ดูพม่าจากภาษาข่าวไทย


เพิ่มเพื่อน    

     เห็นนักข่าวสัมภาษณ์ "นายกฯ ประยุทธ์" เกี่ยวกับเรื่องในพม่า ทำให้นึกย้อนสมัยผมเป็นนักข่าว

 

                ต้องบอกว่า "ขนลุก" และยอมแพ้ ชนิดศิโรราบครับ

                คือผมมันเกรด "นักข่าวโรงพัก"

            อยู่กับศพ อยู่กับโจร และการเดินขบวน ไม่ถึงระดับได้ไปสัมภาษณ์นายกฯ หรือนักการเมือง
            แต่ใช่ว่าไม่เคยซะทีเดียว

            มีอยู่ครั้ง ตอนกลางคืน นักข่าวการเมืองกลับวิมานหมดแล้ว นักข่าวเหลือเดนเลยถูกโบ้ยให้ไปดักสัมภาษณ์ "นายกฯ คึกฤทธิ์" ที่สนามบินดอนเมือง

            ตอนนั้น ทุกปัญหา ทั้งการบ้าน-การเมือง กำลังเขม็งเกลียว หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ มีร้อยประเด็นอยากได้คำตอบจากปากนายกฯ "รัฐบาล ๑๘ เสียง"

            สุดท้าย รัฐบาล "หม่อมน้อง" ก็ต้องยุบสภา

            จากนั้น ก็ตามมาด้วยเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ ในรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่ชนะเลือกตั้ง "ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช" หม่อมพี่ขึ้นเป็นนายกฯ คนต่อมา

            นี่ไม่ใช่ประเด็นคุยวันนี้....

            หากแต่เอ่ยถึงการสัมภาษณ์แล้วมันแฉลบไปเท่านั้น       ที่จะคุยคือ ดูข่าวโทรทัศน์ เห็นนักข่าวสัมภาษณ์นายกฯ ประยุทธ์เมื่อวาน (๒๙ มี.ค.๖๔) เห็นเขาเค้นอยู่ ๒  ประเด็น

            ๑.ไทยมีนโยบายอย่างไร กับคนอพยพที่หนีการสู้รบในพม่าข้ามแดนเข้ามาไทย

            จะตั้งค่ายรับผู้ลี้ภัยมั้ย?

            ๒.ทำไมไทยจึงเข้าร่วมงานพิธีสวนสนามในโอกาสครบรอบวันสถาปนา ๗๖ ปี ของกองทัพเมียนมา เมื่อ ๒๗  มีนา?

            สหรัฐฯ, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, แคนาดา, เยอรมนี, กรีซ, อิตาลี, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์

            เขารุมประณาม ไม่ยอมรับรัฐบาลทหารพม่า

            แล้วทำไมไทยจึงไปร่วมพิธีสวนสนามกับเขา มีแค่ ๗  ประเทศเท่านั้นที่ไปร่วม รัสเซีย, จีน, อินเดีย, ปากีสถาน,  บังกลาเทศ, เวียดนาม, ลาว

            และไทย ไปเป็นประเทศที่ ๘

            หมายความว่า ไทยสนับสนุนทหารรัฐบาลพม่าอย่างนั้นใช่ไหม?

            ฟังน้ำเสียงการเค้นถาม ไม่น่าเป็นการสัมภาษณ์ น่าจะเป็นการสอบสวนผู้ต้องหามากกว่า!

            ประเด็นไทยส่งผู้ช่วยทูตทหารประจำเมืองย่างกุ้งไปร่วมพิธีสวนสนามนั้น

            ผมเห็นโทรทัศน์ อย่างน้อย ๒ ช่อง หยิบมาขยี้ ทำนองว่าไทยพลาดอย่างแรง ที่รับเชิญไปงานสวนสนาม

            แล้วสรุปทำนอง ไทยไปเอากับรัฐบาลทหารพม่าแล้ว

            ไม่เอารัฐบาลพลัดถิ่นของนางอองซาน ซูจี แล้ว

            ในขณะที่ค่ายใหญ่ "สหรัฐฯ-ยุโรป-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้" เอากับรัฐบาลพลัดถิ่นนางอองซาน

            สื่อโทรทัศน์ ๒-๓ ช่องนั้น เสนอทำนองรัฐบาลผิดพลาดให้ความเห็นเชิงตำหนิ ที่ไทยไม่เดิน "ตามหลัง" จักรวรรดินิยมอำนาจตะวันตก เหมือนที่ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้เดิน

            แล้วมาเมื่อวาน....

            นักข่าวทำเนียบ ก็รุมถามนายกฯ ประเด็นนี้ ให้โทนไปทางว่า ไทยอยู่ข้างนางอองซานถึงใช่ ถ้าไปทางรัฐบาลทหาร ไม่ใช่

            ผมสังเกต นายกฯ พยายามข่มอารมณ์ในการตอบมากทีเดียว เพราะเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาซักไซ้ และมาตอบอะไรกันประเจิด-ประเจ้อ ในที่สาธารณะ

            เรื่องระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านชานเรือนติดกัน เหมือนเขยื้อนภูเขาไม้ขีดที่ก่ายกันไว้ทีละก้าน

            มันต้องมีศิลปะ มองทะลุต้น-ปลายของการกอดก่ายแต่ละก้าน เพราะเมื่อมีสถานการณ์สั่นไหว มันไม่ขึ้นอยู่กับ "เอาเขา-เอาใคร"

            หากแต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะบริหารแรงสั่นไหวที่ส่งถึงไม้ขีดก้านประเทศไทยอย่างใด

            โดย "รักษาสมดุล" ทั้งภูเขาไม้ขีดไม่พัง ทั้งเราไม่ต้องแบกน้ำหนักแต่ละก้านที่ก่ายโดยตรง

            มันละเอียดอ่อนมาก ไม่ใช่เรื่องที่จะมาพล่ามด้วยความรู้สึกอันปราศจากการตรึกตรองและการมองรอบด้าน

            พลาดนิดเดียว "พังทั้งประเทศ"!

            บางเรื่อง-บางประเด็น ที่เป็นผิวนอก มันก็ถามได้ พูดได้ หอมปาก-หอมคอ พอเป็นกระสายข่าว

            แต่ลึกถึงเนื้อใน โดยมรรยาท โดยสำนึก "ประเทศชาติต้องมาก่อน" นักข่าวสมัยก่อน เขาจะไม่จิกถาม เชิงคาดคั้นและจี้ลึก 

            บางเรื่อง เปิดโปกลางบ่อนได้

            กับบางเรื่อง มันต้องใช้เทคนิค "แลบถ้วย" ในการหาข่าว ที่เรียกกันว่า "ข่าวสีฟ"

            มีอะไรเกิดขึ้น ตัวเองต้องรับผิดชอบ

            ส่วน "แหล่งข่าว" ต้องปกปิดเขาไว้เท่าชีวิต

            จะทำเหมือน "๑ ข่าว ๑๐๐ ก๊อปปี้" ส่งทั่วทุกโรงพิมพ์ ทุกสำนักข่าว อย่างที่ทำกันทุกวันนี้ไม่ได้

            สรุป คือ ในการนำเสนอ นอกจากต้องรับผิดชอบตัวเองแล้ว ตัวเองก็ต้องรับผิดชอบประเทศชาติอันเป็นส่วนรวมด้วย

            "ข่าว" กับ "ข้าว" ในอาชีพนักข่าว

            "ข่าวต้องมาก่อนข้าว"

            "ประเทศชาติ" กับ "ข่าว" ในสำนึกแห่งความรับผิดชอบนักข่าว

            "ขายข่าว" ต้องมาทีหลัง

            "ประเทศชาติ" ต้องมาก่อน!

            การเป็นนักข่าวที่ดีนั้น ไม่ใช่กระหืดกระหอบเอาไมค์จ่อปากนายกฯ หรือถามแบบกำปั้นทุบดิน "เรื่องนี้ท่านว่าอย่างไรครับ...คะ"

            แสดงว่าไม่เคยทำการบ้านในเรื่องนั้นๆ ไม่เคยศึกษาในเรื่องนั้นๆ มาก่อนเลย

            จึงไม่มีความเป็นตัวของตัวเองที่เรียกว่า "ศักดิ์ศรีนักข่าว-ศักดิ์ศรีสำนัก" ที่ตัวเองสังกัดในการตั้งประเด็นถาม

            สมัยก่อน ไทยอยู่ในแอ่งตีนอเมริกัน

            ต่างประเทศไม่มีความจำเป็นต้องส่งนักข่าวมาคอยซักถามรัฐบาล อย่างที่กลุ่มทุน-กลุ่มธุรกิจการเมือง ส่งประเด็นยัดปากนักข่าวประเทศเขา ให้จี้ถามแทนอย่างทุกวันนี้

            ฉะนั้น รู้ไว้เถอะ อะไรที่รัฐบาลทำ แต่ไม่สนองประโยชน์จักรวรรดินิยมตะวันตก ประเด็นด้วยทัศนคติปฏิปักษ์รัฐบาล

            จะเกิดเป็น "ประเด็นนำ" ในการรุมสัมภาษณ์ทันที

            ปะหน้านายกฯ พวก "ไร้การบ้าน" จะจ่อไมค์ทันที

            "ท่านคะ...เรื่องนี้ ข่าวรอยเตอร์ ข่าวเอพี ข่าวเอเอฟพี  ข่าวต่างประเทศสำนักนั้น-สำนักนี้ เขาว่าอย่างนี้ ท่านจะว่ายังไงคะ?"

