28 มี.ค.64-คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) จัดเสวนาหัวข้อ "ชำแหละ 7 ปี พล.อ.ประยุทธ์ พาชาติติดหล่ม?" ที่อนุสรณ์สถาน14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ โดยมีวิทยากร รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. และอาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว. พ.ต.อ. วิรุฒน์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) รศ. ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร จากคณะรัฐประศาสนศาสตร์(นิด้า) นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
รศ.ดร.พิชาย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ครองอำนาจมา7 ปีอาจเรียกว่าติดหล่มน้อยไป เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ทำการเมืองย้อนยุคก่อนปี 40 และ ไกลไปถึงยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ โดยโครงสร้าง ที่เหมือนกันคือ ส.ว. คือให้อำนาจเลือกนายกฯ เหมือน รธน. 2521 กลับมาที่รัฐบาลนี้เรียกว่าระบอบ 3ป. ที่บริหารอำนาจเรียกว่าคณาธิปไตย บริหารเป็นไปตามความปรารถนา ของ 3 ป. ทำให้เป็นปรารถนาของประเทศ ทำให้ความปรารถนาของคนอื่นๆหมดสิ้นไป และ การทำให้ 3 ป. สมปรารถนา ก็คือกลไก ส.ว. และ มีพรรคสไตล์มาเฟีย มีลูกพี่ดูแลลูกน้องที่เป็น ส.ส. และ ใช้เงินทุนขับเคลื่อนโดยปราศจาก อุดมการณ์ทางการเมือง เช่นการตั้งครม.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีศึกษาธิการก็มาจากกลุ่มการเมืองไม่ได้มาจากความรู้ด้านการศึกษา อีกคนที่เป็น รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจละสังคม (ดีอีเอส) เป็นตัวแทนกลุ่มทุนพลังงานยุคใหม่ จบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้จบจากราชภัฏ แต่ก็ไม่เกี่ยวกับความรู้ในกระทรวงดีอีเอส
อีกทั้งยังย้อนยุคเป็นการเมืองแบ่งขั้ว ที่รุนแรง ทำลายความเป็นมนุษย์ เกิดจากการบริหารที่ไม่ยอมแก้อะไรเลยในช่วงที่มีอำนาจ ทำให้เกิดความแตกแยกความคิดลงไปร้าวลึกยิ่งกว่าครั้งไหนๆ และ มีแนวโน้มจะรุนแรง เพราะการปิดกั้นเสรีภาพแกนนำ จู่โจมจับผู้ชุมนุม ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการเมืองแบบมาเฟีย และ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล นำความรู้สึก นำข้อมูล ไม่ให้ความเคารพความเป็นมนุษย์ และ ยังมีการตั้งข้อสังเกต สนับสนุนรัฐบาลพม่าอีกใช่หรือไม่ สะท้อนจิตสำนึกเดียวกับรัฐบาลทหารพม่า ไม่แคร์สายตานานาชาติ
"สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งกว่าระบบทักษิณ เพราะระบอบประยุทธ์เรียกว่าระบบสมบูรณ์แบบเข้มข้นกว่าระบบสภาเผด็จการ อะไรที่ถูกเสนอมาในสภา หรือ กฎหมายที่เกิดจากประชาชน ฝ่ายค้านก็ถูกตีตกปิดโอกาสเสียงที่แตกต่าง ไม่เปิดพื้นที่ความคิดเห็นความเห็นต่าง และ ล่าสุดร่างรธน. ก็ไม่ประสงค์ให้แก้ไขเพราะ รธน. ปัจจุบันเอื้อประโยชน์กับระบอบ 3 ป. ที่เปรียบเป็นจระเข้ขวางคลอง หรือ เป็นเรือขวางคลองซุเอซ ที่แก้ไขไม่ได้ ซึ่งระบอบ 3 ป. นำไปสู่การเมืองสิ้นหวังจมลงไปสู่ทะเลไปเรื่อยๆ ภารกิจภาคประชาชนที่ยังมีความหวังกับการเมืองมีความจำเป็นหาหนทางให้ ระบอบ 3 ป.สิ้นอำนาจ และ ออกไปให้เร็วที่สุด"
ส่วนรศ. ดร.วิวัฒน์ชัยกล่าวว่า ในทางวิชาการรัฐบาลประยุทธ์บริหารเศรษฐกิจผิดพลาด ไม่มีความรู้ ใกล้ถึงจุดจนตรอกเป็นไพ่ใกล้หมดสำรับนับถอยหลังอายุของรัฐบาลได้เลย เพราะก่อหนี้สินเยอะแยะจากการกู้ และมากกว่านายกฯคนอื่น 18 เท่าตัว จากการบริหาร 7 ปี ทำให้เศรษฐกิจยากจะฟื้นตัว ติดหล่ม จมลึก โดยผลประโยชน์ไปอยู่กับนายทุนผูกขาด และเจ้าสัว ไม่เห็นหัวคนชั้นล่าง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
นายกษิต กล่าวว่า 7 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ ทำ 2เรื่องคือ 1.เมกะโปรเจคต่างๆ แต่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างงาน เช่นโครงการอีอีซี ยังไม่มีผลงาน และ มอบโครงการให้แก่ 2-3 ครอบครัว โดยไม่ประกวดราคา และ 2. เอาภาษีไปใส่โครงการประชานิยม ไม่นำไปสู่การสร้างงาน แต่หวังผลทางการเมือง และทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น มหาศาล จะบอกให้พล.อ.ประยุทธ์ หรือ 3 ป.ให้เปลี่ยนใจคงเป็นไปไม่ได้ แต่ขอให้ประชาชนชั้นกลาง และ ชั้นสูงตั้งสติ และสื่อมวลชนบางส่วน เลิกงมงายระบอบประยุทธ์นิยม และ เลิกสนับสนุนยุติปกป้อง โดยออกมา ไล่ระบบประยุทธ์ออกไป และ หันมาสร้างบ้านเมืองได้แล้ว
"ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรหนทางเดียวคือทำเหมือนสมัยพ่อขุนรามคำแหงให้ประชาชนถวายฎีกา นำความคิดเห็นของพวกเราสร้างรัฐสยามใหม่ ทำให้ ประเทศเป็นประชาธิปไตย เที่ยงธรรมในสังคม และ ประชาชนทั้งหมด60 ล้านกว่าคน มีส่วนร่วม มิใช่ผูกขาดจากกลุ่มคนไม่กี่คนอย่างทุกวันนี้ "
น.ส.รสนา กล่าวว่า ปัจจุบันการเมืองผูกขาดโดยทหาร ทั้งรัฐสภา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรตามรธน.ทั้งหลาย ไม่เห็นการถ่วงดุล และ 7 ปีรัฐบาลกลับทุ่มงบประมาณให้กลุ่มทุนผูกขาดไม่กี่ตระกูล มีการหากิน ระหว่าง รัฐทหาร ตำรวจ ทุนผูกขาด นักการเมือง และ กลไกตรวจสอบทำไม่ได้ เช่น นาฬิกายืมเพื่อน แต่ ป.ป.ช. และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการตรวจสอบจริงหรือไม่ ก็ยังไม่มีการริบนาฬิกา หรือ มีความผิดอะไร ซึ่งตนกำลังติดตามเรื่องนี้
ยังมีกรณีบอส นายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับชนตำรวจตาย ก็ไม่สามารถเอาคนผิดได้ และ มีหลักฐานคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงความเร็วอีกด้วย หรือการเอื้อให้ทุนพลังงาน โดยไม่ยอมลดราคาให้ประชาชน หรือ ประเคนโครงการรถไฟฟ้าให้เจ้าสัว ทำให้ค่าโดยสารราคาแพง ซึ่งอย่างในต่างประเทศจะคิดราคาไม่เกินร้อยละ10 ของค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนี้ยังออกร่างกฎหมายมัดตราสังภาคประชาสังคม จะต้องไปขออนุญาตทำกิจกรรมแก่กระทรวงมหาดไทย ที่ทำลายการตรวจสอบ และ ขอให้ยกเลิกร่างกฎหมายฉบับนี้
พ.ต.อ.วิรุฒน์ กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไทย ก่อนปี 2557 ก็สร้างความเดือดร้อนอยู่แล้ว เพราะตำรวจเป็นเนื้อเดียวกับกระบวนการยุติธรรม และหวังว่าการยึดอำนาจ ตั้งแต่ปี 2557 จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่บัดนี้ยังมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม เป็นแต่การเล่นเกม ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด อย่างเช่นร่างกฎหมายของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ก็ปฏิรูปที่แท้จริง แต่ นายกฯ ก็ไม่นำเข้าพิจารณาไปไม่ถึง เพราะถูกตำรวจเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมาย ตัดสาระสำคัญต่างๆ จนกลายเป็นร่างพ.ร.บ.ตำรวจฉบับลักไก่
นายบุญแทน กล่าวว่า ตั้งข้อสังเกตเรื่องการขนข้าวให้พม่า อาจถูกมองสมคบคิดกับรัฐบาลพม่าที่ฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยม 450 กว่าศพ อาจถูกโจมตีจากนานาชาติ ร่วมกันละเมิดสิทธิมนุษยชน แตกต่างจาก รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมัยเป็นนายกฯ ยังเคยประณามรัฐบาลพม่า ที่ใช้ความรุนแรงแก่ประชาชน ทั้งที่เป็นผู้นำจากรัฐประหารเช่นกัน
" ที่ผ่านมาสิทธิมนุษยชนรัฐบาลนี้ไม่เคยใส่ใจ รัฐบาลประยุทธ์บอก ประชาชนจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่เป็นประชาชนถูกกระทืบ ขณะที่ บ่อน ส่วย หวย ซ่อง ซื้อขายตำแหน่ง เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลทำอะไรอยู่ ไม่แก้ไข "
นายบุญแทน กล่าวว่า ขณะที่ผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้น รัฐก็ไม่สามารถจัดการปัญหา แต่ใช้อำนาจ อาทิ มาตรา112 และ กฎหมายอื่นๆ จัดการ ใช่พร่ำเพรื่อ สร้างความร้าวฉานรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลทำเหมือนรักสถาบัน แต่เป็นการทำลายสถาบันใช่หรือไม่ ถือเป็นจุดอันตราย นำไปสู่หายนะ หากผู้นำประเทศยังไม่สำนึก ไม่มีจริยธรรม จะทำให้ประชาชนมีจริยธรรมได้อย่างไร ทางออกคือให้นายกฯลาออก เพราะมิเช่นนั้น จะกลายเป็น ทรราชหากมีการนองเลือดเกิดขึ้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |