ธนาคารต้นไม้แห่งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพร ปัจจุบันมีมากกว่า 3,000 สาขาทั่วประเทศ ถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญ จุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดในการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแนวป้องกันพายุ และทดแทนต้นไม้ที่ล้มตายจากภัยธรรมชาติ จากนั้นขยายผลมาเป็นการปลูกต้นไม้เพื่อใช้หนี้ เป็นไม้เศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกวัน และปัจจุบันได้ขยายแนวคิดไปสู่การปลูกเพื่อเป็นบำนาญของผู้สูงอายุ
จากแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราชถึง ‘พายุเกย์’ จ.ชุมพร
ธนาคารต้นไม้แห่งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นในปี 2549 ที่จังหวัดชุมพร (และอาจเป็นแห่งแรกของโลก) โดยการขับเคลื่อนของ ‘ไสว แสงสว่าง’ อดีตผู้จัดการธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาหลังสวน จ.ชุมพร ที่ได้เห็นภัยพิบัติจากธรรมชาติมาแล้วหลายครั้ง....
ย้อนกลับไปในปี 2505 เกิดวาตภัยพายุพัดถล่มแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ไสวในยามนั้นอายุราว 4-5 ขวบ ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ในอำเภอเมือง ไกลจากจุดเกิดเหตุพอสมควร แต่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะบ้านเรือนนับร้อยหลังได้รับความเสียหาย ต้นไม้ใหญ่น้อยถูกแรงพายุกวาดล้มเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตประมาณ 900 ราย และสูญหายอีกจำนวนหนึ่ง
ความเสียหายจากพายุถล่มแหลมตะลุมพุกในปี 2505
ไสวในยามนั้นยังจำภาพที่พ่อของเขานำกล้าไม้นับร้อยๆ ต้นมาปลูกทดแทนต้นไม้ที่ล้มไปภายหลังเหตุการณ์พายุร้ายพัดผ่านได้ดี เพียงแต่เขาไม่เข้าใจว่าพ่อทำไปเพื่ออะไร ?
ในปี 2532 เกิดเหตุวาตภัย ‘พายุเกย์’ พัดถล่มจังหวัดชุมพร มีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คน โดยเฉพาะบริเวณอำเภอท่าแซะและปะทิว เป็นจุดที่ได้รับความเสียหายจากพายุเกย์มากที่สุด ไสวในตอนนั้นทำงานที่ ธ.ก.ส.ในย่านนั้น เขาจึงเห็นภาพความเสียหายได้ดี เพราะนอกจากชีวิตผู้คน บ้านเรือนและทรัพย์สินแล้ว ต้นไม้ไร่นาต่างๆ ถูกมือยักษ์ของพายุกวาดรากถอนโคนจนเรียบเหมือนหนังหน้ากลอง เว้นแต่ต้นไม้ใหญ่ที่หยั่งรากลึกยังคงยืนหยัดต้านพายุร้ายได้ ตอนนั้นเขาจึงเข้าใจแล้วว่า พ่อปลูกต้นไม้เพื่ออะไร ?
หลังพายุร้ายผ่านพ้น ไสวใช้เวลาว่างเพาะชำกล้าไม้ต่างๆ โดยเฉพาะไม้ตะเคียนทองซึ่งเป็นไม้ยืนต้นและมีราคา ใช้ปลูกเพื่อเป็นแนวป้องกันลมพายุ เนื้อไม้นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ และใช้ปลูกสร้างบ้านได้ดี คุณสมบัติข้อนี้เขารู้ดี เพราะต้นไม้ที่พ่อของเขาปลูกหลังพายุพัดถล่มแหลมตะลุมพุกก็คือ ไม้ตะเคียน ซึ่งภายหลังครอบครัวและญาติพี่น้องของเขาได้นำไม้ตะเคียนที่พ่อปลูกมาสร้างบ้านเรือนโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อไม้แม้แต่บาทเดียว
กล้าไม้ที่ไสวเพาะเอาไว้ นอกจากต้นตะเคียนทองแล้ว ยังมียืนต้นต่างๆ เช่น ไม้ยาง พะยอม จำปาทอง เคี่ยม ฯลฯ เขานำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรหรือลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เขาออกไปเยี่ยมเยียน เริ่มจากพื้นที่ที่เขาทำงานอยู่ จากนั้นจึงขยายไปยังอำเภอต่างๆ ในจังหวัดชุมพร รวมทั้งจังหวัดที่อยู่ติดกัน เช่น ระนอง รวมแล้วนับเป็นหมื่นๆ ต้น
ไสว แสงสว่าง จากผลงานการส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ ทำให้เขาได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวประจำปี 2550 จากการจัดของ ปตท.
