กสส.ปลื้มชาวเชียงใหม่ขานรับสินค้าสหกรณ์ผ่านตลาดจริงใจขายได้ 2 หมื่นบาทต่อวัน


เพิ่มเพื่อน    

          ภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ได้ช่วยผลักดันให้สินค้าที่เกษตรกรผลิตมีชีวิตขึ้นมาได้อีกครั้ง ดังเช่นที่ตลาดจริงใจมาร์เก็ตซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ที่ได้นำผลผลิตให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อผ่านรูปแบบการจัดตลาดที่สะอาด เป็นระเบียบน่าเดินชมสินค้าและบรรยากาศที่ผ่อนคลาย  จนกลายเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยมในวันหยุดสุดสัปดาห์

          นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสุริยะ คำปวง สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่  ลงพื้นที่เยี่ยมชมตลาดจริงใจมาร์เก็ต อ.เมือง จ.เชียงใหม่  เป็นตลาดของภาคเอกชนที่ได้เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำผลผลิตจากสวนของตนเองมาจำหน่าย หนึ่งในนั้นสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนห้วยทราย  เป็นกลุ่มอาชีพสังกัดสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัดนำผลผลิตของสมาชิกมาวางจำหน่าย และได้รับการตอบรับอย่างมากเนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์และผักอินทรีย์  เป้าหมายต่อไปคือส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาอาชีพให้กับสหกรณ์ทั่วประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมาแห่งละประมาณ  1 แสนบาท โดยทางกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนห้วยทรายได้นำมาซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ในการแปรรูปข้าวอินทรีย์ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคและช่วยเพิ่มมูลค่าได้อย่างน่าพอใจ

          ทั้งนี้ กรมมีนโยบายในการส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ หรือผักปลอดภัย แม้ว่าการทำเกษตรอินทรีย์นั้นทำยากในช่วงเริ่มต้นและต้องใช้เวลา แต่ถือเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่รักสุขภาพ  โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ หรือให้รับรองแบบกลุ่มเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจผลผลิต ซึ่งการบริโภคสินค้าที่ปลอดภัยกำลังเป็นเทรนของโลก ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เองก็มีแผนงานโครงการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์เช่นกัน ในส่วนของกรมได้ส่งเสริมให้ผลิตและเชื่อมโยงกับตลาดต่างๆ รวมถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ที่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เริ่มต้นไว้ ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่ส่งเสริมสมาชิกทำเกษตรอินทรีย์กระจายไปหลายจังหวัด ทำให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เสริมมาเลี้ยงครอบครัวได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

 

            นพวรรณ ทิพวงศ์ กรรมการกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนห้วยทราย อ.สันกำแพง  เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้ส่งเสริมสมาชิกปลูกข้าวอินทรีย์ และนำมาแปรรูปเป็นแป้งข้าว รวมถึงจำหน่ายผักอินทรีย์ เช่น ผักหวาน คะน้า ผักกูด ผักสลัด และเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ และผลิตอาหารโปรตีนทางเลือก  เช่น การเลี้ยงแมลงจิ้งโกร่ง  ปัจจุบันกลุ่มได้นำวัตถุดิบที่กลุ่มผลิตได้มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าและสามารถที่เก็บรักษาผลผลิตไว้ได้นานหรือแปรรูปในช่วงที่ราคาตกต่ำ โดยกรมสนับสนุนงบประมาณอุปกรณ์และฝึกอบรมเทคโนโลยีการผลิตฯ จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ปีงบประมาณ 2563 อาทิ เครื่องบดแป้ง เครื่องผสมแป้ง  เครื่องรีดแป้ง หม้อต้มแป้ง

          “กลุ่มเสนอขออุปกรณ์เหล่านี้เพราะต้องการนำมาแปรรูปข้าวอินทรีย์ที่กลุ่มผลิต โดยเราได้ผลิตเป็นแป้งข้าวจากเดิมขายได้กก.ละ 50 บาท เมื่อผลิตเป็นแป้งข้าว ขายได้กก.ละ 120 บาท  โดยข้าว 1 กก.ทำแป้งข้าวได้  800 กรัม แนวคิดนี้เกิดจากทางกลุ่มไปเจอลูกค้าที่เป็นกลุ่มเชฟ ซึ่งให้ผลิตแป้งข้าวส่งร้านขนมชื่อดังที่กรุงเทพฯที่ทำเค้กและเบเกอร์รี่จากแป้งข้าว ต่อมากลุ่มได้ทดลองนำแป้งข้าวอินทรีย์มาผลิตเป็นเส้นพาสต้าเส้นสด จะได้เส้นที่เนื้อสัมผัสเหมือนกับเส้นพาสต้าจากแป้งสาลี เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำหลังจากที่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือมาแปรรูป ขณะนี้ลูกค้าก็เริ่มติดใจหลายคนบอกว่าให้ทำอบแห้งจะได้ซื้อเก็บไว้นานๆ ปัจจุบันเริ่มทำเส้นพาสต้าผสมแมลงจิ้งโกร่งที่มีโปรตีนสูงและแปรรูปเป็นคุ้กกี้แมลง ซึ่งแมลงจิ้งโก่ง ทางกลุ่มเลี้ยงเองโดยอาหารที่ใช้เลี้ยง คือพืชผักอินทรีย์ในแปลงของสมาชิก”

 

           

          ปัจจุบันกำลังแปรรูปผักเคลอินทรีย์ เป็นผงผักเคล ซึ่งสมาชิกนิยมปลูกกันมาก เพิ่งเริ่มทำไม่ถึงเดือน แต่มีลูกค้ามาติดต่อขอซื้อกันล่วงหน้าแล้ว ผงผักเคลสีและรสเหมือนกับชาเขียว แต่คุณค่าทางอาหารสูงมากและกำลังได้รับความนิยมในตลาดรักสุขภาพเช่นกัน  เมื่อผลิตแล้วก็ให้ลูกค้าที่เป็นเชฟเบเกอร์รี่ทำขนมผลออกมารสชาดดี สีสวยลูกค้าถูกใจ การผลิตใช้ผักเคลประมาณ 10 กก. จะได้ผงผักเคลประมาณ  1 กก. ราคาจำหน่าย 8 พันบาทต่อกก. ขนาด  60 กรัมราคา 364 บาท หากขายใบสดขายได้ กก.ละ 100  บาท

            สำหรับสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2546 ปัจจุบันดำเนินธุรกิจ 6 ธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจรวบรวมผลิตผล (รวบรวมข้าวเปลือก) ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจแปรูปผลผลิตทางการเกษตรและการผลิตสินค้า สหกรณ์รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อแปรรูปเป็นข้าวกล้องเพื่อจำหน่าย ผลผลิตหลักของสมาชิกคือ พืชผักอินทรีย์ตามฤดูกาล ช่องทางการตลาดของสมาชิกสหกรณ์ ประกอบไปด้วยตลาดชุมชน โรงเรียน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และตลาดจริงใจมาร์เก็ต ซึ่งจะเปิดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ โดยสมาชิกสหกรณ์ฯ มาจำหน่ายในตลาดจริงใจมาร์เก็ต มี 6 ราย  จากอำเภอพร้าวและดอยสะเก็ด รายได้เฉลี่ย 5,000 ถึง 20,000 บาท/วัน/ราย ทั้งนี้ สหกรณ์ดูแลสมาชิกในด้านความรู้พื้นฐานเกษตรอินทรีย์ ด้านมาตรฐานของฟาร์ม เช่น ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) ในการใช้พันธุ์พืชอินทรีย์และมีแหล่งที่มา มีใบรับรอง รวมทั้งมีการจัดทำระบบตามสอบย้อนกลับ (Qr Code) มีระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นเครื่องรับประกันในคุณภาพผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"