'ภูพระบาท'ตั้งหลักใหม่ให้ผ่านมรดกโลก


เพิ่มเพื่อน    

หอนางอุสา แหล่งโบราณคดีบนอุทยานฯ ภูพระบาท จ.อุดรธานี 

 

 

 

     กลับมาทำการบ้านหนักอีกครั้งเมื่ออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทต้องจัดทำเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกโลก (Nomination dossier) ฉบับใหม่ หลังจากประเทศไทยใช้เวลาดำเนินการกว่า 10 ปี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จในการทำเอกสารเสนอภูพระบาทเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้

      ย้อนไปภูพระบาทได้รับการประกาศเข้าสู่บัญชีรายชื่อชั่วคราว (Tentative list) ของศูนย์มรดกโลก ยูเนสโก ตั้งแต่ปี 2547 ตามขั้นตอนต้องทำเอกสารนำเสนอ แต่เอกสารก็ถูกส่งกลับมาให้ทำข้อมูลและศึกษาวิจัยเพิ่มเติมให้สมบูรณ์กว่านี้ กระทั่งกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทำเรื่องผ่านคณะรัฐมนตรี แจ้งยูเนสโกถอนรายชื่อภูพระบาทออกจากวาระประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่มีการพิจารณาขึ้นมรดกโลก ณ ตรุกี เมื่อกรกฎาคม พ.ศ.2559

 

อุทยานฯ ภูพระบาท แหล่งโบราณคดีสำคัญของไทย 

 

 

      ด้วยคุณค่าและความสำคัญของอุทยานฯ ภูพระบาท ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ตั้งแต่อดีตจนทุกวันนี้ ทำให้ปฏิบัติการผลักดันอุทยานฯ ขึ้นแท่นมรดกโลกยังเดินต่อ ภูพระบาทเป็นโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในลุ่มน้ำโมงและลุ่มน้ำโขง มีหลักฐานแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์หนาแน่นที่สุดในประเทศไทยถึง 54 แหล่ง จากโบราณสถาน 78 แหล่ง ทั้งวัดโบราณสมัยทวารวดี เขมร และล้านช้าง กระจายอยู่ทั่วบริเวณอุทยานฯ รวมทั้งมีรอยพระพุทธบาทมากถึง 3 รอย ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่า “ภูพระบาท” ส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน

      โบราณสถานพื้นที่  3,430 ไร่ อยู่ในความดูแลรักษาของสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวห้ามพลาดของ จ.อุดรธานี ก่อนโควิดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาบนภูพระบาท ชมร่องรอยมนุษย์โบราณผ่านภาพเขียนสี ใบเสมาโบราณ เพิงหินธรรมชาติ ซึ่งหาชมได้ยาก

      งานขอมรดกโลกของภูพระบาท ขณะนี้มีการอนุรักษ์และพัฒนาเส้นทางชมโบราณสถาน รวมถึงศึกษาวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุที่พบภายในภูพระบาทและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้มีความพร้อมในการเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม

 

 ส่วนจัดแสดงผู้คนกลุ่มแรกบนภูพระบาทในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว   

 

   ล่าสุด เปิดให้บริการศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานฯ ภูพระบาท เพื่อยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานระดับสากล ผลักดันสู่มรดกโลกต่อ อาคารปรับปรุงใหม่ เพิ่มเทคโนโลยีทันสมัย เนื้อหาจัดแสดงหัวข้อพืชพันธุ์บนภูพระบาท, ธรณีวิทยาของภูพระบาทแห่งเทือกเขาภูพาน, ภูพระบาทภูเขาศักดิ์สิทธิ์, พระเกจิแห่งเทือกเขาภูพาน และกลุ่มชาติพันธุ์ไทพวน พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกเมื่อโควิดคลี่คลาย โดยนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วย รมว.วธ. เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. และนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร และนายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าฯ อุดรธานี ร่วมงาน

      การดำเนินงานสู่มรดกโลกของอุทยานฯ ภูพระบาท นายมนตรี ธนภัทรพรชัย หัวหน้าอุทยานฯ ภูพระบาท รายงานว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเตรียมความพร้อมและจัดทำเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกโลกฉบับใหม่ ตั้งแต่ปี 2559 ในแผนได้ดำเนินการโครงการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อกำหนดอายุแหล่งใบเสมาด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่สาธารณประโยชน์หนองเป่ง อ.บ้านผือ โครงการบูรณะเจดีย์ร้างอูปโมงค์ โครงการศึกษาภาพเขียนสี อุทยานฯ ภูพระบาท และความสัมพันธ์กับแหล่งภาพเขียนสีถ้ำข้าวเปลือก โครงการสำรวจและบันทึกข้อมูลแหล่งโบราณคดี อุทยานฯ ภูพระบาท

 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ เยี่ยมชมศูนย์บริการนักท่องเที่ยว พร้อมด้วย ประทีป เพ็งตะโก อธิบดี ศก.

