‘ทัตเทพ’ทิ้ง3นิ้วหนีคดีม.112


เพิ่มเพื่อน    

 "สิระ" ปัดจ่อเชิญประธานศาลฎีกาแจง กมธ.การกฎหมายฯ ความเห็นส่วนตัว "โรม" งงจะใช้ข้อบังคับไหนเรียกมา  เหตุอิงจากโซเชียลฯ ไม่มีผู้ร้อง "ที่ปรึกษาชวน" ไล่ไปศึกษาข้อ กม.  อบรมเป็น ส.ส.ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ "รังสิมันต์" ตาใสอ้างเรียกมาถามความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ไม่ขัดแย้ง ม.129 "เครือข่ายปกป้องสถาบัน" ร้อง ป.ป.ช.สอบจริยธรรม ส.ส.ก้าวไกล "มายด์-อั๋ว" รายงานตัวคดี 112 อัยการนัดสั่งคดี 21 พ.ค. "ฟอร์ด" ล่องหน ตร.จ่อหมายจับ

    ที่รัฐสภา วันที่ 1 เม.ย. นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และโฆษกกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน จะเชิญผู้พิพากษาและประธานศาลฎีกา มาชี้แจงข่าวลือที่อ้างถึงการประชุมใหญ่ในศาลฎีกามีผู้สอบถามเหตุใดถึงไม่ให้ประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎรที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพราะผู้ถูกคุมขังไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่ประธานศาลฎีกากลับระบุมีบุคคลภายนอกสั่งมาว่ากรณีดังกล่าวเป็นการแถลงข่าวส่วนบุคคล
    นายสิระกล่าวว่า กมธ.การกฎหมายฯ ยังไม่มีมติให้แถลง และการเชิญประธานศาลฎีกาก็ยังไม่เห็นหนังสือ ต้องรอดูก่อนว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขัดระเบียบข้อบังคับสภาหรือไม่ โดยการแถลงข่าวของนายรังสิมันต์ ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะโฆษกกรรมาธิการฯ ตนไม่เข้าใจว่าใช้เหตุผลใดในการเชิญประธานศาลฎีกามา เพราะตามหลักการ ต้องมีผู้ร้องเข้ามาก่อน ส่วนที่หยิบยกประเด็นมาจากโซเชียลฯ ถือว่าไม่มีผล
     ถามว่านายรังสิมันต์อ้างไม่มีใครคัดค้าน นายสิระกล่าวว่า ก็ต้องขอดูหนังสือ ถ้าประชุมกันแล้วไม่ขัดข้อบังคับก็จะดำเนินการตามที่ร้องมา ซึ่งเรามีมติที่จะเข้าเยี่ยมคารวะประธานศาลฎีกาในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์อยู่แล้ว ในฐานะประธานฝ่ายตุลาการ นอกจากนี้ จะไปพบนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานฝ่ายบริหาร เพื่อติดตามกฎหมายที่ผ่านสภาไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความคืบหน้าจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้งพบอัยการสูงสุด, รมว.ยุติธรรม, ผบ.ตร. รวมทั้งนายรังสิมันต์ยังขอเพิ่มการขอพบ ผบ.ทบ.ด้วย
    ต่อมาในเวลา 09.30 น. มีการประชุม กมธ.การกฎหมายฯ ที่ห้อง 416 รัฐสภา นายสิระได้สอบถามนายรังสิมันต์ถึงเรื่องของการทำหนังสือเชิญประธานศาลฎีกามาชี้แจง ซึ่งนายรังสิมันต์กล่าวว่า กมธ.การกฎหมายฯ ยังมาไม่ครบ ขอรอให้เป็นไปตามระเบียบวาระที่มีสมาชิกครบถ้วนก่อน จึงยังไม่มีการยื่นเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ กมธ.การกฎหมายฯ จะมีการหารืออีกครั้งในวันพุธที่ 7 เม.ย.นี้
    นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลักภัย) กล่าวถึงกรณีนายรังสิมันต์จะเสนอ กมธ.การกฎหมายฯ เชิญประธานศาลฎีกามาชี้แจงข่าวลือว่า นายรังสิมันต์ควรจะศึกษาในแง่ของกฎหมายให้ดีเสียก่อน อย่านึกว่าเป็น ส.ส.แล้วจะทำอะไรได้ทุกอย่าง ทุกเรื่องต้องอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติสถาบันอื่นด้วย
    "เรื่องนี้เป็นเรื่องตรงไปตรงมา ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ว่าด้วยเรื่องของการทำงานของกรรมาธิการที่สามารถที่จะเสาะหาข้อเท็จจริง และคณะกรรมาธิการมีอำนาจเรียกเอกสาร จากบุคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงในเรื่องที่มีการศึกษาอยู่นั้นได้ แต่ในวรรค 4 ของมาตรานี้ ระบุว่าการเรียกดังกล่าวนั้นไม่ให้ใช้บังคับกับผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้อำนาจในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาคดีหรือบริหารงานบุคคลของแต่ละศาล" ที่ปรึกษาประธานสภาฯ กล่าว
โรมชี้เรียก ปธ.ศาลฎีกาได้
    ขณะที่นายรังสิมันต์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวที่บอกจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ไม่สอดคล้องกับข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎรข้อที่ 90 นั้น ในความเห็นของตนคิดว่าน่าจะทำได้ เนื่องจากมาตรา 129 ได้กำหนดสิ่งที่ กมธ.การกฎหมายฯ ทำไม่ได้ ถ้าเป็นการกระทบต่อคดีหรือบริหารงานบุคคลไม่สามารถที่จะเรียกผู้พิพากษาเข้ามาเกี่ยวข้องได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีการเชิญผู้พิพากษาเข้ามาชี้แจงแล้ว เป็นการชี้แจงที่ไม่กระทบกับในตัวเนื้อหาของคดี
