"สุพัฒนพงษ์" การันตี 2 ปีไม่ขึ้นภาษีแน่ สยบข่าวรัฐถังแตก แจง ครม.แค่ถกประเมินความเสี่ยงทางการคลัง คลังเตรียมชงตรึงเก็บแวตที่ 7% ต่ออีกปี เหตุเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ประชาชนยังระทมผลกระทบจากโควิด
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 มี.ค. ได้มีการหารือถึงการจัดเก็บภาษีของประเทศไม่เข้าเป้า โดยสั่งให้กระทรวงการคลังศึกษาการปรับขึ้นภาษี รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มจากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ที่ร้อยละ 7 ว่าไม่มีสัญญาณใดๆ ที่บอกว่ารัฐบาลจะถังแตก เพียงแต่ในที่ประชุม ครม. มีการรายงานเรื่องความเสี่ยงทางการคลังที่เป็นการรายงานประจำปี ที่ต้องรายงานตามวาระเพื่อทราบ ไม่มีสาระสำคัญใดๆ ที่ต้องน่าห่วง ข้อสังเกตของความเสี่ยงถือเป็นเรื่องปกติ โดยมีการพูดถึงการใช้เงินในช่วงวิกฤติโควิด-19 และเรื่องการจัดเก็บภาษีในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่รายได้น้อยลงไป เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั้งหมดนี้คือการรายงานความเสี่ยงในที่ประชุม ครม. แต่บทสรุปของการรายงานความเสี่ยง ได้มีการประเมินความเสี่ยงออกมาเป็นตัวเลขคือ 2.47 ถือเป็นระดับความเสี่ยงที่ไม่สูงมาก และเชื่อว่าอีก 2 ปี วิกฤติทางด้านการเงินการคลังหรือความเสี่ยงจะไม่มีเกิดขึ้น
"ผมไม่เข้าใจข่าวที่ออกมามันทำให้เกิดความกังวลว่าดูเหมือนจะไปขึ้นภาษีบ้าง ถังแตกบ้าง ซึ่งไม่มีสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้น" นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
เมื่อถามว่า สรุปแล้วการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ใช่หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ยืนยันว่า ภายในสองปีนี้จะไม่ขึ้น เพราะรายงานดังกล่าวประเมินไว้แค่ในระยะสองปีข้างหน้า และในการประชุม ครม.ไม่มีคุยเรื่องนี้ และไม่มีข้อเสนอแนะใดๆ เพียงแต่ ครม.มีข้อสังเกตและเป็นห่วงจำนวนประชาชนที่อยู่ในระบบภาษีของเรา ยังมีจำนวนน้อย จึงขอให้กระทรวงการคลังไปทำการศึกษาโครงสร้างภาษี เพื่อดึงดูดให้คนเข้าใจ เพื่อเข้ามาในระบบว่าเป็นประโยชน์อย่างไร จะได้ช่วยกันช่วยเหลือประเทศ และเงินเหล่านั้นได้กลับมาถึงมือประชาชนอย่างไร
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. ไม่มีใครพูดถึงการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ทางด้านภาษีน่าเป็นห่วงหรือไม่ นายวิษณุย้อนถามกลับว่า "อยากให้ขึ้นอย่างนั้นหรือ เขาก็ต้องดูจังหวะเวลา เพราะจากเดิมประกาศให้จัดเก็บภาษีที่ 10% แต่ลดลงมาเหลือ 7% และพอคิดจะขึ้นในครั้งใดก็มักจะเจอปัญหา เช่นครั้งนี้เจอกับโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจฟองสบู่แตกบ้าง"
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังยืนยันจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากปัจจุบันที่จัดเก็บในอัตรา 7% โดยหลังจากครบกำหนดการลดอัตราการจัดเก็บภาษีแวตไว้ที่ 7% จากเดิมที่ 10% ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ คลังจะเสนอที่ประชุม ครม.ขยายเวลาการลดอัตราการจัดเก็บต่อไปอีก 1 ปี เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564-2565 ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว และประชาชนยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่
“ข้อเสนอใน ครม.ให้คลังขึ้นภาษีแวต ยังไม่เห็น ไม่มี เรื่องนี้ไม่ทราบ ส่วนปี 2564-2565 จะมีการขึ้นภาษีตัวใหม่หรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ จะต้องขอรอดูผลการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลังก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยเรื่องนี้ได้ให้นโยบายตั้งแต่ผมเข้ามารับตำแหน่งแล้ว” นายอาคมระบุ
สำหรับการศึกษาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษี จะต้องพิจารณาเรื่องการจัดเก็บรายได้ให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้ง่ายขึ้น สามารถแข่งขันได้ ซึ่งอัตราภาษีปัจจุบันก็ถือว่าอยู่ในระดับต่ำแล้ว และเป็นแนวโน้มเดียวกันกับประเทศคู่แข่ง
รมว.การคลังกล่าวด้วยว่า การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่นั้น จะต้องติดตามในเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากที่มีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2563 ที่ขยายออกไปจากเดือน มี.ค. จึงจะตอบได้ว่ารายได้ปีนี้จะหลุดเป้าหมายหรือไม่ แต่ว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไม่ได้อยู่ที่ภาษีเพียงอย่างเดียว มีทั้งเงินนำส่งของรัฐวิสาหกิจ การกู้เงิน ซึ่งมีหลายทางที่จะนำมาปิดงบประมาณได้ ทำให้การใช้งบประมาณเป็นไปตามปกติ
ทั้งนี้ นายอาคมได้ปาฐกถาพิเศษ “มาตรการรัฐ : ขับเคลื่อนอสังหาฯ ฟื้นเศรษฐกิจไทย” ว่ารัฐบาลยังยืดเป้าหมายตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2564 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 4% แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนจะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ที่ 2.5-3.5% ก็ตาม ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคธุรกิจต้องไปด้วยกัน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น แม้จะเป็นการฟื้นตัวแบบช้าๆ ก็ตาม
"หลังจากการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้อย่างเต็มสปีดในปี 2566-2567 ผ่านปัจจัยสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะด้านคมนาคม ด้านพลังงาน ด้านน้ำ และด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันให้ภาคเอกชนเดินหน้าลงทุน รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย ตลอดจนปัจจัยเรื่องการท่องเที่ยวและบริการ ผ่านมาตรการสำคัญคือการผ่อนคลายและเริ่มเปิดประเทศ เปิดการท่องเที่ยว เริ่มที่ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือน ก.ค.2564 ก่อนที่จะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 ภายใต้กติกาสากลที่ทั่วโลกกำหนด ที่แม้จะไม่มีการกักตัว แต่จะต้องมีการฉีดวัคซีนและมีเอกสารรับรอง ซึ่งจะเป็นเครื่องการันตีความปลอดภัย เหล่านี้จะเป็นแสงสว่างให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564-2565" รมว.การคลังกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |