สหรัฐสั่งจนท.ทูตออกจากพม่า ญี่ปุ่นระงับความช่วยเหลือ


เพิ่มเพื่อน    

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐมีคำสั่งอพยพเจ้าหน้าที่ทางการทูตที่ไม่มีกิจจำเป็นออกจากเมียนมาแล้ว เนื่องจากห่วงความปลอดภัย ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศระงับความช่วยเหลือโครงการใหม่แก่เมียนมา แต่ยังไม่ถึงขั้นแซงก์ชันแบบโลกตะวันตก

แฟ้มภาพ ผู้ประท้วงเผาสิ่งกีดขวางกลางสะพานเพื่อสกัดกั้นทหารที่ย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564

    เอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 31 มีนาคมว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเคยออกคำแนะนำด้านการเดินทางเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายหลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนและควบคุมตัวนางอองซาน ซูจี พร้อมเจ้าหน้าที่ระดับสูง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แต่คำเตือนครั้งนั้นขอให้ลูกจ้างรัฐบาลที่ไม่ได้ปฏิบัติงานที่จำเป็น พร้อมกับครอบครัว เดินทางออกจากเมียนมาตามความสมัครใจ ทว่า วันอังคารที่ 30 มีนาคม กระทรวงได้ปรับปรุงสถานะเป็นคำสั่งบังคับให้เดินทางออกจากเมียนมา

    "กองทัพพม่าได้ควบคุมตัวและปลดเจ้าหน้าที่รัฐที่มาจากการเลือกตั้ง การประท้วงและการชุมนุมต่อต้านการปกครองของกองทัพได้เกิดขึ้นและคาดว่าจะดำเนินต่อไป" กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวในแถลงการณ์โดยใช้ชื่อเรียกประเทศเมียนมาแบบเก่า

    โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า กระทรวงตัดสินใจออกคำสั่งให้เดินทางออกจากพม่า เพราะความปลอดภัยและสวัสดิภาพของบุคลากรของรัฐบาลสหรัฐและผู้ที่อยู่ในความอุปการะของพวกเขา รวมไปถึงพลเมืองสหรัฐที่เป็นเอกชน คือสิ่งที่กระทรวงให้ความสำคัญสูงสุด

    คำสั่งให้เดินทางออกจากเมียนมาจะได้รับการทบทวนอีกครั้งเมื่อครบ 30 วัน

    รัฐบาลสหรัฐ, อังกฤษและสหภาพยุโรป ประกาศแซงก์ชันเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหน่วยทหารและตำรวจเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร และบริษัทหลายแห่งที่เป็นของกองทัพ แต่มาตรการเหล่านี้ยังไม่อาจกดดันให้พวกผู้นำทหารยุติการใช้ความรุนแรง

    ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) ที่เป็นองค์กรสังเกตการณ์ในเมียนมา ระบุว่า การปราบปรามนองเลือดทั่วเมียนมามีพลเรือนโดนฆ่าตายมากกว่า 520 คนแล้ว

    ที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โทชิมิตสึ โมเตกิ ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะระงับความช่วยเหลือแก่เมียนมา ซึ่งจะเป็นการส่งสารที่ "ชัดเจน" ต่อเมียนมา เนื่องจากญี่ปุ่นคือประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดแก่เมียนมา

    อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่น ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นและมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับกองทัพเมียนมา เลือกที่จะไม่ใช้มาตรการลงโทษโดยตรงมากกว่านี้ โมเตกิกล่าวว่า นโยบายคว่ำบาตรได้ผลกับเมียนมาจริงหรือ คำตอบที่เห็นได้ชัดเจนคือ ไม่ใช่ว่าการคว่ำบาตรคือความกล้าหาญ และการไม่คว่ำบาตรนั้นไม่กล้าหาญ

    สื่อของญี่ปุ่นกล่าวว่า การระงับความช่วยเหลือส่งผลต่อโครงการความช่วยเหลือใหม่ๆ เท่านั้น ไม่ใช่โครงการที่มีอยู่เดิม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"