จากประสบการณ์การทำงานของไสวกว่าสิบปีที่ ธ.ก.ส. เขาเห็นว่า ธนาคารมีหน้าที่ในการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปประกอบอาชีพ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถชำระหนี้สินคืนได้ และกลายเป็นดินพอกหางหมู เพราะต้องกู้หนี้ยืมสินมาผ่อนชำระกับ ธ.ก.ส. เขาจึงมีแนวคิดส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยว เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มาทำเกษตรผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคา ลดต้นทุนการผลิต และปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเป็นทรัพย์สิน เมื่อไม้เหล่านี้โตขึ้นก็ยิ่งมีราคา สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ได้
จากแนวคิด ‘ปลูกต้นไม้ใช้หนี้’ สู่ ‘ธนาคารต้นไม้’
ขณะเดียวกันในช่วงปี 2547-2548 ‘สภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ’ (ปัจจุบันคือสภาองค์กรชุมชน) ได้เสนอแนวคิดเรื่อง ‘ปลูกต้นไม้ใช้หนี้’ ต่อรัฐบาลในขณะนั้น เพื่อปลดเปลื้องหนี้สินให้แก่เกษตรกร โดยให้เกษตรกรนำต้นไม้ที่ตนเองปลูกไปเป็นทรัพย์สินเพื่อค้ำประกันเงินกู้หรือชำระหนี้สินให้แก่ธนาคาร
จินดา บุญจันทร์ อดีตผู้นำสภาชุมชนแห่งชาติ เล่าว่า ในช่วงนั้นมีกลุ่มสมัชชาเกษตรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) ยกขบวนเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกร แต่รัฐบาลยังไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะทำอย่างไร กลุ่มแกนนำสภาชุมชนแห่งชาติจึงปรึกษาหารือกัน โดยมีความเห็นร่วมกันว่า รัฐบาลควรจะให้เกษตรกรนำต้นไม้ที่ตนเองปลูกมาเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารของรัฐ หรือใช้เป็นทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้แก่ ธ.ก.ส.
จินดา บุญจันทร์
“สภาผู้นำชุมชนจึงนำแนวคิดนี้มาเสนอต่อรัฐบาล และเสนอให้ใช้พื้นที่จังหวัดชุมพรเป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกต้นไม้ใช้หนี้ เพราะจังหวัดชุมพรมีหลายพื้นที่ที่เริ่มปลูกต้นไม้ใช้หนี้แล้ว ตอนนั้นผมใช้ชื่อโครงการว่า ‘โครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้ลุ่มน้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร’ และเริ่มมีการเก็บข้อมูลปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในพื้นที่เพื่อนำมาขับเคลื่อนโครงการแล้ว” จินดาบอกถึงที่มาของแนวคิด และขยายความว่า ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นโครงการ ‘ธนาคารต้นไม้’ เพราะคนชุมพรไม่ชอบเรื่องการเป็นหนี้
ในปี 2549 จินดาและไสว ร่วมกับภาคีเครือข่ายและภาคประชาชนสนับสนุนการจัดตั้ง ‘ธนาคารต้นไม้’ แห่งแรกที่บ้านคลองเรือ ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร เพราะที่บ้านคลองเรือ ชาวบ้านได้บุกเบิกถางไร่ จนต้นไม้ใหญ่น้อยถูกตัดโค่น จึงต้องร่วมกันฟื้นฟูป่าขึ้นมา โดยชาวบ้านมีกติการ่วมกันว่า ทุกครอบครัวจะต้องปลูกไม้ยืนต้นทดแทน 25 ต้นต่อไร่ เช่น ตะเคียน พะยอม จำปาทอง เคี่ยม ยาง ฯลฯ
เมื่อไม้เหล่านี้โตขึ้นก็จะเพิ่มมูลค่าในทางเศรษฐกิจ เป็นดอกเบี้ยที่ผู้ปลูกจะได้รับ รวมทั้งยังได้ความร่มรื่น เพิ่มอ๊อกซิเจน สร้างสมดุลให้แก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ หรือใช้ชำระหนี้ได้ เพราะในขณะนั้น ธ.ก.ส.มีแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง ดังนี้
“การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ ...ประโยชน์อย่างที่ 4 คือสามารถช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ”
หลังจากนั้นแนวคิดการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ได้แพร่ขยายไปยังอำเภอต่างๆ ในจังหวัดชุมพร และจากการรวมพลังของธนาคารต้นไม้ในจังหวัดชุมพร รวมทั้งการขับเคลื่อนและผลักดันแนวคิดของภาคีเครือข่ายในระดับนโยบายโดย ธ.ก.ส. สภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร เสนอต่อรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์มาอย่างต่อเนื่อง (รับตำแหน่งตุลาคม 2549) ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์จึงประกาศ ‘วาระแห่งชาติ ว่าด้วยการปลูกต้นไม้ใช้หนี้’ ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘การพึ่งพาตนเองด้านที่อยู่อาศัย พลังงาน อาหารและยา’
ปลูกต้นไม้เป็นบำนาญรองรับสังคมสูงวัยที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร
อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร มีทั้งหมด 13 ตำบล มีพื้นที่ประมาณ 935 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ด้านตะวันตกมีสภาพเป็นที่ราบเชิงเขา ส่วนด้านตะวันออกติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ประชากรประมาณ74,000 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มังคุด เงาะ ทุเรียน และทำประมงชายฝั่ง
‘วิระ ปัจฉิมเพ็ชร’ อาชีพเกษตรกร และเป็นประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลนาขา อ.หลังสวน บอกว่า ธนาคารต้นไม้ที่ตำบลนาขาจัดตั้งขึ้นในปี 2550 โดยนำต้นแบบมาจากธนาคารต้นไม้บ้านคลองเรือ อ.พะโต๊ะ ถือเป็นธนาคารต้นไม้แห่งที่ 8 ในจังหวัดชุมพร
ปัจจุบันมีสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนปลูกต้นไม้ประมาณ 120 คน โดยสมาชิกแต่ละคนจะปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของตัวเอง แต่ไม่ได้กำหนดว่าใครจะปลูกกี่ต้น แล้วแต่สภาพพื้นที่และความเหมาะสม เช่น สะเดาเทียม ซึ่งมีลำต้นสูงใหญ่ ลำต้นตรง เนื้อไม้มีความคงทน มอดไม่กินเนื้อไม้ นำมาแปรรูปสร้างบ้าน ทำเครื่องเรือนต่างๆ ได้ดี นอกจากนี้ยังปลูกไม้มีค่าอื่นๆ เช่น จำปาทอง ตะเคียนทอง เคี่ยม สัก ประดู่ ยางนา ฯลฯ
วิระกับไม้ตะเคียนที่ปลูกเมื่อปี 2547 ตอนนี้ย่างเข้าปีที่ 17 เส้นรอบวงประมาณ 1 เมตรเศษ
วิระบอกว่า การส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้จากโครงการธนาคารต้นไม้ มีผลดี 2 ด้านหลักๆ คือ 1.ด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านสามารถตัดไม้นำมาขาย นำมาแปรรูป นำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ มีลมมรสุมต้นไม้ก็จะเป็นแนวป้องกันลมได้ หรือหากบ้านเรือนเสียหายก็ยังโค่นต้นไม้เพื่อเอามาใช้ซ่อมแซมบ้านได้ และ 2.ด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ เพิ่มอากาศบริสุทธิ์ ให้ความร่มรื่น ใบไม้ที่ร่วงก็จะกลายเป็นปุ๋ย ทำให้ผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์ ชุ่มชื้น เกิดผลดีต่อระบบนิเวศโดยรวม
“ไม้ยืนต้นที่เราปลูก เช่น ตะเคียนทอง จำปาทอง สะเดาเทียม จากการคำนวณพบว่า เมื่อปลูกลงดินแล้วไม้แต่ละต้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นวันละ 3 บาท 1 ปีประมาณ 1,000 บาท 10 ปีประมาณ 10,000 บาท และ 30 ปีประมาณ 30,000 บาท หากเราปลูก 100 ต้น ภายในเวลา 30 ปี เราจะมีทรัพย์สินงอกเงยขึ้นมา 3 ล้านบาท
นอกจากนี้ต้นไม้ที่ปลูกหากยังไม่ตัด เราก็เอามาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ไม้เคี่ยม เป็นไม้เนื้อแข็ง เอาเปลือกและเนื้อไม้ใส่ในน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด ช่วยไม่ให้น้ำตาลที่ปาดออกมาจากต้นใหม่ๆ บูดหรือเปรี้ยว ต้นทำมัง ใบมีกลิ่นคล้ายแมงดา ยอดอ่อนเอาไปย่างไฟ กินกับน้ำพริก” วิระบอกถึงประโยชน์จากการปลูกต้นไม้
เขาบอกด้วยว่า ที่ดินของเขามีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 20 ไร่ ปลูกผักสวนครัวอินทรีย์เพื่อขายเป็นรายได้รายวัน เช่น ผักกาดหอม คะน้า กวางตุ้ง ตั้งโอ๋ แตงกวา ฯลฯ มีรายได้ประมาณวันละ 800 บาท นอกจากนี้ยังปลูกกล้วย ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน อินทผลาลัม และเลี้ยงผึ้งโพรงในสวนเพื่อหาน้ำหวานจากต้นไม้ในสวนอีก 20 ลัง เพื่อมีรายได้รายเดือนและรายปี
ส่วนไม้มีค่าทางเศรษฐกิจนั้น เขาเริ่มปลูกตั้งแต่ปี 2547 ก่อนที่จะจัดตั้งธนาคารต้นไม้ ตอนนั้นเขาอายุได้ประมาณ 33 ปี (ปัจจุบันอายุ 50 ปี) เริ่มปลูกต้นยางนา จำปาทอง ตะเคียนทอง มะฮอกกานี และปี 2550 ปลูกสะเดาเทียม รวมทั้งหมดประมาณ 500 ต้น ปัจจุบันไม้เหล่านี้มีอายุประมาณ 14-17 ปี เช่น ต้นจำปาทองอายุ 17 ปี มีความสูงประมาณ 15 เมตร เส้นรอบวงประมาณ 120 เซนติเมตร
“ตอนนั้นที่ปลูกเพราะผมคิดว่าจะได้ใช้ประโยชน์ตอนแก่ เพราะไม้พวกนี้กว่าจะโตใช้ประโยชน์ได้ ผมก็มีจะอายุประมาณ 50-60 ปี เอามาใช้สร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ หรือขายเป็นบำนาญก็ได้ เพราะหากผมตัดไม้ที่มีอายุ 30 ปี มีราคาต้นละ 30,000 บาท ขายเดือนละ 1 ต้น ผมมีต้นไม้ 500 ต้น ก็จะตัดขายได้อีก 40 กว่าปี มีเงินใช้ตลอดเดือนละ 30,000 บาท และหากปลูกทดแทนเรื่อยๆ ตัดจนตายก็ยังตัดไม่หมด แต่ผมจะไม่ตัดขายหรอก จะปล่อยให้เป็นสมบัติของลูกหลาน เป็นสมบัติของแผ่นดิน เพราะไม้พวกนี้เมื่อมีอายุเยอะก็จะมีประโยชน์และคุณค่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนดินด้วย” วิระบอก
แปลงปลูกผักอินทรีย์ของวิระ
เขายังบอกด้วยว่า ในฐานะที่เขาเป็นประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลนาขา เขาได้ใช้สภาองค์กรชุมชนฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้มีค่าเพื่อเป็นบำนาญยามสูงวัย แต่จะต้องเริ่มปลูกตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักและผลไม้อินทรีย์ เช่น ทุเรียน มังคุด ฯลฯ โดยร่วมมือกับ อบต. รพ.สต. อสม.ขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะหากเกษตรกรยังใช้สารเคมี แม้จะมีรายได้ดี แต่สารเคมีก็จะสะสมในร่างกาย เกิดปัญหาโรคภัยติดตามมา ทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ
“สังคมสูงวัยต้องอยู่กับการทำการเกษตรที่ยั่งยืน มีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง และมีความสุข ไม่ใช่สูงวัย แต่ยังจน หรือต้องเอาเงินไปใช้รักษาตัวในตอนแก่” วิระกล่าวย้ำ
ข้อเสนอ ‘ปลดล็อค’ ข้อจำกัดธนาคารต้นไม้
แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลจะมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกไม้ยืนต้นมีค่าทางเศรษฐกิจนำมาจดทะเบียนเพื่อเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ (พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 กระทรวงพาณิชย์ กำหนดกฎกระทรวง พ.ศ.2561 ให้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันได้) รวมทั้ง ธ.ก.ส.ได้อนุมัติให้กลุ่มเกษตรกรใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์เพื่อขอสินเชื่อนำเงินมาลงทุนประกอบอาชีพ โดยปัจจุบัน ธกส.อนุมัติอนุมัติสินเชื่อแล้วหลายกลุ่ม
เช่น ในปี 2563 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้นำร่องให้สินเชื่อแก่เกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่นำไม้ยืนต้นที่มีค่าที่ปลูกในบริเวณบ้าน จำนวน 44 ต้น ประกอบด้วย มะขาม (9 ต้น) มะกอกป่า (1 ต้น) สะเดา (14 ต้น) ตะโก (1 ต้น) โมกมัน (1 ต้น) งิ้วป่า (1 ต้น) กระท้อน (1 ต้น) มะเกลือ (2 ต้น) ยอป่า (1 ต้น) มะม่วง (1 ต้น) และไม้แดง (12 ต้น) มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน วงเงินสินเชื่อจำนวน 115,000 บาท
ทั้งนี้ไม้ยืนต้นที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อมีจำนวน 58 ชนิด เช่น สัก พะยูง ชิงชัน ประดู่ มะค่า แดง เต็ง รัง ตะเคียน สะเดา นางพญาเสือโคร่ง ปีบ ตะแบกนา ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน ไม้สกุลยาง มะขามป้อม ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลจำปี กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ หว้า จามจุรี กฤษณา ไม้หอม ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม จินดา บุญจันทร์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารต้นไม้ เสนอความเห็นว่า ธนาคารต้นไม้นับตั้งแต่ก่อตั้งแห่งแรกที่จังหวัดชุมพรในปี 2549 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 15 ปีแล้ว แต่ยังขับเคลื่อนต่อได้ไม่มากนัก เพราะยังมีข้อติดขัดและอุปสรรคหลายประการ ตนจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
“ส่วนการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นบำนาญในยามสูงวัยนั้น เราจะต้องส่งเสริมให้คนที่มีอายุประมาณ 30 ปีปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจตั้งแต่วันนี้ เพราะต่อไปไม้จะมีราคาสูงมากขึ้น เช่น ไม้จำปาทองคนจีนนิยมเอามาทำโลงศพ และมีราคาสูง ต้นหนึ่งขนาดอายุ 30-40 ปี ตัดเอามาทำโลงทองได้ 2 ท่อน ราคาขายที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ท่อนละประมาณ 50,000 บาท หรือมีราคาต้นละ 100,000 บาท หากเราเริ่มปลูกตอนอายุ 30 ปี พออายุ 60-70 ปีเราก็ขายไม้จำปาทองเพื่อเอาเงินมาใช้ในยามสูงวัยได้สบาย ถ้าปลูก 10 ต้นก็เป็นเงิน 1 ล้านบาท ปลูก 100 ต้นก็ 10 ล้านบาท ” จินดากล่าวในตอนท้าย
หมายเหตุ : เรื่องและภาพโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |