ทางออก-ปลดล็อก ร่างพรบ.ประชามติ


เพิ่มเพื่อน    

              ก่อนที่ทางที่ประชุมร่วมรัฐสภา ส.ส.และ ส.ว.จะประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ "ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ...." ในสัปดาห์หน้า วันที่ 7-8 เม.ย. ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระสองเรียงรายมาตราและวาระสาม ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ทั้งฉบับ 

            หลังการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ เกิดสะดุดกลางห้องประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 มี.ค. เพราะเสียงส่วนใหญ่ได้ลงมติเห็นชอบกับการแปรญัตติของกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยจากพรรคเพื่อไทย ชูศักดิ์ ศิรินิล ที่แปรญัตติในมาตรา 9 ในร่างดังกล่าว ที่ให้เขียนเพิ่มเติมจากร่างของกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก จนสุดท้ายมติที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบด้วยให้เขียนมาตรา 9 ออกมา ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า "ให้เพิ่มอำนาจรัฐสภาและประชาชนสามารถส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีจัดทำประชามติได้"

            ขณะที่ร่างเดิมของกรรมาธิการฯ เขียนล็อกให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีในการตัดสินใจทำประชามติ ที่เขียนให้คล้อยไปกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” 

            จนสุดท้ายเกิดปัญหาขึ้น เพราะมีข้อทักท้วงว่าเนื้อหาตามร่างดังกล่าวที่รัฐสภาโหวตไปอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะไปเพิ่มอำนาจในการเสนอความเห็นการทำประชามติให้กับรัฐสภาและภาคประชาชน ทั้งที่รัฐธรรมนูญให้เป็นอำนาจของ ครม. เลยทำให้การประชุมเมื่อวันที่ 18 มี.ค.หยุดกลางคัน และทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำร่างกลับไปแก้ไขใหม่

            การหาทางออกในเรื่องนี้ ก่อนจะไปถึงการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 7-8 เม.ย. จะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น นั่นก็คือการประชุมของ "คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ของรัฐสภา ที่มี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สว.เป็นประธาน" ที่ได้นัดประชุมกรรมาธิการฯ ทั้งหมด ที่มีทั้ง ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน-ส.ว. ในวันที่ 1-2 เม.ย.นี้ เพื่อนำร่างฉบับแก้ไขของกฤษฎีกาที่มีการปรับปรุงถ้อยคำแก้ไขใหม่มาพิจารณาว่าจะเอาด้วยหรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่เอาด้วย กมธ.ฯ จะได้ส่งร่างฉบับแก้ไขไปให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ต่อไป

            เบื้องต้นข่าวว่ากรรมาธิการฯ บางส่วน โดยเฉพาะ สุรชัย-ปธ.กมธ.ฯ ได้ดูร่างฉบับแก้ไขทั้งหมดแล้ว โดยมีท่าทีในเชิงตอบรับร่างที่กฤษฎีกาแก้ไขใหม่ เช่นเดียวกับแกนนำรัฐบาลที่เป็นเจ้าภาพในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ "วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ" ก็มั่นใจว่าร่างที่กฤษฎีกาแก้ไขจะผ่านไปได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

            อย่างไรก็ตาม ต้องดูด้วยว่า กมธ.ฯ เสียงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสาย ส.ว.และฝ่ายค้าน จะเอาด้วยหรือไม่กับร่างที่กฤษฎีกาแก้ไข โดย กมธ.ฯ ต้องเคาะให้จบภายในวันที่ 2 เม.ย.นี้ ก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ค้างอยู่ให้เสร็จภายในวันที่ 7-8 เม.ย.

            กระนั้นก็ตามที เมื่อดูถึงตอนนี้ก็ไม่ได้มีหลักประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าสุดท้ายเส้นทางของร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะฉลุยทุกขั้นตอนจนมีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย เพื่อรองรับการทำประชามติในโอกาสต่างๆ เช่น การแก้ไข รธน. หรือเรื่องที่หลายคนเคยเสนออยากให้มีการทำประชามติ หลังมีการถกเถียงข้อดี-ข้อเสียกันมานาน อย่างเรื่อง "การเปิดกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทย" เพราะประเมินแล้วยังมีความเสี่ยงที่ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ อาจจอดสนิทกลางทางก็ได้ เช่น หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเนื้อหาในมาตรา 9 ที่รัฐสภาโหวตออกมา ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 166 แล้วศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญจริง ก็จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ เสี่ยงโดนล้มกระดานทั้งฉบับ ตามรอยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ก่อนหน้านี้ก็เป็นได้

            มีการวิเคราะห์กันว่า เส้นทางของร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่เป็นร่างกฎหมายของรัฐบาลจะเดินต่อไปอย่างไรต่อจากนี้ พบว่ามีได้หลายเส้นทาง เช่น รัฐบาล-พรรคร่วมรัฐบาล-ส.ว. ยอมให้มีการผ่านร่าง พ.ร.บ.ออกมาก่อน จากนั้นหลังประกาศใช้เป็นกฎหมาย รัฐบาลก็รีบเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติฯ เพื่อแก้ไขให้อำนาจการทำประชามติเป็นของ ครม.แบบเด็ดขาด ไม่ให้รัฐสภา-ภาคประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเสนอร่างแก้ไขเข้าไปให้รัฐสภาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนทันทีหลังรัฐสภาสภาเปิดประชุมเดือน พ.ค. หรือไม่ก็อาจเป็นกรณีหลังรัฐสภาโหวตผ่านวาระสามแล้ว ก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ก็อาจมี ส.ส.-ส.ว.เข้าลงชื่อยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยให้สะเด็ดน้ำว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัด รธน.หรือไม่ ซึ่งหากศาลชี้ว่าไม่ขัด รธน. ทุกอย่างก็เดินต่อไป แต่หากขัด รธน. จนศาล รธน.ตีตก รัฐบาลก็ค่อยเสนอร่างกลับมาให้รัฐสภาพิจารณาใหม่ โดยยึดตามร่างเดิมของ กมธ.ฯ เสียงข้างมากในตอนแรก     และอีกแนวทางคือ ใช้วิธีให้ ส.ส.รัฐบาล-ส.ว.จับมือกันคว่ำ ร่างในวาระสามเพื่อจบปัญหาแล้วไปนับหนึ่งใหม่ แต่วิธีการดังกล่าวถึงตอนนี้ดูแล้วน่าจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นร่างของรัฐบาล หากไม่ผ่านจะเกิดปัญหาทางการเมืองตามมาได้ อีกทั้งรัฐบาล-กฤษฎีกาได้แก้ไขจุดที่มีปัญหาจนแกนนำรัฐบาลพอใจแล้ว จึงคาดได้ว่ารัฐบาล-พรรคร่วมรัฐบาลคงไม่ใช้วิธีการสั่งให้ ส.ส.รัฐบาลคว่ำวาระสาม

            ซึ่งการหาทางออกดังกล่าว เบื้องต้นให้จับตาดูการประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ วันที่ 1-2 เม.ย.นี้ก่อน ว่าจะได้ข้อยุติหรือไม่ โดยหาก กมธ.ฯ เสียงแตก หาข้อยุติร่วมกันทั้งหมดไม่ได้ ประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 7-8 เม.ย. ก็อาจมีป่วนได้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"