"นช.โทนี่" วิดีโอลิงก์ถล่มรัฐบาลลุงตู่ ตาบอดจูงตาดีไปตกเหว ห่วงรายได้คนจนคนรวยห่างเยอะ มีแต่นักใช้งบประมาณมาบริหารประเทศ หาเงินไม่เป็น ถูกปกครองโดยทหาร ซื้อแต่อาวุธ ซัด รธน.สืบทอดอำนาจ ทำลายกระบวนการยุติธรรม ไทยเป็นประเทศดัดจริต อยากรู้ถูกรัฐประหารเพราะอะไร แนะอ่านผลงานเมีย "ปิยบุตร"
วันที่ 27 มี.ค.2564 ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นักโทษหนีคดีคอร์รัปชัน หรือนามแฝง Tony Woodsome กล่าวบรรยายผ่านวิดีโอลิงก์ ในโครงการ The Change Maker ของพรรคเพื่อไทย กิจกรรม Boot Camp สัปดาห์ที่ 3 ในหัวข้อ "ชวนคิดใหม่ วางอนาคตเศรษฐกิจไทยในเวทีโลก" ว่า คนที่จะเป็นเชนจ์เมกเกอร์ ต้องมั่นใจว่าเรากำลังรู้จริง เพราะถ้าไม่รู้จริง ถึงเป็นผู้นำที่เก่งมาก มีอำนาจเยอะ ก็เหมือนกับคนตาบอดจูงคนตาดีไปตกเหว คนตาดีเขายอมทำตามคนตาบอดก็เพราะทรงอำนาจเหลือเกิน
นายทักษิณกล่าวว่า สิ่งที่ห่วงคือเรื่องนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งเรากำลังมีปัญหาในการพัฒนาประเทศ เพราะกำลังซื้อของคนไทยตกลงเมื่อเทียบกับคนอื่น นอกจากนี้ รายได้ที่ต่างกันระหว่างคนจนกับคนรวย ตรงนี้ทำให้เราเคลื่อนตัวลำบาก เพราะเรากำลังแบกคนจน คนป่วย หรือคนที่ไม่มีกำลังไว้เยอะ มันลากไปไม่ไหว ขณะที่นโยบายการบริหารงบประมาณ เรามีแต่นักใช้งบประมาณมาบริหารประเทศ ไม่มีประเภทที่ว่ารายได้มีแค่นี้ รายจ่ายประจำมีแค่นี้ แล้วจะเพิ่มรายได้เพื่อให้มีการลงทุนอย่างไรได้บ้าง
"มีแต่ใช้งบประมาณให้หมดไปในแต่ละปี ไม่ได้คิดว่าทำอย่างไรให้งบประมาณสมดุลหรือลดการขาดดุล ซึ่งตอนนี้เราถูกปกครองโดยทหาร ทำให้งบทหารเพิ่มตลอด เราก็ยังซื้ออาวุธแบบเก่า ซึ่งการรบแบบเก่าเกิดเฉพาะชายแดน แต่วันนี้เป็นการรบแบบใหม่ที่รบด้วยเทคโนโลยี ต้องทำให้คนไปสู่จุดนั้น เช่น การรบด้วยหุ่นยนต์ ด้วยโดรน แต่การซื้ออาวุธวันนี้ยังเป็นแบบเดิม เพราะมีค่าคอมมิชชั่นดี และยิ่งค้างสต๊อกเยอะ ค่าคอมมิชชั่นก็จะยิ่งดีขึ้นกว่าเดิม"
นายทักษิณกล่าวว่า วันนี้ การเข้าหาแหล่งทุนประชาชนเข้าหาไม่ค่อยได้ เราต้องสร้างให้คนที่ต้องการจะพ้นจากความยากจนเข้าหาแหล่งทุนให้ได้ แต่วันนี้เป็นระบบฮั้วกันที่จัดโดยแบงก์ชาติ ฟรีที่ไม่ฟรีเยอะ แบงก์ชาติต่อไปต้องนั่งคิดแล้วว่า ดิจิทัลบาทต้องเริ่ม ทำให้แบงก์ลดบทบาท แบงก์ใหญ่ๆ อาจจะรอด แต่แบงก์เล็กๆ เหนื่อยหน่อย เพราะการแข่งขันวันนี้ผู้บริโภคเสียเปรียบ เราไม่เคยปกป้องผู้บริโภคเลย แพลตฟอร์มใหญ่ๆ จากต่างประเทศที่เข้ามาวันนี้กินเราไปเท่าไหร่
วันนี้เราไม่เก่งกับต่างประเทศ แต่เก่งกับการออกกติกากับคนไทย ดังนั้น ต้องเปิดให้มีการแข่งขัน ต่างชาติก็จะมองว่าเรามีกติกาที่เป็นสากล แล้วเขาก็จะอยากมาลงทุน วันนี้ต้องสร้างโอกาสให้คนระดับล่างได้มีโอกาสทำมาหากินได้ เรื่องเงินนั้น ถ้าไม่มีทุนก้าวหน้าไม่ได้ ระบบของประเทศต้องเปิดกว้างให้คนเข้าหาแหล่งเงินได้ทุกระดับอาชีพ อย่าใช้ระบบธนาคารธรรมดา ถ้าคนไม่อยากตายจน แต่ต้องตายจน ต้องโทษรัฐบาลที่ช่วยเขาไม่ได้เลย เพราะกฎหมายที่ล้าสมัย ขันนอตมากเกินไปจนคนทำอะไรไม่ได้
นักโทษหนีคดีโกงกล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ แต่ในทางตรงข้ามกลับทำลายประเทศมหาศาล ความน่าเชื่อถือกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ถ้าไม่แก้สิ่งเหล่านี้คงลำบาก เพราะรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม เป็นหัวใจสำคัญ การแก้ไขกฎหมายต้องแก้เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ อย่าถือเป็นเรื่องเล็ก บางทีออกกฎหมายมาเพื่อรักษาคณะผู้ปกครอง แบบนี้ไม่ได้ ต้องหาผู้ปกครองที่มาใช้กระบวนการยุติธรรมให้คนในชาติ เพราะคณะผู้ปกครองที่ทำงานอยู่ในขณะนี้ ต้องแก้กฎหมายเพื่อประชาชนส่วนใหญ่
แนะอ่านผลงานเมียปิยบุตร
"ถ้าแก้เพื่อปกป้องตัวเองอย่างเดียว ทุกอย่างพัง ตามหลักกฎหมายแล้ว และหลักกฎหมายของเราผู้ที่ถูกกล่าวหาเราถือว่ายังบริสุทธิ์ หากคดียังไม่ตัดสินจนถึงที่สุด แต่วันนี้การทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามจากต่างชาติมาก และที่อ่อนแอและต้องแก้ไขอีกเรื่องคือระบบราชการ เพราะข้าราชการวันนี้ทำตัวเป็นนักปกครอง ไม่ได้เป็นนักบริการ รวมถึงเรื่องเทคโนโลยี ต้องคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้ายังมัวแต่ด่าว่าไอ้ห่าอยู่หน้าทำเนียบฯ แบบนั้นไปไม่รอด"
ต่อมาช่วงถามตอบ ผู้เข้าอบรมถามว่า ในช่วงพรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล มองว่ามีอะไรผิดพลาดที่นำไปสู่การรัฐประหาร นายทักษิณตอบว่า เป็นคำถามที่ดี แต่ตอบยาก มีอะไรซับซ้อนเยอะ เพราะกล่าวหากันง่ายมาก หาเรื่องกันง่าย ลองไปอ่านงานเรื่อง Deep State ที่เขียนโดยภรรยานายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อย่างไรก็ตาม คนที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะแคร์ประชาชนมากกว่า แต่รัฐบาลนี้ดูดทุกคน ขนาดมาจากการเลือกตั้งก็ยังดูดเลย เพราะแคร์ประชาชนน้อย ระบอบประชาธิปไตยที่แม้ไม่ดีที่สุด แต่ก็ดีที่สุดเท่าที่มีมา
นายทักษิณยังตอบคำถามถึงข้อเสนอการผลักดันให้การค้าบริการเป็นอาชีพถูกกฎหมายด้วยว่า เราเป็นประเทศดัดจริต มีกฎหมายปราบการค้าประเวณี กลัวว่าจะรู้ว่ามีโสเภณี วันนี้เราต้องอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าทุกอย่างขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ มันจะควบคุมตรวจสอบได้หมด ตรวจโรคได้ มีการเสียภาษีถูกต้อง แต่เราไม่ชอบ ตนเอาหวยใต้ดินขึ้นมาบนดิน ส่งเด็กคนจนเรียนฟรี ไปเรียนเมืองนอกปีละ 900 คนเขาก็บอกไม่ดี บ่อนการพนัน กาสิโนไม่ดี แต่บ่อนมีเต็มเมือง ตอนที่ตนเป็นนายกฯ พยายามทำแต่ก็ไม่ง่าย ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมเราไม่ยอมรับความจริง เอาธุรกิจสีเทาขึ้นมาให้ถูกต้องไม่ดีกว่าหรือ
"ตอนสมัยผม รัฐธรรมนูญที่คนอื่นเขียนและผมมาใช้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้ไม่มีการต่อรองอะไร การทำงานจึงราบรื่น แต่ตอนหลังเขากลัวพรรคเพื่อไทยจะชนะอีก จึงออกกฎหมายให้พรรคการเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก มีการต่อรองกันจนบ้านเมืองไม่แข็งแรงเหมือนอย่างวันนี้ แม้บางพรรคจะจ่ายเงินกันเยอะ แต่สุดท้ายพรรคเพื่อไทยก็ชนะเป็นพรรคที่มี ส.ส.อันดับ 1 ทั้งนี้ เมื่อบ้านเมืองไม่แข็งแรง ภาคราชการก็จะแข็งแรง อย่างที่เขาเรียกพรรคราชการ ตอนนั้นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ยังช่วยทำเรื่องปฏิรูประบบราชการ แต่ตอนหลังมา หลังจากปฏิวัติผมมา ก็เปลี่ยนไปเยอะ ซึ่งต้องปฏิรูประบบราชการจริงๆ เพราะราชการเขาพร้อม เขาแล้วแต่นายว่าจะให้ไปทางไหน"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมนี้นอกจากจะมีผู้เข้าร่วมโครงการที่มาร่วมกิจกรรมอย่างคึกคักแล้ว ยังมีแกนนำพรรคเพื่อไทยและ ส.ส.เข้าร่วมอย่างคึกคักด้วย รวมถึง น.ส.พินทองทาและ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ ก็มาร่วมรับฟังการบรรยายด้วย โดยนายทักษิณได้กล่าวทักทายทั้งสองคนว่า “นี่คือกำลังใจสำคัญของผม” ขณะที่ น.ส.พินทองทากล่าวตอบกลับไปว่า “วันนี้มาให้กำลังใจ ปลื้มใจที่ทุกคนมีพลังงานที่ดีมาร่วมกันแชร์กับพี่โทนี่ เป็นกำลังใจให้กับพี่โทนี่”
และเมื่อบรรยายจบ นายทักษิณก็ร่วมถ่ายภาพกับผู้ร่วมกิจกรรม โดยบอกว่าวันนี้มีแขกพิเศษที่จะมาร่วมถ่ายรูปด้วย จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ยืนอยู่หลังกล้องก็ออกมายืนคู่กับนายทักษิณ ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมส่งเสียงดีใจร้องเฮกันทั้งงาน
"จุรินทร์"ยันต้องแก้รธน.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 7-8 เม.ย. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... ว่า เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นจากกรรมาธิการ (กมธ.) ของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่น่ามีปัญหาอะไร ทุกอย่างก็คงจะเดินหน้าต่อไปได้ และสภาก็สามารถพิจารณามาตราต่อๆ ไปได้จนจบถึงวาระที่สาม
"สำหรับการลงมติในวาระที่สาม พรรคประชาธิปัตย์จะให้การสนับสนุน เพราะเราต้องการให้มีกฎหมายประชามติเกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป เพราะการแก้รัฐธรรมนูญในหลายมาตราระบุว่าจะต้องนำไปทำประชามติด้วย ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพราะฉะนั้นกฎหมายประชามติจึงเป็นกฎหมายที่มีความจำเป็นและสำคัญ ทั้งนี้ เท่าที่ทราบเบื้องต้นพรรคการเมืองอื่นๆ ก็พร้อมให้การสนับสนุน แต่ทั้งหมดตนก็ไม่ควรไปตอบแทนคนอื่น อย่างน้อยประชาธิปัตย์ยืนยันว่าให้การสนับสนุนแน่นอน"
นายจุรินทร์กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลดีต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตามมาด้วย เพราะการเมืองกับเศรษฐกิจต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ถ้าการเมืองมีปัญหา การแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปัญหาทางการเมืองประสบปัญหาอุปสรรค ก็จะกระทบต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นการแก้เศรษฐกิจกับการเมืองต้องทำควบคู่กันไปได้ รัฐบาลก็มีหน้าที่ทั้ง 2 ข้ออยู่แล้ว เพราะเป็นนโยบายทั้ง 2 เรื่อง ทั้งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาโควิด ที่ต้องทำด้วยกัน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาล
เมื่อถามว่า หากพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนการแก้รัฐธรรมนูญเพียงพรรคเดียว ขณะที่พรรคร่วมอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคแกนนำรัฐบาลไม่เอาด้วยจะทำอย่างไร นายจุรินทร์กล่าวว่า คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จะเป็นผู้ไปคุยกัน และตนก็ได้มอบแนวทางสำหรับวิปพรรคประชาธิปัตย์แล้วว่าต้องไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน เพื่อให้สามารถเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาลได้ ซึ่งทุกพรรคน่าจะทราบดีว่ามันเป็นนโยบายตั้งแต่ต้น และที่สำคัญเราก็ต้องไม่ทิ้งฝ่ายค้าน และไม่ทิ้งวุฒิสมาชิกด้วย เพราะว่าจะแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จได้ 3 ส่วนนี้มีความจำเป็นจะต้องร่วมมือกัน จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติไม่มีปัญหาใดๆ แล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาและฝ่ายที่เกี่ยวข้องแก้ไขปรับปรุงเนื้อหามาตราต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว สอดรับกับมาตรา 9 ตามที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบให้แก้ไข ข้อวิตกที่หลายฝ่ายกังวลทั้งประเด็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร หรือประเด็นจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขปรับปรุงจนปัญหาเหล่านี้หมดสิ้นไป ไม่มีปัญหาใดๆ โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ ในวันที่ 1 เม.ย. และจะได้ข้อสรุปเป็นที่ยุติได้ร่วมกันในวันที่ 1 หรือ 2 เม.ย.นี้ เพื่อนำเข้าสู่การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 7-8 เม.ย.ต่อไป ทั้งนี้ ขอยืนยันจะไม่มีปัญหาทำให้ร่างกฎหมายสะดุดหยุดลง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |