31 มี.ค.64 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลเรื่อง "การใช้สีแดงทาที่ผิวถนนเพื่อกันลื่น แต่กลับพบว่า สีดังกล่าวไม่ใช่ช่วยกันลื่น แถมยังทำให้ลื่นมากขึ้นด้วย" ว่า จากการตรวจสอบและพิจารณาแล้วนั้น บริเวณดังกล่าว อยู่บนทางหลวงหมายเลข 4311 บริเวณกม.9+900 – 10+200 เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมระหว่าง อ.เมือง ไปยัง อ.ทับปุด จ.พังงา ซึ่งที่มีการเผยแพร่ออนไลน์นั้น เป็นคลิปเกิดอุบัติเหตุรถเสียหลัก บริเวณโค้งบางเสียด จ.พังงา เกิดขึ้น ซึ่งเป็นข่าวเก่าที่เกิดเมื่อปี 2561 โดย ทล.ได้ทำการปรับปรุงผิวจราจร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และเกิดความปลอดภัยกับผู้สัญจรไปมาในบริเวณดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2562
ทั้งนี้ จากการเหตุการณ์ตามคลิปดังกล่าว เห็นได้ว่า รถที่ประสบอุบัติเหตุเป็นการลื่นไถลออกนอกผิวจราจรบริเวณทางโค้ง ซึ่งองค์ประกอบและปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุอุบัติเหตุ ประกอบด้วย สาเหตุมาจาก คน รถ และถนน เช่น ความเร็วขับขี่ สภาพพื้นถนน สภาวะอากาศ และสภาพความพร้อมของรถ อาทิ เครื่องยนต์ เบรก ล้อ ดอกยาง เป็นต้น โดยจากการวิเคราะห์ปัจจัยทั้งหมด พบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากการใช้ความเร็ว กับสภาวะอากาศที่ไม่เหมาะสม คือ ฝนตกในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ส่งผลให้ความเสียดทานของถนนลดลง ดังนั้นเมื่อผู้ขับขี่ใช้ความเร็วสูงในการเข้าโค้งจึงทำให้เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวได้
นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ทล. ได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพความเสียดทานของผิวทางบนทางหลวงบริเวณดังกล่าว ด้วยการปรับปรุงผิวจราจร ซึ่งจะทำให้ผิวทางมีความคงทนสูง เพิ่มความเสียดทาน และระบายน้ำออกจากผิวทางได้ดี รวมทั้งได้ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเตือนผู้ขับขี่ เช่น ป้ายจำกัดความเร็ว ป้ายเตือนแนวโค้ง เป็นต้น ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ พบว่าอุบัติเหตุลดลง 75% เป็นการลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
สำหรับเครื่องหมายสีแดงที่ปรากฏบนพื้นถนน เรียกว่า Red Antiskid ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้สำหรับเพิ่มความเสียดทานบนพื้นถนน และเป็นการเตือนให้แก่ผู้ขับขี่ระมัดระวัง ปัจจุบัน ทล. ไม่ได้ดำเนินการมีการติดตั้งหรือทางสี Red Antiskid แล้ว เหลือใช้เฉพาะบริเวณที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น บริเวณหน้าโรงเรียน เป็นต้น เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ทางแยกความแตกต่างของช่วงสายทางได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ เมื่อมาพิจารณาปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในส่วนของสภาพถนน สามารถจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะหลัก ๆ ได้แก่ 1.ปัญหาจากสภาพแวดล้อม ซึ่งเกิดจากฝุ่นหรือสิ่งสกปรกจากการใช้งานถนนโดยทั่วไป เมื่อฝนตกแรก ๆ ทำให้สิ่งสกปรกเหล่านี้ผสมกับน้ำฝนและเคลือบผิวจราจร ทำให้ลื่นกว่าปกติ และเมื่อฝนตกต่อเนื่องจะก่อให้เกิดฟิล์มน้ำที่กำลังรอการระบายอยู่บนผิวจราจร เกิดความเสี่ยงในลักษณะการเหินน้ำ ซึ่งทำให้ยานพาหนะเสียการควบคุมได้ และ 2.ปัญหาการเสื่อมสภาพจากการใช้งานของถนน เมื่อเปิดใช้งานไปนานๆ ความเสียดทานบนผิวทางจะมีค่าลดลงเรื่อย ๆ จนอาจจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ขับขี่ได้
อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ยืนยันว่า ทล.ได้มีการบำรุงรักษาทางหลวงให้มีความพร้อมใช้งานและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทางอยู่เสมอ โดยแขวงทางหลวงในพื้นที่ได้มีการทำความสะอาดผิวทาง รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังผิวจราจร ระบายน้ำออกจากผิวทางได้เร็วอยู่เสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงการลื่นไถลของยานพาหนะ นอกจากนั้น ทล.ยังมีการซ่อมบำรุง ปรับปรุง และรักษาสภาพความเสียดทานของผิวทาง ด้วย 2 มาตรการหลัก ได้แก่ การปรับสภาพผิวทาง เช่น ใช้แรงดันน้ำ รวมถึงการเปลี่ยนผิวทาง เช่น การฉาบผิวทางแบบต่างๆ เป็นต้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |