เลือกตั้งเทศบาล แก้มือไม่สำเร็จ ยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด 'ธนาธร-คณะก้าวหน้า'


เพิ่มเพื่อน    

   ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ "เทศบาล" ทั้งการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,472 แห่งทั่วประเทศ รวม 33,666 ตำแหน่ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา

            พบว่าหลายพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเทศบาลจากคนเดิมเป็นคนใหม่ โดยเฉพาะ "นายกเทศมนตรีเทศบาลนคร" เช่น นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ที่  พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี อดีต ผบช.ท่องเที่ยว ค่ายพรรคประชาธิปัตย์ ที่เอาชนะไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ อดีต ส.ส.สงขลา ประชาธิปัตย์ ที่ตอนหลังไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ไปแบบม้วนเดียวจบ

            อย่างไรก็ตาม ผลเลือกตั้งที่ออกมา กลุ่มที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคงไม่พ้น "คณะก้าวหน้า" ของสามคีย์แมนหลักอดีตพรรคอนาคตใหม่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล-ช่อ พรรณิการ์ วานิช" ที่หลังจากล้มเหลวในศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ปลายปีที่แล้ว ที่ส่งคนลงชิงนายก อบจ. 42 จังหวัด แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งสักคนเดียว มารอบนี้ คณะก้าวหน้าก็หมายมั่นปั้นมือจะแก้มือ ปักธงท้องถิ่นในระดับเทศบาลให้ได้ในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อหวังผลการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นในระยะยาว

            ซึ่งผลเลือกตั้งกับคะแนนที่ออกมาอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม "เฟซบุ๊กเพจคณะก้าวหน้า" ให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการว่า

            “4 ปีนับจากนี้ เราจะทำเต็มที่ เพื่อพิสูจน์ว่าผู้บริหารท้องถิ่น สามารถสร้างอนาคตใหม่ให้กับประชาชนได้ คณะก้าวหน้าขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงจากประชาชน ที่ออกมาเลือกทีมเทศบาลคณะก้าวหน้าทั่วประเทศ ปลายปากกาของท่านได้เปิดโอกาสให้นักการเมืองที่มีความตั้งใจ มีวิสัยทัศน์ ได้เข้าไปใช้ความสามารถพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองในกว่า 10 ท้องถิ่น

                4 ปีนับจากนี้ เราจะทำงานอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ว่าผู้บริหารท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างอนาคตใหม่ที่ดีกว่า ก้าวหน้ากว่า ให้กับพื้นที่ของตัวเองได้ เราจะเร่งทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้โดยเร็วที่สุด โดยอยู่บนหลักการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และประชาชนมีส่วนร่วมกับการบริหารท้องถิ่นในทุกมิติ 4 ปีนับจากนี้ คณะก้าวหน้าจะทำเต็มที่ เพื่อบ้านของเราทุกคน”

            ขณะที่มีรายงานตามสื่อมวลชนว่า การเลือกตั้งเทศบาลรอบนี้ คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัครนายกเทศมนตรีทั้งประเทศ ประมาณกว่า 100 แห่ง แยกเป็นนายกเทศมนตรีนคร 11 แห่ง, นายกเทศมนตรีเมือง 25 แห่ง และนายกเทศมนตรีตำบล 69 แห่ง

            เบื้องต้นคณะก้าวหน้าได้เก้าอี้ระดับเทศบาลมาคือ นายกเทศมนตรีตำบล 12 แห่ง แยกเป็น ลำพูน 1 แห่ง,ร้อยเอ็ด 3 แห่ง, หนองบัวลำภู 3 แห่ง, อุดรธานี 2 แห่ง, มุกดาหาร 2 แห่ง, สมุทรปราการ 1 แห่ง

            ทั้งนี้ หากเทียบจำนวนที่คณะก้าวหน้าชนะในสนามเลือกตั้งเทศบาล กับพื้นที่เลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศ ต้องถือว่ารอบนี้คณะก้าวหน้ายังแก้มือไม่สำเร็จ ผลที่ออกมาถูกวิเคราะห์ว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในการปักธงท้องถิ่นอย่างที่แกนนำเคยประกาศไว้ ทั้งที่คณะก้าวหน้าเป็นกลุ่มการเมืองระดับชาติที่ลงมาแข่งในสนามท้องถิ่นอย่างเต็มตัว

            ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า-นักวิชาการที่ติดตามเรื่องการเมืองการเลือกตั้งท้องถิ่นมาต่อเนื่อง มองผลการเลือกตั้งระดับเทศบาลทั่วประเทศที่ออกมาว่า คณะก้าวหน้าปูทางตัวเองในสนามท้องถิ่นมาจากความสำเร็จในระดับชาติ (พรรคอนาคตใหม่) เลยทำให้คณะก้าวหน้ามีความฮึกเหิม ลงมาเล่นสนามเลือกตั้งท้องถิ่นแบบเล่นใหญ่และคาดหวังสูง โดยวางน้ำหนักไว้ที่ อบจ.มากที่สุด เห็นได้จากการส่งคนลงชิงนายก อบจ.ร่วม 42 จังหวัด รวมถึงการส่งคนลงชิงสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอีกจำนวนมาก ซึ่งเมื่อไปเน้นสนาม อบจ.ในตอนแรก เลยทำให้คณะก้าวหน้ามองข้ามความสำคัญของสนามเทศบาลไป ซึ่งจริงๆ โดยศักยภาพของคณะก้าวหน้า เหมาะที่จะไปเล่นสนามเทศบาลมากกว่า อบจ. ในแง่ที่เป็นกลุ่มการเมืองที่เน้นคนรุ่นใหม่ เน้นฐานเสียงที่เป็นอิสระในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับผู้นำท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ไม่ต้องพึ่งพาการอุปภัมภ์ภายในจังหวัด ซึ่งสนามเทศบาลจะเหมาะกับคณะก้าวหน้ามากกว่าสนาม อบจ. เพราะอย่างไอเดียการหาเสียงตอนคณะก้าวหน้าใช้หาเสียงเลือกตั้ง อบจ. หลายเรื่องใช้ได้ดีกับเทศบาลไม่ใช่ใช้กับ อบจ. เพราะสิ่งที่คณะก้าวหน้าหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง อบจ. ในความเป็นจริงแล้ว อบจ.ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่คณะก้าวหน้าหาเสียง แต่เป็นการเมืองในระดับเทศบาลที่จะทำ

            “ดร.สติธร” กล่าวต่อไปว่า อย่างเรื่องงบประมาณ  เทศบาลมีงบเยอะกว่า อบจ. และเป็นงบพัฒนาทั้งสิ้นเช่น  เทศบาลนครนนทบุรี มีงบถึง 2,600 ล้านบาท ที่ท้องถิ่น สามารถนำงบไปพัฒนาในพื้นที่ เช่น การทำโครงการหรืองานด้านบริการประชาชนได้มากมาย เมื่อคณะก้าวหน้าไปเทน้ำหนักไว้ที่ อบจ. ทำให้พอมาถึงสนามเทศบาลเลยดูดาวน์ลง ไอเดียต่างๆ ก็ปล่อยออกไปหมดแล้วตอน อบจ.แล้วก็ failed ล้มเหลว แทนที่คณะก้าวหน้าจะเก็บไอเดียเหล่านั้นมาใช้ตอนเลือกตั้งเทศบาล ที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

            "พอคณะก้าวหน้าวางแผนมาผิด ก็ต้องรับสภาพไป ทั้งที่สนามเทศบาลโอกาสดีกว่า อบจ. คณะก้าวหน้าควรจับสนามเทศบาลไว้แต่แรกมากกว่า ไม่ควรไปมองสนาม อบจ.ที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับเขา เพราะขายังไม่แข็งพอ เขาก็ต้องไปทบทวนอีกเยอะ การเมืองรอบนี้ตั้งแต่ระดับชาติไล่ลงมา ก็สอนอะไรกลุ่มเขาเยอะ" นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าระบุ

            "ดร.สติธร" กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมการเลือกตั้งเทศบาลที่ผ่านพ้นไป พบว่าเกิดการเขย่าของการเมืองในพื้นที่เลือกตั้งกันมาก หลายแห่งเกิดการเปลี่ยนแปลง คนที่เคยชนะเลือกตั้งรอบที่แล้วที่เป็นแชมป์เก่า พบว่ารอบนี้ผลเลือกตั้งออกมาก็โดนล้มทำให้แพ้เลือกตั้ง แต่ไม่ได้ล้มโดยกลุ่มใหม่ๆ อย่างคณะก้าวหน้าไปล้มคนเก่า แต่ถูกล้มแชมป์โดยกลุ่มการเมืองเดิมๆ กันเองในพื้นที่ เช่น คนที่เคยอยู่ทีมเดียวกันแล้วเลือกตั้งรอบนี้แยกตัวออกมาแข่งกันเอง นอกจากนี้ก็พบการผสมผสานในทีมเลือกตั้งระดับเทศบาล ที่มีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาในสนามเทศบาล ที่ไปล้มทีมเดิมๆ ในพื้นที่ได้เพราะคนเหล่านี้ไปสร้างการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ๆ ในพื้นที่ เช่น นักธุรกิจ ผู้ประกอบรุ่นใหม่ นักเคลื่อนไหว นักพัฒนารุ่นใหม่ในจังหวัด ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวเมื่อไปสนับสนุนกลุ่มการเมืองใหม่ๆ ที่ลงเลือกตั้งในท้องถิ่น จะทำให้กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนมีพลังในพื้นที่ เพราะเป็นกลุ่มที่มีการสร้างเครือข่ายผู้คนในพื้นที่ได้จำนวนมากพอสมควร เลยทำให้มีพลังไปล้มยักษ์ในพื้นที่ได้ ส่วนนักการเมืองระดับเทศบาลที่ยังชนะเลือกตั้งรอบนี้ที่หลายคนอยู่มาหลายสมัยเป็นคนรุ่นเก่า ก็พบว่าส่วนใหญ่ต่างก็มีการปรับตัว ปรับโฉมตัวเองให้ดูทันสมัยมากขึ้น เอาคนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในทีมผู้บริหารเทศบาล จึงทำให้ยังอยู่ได้จนได้รับเลือกตั้ง พูดง่ายๆ ใครปรับตัวได้ดีกว่า ก็มีโอกาสชนะในสนามเทศบาลที่ผ่านไป

                ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นล็อตต่อไป ก็คือการเลือกตั้งระดับ "องค์การบริหารส่วนตำบล"  (อบต.) ที่ก็จะมีความเข้มข้นระดับหนึ่งในพื้นที่ เพราะก่อนหน้านี้ ในยุค คสช. มีการแก้ไข พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฉบับแก้ไขใหม่ พ.ศ.2562 ที่ลดจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือ ส.อบต. จากหมู่บ้านละสองคนให้เหลือหมู่บ้านละหนึ่งคน ทำให้การหาเสียงการแข่งขันจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพราะจากเดิมที่เคยเลือกได้สองคน แต่ต่อจากนี้ไปจะเลือกได้แค่หนึ่งคน ขณะที่นายก อบต.ก็ยังเหลือตำบลละหนึ่งคนเหมือนเดิม ก็จะมีประมาณ 6,000-7,000 ตำแหน่งโดยประมาณ จากนั้นก็จะปิดท้ายด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นล็อตสุดท้ายสำหรับการเมืองท้องถิ่น

            จบจากสนามเลือกตั้งเทศบาลแล้ว สนามเลือกตั้งท้องถิ่นล็อตต่อไป ก็คือการเลือกในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล และปิดท้ายที่การเลือกผู้ว่าฯ กทม.และนายกเมืองพัทยา ที่ทั้งหมดจะได้หย่อนบัตรเลือกตั้งกันทุกสนามภายในปีนี้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"