เมื่อเกิดวิกฤติที่เมียนมา เราต้องจับตาดูลีลาของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา, จีน และรัสเซียอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกันก็ต้องประเมินจุดยืนของอินเดีย, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
แน่นอนสำหรับประเทศไทยแล้วแนวทางของอาเซียนมีความสำคัญที่สุด
เพราะไทยเป็นสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญในอาเซียน
และอาเซียนจะมีบทบาทที่สำคัญในการแสวงหาทางออกที่สันติทางการเมืองให้เมียนมาได้อย่างดีเช่นกัน
ณ จุดนี้เพื่อนเราในอาเซียนแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก เดินหน้าอย่างแข็งขันที่จะให้กองทัพเมียนมายุติการปราบปรามผู้ประท้วงเพื่อให้ "ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง" หันหน้ามาคุยกันเพื่อหาทางออกทางการเมือง
กลุ่มนี้มีอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และสิงคโปร์เป็นแกน
อีกกลุ่มหนึ่ง มีแนวทางโอนเอียงไปทางด้านทหารเมียนมา เพราะรูปแบบการปกครองของตนเองก็ยังเป็นการรวมศูนย์ที่เสี่ยงกับการถูกโยงไปสู่ความขัดแย้งได้เช่นกัน
กลุ่มสองนี้มีเวียดนามและ สปป.ลาวเป็นหลัก
ไทยอยู่ตรงกลางของสมการนี้ แต่หากเราไม่วางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนก็จะแปรจุดแข็งเป็นจุดอ่อนได้
หากเรายังอ้างว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาวันนี้เป็น "กิจการภายใน" ขณะที่สหประชาชาติและเพื่อนอาเซียนหลายประเทศประกาศว่า ความโหดเหี้ยมของการปราบปรามเป็นการละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชน...จึงเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
นั่นย่อมไม่ใช่ "กิจการในประเทศ" อีกต่อไป
จุดยืนของไทยจึงต้องมี "ความเป็นสากล"
มิใช่อ้างถึง "ความสัมพันธ์ของทหารทั้งสองประเทศ"
โดยไม่คำนึงถึงการตีความของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ยึดหลักการสากลอย่างที่เห็นกันอยู่วันนี้
รัสเซียแสดงตนชัดเจนว่าอยู่ข้างพลเอกมิน อ่อง หล่าย ด้วยการส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมไปร่วมพิธีสวนสนามวันกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา
อีกทั้งยังออกข่าวอย่างเอิกเกริกว่ารัสเซียเห็นเมียนมาเป็นเพื่อนมายาวนาน
มิน อ่อง หล่าย กล่าวในคำปราศรัยทางการเรียกรัสเซียเป็น "มิตรแท้"
จีนส่งระดับผู้ช่วยทูตทหารไปร่วมงานเหมือนอีก 6 ประเทศ คือ อินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เวียดนาม, ลาว และประเทศไทย
เห็นได้ชัดว่าปักกิ่งพยายาม "รักษาระยะห่าง" กับเมียนมาพอสมควร
ไม่ถึงกับถอยห่างแต่ก็ไม่ต้องการให้เห็นว่ามีความสนิทสนมเป็นพิเศษ
รัสเซียขยับเข้าใกล้มากกว่าจีนในกรณีนี้
เพราะมอสโกเดินนโยบายปะฉะดะกับสหรัฐฯ เต็มตัว
อะไรที่วอชิงตันบอกว่าเป็นสีดำ มอสโกจะต้องบอกว่าเป็นสีขาว
ขณะที่จีนจะเรียกมันว่าสีเทา
สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปดึงเอาญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาเป็นพวกในการออกแถลงการณ์ร่วมของผู้นำเหล่าทัพ 12 ประเทศที่ใช้ภาษาแข็งกร้าว
ประณามกองทัพเมียนมาที่ใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยม
สำหรับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้ว นี่ถือได้ว่าเป็นการออกตัวอย่างแรงกว่าที่ผ่านๆ มา
แต่สองประเทศนี้ต้องการจะแสดงออกว่าเป็นแนวร่วมกับอเมริกาและยุโรป ในบรรยากาศการเมืองโลกใหม่หลังจากโจ ไบเดนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เมื่อยักษ์ใหญ่ประลองกำลังกันในเอเชียกรณีเมียนมาเช่นนี้ บทบาทของอาเซียนจะมีความสำคัญยิ่ง
มีคำเตือนจากนักวิชาการเมียนมาเองว่า หากเมียนมากลายเป็น "รัฐล้มเหลว" เพราะกองทัพใช้กำลังปราบปรามประชาชนของตนเองอย่างไร้ศีลธรรม ดินแดนแห่งนี้ก็จะกลายเป็น "สมรภูมิประหัตประหาร" แก่งแย่งอิทธิพลของมหาอำนาจอีกครั้งหนึ่ง
เห็นภาพของความปั่นป่วนเช่นซีเรีย, ลิเบีย และอิรักโผล่ขึ้นมาเหนือเมียนมาข้างๆ บ้านเราทันที
หากเมียนมากลายเป็นแดนมิคสัญญีเหมือนซีเรีย ลองจินตนาการว่าประเทศไทยเราจะตกอยู่ในภาวะน่าอันตรายเพียงใด
สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต้องการจะเด็ดหัวมิน อ่อง หล่าย เพื่อให้เมียนมากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย
ยิ่งนี่เป็นยุคของโจ ไบเดนที่ชูเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพอย่างสูง ก็ยิ่งทำให้กรณีเมียนมากลายเป็นจุดทดสอบของวอชิงตัน
จีนต้องการจะถ่วงดุลระหว่างผลประโยชน์ของตนในเมียนมากับภาพลักษณ์ของตนในเวทีระหว่างประเทศ
รัสเซียทุ่มสุดตัวในเมียนมาครั้งนี้เพื่อปักหมุดอิทธิพลของตนในเอเชียอาคเนย์คานอำนาจของอเมริกาด้วย
อาเซียนมีความสัมพันธ์กับประเทศยักษ์เหล่านี้ในระดับดีทั้งหมด จึงอยู่ในฐานะที่จะใช้บทบาทการเป็น "คนกลางที่ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน" หรือ Honest Broker
เพื่อใช้หนทางการเจรจาและการทูตเพื่อหาทางออก ก่อนที่เมียนมาจะกลายเป็น "รัฐล้มเหลว" ที่คุกคามเสถียรภาพของภูมิภาคนี้อย่างน่ากังวลยิ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |