ตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญ รับสังคมสูงอายุพุ่งปีละล้าน


เพิ่มเพื่อน    

  ครม.ไฟเขียวตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ รองรับสังคมผู้สูงอายุ ช่วยแรงงานในระบบมีเงินใช้หลังเกษียณ  พม.เผยตั้งแต่ปี 66 คนแก่พุ่งขึ้นปีละล้าน

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 มีนาคม นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2562 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ซึ่งสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2562 มีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.6 ล้านคน หรือร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งประเทศ และตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุถึง 60 ปี ปีละ 1 ล้านคน และในปี 2576 จะมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่การเกิดในปี 2562 มีจำนวนลดต่ำลงเหลือเพียง 6.1 แสนคน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุมาตลอด โดยดำเนินการจัดสวัสดิการด้านต่างๆ อาทิ
    1.ด้านการศึกษา เช่น จัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวน 1,555 แห่ง โดยกำหนดเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ในมิติสุขภาพ มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ และมิติสภาพแวดล้อม 2.ด้านสุขภาพอนามัย เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ซึ่งมีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแล จำนวน 219,518 คน 3.ด้านที่อยู่อาศัย ดำเนินการปรับปรุงซ่อมบ้านให้แก่ผู้สูงอายุ จำนวน 3,200 หลัง และปรับปรุงสถานที่สาธารณะให้เอื้อต่อผู้สูงอายุและคนทุกวัย จำนวน 20 แห่ง
    4.ด้านการทำงานและการมีรายได้ เช่น รัฐบาลออกมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนจ้างแรงงานผู้สูงอายุเข้าทำงานมากขึ้น ตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ 1,489 แห่ง สนับสนุนเงินทุนกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพผู้สูงอายุผ่านกองทุนผู้สูงอายุ จำนวน 8,991 คน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 9.09 ล้านคน 5.ด้านบริการทางสังคม เช่น ช่วยเหลือการทำศพผู้สูงอายุตามประเพณี การช่วยเหลือผู้สูงอายุในภาวะยากลำบากผ่านกลไกในระดับพื้นที่
    นอกจากนี้ พม.มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและพัฒนากลไกให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้ 1) ทบทวนและคำนึงถึงความยั่งยืน และภาระด้านงบประมาณอย่างจริงจังต่อการจัดสวัสดิการ ผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ควรคำนึงถึงการนำเงินที่ได้รับไปต่อยอดให้เกิดรายได้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพและการดำรงชีวิตในระยะยาว 2) ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเป็นสากลมากขึ้น โดยไม่มุ่งเน้นเฉพาะแนวคิดการสงเคราะห์ แต่ควรจัดสวัสดิการสังคมบนพื้นฐานของสิทธิพลเมือง ที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงและได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน 3)กระจายความรับผิดชอบในการจัดสวัสดิการสังคมผ่านการสร้างหุ้นส่วน โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมและสนับสนุนการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ
    รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยด้วยว่า เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนเมื่อเข้าถึงวัยสูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ และเป็นการสร้างวินัยการออมของประชาชนวัยทำงาน ครม.จึงอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
    1.ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ อาทิ (1) จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์การมหาชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และเป็นศูนย์กลางบูรณาการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญ โดยรายได้ของ กบช.ไม่ต้องนำส่งคลัง
    (2) กำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปี (ที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ต้องเป็นสมาชิกของ กบช. (3) กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย แบ่งเป็น ปีที่ 1-3 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของค่าจ้าง, ปีที่ 4-6 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้าง, ปีที่ 7-9 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของค่าจ้าง, ปีที่ 10 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7-10 ของค่าจ้าง  โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน กรณีลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว หากลูกจ้างและนายจ้างต้องการส่งเพิ่ม สามารถส่งเพิ่มได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าจ้าง โดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง
    (4) การรับเงินจาก กบช. เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือนเป็นระยะเวลา 20 ปี กรณีเลือกบำเหน็จ ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ลูกจ้างส่งเงินสมทบจากนายจ้าง รวมผลตอบแทนกรณีเลือกบำนาญ แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นบำเหน็จก็สามารถทำได้ เช่น รับบำนาญแล้ว 5 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นบำเหน็จ จะได้รับเงินเท่ากับเงินบำนาญ 15 ปีที่เหลือ กรณีที่ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจนใกล้ถึงแก่ชีวิตก่อนครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อออกจากงานแล้ว จะขอรับเงินสะสม เงินสมทบ บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
    2.ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ..... มีสาระสำคัญเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (คนบ.) มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันระบบบำเหน็จบำนาญทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในการกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน จนเกิดความซ้ำซ้อนทั้งการดำเนินงาน งบประมาณ และบุคลากร สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย 13 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"