“พปชร.” ชงเองกินเอง เตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น 13 มาตราของพรรคเข้าสภา 7 เม.ย.นี้ “ไพบูลย์” แย้มรื้อระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ ไม่แตะอำนาจ ส.ว. เพราะกลัวมีปัญหา เชื่อผ่านฉลุยไม่ต้องทำประชามติได้ใน ก.ค.นี้ ส่วน "ปชป." เผยร่างพรรคเสร็จแล้ว ยันแก้มาตรา 256-ตัดอำนาจโหวตนายกฯ กมธ.ประชามติย้ำผ่านแน่ หลังทุกฝ่ายประนีประนอม ให้ประชาชน 1 หมื่นชื่อชงประเด็น แต่สุดท้ายต้องให้ ครม.ตัดสินใจทำหรือไม่
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะโฆษกพรรค ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคได้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช.... ฉบับสมบูรณ์แล้ว โดยเตรียมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อรัฐสภา ในวันที่ 7 เม.ย.นี้
“พรรคในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อกระบวนการที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะอาจขัดรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้พรรคก็พร้อมหาทางออกประเทศ ด้วยการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในทางที่ไม่ขัดกับกฎหมาย และสอดรับกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ” น.ส.พัชรรินทร์กล่าว
ด้านนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. ยืนยันว่า พรรคจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยจะยื่นต่อประธานสภาฯ ในวันที่ 7 เม.ย. ตามที่โฆษกพรรคระบุไว้ ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคอยู่ระหว่างหารือกับประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ส่วนจะเสนอแก้ไขกี่มาตรานั้น ยังไม่ได้ลงรายละเอียดถึงขั้นนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า? จะยื่นร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอยื่นแก้รายมาตราด้วยหรือไม่ นายอนุชาตอบว่า คงต้องพูดคุยกันบ้าง? ซึ่งพรรคยืนยันและจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ? ไม่มีประเด็นแอบแฝง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมก็สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ไม่มีเรื่องอื่นที่เป็นข้อขัดแย้งหรือความคิดที่ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของรัฐสภา
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่จะยื่นในวันที่ 7 เม.ย.ว่า ร่างแก้ไขเป็นของ พปชร.พรรคเดียว โดยจะใช้เสียง ส.ส. 100 คนยื่นแก้ไขทั้งหมด 5 ประเด็น 13 มาตรา ซึ่งคาดว่ารัฐสภาจะพิจารณา และเห็นชอบในวาระ 3 ในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ได้โดยไม่ต้องทำประชามติ
นายไพบูลย์กล่าวถึงประเด็นที่แก้ไข มีอาทิ ระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวจะแก้ไขเป็นบัตร 2 ใบคือ ประกอบด้วย ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน, มาตรา 29 เพิ่มสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน และสิทธิชุมชนจะให้รัฐจัดให้มีทนายความในการต่อสู้คดีกับภาครัฐ, มาตรา 144 ปรับปรุงเกี่ยวกับการเข้าไปใช้งบประมาณของประเทศให้ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น โดยกลับไปใช้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550, มาตรา 185 ผ่อนคลายให้ ส.ส.เข้าไปติดตามข้าราชการ และช่วยเหลือความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้น และมาตรา 270 ในบทเฉพาะกาล แก้ไขให้รัฐสภา โดย ส.ส. ส.ว.เข้าไปติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ จากเดิมที่ให้ ส.ว.ดำเนินการเพียงลำพัง
"เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคจะตอบโจทย์ของปัญหาของประเทศร่วมกัน และแก้ไขให้ประชาชนได้จริง ใช้เวลาสั้น ไม่ต้องเสียงบประมาณทำประชามติ ส่วนประเด็นเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว. อาทิ ยกเลิก ส.ว.สรรหาหรืออำนาจการเลือกนายกฯ พปชร.ยังไม่แก้ไข เพราะหากไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง และไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จ" นายไพบูลย์กล่าว
ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญว่า ทีมกฎหมายพรรคได้ยกร่างแก้ไขเสร็จแล้ว โดยมีทั้งประเด็นแก้ไขมาตรา 256 รวมไปถึงในเรื่องอำนาจการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว. และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในช่วงเปิดสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ จะนำไปขอเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลในเบื้องต้นต่อไป
วันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... โดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ในฐานะโฆษก กมธ. แถลงผลประชุมว่า กมธ.ทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยเข้าใจอย่างดีต่อเป้าหมายที่ต้องการให้กฎหมายประชามติผ่านไปได้ สามารถใช้บังคับได้ ทุกคนพยายามหาทางออกร่วมกัน ลดประเด็นที่เป็นปัญหาให้มากที่สุด ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าข้อที่เสนอแก้ไขเข้ามาใหม่ในมาตรา 9-11 ยอมรับได้ ส่วนข้อวิตกจะก้าวก่ายอำนาจฝ่ายบริหารหรือไม่นั้น ข้อที่แก้ไขมาลดปัญหาดังกล่าวได้ มีเพียงประเด็นภาคประชาชนเท่านั้นที่กำลังถกแถลงกันอยู่ ภาพรวมน่าจะเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย ดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหา ทั้งเรื่องข้อวิตกกังวลว่ากฎหมายจะตกในวาระ 3 รวมถึงไม่มีประเด็นใดที่มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เป้าหมายของ กมธ. ทั้ง ส.ส.-ส.ว.ทุกคนเห็นตรงกันคือต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน โดยแก้ไขให้ดีที่สุด ให้กฎหมายนี้ใช้ได้อย่างดีที่สุด
เมื่อถามว่า เนื้อหาที่กฤษฎีกาปรับปรุงแก้ไขใหม่ ที่ระบุให้รัฐสภาและภาคประชาชนมีส่วนร่วมเสนอการจัดทำประชามติ แต่สุดท้ายแล้วอำนาจชี้ขาดในการให้ทำประชามติยังเป็นดุลยพินิจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช่หรือไม่ นายวันชัยตอบว่า การแก้ไขของกฤษฎีกายังยึดมาตรา 166 คือการจัดทำประชามติให้เป็นอำนาจของ ครม.พิจารณาเห็นสมควรให้ทำหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติส่งมาหรือภาคประชาชนเข้าชื่อ หรือกรณีตามที่กฎหมายกำหนดให้ออกเสียงประชามติ ประเด็นเหล่านี้ต้องให้ ครม.ใช้ดุลยพินิจอีกครั้ง โดยเป็นมติ ครม.เห็นชอบจะปฏิบัติตามหรือไม่ อาจไม่จำเป็นต้องทำตามที่เสนอมาก็ได้ ซึ่งเนื้อหาที่ปรับปรุงแก้ไขนี้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ.วิสามัญฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอให้แก้ไขมาตรา 9 ก็ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะเห็นว่าเนื้อหาที่แก้ไขควรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธาน กมธ. กล่าวว่า แม้อำนาจชี้ขาดการทำประชามติขึ้นอยู่กับ ครม.เหมือนเดิม แต่การแก้ไขมาตรา 9 ครั้งนี้ อย่างน้อยก็เปิดทางให้รัฐสภาและประชาชนเป็นผู้เสนอเรื่องทำประชามติได้ ซึ่งต่างจากของเดิมที่ให้อำนาจเฉพาะ ครม.เป็นผู้ริเริ่มเท่านั้น ส่วนถ้า ครม.ไม่ทำประชามติตามที่ประชาชนเข้าชื่อ ครม.ก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไมถึงไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงจำนวนประชาชนที่จะเช้าชื่อ ซึ่งมีการเสนอตั้งแต่ 1 หมื่นคน 5 หมื่นคน และไม่จำกัดจำนวน ซึ่งที่สุดแล้วที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้เข้าชื่อ 1 หมื่นคน
ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ตอบข้อถามกรณี พล.อ.ประยุทธ์กำชับเรื่องกฎหมายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ประชามติได้กำชับ ส.ส.พรรคหรือไม่ ว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ ส.ส.อยู่แล้วที่ต้องเข้าประชุมรัฐสภาและลงมติ จึงไม่ต้องกำชับอะไร เพราะถ้าเป็นเรื่องของรัฐบาล และรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันก็ต้องให้ความมั่นใจว่า ส.ส.จะสนับสนุน
เมื่อถามว่า เชื่อมั่นว่าการโหวตจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไปพูดคำนี้คงไม่ได้ เพราะ ส.ส.ทุกคนมีเอกสิทธิ์ แต่ต้องใช้ดุลพินิจอย่างละเอียด และลงมติในสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง จะไปบังคับคงไม่ได้ ถ้าทำได้คงไม่มีการงดออกเสียง ย้ำว่าเคารพในเอกสิทธิ์ และทำอะไรไปแล้วต้องอธิบายได้ เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียว ส.ส.อยู่ในพรรค และพรรคอยู่ร่วมรัฐบาล อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองต้องทำ ดังนั้น ในส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าเป็นแนวทางของรัฐบาล พรรคต้องสนับสนุน
เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.ประชามติจะถูกคว่ำไม่ได้ใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ ดังนั้น ในนัยต้องสนับสนุน เพราะได้ผ่าน ครม.ไปแล้ว
ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะเลขาธิการพรรค กล่าวในประเด็นนี้ว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ มีความเกี่ยวโยงกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเป็นทางออกให้กับประเทศ ดังนั้นจึงเป็นกฎหมายที่รัฐบาลจะปล่อยให้ตกไปไม่ได้ จึงอยากเรียกร้องว่ารัฐบาลอย่าสร้างเงื่อนไขให้ พ.ร.บ.นี้ต้องตกไป หากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ที่สำคัญเมื่อประชาชนผิดหวังกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว หากกฎหมายนี้มีปัญหาอีก จะยิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลไม่จริงใจรับฟังเสียงเรียกร้องประชาชน และตั้งใจสืบทอดอำนาจของตัวเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรค พท. ระบุเช่นกันว่า กฎหมายประชามติเป็นกฎหมายที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีการแอบอ้างความต้องการของประชาชนจากหลายฝ่ายมาโดยตลอด จึงสำคัญอย่างยิ่งในการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของประชาชน เพื่อนำประเทศออกจากความขัดแย้ง จะได้ไม่ต้องมีใครมาแอบอ้างความต้องการแทนประชาชนอีก
“ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอกฎหมายนี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งจะไม่มีใครมาขัดขวาง และคงไม่มีใครมายื้อเวลาเอาไปตีความให้ประชาชนต้องรอกันอีก และถ้าสุดท้ายเรื่องนี้เกิดสะดุดขึ้นมาจนประชาชนผิดหวังอีก รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบ เพราะประเทศที่เจริญแล้วหากกฎหมายสำคัญที่เสนอไปไม่ผ่าน เขาลาออกกันทั้งนั้น” น.อ.อนุดิษฐ์ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |