Data) มาใช้ป้องกันดูแลสุขภาพ และสานต่อเรื่องโควิด-19 การจ้างงานคนพิการ และสนับสนุนมาตรการทางราคาและภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน ลดเสี่ยงโรค NCDs

          การทำงานตลอดระยะเวลา 20 ปี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยในหลายด้าน เกิดโครงการส่งเสริมสุขภาพกว่า 3,000 โครงการต่อปี ครอบคลุมประเด็นเชิงสุขภาวะที่หลากหลาย มีภาคีเครือข่ายมากกว่า 20,000 ราย เข้าร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพกับ สสส. อีกทั้งองค์การอนามัยโลกให้การยอมรับถึงงานสร้างเสริมสุขภาพของประเทศไทย  

 

         

          ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก สมัยที่ 148 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ประกาศให้ สสส.ได้รับรางวัล Nelson Mandela Award for Health Promotion 2021 ประเภทองค์กรสร้างผลงานสำคัญด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ ด้วยมติเอกฉันท์จากคณะกรรมการ ซึ่งเป็นการยอมรับถึงงานสร้างเสริมสุขภาพของประเทศไทย รางวัลที่ได้รับคือหมุดหมายสำคัญของความสำเร็จของภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพทุกคน ที่อุทิศตนทำงานจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นเกียรติยศและความภาคภูมิใจของประเทศไทย โดยมีภาคียุทธศาสตร์สำคัญอย่างกระทรวงสาธารณสุข ที่เสนอชื่อ สสส.เข้าร่วมคัดเลือกต่อองค์การอนามัยโลกจนได้รับรางวัล

 

 

          “ในฐานะผู้แทนขององค์กร ขอประกาศถึงผู้ที่ร่วมกันสร้างผลงานที่ได้รับการยอมรับครั้งนี้ ตั้งแต่ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร คณะกรรมการ ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านทั้งที่เคยผลักดันงานร่วมกันในอดีตจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญคือ ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพทุกคน ที่ทุ่มเทร่วมแรงร่วมใจทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ว่าทุกท่านจะได้มาร่วมงานกับ สสส. เป็นระยะเวลาสั้นหรือยาว รางวัลนี้เป็นของทุกท่าน เพราะ สสส.ตั้งใจออกแบบให้เป็นองค์กรที่มีลักษณะเปิดกว้าง มีกลไกทำงานที่เอื้อต่อการเข้ามาร่วมของบุคคลและองค์กรที่กว้างขวางและหลากหลาย ทั้งการมาร่วมกันของการจุดประกายพลังความคิด จิตสาธารณะ และการรวมพลังการลงมือทำ มาร่วมขบวนการสร้างสุขภาวะให้ผู้คนในสังคม ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ระบบสนับสนุนที่คล่องตัวแต่โปร่งใส ดร.สุปรีดากล่าว

          สสส.ไม่ได้เป็นเพียงกองทุนที่ใช้เงินภาษียาสูบและสุรามาทำงาน หรือเป็นเพียงหน่วยงานที่รณรงค์สื่อสารตามสื่อต่างๆ หรือเป็นเพียงกลไกรัฐย่อยหนึ่งที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขทำนองเดียวกับกรม กองในราชการ แต่ สสส.เป็นกลไกนวัตกรรมทางการเงินการคลังของประเทศ เพื่อจุดประกาย กระตุ้นประสานและเสริมพลังบุคคล ชุมชน องค์กรทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันสร้างเสริมสุขภาพที่ตอบโจทย์สุขภาวะสำคัญในยุคปัจจุบัน ไม่ได้อยู่บริการทางการแพทย์และยาเป็นหลักเช่นในอดีต แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม วิถีชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม

          ผู้จัดการ สสส.กล่าวอีกว่า สสส.เป็น 1 ใน 8 องค์กรที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะทำงานสุขภาพแห่งชาติของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก เหตุผลที่คณะกรรมการระบุถึงการได้รับรางวัลมาจากความสำเร็จ 5 ข้อ 1.การสนับสนุนพัฒนาและผลักดันให้เกิดกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อสุขภาพ เช่น การออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 การจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.สนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคมไปสู่สังคมที่มีสุขภาวะและเท่าเทียม เช่น การรณรงค์งานบุญปลอดเหล้า งดเหล้าเข้าพรรษา การสนับสนุนเตรียมความพร้อมและการจ้างงานคนพิการที่เป็นลูกจ้างอย่างเป็นธรรม

          3.แสดงบทบาทนำในการเผยแพร่ประสิทธิภาพของกลไกนวัตกรรมการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การช่วยเหลือทางวิชาการแก่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำในการจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ เช่น ประเทศมองโกเลีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม สปป.ลาว 4.ส่งมอบคุณค่าที่ได้รับการพิสูจน์แล้วต่อสังคมไทย และยังมีความสามารถในการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดใหม่ เช่น การช่วยเตรียมสังคมไทยสู่ ชีวิตวิถีใหม่ทั้งสื่อสารรณรงค์ การริเริ่มโครงการใหม่ การปรับแผนงาน/โครงการเดิมให้ตอบสนองต่อภาวะโควิด-19 5.มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของตัวชี้วัดทางสุขภาพและผลลัพธ์ทางสุขภาพ เช่น อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือจำนวนประชากรไทยที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอเพิ่มขึ้น

          ดร.สุปรีดากล่าวด้วยว่า รางวัล Nelson Mandela Award for Health Promotion เป็นการรำลึกถึง นายเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ผู้มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ รางวัลดังกล่าวมีขึ้นครั้งแรกในปี 2020 องค์กรที่ได้รับรางวัล คือ “Equi-Sastipen-Rroma Network” ประเทศสเปน ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายร่วมระหว่าง 21 หน่วยงาน ทำงานร่วมกับรัฐบาลสเปนในการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างเสริมความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มประชากรชาวโรมานี สำหรับพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณจะมีขึ้นในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 74 ในเดือนพฤษภาคม 2564

          ก่อนหน้านี้ในสมัยที่ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข ในฐานะรองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 ร่วมลงนามขยายระยะเวลาความร่วมมือว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาพปี 2561-2563 ระหว่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้ ดร.เท็ดรอสแสดงความชื่นชมในความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและ สสส.เห็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่ายสุขภาพทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและระดับโลก ไทยได้ขับเคลื่อนงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก หรือ WHO-CCS เป็นความร่วมมือในรูปแบบนวัตกรรม มุ่งเน้นการระดมทุนทางสังคม และทุนทางปัญญา

          อนึ่ง ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานว่า องค์กร Global COVID 19 หรือ GCI พัฒนาโดย PEMADU Associates โดยความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (MOSTI) ประเทศมาเลเซีย และกลุ่ม sunway ใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่จัดคะแนนดัชนีและจัดอันดับ 184 ประเทศ ว่าแต่ละประเทศได้รับมือกับโรคระบาด COVID-19 ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศออสเตรเลีย (20 อันดับแรกคือ 1.ออสเตรเลีย 2.ไทย 3.เดนมาร์ก 4.ฮ่องกง 5.ไต้หวัน 6.นิวซีแลนด์ 7.เกาหลีใต้ 8.ลิโทเนีย 9.ไอซ์แลนด์ 10.สโลวาเนีย 11.ลัตเวีย 12.สวิตเซอร์แลนด์ 13.เวียดนาม 14.มาเลเซีย 15.นอร์เวย์ 16.สโลวาเกีย 17.เยอรมนี 18.ออสเตรีย 19.ลักเซมเบิร์ก 20.ฟินแลนด์ และอันดับ 1 ของเอเชีย รองลงมา ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย

 

 

รู้จักรางวัล เนลสัน แมนเดลา

 

          รางวัลเนลสัน แมนเดลา ด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Nelson Mandela Award for Health Promotion) เป็นรางวัลที่ได้รับการก่อตั้งโดยองค์การอนามัยโลก ในปี 2562 (ผ่านข้อตัดสินของคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก (EB144 (9) ด้วยความคิดริเริ่มของกลุ่มรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคแอฟริกา เพื่อเป็นการรำลึกถึงมนุษยธรรมของเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์

รางวัลนี้มอบให้กับบุคคล หรือองค์กรที่สร้างผลงานสำคัญโดดเด่นด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยองค์การอนามัยโลกมอบโล่รางวัลนี้เป็นครั้งแรกในปี 2563 ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 74 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 28 พ.ค.2564

 

ดร.แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย

         

          “องค์การอนามัยโลกยินดีที่ได้ร่วมงานกับ สสส.เราทำงานภายใต้แนวคิดเดียวกันที่ว่า การสร้างเสริมสุขภาพคือหนึ่งในรากฐานสำคัญของการสาธารณสุข"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"