สำรวจพื้นที่แนวคลองเขตธนบุรี พื้นที่ฟอกอากาศของคนกรุงเทพฯ
พื้นที่สีเขียวที่เป็นปอดของกรุงเทพฯ มีจำนวนจำกัด และกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติจากการขยายตัวของเมือง ส่งผลให้อุณหภูมิในเมืองร้อนขึ้น ยังคงเป็นประเด็นสำคัญต้องร่วมมือกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว ถ้าสำรวจแผนของกรุงเทพมหานคร ขณะนี้กำลังเดินหน้าโครงการ “Green Bangkok 2030” โดยมีเป้าหมาย กรุงเทพฯ จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ถึง 10 ตารางเมตรต่อคนภายในปี 2573
ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 6.99 ตร.ม.ต่อประชากร 1 คน ซึ่งยังตกเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดให้แต่ละเมืองนั้นควรมีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 9 ตรม.ต่อคน การพิชิตเป้านั้น กทม.มองการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละย่าน สำรวจพื้นที่ว่าง ที่รกร้าง และที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นสวนหย่อม สวนสาธารณะ และสวนป่า โดย 11 พื้นที่นำร่อง เช่น สวนปิยะภิรมย์ เขตบางกะปิ พื้นที่ 10 ไร่ สวนสันติพร เขตพระนคร 2.5 ไร่ สวนต่างระดับร่มเกล้า-เจ้าคุณทหารลาดกระบัง 18 ไร่ แล้วยังมีสวนภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล) อีก 37 ไร่
พื้นที่พื้สีเขียวร่มรื่นในพื้นที่แนวคลองฝั่งธนบุรี
กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองสีเขียวได้ ตัวช่วยคงไม่ได้มีแค่พื้นที่ใต้ทางด่วน ที่ว่างตามซอกซอยต่างๆ และสวนสาธารณะเท่านั้น ขณะนี้นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมให้ความสนใจกับ “พื้นที่แนวคลอง” มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยเพิ่มความร่มรื่นในเมืองและแก้ปัญหาโลกร้อน โดยชูพื้นที่คลองย่านฝั่งธนบุรี 4 เขตนำร่อง ประกอบด้วย เขตทุ่งครุ เขตจอมทอง เขตธนบุรี และเขตคลองสาน สู่การเป็นเครื่องฟอกอากาศของกรุงเทพฯ
ไอเดียคลองเพิ่มความคูลให้คนเมืองนี้มาจาก โครงการสำรวจข้อมูลกายภาพพื้นที่ริมน้ำต้นแบบเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อเปรียบเทียบผลกระทบเกาะความร้อนในพื้นที่แนวคลอง ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยเฉพาะเขตทุ่งครุ ทุกวันนี้มีทางเดินเลียบคลองหลายเส้นกระจายตามคลองต่างๆ สองฝั่งคลองมีต้นไม้ร่มรื่นสุดๆ พื้นที่แห่งนี้ยังมีเสน่ห์ของวิถีชุมชนริมคลองในอดีต มีการทำสวนในย่านให้เห็นอยู่
ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. ผู้รับผิดชอบโครงการฯ บอกว่า เราได้ศึกษาและสำรวจพื้นที่คลองย่านฝั่งธนบุรี มี 4 เขต ประกอบด้วยเขตทุ่งครุที่มีโครงข่ายคลองเชื่อมโยงขนาดใหญ่ ที่สามารถเชื่อมไปยังเขตจอมทอง เขตธนบุรี และเขตคลองสาน เพื่อศึกษาคุณภาพน้ำคลอง คุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงศักยภาพของชุมชนริมน้ำ โดยข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวและเส้นทางเชื่อมต่อเส้นทางคลองในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
“ พื้นที่ริมน้ำและพื้นที่สีเขียวร่วมกันเป็นจุดความเย็น หรือ Cool Spot ของกรุงเทพฯ ถ้าดูแผนที่จะเห็นว่า ใจกลางกรุงเทพฯ นั้นมีพื้นที่สีเขียวน้อยมาก แต่เขตทุ่งครุยังมีพื้นที่สีเขียวที่เป็น Cool Air อยู่จำนวนมากมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลเพื่อพิสูจน์ว่าพื้นที่เขตทุ่งครุสามารถใช้เป็นพื้นที่ฟอกอากาศ หรือ Air Condition ที่จะเป็นประโยชน์กับกรุงเทพฯ ช่วยทำอากาศเย็นให้กับ กทม.ได้หรือไม่” ดร.กัญจนีย์จุดประเด็น พร้อมชี้ว่ามีความเป็นไปได้
รักษาพื้นที่สีเขียวริมคลองเป็นปอดคนเมือง ควบคู่ส่งเสริมท่องเที่ยวทางเรือ
สำหรับการทำงานภายใต้โครงการดังกล่าว มีการจัดแบ่งออกเป็น 4 ทีม คือ ทีมสำรวจ ทีมวิเคราะห์ข้อมูลและแผนที่ ทีมประสานงาน และทีมชาวบ้าน เพื่อค้นหาคำตอบใน 3 เรื่อง คือ คุณภาพชีวิตชุมชนริมน้ำ (Quality of Life) คุณภาพน้ำ และคุณภาพอากาศ ซึ่งการสำรวจแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ข้อมูลและผลลัพธ์เบื้องต้นจากการศึกษา ทาง กทม.และผู้บริหารสำนักงานเขต รวมถึงผู้นำชุมชน สนใจนำไปต่อยอดในการพัฒนาพื้นที่ โดยมี มจธ.เป็นแกนนำด้าน Data Center
พื้นที่เขียวๆ ริมคลองภายใต้โปรเจ็กต์นี้ยังสามารถบอกว่ามีมลพิษอากาศได้ด้วย เพราะเครือข่ายพันธมิตรอเมริกาสนับสนุนการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ นำไปติดตั้งบริเวณริมคลองใน 4 จุดที่กำหนด เพื่อวัดค่าอากาศ อุณหภูมิ (Temperature Control) แรงลม (Wind Load) และค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มลพิษอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพคนกรุง การรายงานปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีผลทำให้คนฝั่งธนฯ ตื่นตัวลุกขึ้นมาปกป้องสุขภาพของตนเองอย่างเห็นได้ชัด เพราะรู้ค่าคุณภาพอากาศที่นอกเหนือจากค่าที่ได้มาจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของภาครัฐ
ชาวบ้านริมคลองบางใหญ่ยังใช้การสัญจรทางน้ำ
อีกภาวะที่น่าห่วง เป็นปัญหาความเค็มของน้ำและปัญหาน้ำเสียใน 4 เขตดังกล่าว งานนี้ คณะสถาปัตยกรรมฯ บูรณาการความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มจธ. ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ เพื่อสะท้อนข้อห่วงกังวลของชุมชนดังกล่าว โดยเครื่องมือวัดประกอบด้วย การวัดค่าความเค็มของน้ำ สภาพนำไฟฟ้าของน้ำ ปริมาณของแข็งละลายน้ำทั้งหมดในน้ำ ค่าที่ตรวจวัดได้ใช้ประเมินการรุกหรือการหนุนของน้ำทะเลสู่คลอง และการวัดปริมาณออกซิเจนละลายน้ำที่เป็นสัญญาณบ่งบอกคุณภาพน้ำ การเน่าเสียของน้ำในคูคลองต่างๆ เพื่อวางแนวทางอนุรักษ์ฟื้นฟูให้กลับมาใสอีกครั้ง
“ ทีมงานได้สำรวจคลองอื่นๆ ที่สามารถใช้สัญจรได้ และคลองที่มีเส้นทางเลียบคลอง เข้าไปทำกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้โครงการท่องเที่ยวเกิดขึ้นได้จริง อย่างทุ่งครุมีเส้นทางจักรยานเลียบคลองเป็นที่นิยมนักปั่น นอกจากนี้ประชาชนจะเข้าถึงพื้นที่สีเขียวริมคลองเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ใกล้ขึ้น ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้ามหานคร MRT ในพื้นที่ทั้ง 4 เขต เชื่อมต่อการเดินทาง ช่วยเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในอนาคต” ดร.กัญจนีย์บอก ถ้ารักษาพื้นที่คูลๆ ริมคลอง นอกจากได้แหล่งฟอกปอดคนเมือง ยังเพิ่มทางเลือกในการเดินทางรูปแบบใหม่ๆ ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เม็ดเงินเข้าชุมชนอีกด้วย
ถ้าเขตทุ่งครุทำเส้นทางจักรยานเลียบคลองต่ออีก 2 กิโลเมตรได้จริง จะสามารถปั่นจักรยานจากฝั่งคลองบางมดไปถึง MRT ใหม่ของเขตได้ ซึ่งในเขตมีทางเลียบคลองอยู่บางส่วนแล้ว ถ้าเชื่อม 2 กิโลเมตรนี้ได้ก็จะสามารถปั่นจักรยาน หรือขี่มอเตอร์ไซค์ไปขึ้น MRT จากอีกด้านหนึ่งได้ คล้ายการวางแผนผังเส้นทางย่านฝั่งธนฯ ล่วงหน้า
คลองสาน 1 ใน 4 เขตนำร่อง เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มหานคร
สตอรี่แต่ละชุมชนน่าเรียนรู้ อย่างชุมชนริมคลองบางมด นักสถาปัตย์คนเดิมบอกว่า อดีตทำเกษตรสวนส้ม เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ส้มบางมด” แต่ภายหลังเกิดน้ำท่วมและเจอปัญหาน้ำเสีย ทำให้สวนส้มบางมดมีจำนวนลดลงจนแทบไม่เหลือในปัจจุบัน ผู้จัดทำโครงการฯ คุยกับชุมชน และร่วมกันหาทางสร้างรายได้โดยใช้วิถีชีวิตริมคลองที่เป็นเอกลักษณ์ มาลงตัวที่การท่องเที่ยวทางน้ำตามเส้นทางคลอง ทดลองดำเนินการในพื้นที่ ทดแทนการทำเกษตรที่ปัจจุบันแทบจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกแล้ว
วิถีชุมชนริมคลองบางใหญ่ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
ย่านฝั่งธนบุรีมีความอุดมสมบูรณ์กว่าฝั่งพระนคร วิไลวรรณ ประทุมวงศ์ หนึ่งในทีมสำรวจฯ พื้นที่ 4 เขตนำร่องให้ข้อมูลน่าสนใจว่า ปัจจุบันพื้นที่ตั้งแต่เขตจอมทองถึงเขตทุ่งครุ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมยังไม่ถูกทำลายมากนัก ทั้งด้านคุณภาพน้ำและสิ่งมีชีวิตในน้ำ ทรัพยากรส่วนใหญ่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่สีเขียวจำนวนไม่น้อย
“แต่พื้นที่เขตธนบุรีและคลองสาน สภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเสื่อมโทรม หลายแห่งเสื่อมโทรมไปแล้ว เช่น คลองบางไส้ไก่ เมื่อก่อนใช้ในการสัญจร แต่ปัจจุบันกลายเป็นเพียงคลองระบายน้ำเสียเท่านั้น เนื่องจากคลองสานเป็นชุมชนที่ค่อนข้างหนาแน่นถึงแออัด และกลายเป็นชุมชนเมืองที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการวางแผนระบบจัดการน้ำเสียของชุมชนยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก”
ขณะที่เขตทุ่งครุ นักวิจัยระบุ ยังมีสภาพผสมผสานกันระหว่างชุมชนกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก แต่อนาคตหากมีรถไฟฟ้าเข้ามา ทำให้การสัญจรคล่องตัวมากขึ้น ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาอาศัยในพื้นที่มากขึ้น ส่งผลเมืองขยายตัว จะมีการเตรียมพร้อมวางแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีดังเดิม และพัฒนาการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชาวบ้านชุมชนริมคลองได้อย่างไร
วิไลวรรณบอกด้วยว่า พื้นที่ทั้ง 4 เขตมีศักยภาพสูงมากในการเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกัน และเป็นเส้นทางสัญจรหลักในอนาคต ถ้าใช้คลองให้เกิดประโยชน์ เมื่อมีรถไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่จะสามารถเชื่อมต่อได้อย่างดี แต่จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันคลองหลายๆ สายในฝั่งธนบุรี เช่น คลองเขตธนบุรี และเขตคลองสาน เรือไม่สามารถผ่านได้ เนื่องจากลักษณะคลองที่แคบและตื้นเขิน อีกทั้งมีโครงสร้างหลายอย่างกีดขวางเส้นทาง นอกจากนี้คุณภาพน้ำสกปรกและส่งกลิ่นเหม็นในบางช่วง จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้วิเคราะห์หาแนวทางเป็นไปได้ ทำให้การสัญจรเชื่อมต่อกัน เช่น คลองที่มีศักยภาพทำเส้นทางคลองเพื่อการท่องเที่ยวได้ อนาคตอาจจัดบริการเรือโดยสารสาธารณะ ส่วนคลองที่เรือสัญจรไม่ได้ ชูเป็นเส้นทางคนเดินริมคลอง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า
.เส้นทางจักรยานเลียบคลองบางมด เขตทุ่งครุ ร่มรื่น สวยงาม
ขณะที่ ณัฐชนน ปราบพล ทีมสำรวจ มจธ. กล่าวว่า หากนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจภายใต้โครงการนี้ไปใช้ประโยชน์ หรือขยายผลต่อ จะเกิดผลดีต่อการพัฒนาย่านฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะการเชื่อมต่อและการเข้าถึงพื้นที่ ได้พูดคุยกับชาวบ้านริมคลองทั้ง 4 เขต บอกว่า การสัญจรในพื้นที่ลำบาก ถ้าเชื่อมต่อเส้นทางเดิน ประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่แค่เพียงนักท่องเที่ยว แต่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในชุมชนริมคลอง
ถือว่าเป็นอีกโครงการที่จุดประกายให้หันมาสนใจและดูแลรักษาพื้นที่ริมคลองในเขตกรุงเทพฯ คงไม่เฉพาะย่านฝั่งธนฯ เท่านั้น พื้นที่เหล่านี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพชีวิตคน กทม.ได้อย่างมหาศาล.