บิ๊กตู่เตรียมแผน ดูแลคนเมียนมา ลี้ภัยสู้รบเข้าไทย


เพิ่มเพื่อน    

 

“บิ๊กตู่” สั่งหน่วยมั่นคงเตรียมแผนรับเมียนมาอพยพหนีเข้าไทย ลั่นเดือดร้อนจริงไทยปฏิเสธไม่ได้ “ดอน” เผยอาเซียนซัมมิตจ่อถกปัญหาเมียนมาเม.ย.นี้ 3 กลุ่มชาติพันธุ์รวมพลังต้านรัฐบาลทหาร ยอดเสียชีวิตเกิน 500 รายแล้ว

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ที่เกรงว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะทะลักเข้ามาว่า คงยังไม่ถึงขนาดทะลักเข้ามาในตอนนี้ เท่าที่เห็นจากภาพที่สื่อบางคนเอาออกมาแพร่ จริงๆ แล้วมีการเจรจาพูดคุย หลายคนเข้ามาในหมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนี้ นำร่องเข้ามาก่อน ซึ่งเราได้ถามว่ามีปัญหาอะไรในประเทศของเขาในส่วนที่เขาอยู่ เมื่อเขาบอกว่าไม่มี จึงขอให้กลับไปก่อนได้หรือไม่ ไม่ได้เอาปืนผาหน้าไม้ไปจี้ไล่เขา จับไม้จับมืออวยพรด้วยซ้ำไป นั่นคือมนุษยธรรม หากสถานการณ์มีความรุนแรงขึ้นค่อยแก้กัน เรามีประสบการณ์พวกนี้มาหลายปี มีศูนย์อพยพ 9 ศูนย์ กว่า  4 แสนคน 10-20 ปี วันนี้เหลือเพียงกว่าแสนคน เดิมเคยสัญญาว่าจะเอากลับ แต่เมื่อมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต้องหยุดไว้อีก ขณะเดียวกันของใหม่ต้องเตรียมการให้พร้อม เราต้องดูแล เป็นมนุษยธรรม ประสบการณ์เราเยอะไม่ต้องห่วง ไม่มีการผลักดัน ถ้าเขารบๆ กันอยู่จะผลักดันไปได้อย่างไร แต่ถ้าไม่มีก็กลับไปก่อนได้หรือไม่  
    เมื่อถามว่า ได้มอบนโยบายเจ้าหน้าที่ชายแดนอย่างไร เพราะมีการแจ้งว่ารับนโยบายให้บล็อกผู้ลี้ภัย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เราจำเป็น เพราะเป็นเขตแดนไทย อันดับแรกที่จะเข้ามาจะต้องเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย แต่สถานการณ์สู้รบเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเกิดภัยพิบัติหรือเกิดบาดเจ็บล้มตายเขาอาจจะเข้ามา เราต้องหามาตรการของเรา ตนได้เตรียมเรื่องนี้ไว้แล้ว ซึ่งไม่ผลักดันออกไปถ้าเดือดร้อนจริง และมีการสู้รบเราปฏิเสธไม่ได้ เข้าใจหรือไม่ ดังนั้นจะไปประกาศโครมครามไม่ยินดีรับเข้ามา ไม่ใช่ อย่างไรก็ตามต้องมีการเตรียมแผน ซึ่งสั่งทั้งผู้บัญชาการทหารบก กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไปแล้ว เขามีวิธีการของเขา เรื่องอะไรที่อันตรายอย่าเพิ่งไปกระพือข่าวนักเลย เป็นเรื่องความมั่นคง ส่วนที่ห่วงเรื่องเชื้อโควิดที่จะเข้ามาด้วยนั้น เราได้เตรียมมาตรการไว้แล้ว ทั้งโรงพยาบาลสนามต่างๆ
    ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทยที่ติดกับเมียนมาว่า ในเรื่องรายละเอียดนั้นจะมีการประชุมอาเซียนซัมมิตในช่วงต้นหรือปลายเดือน เม.ย.นี้ ส่วนที่มีผู้ลี้ภัยเข้ามาในไทยนั้น เป็นไปตามที่นายกฯ ชี้แจงว่าหากเดือดร้อนจะดูแลตามหลักมนุษยธรรม แต่หากเลยจุดนั้นแล้วต้องกลับไป เพราะประเทศไทยไม่สามารถรับคนได้มากมาย เพราะทุกประเทศหรือประเทศใดที่มีปัญหาเรื่องผู้หนีภัยเข้ามาต้องได้รับการดูแลในช่วงระยะหนึ่งและต้องกลับบ้านเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ถึงกับตั้งศูนย์ เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ส่วนเรื่องจำนวนต้องไปถามในพื้นที่ แต่ตามหลักการแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาอีกฝั่งหนึ่งอย่างอินเดียก็ปฏิเสธ ซึ่งเป็นปกติของทุกแห่ง ไม่ใช่เฉพาะบริเวณนี้เท่านั้น  
    เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ฝั่งเมียนมาหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า มีอยู่ โดยภายหลังที่ผู้อพยพเข้ามาที่ประเทศไทยได้พูดคุยกันเพื่อหาทางทำให้บ้านเมืองเขาเรียบร้อยโดยเร็ว เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่มีหลายปัจจัยด้วยกันที่ทำให้รุนแรงอย่างที่เป็น เราพยายามบอกเขาว่าต้องลดความรุนแรงหรือลดปัญหาทั้งปวง ซึ่งเขารับทราบ แต่จะทำได้แค่ไหนอยู่ที่สถานการณ์ เอาเป็นว่าเหตุการณ์ในเมียนมาไม่มีใครอยากให้เป็น แต่เมื่อหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับอำนาจ ฐานะของประเทศ หลายๆ อย่างสารพัด ไม่สามารถหยุดได้เร็วอย่างที่คิด นอกจากนี้ ยังได้ประสานไปประเทศบรูไนฯ ในฐานะประธานอาเซียนในหลายเรื่องด้วยกัน รวมถึงการจัดประชุมอาเซียนซัมมิตที่จะเกิดขึ้นด้วย  
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งนี้ ประเด็นหลักจะมีเรื่องอะไรบ้าง และจะกดดันเมียนมาอย่างไร นายดอน กล่าวว่า อันนี้ต้องรอไว้ไปจนถึงจุดนั้น ส่วนเรื่องที่จะคุยนั้นยังพูดตอนนี้ไม่ได้ แต่ประเด็นหลักคือการหาทางทำให้เกิดสันติสุขขึ้นในเมียนมา เรื่องนี้คือหลักใหญ่ให้ปัญหาทั้งมวลคลี่คลายลง และให้อาเซียนกลับมาเป็นภูมิภาคที่สงบสุข เป็นเป้าหมายที่กำลังดำเนินการ  
    นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงกรณีชาวเมียนมาหลบหนีเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ว่า ต้องหารือกับฝ่ายความมั่นคงว่าจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร โดยขณะนี้ท่าทีของกรมอุทยานฯ เราจะควบคุมพื้นที่เอาไว้ก่อน ซึ่งจะมีการดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด-19 และจะมีการกั้นบริเวณไม่ให้มีการกระจายตัวออกไป ทั้งนี้เท่าที่ทราบมีชาวเมียนมาเข้ามาในชายแดนไทยประมาณหลักพัน และควบคุมได้อยู่
    รายงานข่าวแจ้งว่า เจ้าหน้าที่สายตรวจตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ได้ออกตรวจพื้นที่รับผิดชอบรายงานสถานการณ์ชายแดน จากการสำรวจพบว่ามีผู้อพยพหลบหนีภัยสงครามเข้ามา 2,897 คน และเริ่มมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาที่เมียนมาโดยสมัครใจแล้ว 2,352 คน คงเหลือประมาณที่อยู่ในฝั่งไทยประมาณ 545 คน
    มีการเปิดเผยจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) เมื่อวันอังคารว่า การปราบปรามของกองกำลังความมั่นคงเมียนมาในช่วงเวลาเกือบ 2 เดือน ทำให้มีคนเสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 510 คน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตในวันนองเลือดที่สุดเสาร์ที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 141 คน และเมื่อวันจันทร์มีพลเรือนตายเพิ่มอีก 14 คน อย่างน้อย 8 คนโดนฆ่าที่เขตดากองใต้ของย่างกุ้ง
    อีกด้านหนึ่ง ผู้ประท้วงกำลังรณรงค์อารยะขัดขืนด้วยวิธีใหม่ ด้วยการนำขยะมาทิ้งบนพื้นถนนสายหลักๆ ที่พวกเขาเรียกร้องว่าการประท้วงขยะ "การประท้วงขยะคือการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร" ข้อความเชิญชวนทางโซเชียลมีเดียกล่าว
    เมื่อวันจันทร์ หนึ่งในกลุ่มแกนนำการประท้วง คณะกรรมการนัดหยุดงานประท้วงแห่งชาติพันธุ์ เรียกร้องผ่านจดหมายเปิดผนึกต่อกองกำลังชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ ให้ช่วยเหลือผู้ที่ยืนหยัดต่อต้าน "การกดขี่ที่ไม่ยุติธรรม" ของกองทัพ และในวันอังคาร กลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่มออกจดหมายร่วมกันฉบับหนึ่งตอบรับข้อเรียกร้องนี้ โดยเตือนให้กองทัพเมียนมายุติการฆ่าพลเรือนและขอให้หาทางออกทางการเมือง
    ทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา, กองทัพอาระกัน และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง เตือนด้วยว่า หากกองทัพเมียนมายังไม่หยุดฆ่าประชาชน พวกเขาจะร่วมมือกับผู้ประท้วงต่อสู้กับกองทัพ เอเอฟพีอ้างคำเตือนของเด็บบี สต็อตฮาร์ด จากสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (เอฟไอดีเอช) ว่าหากเป็นเช่นนั้น สถานการณ์ในเมียนมาอาจเลวร้ายลงเป็นสงครามกลางเมือง
    ขณะนี้กองทัพเมียนมากำลังสู้รบกับกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ที่ชายแดนฝั่งตะวันออกติดกับประเทศไทย และทางทิศเหนือก็ปะทะกับกองทัพอิสรภาพกะฉิ่น (เคไอเอ) ทั้งสองกลุ่มนี้ต่างสนับสนุนขบวนการต่อต้านรัฐประหาร.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"