    "การเรียกประธานศาลฎีกาเข้ามาเพื่อสอบถามถึงความเป็นอิสระของตัวผู้พิพากษา อำนาจตุลาการ และพูดคุยเรื่องภาพรวม จึงไม่ขัดหรือแย้งตามมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญแน่นอน น่าจะสามารถเรียกได้ อย่างไรก็ดี ในส่วนของ กมธ.เองยังไม่มีบทสรุปว่าจะส่งหนังสือถึงประธานศาลฎีกาหรือไม่ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ จึงไม่สามารถหามติใดๆ ได้" นายรังสิมันต์กล่าว
    โฆษก กมธ.การกฎหมายฯ กล่าวว่า ตนส่งหนังสือไปถามฝ่ายกฎหมายของสภาว่า กมธ.การกฎหมายฯ สามารถเรียกประธานศาลฎีกาหรือตัวแทนมาตอบได้หรือไม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนใน วันที่ 7 เม.ย.นี้
    ถามว่า ที่ปรึกษาประธานสภาฯ ออกมาระบุแล้ว กมธ.การกฎหมายฯ ไม่มีหน้าที่เชิญประธานศาลฎีกาเข้ามา โฆษก กมธ.การกฎหมาย กล่าวว่า ตนได้ทำหนังสือฉบับนี้มาให้ กมธ.การกฎหมายฯ ลงวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งคิดว่า นพ.สุกิจยังไม่เห็นหนังสือฉบับนี้ และยังไม่เห็นรายละเอียด จึงอาจจะให้ความเห็นไปตามที่ได้รับทราบข่าวตามสื่อต่างๆ จึงทำให้เป็นการให้ความเห็นที่คลาดเคลื่อนไปจากเป้าประสงค์ที่ต้องการ
    ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) น.ส.วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคีประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และแอดมินเพจเชียร์ลุง และนายฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคีประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เข้าร่วมสนับสนุนชุมนุม และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายอย่าง ทั้งยังใช้ตำแหน่ง ส.ส.เดินสายประกันตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพฤติกรรมการใช้โซเชียลฯ แสดงออกที่มีความพยายามหมิ่นสถาบัน ทั้งภาพ ข้อความ  โดยได้รวบรวมหลักฐานจำนวน 53 ชิ้น มาเสนอต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของ ส.ส.ดังกล่าว
    วันเดียวกัน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์, น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว, นายชนินทร์ วงษ์ศรี หรือบอล  และนายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ หรือบิ๊ก แกนนำและแนวร่วมเครือข่ายผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร-เยาวชนปลดแอก เดินทางมารายงานตัวอัยการตามที่พนักงานสอบสวน สน.บางโพนัดส่งตัวพร้อมสำนวนให้อัยการคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อาญา ม.112, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายฯ ม.215 และฝ่าฝืน  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีผู้ต้องหาจัดชุมนุมและปราศรัยในกิจกรรม #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2563
    อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังมีผู้ต้องหาอีกรายคือ นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด แต่จนกระทั่งเวลา 11.40 น. ยังไม่พบนายทัตเทพเดินทางมาที่สำนักงานอัยการสูงสุด
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ได้มีกระแสข่าวลือในโซเชียลฯ ว่านายทัตเทพ แกนนำเยาวชนปลดแอก ได้หลบหนีคดีไปต่างประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ในขณะที่เฟซบุ๊กส่วนตัวและทวิตเตอร์ของฟอร์ด ทัตเทพ ไม่ได้ออกมาชี้แจงข่าวลือดังกล่าว รวมทั้งไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ มานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ส่วนเจมส์-ภาณุมาศ สิงห์พรม แฟนหนุ่มฟอร์ด และเป็นมือทำกราฟฟิกเพจเยาวชนปลดแอก ก็ไม่โพสต์เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ในช่วงหลังๆ เช่นเดียวกัน
จ่อหมายจับ'ฟอร์ด'หนีคดี
    ต่อมาภายหลังกระบวนการส่งสำนวนและรายงานตัวเสร็จสิ้น พนักงานอัยการได้นัดฟังคำสั่งคดีในส่วนของ น.ส.ภัสราวลี, น.ส.จุฑาทิพย์, นายชนินทร์ และนายเกียรติชัย 4 ผู้ต้องหา เป็นวันที่ 21 พ.ค.2564 เวลา 10.00 น. ส่วนกรณีนายทัตเทพ ผู้ต้องหาที่ไม่ปรากฏตัวเดินทางมารายงานตัววันนี้ ทางพนักงานสอบสวน สน.บางโพเตรียมยื่นขออำนาจศาลออกหมายจับต่อไปภายในสัปดาห์หน้า
    ส่วนนายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน แกนนำกลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยน แนวร่วมผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ก็เดินทางมารายงานตัวตามที่อัยการนัดฟังคำสั่งคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อาญา ม.112 และข้อหาอื่นๆ จากกรณีร่วมชุมนุมสาดสีที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2563 โดยคดีนี้มีนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน เป็นผู้ต้องหาร่วมอีกราย ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำไม่ได้รับการประกันตัวจากคดี ม.112 กรณีอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าพนักงานอัยการยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จ จึงให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 6 พ.ค.2564 เวลา 10.00 น.
    ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง กรณีการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2561 หรือคดี “ARMY57” เพื่อเรียกร้องให้ คสช.ไม่เลื่อนการเลือกตั้ง และยุติการสืบทอดอำนาจ
    คดีนี้อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวน 47 คน ใน 3 ข้อหาหลัก ภายหลังระหว่างการพิจารณาจำเลยได้เสียชีวิต 1 คน เหลือจำเลยในคดีทั้งสิ้น 46 คน
     ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2562 ให้ยกฟ้องจำเลย 45 คน ยกเว้น น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด ซึ่งศาลเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 15 (2), (4) ในฐานะผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่สามารถดูแลการชุมนุมให้เลิกภายในเวลาตามที่แจ้งไว้ได้ และไม่สามารถควบคุมกลุ่มผู้ ชุมนุมไม่ให้เดินบนพื้นผิวการจราจรได้ ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท โดย น.ส.ชลธิชาได้ยื่นอุทธรณ์
    ก่อนหน้านี้ ศาลได้เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 19 ม.ค.2564 เนื่องจากยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ มาเป็นวันที่ 1 เม.ย.2564 อย่างไรก็ตาม วันนี้ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีกครั้งออกไปเป็นวันที่ 19 พ.ค.2564 เวลา 09.00 น.
    ที่ศาลอาญา ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ อายุ 28 ปี แกนนำกลุ่ม Wevo ผู้ต้องหาคดี อั้งยี่ซ่องโจร จากการถูกตำรวจจับกุมตัวเมื่อช่วงค่ำวันที่ 6 มี.ค.2564 ที่ห้างสรรพสินค้าเมเจอร์ฯ สาขารัชโยธิน ซึ่งเป็นวันเดียวกับเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม REDEM  หน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ซึ่งไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง
    ในวันนี้เป็นการนัดวันที่สองต่อจากเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 เพื่อพิจารณาหลักฐานเอกสาร โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวนายปิยรัฐมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาล ขณะที่ทนายความและพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน มาร่วมการพิจารณา ซึ่งปรากฏมีน้องชายของนายปิยรัฐ เพื่อนและคนใกล้ชิด มาร่วมติดตามการพิจารณาคดี
    เมื่อการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลจึงเห็นควรนัดฟังคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวนายปิยรัฐ ผู้ต้องหาหรือไม่ ในวันที่ 2 เม.ย.2564 เวลา 13.30 น.
    ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนและยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติม กรณีที่เคยมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ที่นำธงชาติไทยแต่ไร้แถบสีน้ำเงินมากระทำการในลักษณะไม่สมควร เมื่อวันที่ 14 มีนา. 64 และบริเวณคณะวิจิตรศิลป์ มช. ตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ.2522 โดยมีนักแสดงหญิงชื่อดังที่ทำตัวเป็นท่อน้ำเลี้ยงพ่วงอยู่ด้วย.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"