            ก็จะว่าไง ในเมื่อฝังทัศนคติ ฝรั่ง-ต่างชาติ พูดอะไรก็ถูก-ก็ใช่หมด ถามแบบ "เชือดชาติ-บูชาทุน" จะให้ตอบเพื่ออะไร?

            อย่างประเทศพม่านั้น ถามกันตรงๆ เราศึกษาถึงความเป็นมา-เป็นไปที่ก่อเกิดเป็น "ลักษณะสังคม" ด้วยชาติพันธุ์ซับซ้อนแล้วยังซ่อนเงื่อนจากการแทรกซึมของกลุ่มทุนตะวันตกได้ดีขนาดไหน?

            ฉะนั้น จะมาตอบปัญหาที่เกิดขณะนี้แค่ว่า จะเอารัฐบาลซูจีหรือเอารัฐบาลทหารไม่ได้หรอก มันบ้องตื้นเกินไป

            ทำไมเราไม่เดินตาม ๑๒ ประเทศ ประณามพม่างั้นหรือ?

            แล้วรู้มั้ย ๑๒ ประเทศเขาอยู่ไหน โน่น...พวกกลุ่มนาโต "ยุโรป-สหรัฐฯ" ห่างจากพม่าคนละซีกโลก

            ส่วนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นเอเชีย ก็ใช่ แต่ทั้งสองประเทศ เรียนประวัติศาสตร์กันหรือเปล่าล่ะ

            เขาเป็นประเทศทำนอง "ปฏิกรรมสงคราม" รู้จักมั้ย?

            แล้วดูประเทศที่รับเชิญกองทัพพม่าไปร่วมงานสวนสนาม นอกจากรัสเซีย ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้อยู่แล้ว

            ก็มี จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เวียดนาม, ลาว และไทยเรา

            จะเห็นว่า เป็นประเทศเพื่อนบ้าน "หัวกระไดชนกัน" กับพม่า "ศัตรูแดนไกล" ไม่มีความหมายเท่า "มิตรแดนใกล้" เข้าใจไหม?

            จะอองซาน ซูจี เป็นรัฐบาล หรือ พลเอก มิน อ่อง  หล่าย เป็นรัฐบาล

            "กองทัพทหารพม่า" ก็คือ "กองทัพประเทศพม่า"

            จะซูจีหรือมิน อ่อง หล่าย "แค่สมมุติการเมือง" มาแล้วก็ไป-ไปแล้วก็มา

            แต่กองทัพพม่า ไม่ว่าใครไป-ใครมา กองทัพพม่า "อยู่ถาวร" รักษาประเทศ

            แล้วเราจะไปเป็นกระพรวนตีนให้พวกตะวันตกโดยไม่แยกแยะความหนัก-เบาเพื่ออะไร?

            รัฐบาล-กระทรวงต่างประเทศ "วางน้ำหนัก" เรื่องพม่าได้ถูกต้องแล้ว นักข่าวก็อย่าตั้งทัศนคติในการทำข่าวพม่าชนิดให้น้ำหนักไปทางใด-ทางหนึ่ง

            ซึ่งถ้าหนักไปทางใด ไทยเรามีแต่ "เสียสมดุล" ทั้งขึ้น-ทั้งล่อง

            นักข่าวสมัยนี้ รู้แต่คำว่า "ค่ายอพยพ-ค่ายผู้ลี้ภัย" เอะอะก็บ้ามนุษยธรรม จะให้ตั้งค่ายตะพึด

            ถ้าเห็นค่ายอพยพในไทยตอนสงครามเวียดนาม "โลกสวย" จะหายไป

            ตั้งค่ายอพยพวันไหน วันนั้น คือวันที่ประเทศไทย "เสียบูรณภาพแห่งดินแดน" กลายๆ

            "สหประชาชาติ" เข้ามาบงการก่อนทันที

            แล้วแน่หรือว่า "กองกำลังสหประชาติ" จะไม่ตามมาและใช้ไทยเป็นฐานหรือทางผ่านไปพม่า

            และนั่น เราไม่มีมิตรถาวร ทั้งซูจี ทั้งมิน อ่อง หล่าย

            แต่มี "กองทัพพม่า" เป็นศัตรูถาวร

                หรือนักข่าวชอบ จะได้ออกแนวหน้าไปหาข่าว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"