จะนิยาม ‘กิจการภายใน’ อย่างไร?


เพิ่มเพื่อน    

    อะไรคือ "กิจการภายใน" ของเมียนมาในกรณีที่กำลังเกิดวิกฤติหลังการรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา

            หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง หากกองทัพส่งคนไปไล่สังหารประชาชนและมีการกระทำที่โหดเหี้ยมทารุณ ยังจะถือว่าเป็น "กิจการภายใน" หรือไม่

            หากเกิดกลียุคในประเทศนั้น จนผู้คนหนีตายหลั่งไหลเข้าประเทศไทย จนมีผลกระทบอย่างกว้างไกลต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความมั่นคงของเรา ยังจะถือว่าเป็น "กิจการภายใน" ของเมียนมาหรือไม่

            หากประชาคมโลกประณามการกระทำของกองทัพเมียนมาในการปราบปรามประชาชนของเขา ไทยเราจะยังถือว่าเป็น "กิจการภายใน" ของเพื่อนบ้านหรือไม่

            และหากมีกรณีที่ประชาคมโลกไม่ยอมร่วมกิจกรรมของกองทัพเมียนมา กองทัพไทยและรัฐบาลไทยเราจะยังคงดำเนินกิจกรรมกับเมียนมาประหนึ่งว่า "ทุกอย่างยังเป็นปกติ" หรือไม่

            กรณีที่ประเทศเราเป็น 1 ใน  8 ประเทศที่ส่งตัวแทนของกองทัพไปร่วมพิธี "วันสถาปนากองทัพเมียนมา" มีคำอธิบายจากกองทัพไทยอย่างไร

            เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่นองเลือดที่สุดตั้งแต่มีการยึดอำนาจเป็นต้นมา

            มีคนถูกสังหารโดยทหารและตำรวจเมียนมาไม่ต่ำกว่า  114 คนในวันเดียว

            ทำให้ตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตชาวเมียนมาตั้งแต่วันรัฐประหารพุ่งขึ้นเกิน 500 คน (นับเฉพาะถึงเมื่อวานนี้)

            รัสเซีย โดดเด่นที่สุดด้วยการส่งรัฐมนตรีช่วยกลาโหม อเล็กซานเดอร์ โฟมินไปร่วม

            นอกนั้นอีก 7 ประเทศส่งระดับผู้ช่วยทูตทหารคือ จีน,  อินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เวียดนาม, ลาว และประเทศไทย

            น่าสังเกตว่าในบรรดาสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ส่งตัวแทนไปร่วมงาน

            ส่วนอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์,  บรูไน (ประธานหมุนเวียนอาเซียนปีนี้) และกัมพูชาไม่ได้ส่งตัวแทนไปร่วม

            การไม่ส่งตัวแทนไปร่วมงานของเมียนมาย่อมเป็นการส่งสัญญาณว่าไม่ยอมรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศนั้น

            ส่วนประเทศที่ส่งตัวแทนไปร่วมย่อมเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาคมโลกเช่นกันว่า ยังยอมรับว่าทุกอย่างในเมียนมายังเป็นภาวะปกติอยู่

            นั่นแปลว่ารัฐบาลไทยเห็นว่าทุกอย่างในเมียนมายังเป็นเรื่องปกติใช่หรือไม่?

            มีคำอธิบายจากกองทัพไทยที่ปรากฏในไทยพีบีเอสว่า:

            ฝ่ายความมั่นคงยอมรับว่า กองทัพไทยเป็น 1 ใน 8  ประเทศ ที่ส่งผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำประเทศเมียนมา เข้าร่วมพิธีสวนสนามในโอกาสครบรอบวันสถาปนากองทัพเมียนมา 27 มีนาคม 2564

            พร้อมย้ำจุดยืนกองทัพ ยึดนโยบายของรัฐบาล ไม่แทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา แต่การร่วมงานวันสถาปนากองทัพเมียนมาเป็นเพียงการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านการทหารของทั้ง 2 ประเทศเท่านั้น

            แม้กองทัพไทยจะเข้าใจถึงความกังวลของนานาชาติ ที่มีต่อสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา แต่ก็ขอให้แยกแยะระหว่างความสัมพันธ์กับสถานการณ์ เพราะหากเกิดปัญหากับเมียนมาอาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ชายแดนไทยได้

            นอกจากนี้ กองทัพไทยย้ำถึงจุดยืนมาตลอดว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวหรือสนับสนุนเหตุการณ์รัฐประหาร เพราะเป็นเรื่องภายในของประเทศเมียนมา อีกทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ย้ำให้กองทัพยึดตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาด้วย

            คำอธิบายของกองทัพบอกว่า การส่งตัวแทนกองทัพไทยไปร่วมกิจกรรมวันนั้นเป็นเรื่องการ "กระชับความสัมพันธ์ทางด้านทหารของสองประเทศเท่านั้น" เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดคำถามตามมาหลายข้อ

            เช่นว่า ความสัมพันธ์ของทหารสองประเทศมีความสำคัญมากกว่าหลักการปฏิบัติตามหลักสากลของกองทัพทั่วไปกระนั้นหรือ

            อีกคำถามหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพของสองประเทศมีความสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ด้านอื่นๆ  ของประเทศเช่นนั้นหรือ

            กองทัพไทยเห็นความสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมาในกรณีนี้สำคัญกว่าความสัมพันธ์กับเพื่อนอาเซียนอื่นๆ ที่ไม่ส่งตัวแทนไปร่วมงานวันกองทัพเมียนมาใช่หรือไม่

            และกองทัพไทยมีจุดยืนอย่างไรเมื่อมีคำแถลงการณ์ร่วมของผู้นำเหล่าทัพ 12 ชาติ ที่ประณามกองทัพเมียนมาในการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐประหาร.

            (พรุ่งนี้: จุดยืนจีน รัสเซียและสหรัฐฯ ต่อวิกฤติเมียนมา)

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"