 

      ในช่วงปี 63 มีความเคลื่อนไหวชิงมรดกโลก คณะสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีภูพระบาทและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับจัดทำเอกสารเสนอแหล่งมรดกโลก

      หน.อุทยานฯ ภูพระบาท รายงานว่า จะขุดค้นแหล่งโบราณคดีบนภูพระบาท 3 แหล่ง ได้แก่ วัดลูกเขย ถ้ำวัว และถ้ำคน และแหล่งโบราณคดีโดยรอบอุทยานฯ 3 แหล่ง ได้แก่ แหล่งโบราณคดีวัดหนองป่าเป่ง แหล่งใบเสมาวัดพระพุทธบาทบัวบาน (บวชพระปู๋) และแหล่งใบเสมาโนนศิลา (ดอนธาตุ) เป้าหมายสู่มรดกโลก

      สิ่งสำคัญในการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า จะเน้นหนักงานขุดค้นแหล่งโบราณคดีสำคัญ เพื่อให้เอกสารมีความหนักแน่นมากขึ้น มีการสำรวจด้านโบราณคดีภายในอุทยานฯ และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อค้นหาแหล่งภาพเขียนสีและพื้นที่การใช้งานของมนุษย์ในอดีตแหล่งใหม่ มีการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ แล้วนำมาเปรียบเทียบแหล่งโบราณคดีที่ลักษณะคล้ายคลึงกัน เพื่ออุดช่องโหว่ที่ต้องการหลักฐานทางโบราณคดีให้ได้ ซึ่งการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีในพื้นที่เพื่อรักษามรดกชาติและเสนอขึ้นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

เพิงหินธรรมชาติ ร่องรอยมนุษย์โบราณบนภูพระบาท

 

      บทเรียนจากภูพระบาท อธิบดี ศก.กล่าวว่า ในการจัดทำเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกโลกจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ถูกต้อง และชัดเจนมากขึ้น ปัจจุบันการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโกเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เพราะทั่วโลกมีลิสต์สู่มรดกโลกอยู่มาก      

      “ การถอนรายชื่อภูพระบาทกลับมาก่อนไม่ได้ถือว่าล้มเหลว แต่เราประเมินตัวเองและอยากจะจัดทำเอกสารให้สมบูรณ์มากขึ้น เดิมใช้เกณฑ์มรดกโลก จำนวน 4 ข้อ ข้อที่ 3 ถึงข้อที่ 6 ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเกณฑ์มรดกโลกใหม่ จากทั้งหมด 10 ข้อ ต้องดูว่าเกณฑ์ไหนใช่มากที่สุด ที่ผ่านมาคณะทำงานฯ เลือกหลายข้อ เวลาเขียนเอกสารทำให้อธิบายลำบาก รายงานฉบับใหม่จะเอาให้ชัดที่สุด มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ใช้ข้อเดียวก็พอแล้ว" นายประทีปกล่าว

      สำหรับคิวการเสนอภูพระบาทขึ้นมรดกโลกต้องใช้เวลา อธิบดี ศก.บอกว่า กลางปีนี้ยูเนสโกจะพิจารณาแก่งกระจาน แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของไทย ปีต่อไปมีเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่จ่อคิวอยู่ เราเตรียมเอกสารแล้ว มีการปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติม แล้วยังมีกลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด จ.บุรีรัมย์ ศก.ศึกษา ค้นคว้า ขุดค้นแหล่งโบราณคดีเพิ่มเติม เพื่อทำเอกสารให้แสดงคุณค่าของแหล่งมรดกวัฒนธรรมนี้อย่างเด่นชัด ส่วนการเสนอมรดกโลกของไทย ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และนครพนม ทางจังหวัดจะเป็นหลักดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่วนภูพระบาทจะเสนอสู่มรดกโลกลำดับต่อไปเมื่อมีความพร้อม

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"