ครม.ประยุทธ์ 2/4 2 ปีที่เหลือ หลังผ่านครึ่งเทอม อย่าใช้โอกาสเปลือง


เพิ่มเพื่อน    

            หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำรัฐมนตรีใหม่ใน ครม. ประยุทธ์ 2/4 เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ไปเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็จะทำให้การประชุม ครม.วันอังคารที่ 30 มี.ค.นี้ จะเป็นการเริ่มสตาร์ทการทำงานของคณะรัฐมนตรี ที่มีการจัดทัพไปล่าสุด

                คือตั้งรัฐมนตรีใหม่ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ตรีนุช เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

                โยก วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล จาก รมช.พาณิชย์ เป็น รมช.คมนาคม ทำให้ กระทรวงคมนาคมดูแลโดยรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยแบบเบ็ดเสร็จ หลังมีการสลับโควตากระทรวงคมนาคมกับกระทรวงพาณิชย์ กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ดัน สินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำงานคู่กับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่กระทรวงพาณิชย์

                ภารกิจหนักๆ ที่รอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา ก็อย่างที่เห็นกัน เรื่องใหญ่คงไม่พ้น ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบจากโควิด-19 ที่แม้นโยบายหลายเรื่องของรัฐบาล ที่ออกมา โดยเฉพาะการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย จะประสบความสำเร็จ เป็นที่ถูกอกถูกใจประชาชน ไม่ว่าจะเป็น "โครงการคนละครึ่ง" -"เราชนะ" -"มาตรา 33 เรารักกัน" ชนิด "คนด่ารัฐบาลลุงตู่วันละ 3 เวลา ด่าได้ทุกเรื่อง ก็ยังสแกนคิวอาร์โค้ด ใช้สิทธิ์คนละครึ่ง-เราชนะ-เรารักกัน-เที่ยวด้วยกัน กันแบบหนำใจ แฮปปี้กันถ้วนหน้า"

                จนมีการมองกันว่า ดูแล้วยังไง รัฐบาล-พรรคพลังประชารัฐ คงต้องตรึงนโยบายแนวนี้ให้ยาวนานที่สุด ชนิดลากแคมเปญไปให้ถึงใกล้ๆ เลือกตั้งหรือตอนช่วงจะครบเทอมของสภาฯ ที่เหลืออยู่อีกประมาณ 2 ปีให้ได้ เพื่อหวังผลในการสร้างคะแนนเสียงตอนเลือกตั้งให้กับพรรคพลังประชารัฐ               

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล-ทีมเศรษฐกิจก็รู้ดีว่า การทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในระยะยาวและฟื้นตัวแบบยั่งยืน การจะไปออกนโยบายแบบแจกเงิน อัดฉีดเงินเข้าแอปกระเป๋าตังค์ประชาชน รัฐบาลจะใช้วิธีนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุดไม่ได้ เพราะเงินที่ใช้ ก็เป็นเงินกู้-เงินคงคลังที่รัฐบาลเอามาใช้ วันข้างหน้าก็ต้องหมด จะไปกู้เงินไปเรื่อยๆ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการเงินการคลังของประเทศ ทำให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก็มีโจทย์ใหญ่ที่ต้องคิดคือ จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจหลังโควิดสามารถฟื้นตัวได้แบบมั่นคง ยั่งยืน

                โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ต้องขบคิดอย่างหนักถึงนโยบายระยะยาวในเรื่องการปรับภูมิทัศน์เรื่องการหารายได้เข้าประเทศ ไม่ใช่จะพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศหรือการส่งออกมากเกินไป

                เพราะอย่างที่เห็น พอเจอโควิดเข้าไป เศรษฐกิจเกือบทั้งระบบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-การบริการ-การโรงแรมทั้งระบบต้องล้มทั้งยืน แหล่งท่องเที่ยวหลายจังหวัดกลายเป็นเมืองร้าง จนมีการมองกันว่า แม้ต่อให้เปิดประเทศได้หลังจากนี้ แต่กว่าอุตสาหกรรมทั้งระบบจะฟื้นตัวได้ คงใช้เวลาอีกพอสมควร

 สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ที่ ครม.ประยุทธ์ 2/4 และทีมเศรษฐกิจต้องตีโจทย์ให้แตก เพื่อวางแผนทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

                ที่พบว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลคงตระหนักถึงเรื่องนี้ เลยเห็นการเร่งติดเครื่องของรัฐบาลในการออกนโยบาย-แคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง

                อย่างการประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมาก็พบว่า ครม.เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด รวม 2 มาตรการ รวมวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท 

                เรื่องนี้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ระบุหลังประชุม ครม.วันดังกล่าวไว้ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวม 2 มาตรการ รวมวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจได้ 6 หมื่นราย และสามารถรักษาการจ้างงานได้ 8.2 แสนตำแหน่ง

                ขณะที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเช่นกันว่า การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดดังกล่าว ประกอบด้วยมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีพื้นฐานดี แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสมผ่านกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิตของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวสามารถประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน เป็นต้น

                ในทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลก็กำลังเดินหน้าทำอยู่ ขณะที่เรื่องทางการเมือง ทั้งในและนอกรัฐสภา หากดูจากสถานการณ์โดยรวมตอนนี้ ต้องถือว่า รัฐบาลประยุทธ์ยังไม่เจอแรงกดดันหนักๆ มากนัก

                เห็นได้จากขนาดเรื่องการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภาล้มกระดานไปเมื่อ 17 มีนาคม ที่ใครต่อใคร โดยเฉพาะฝ่ายค้านบอกว่า หากรัฐธรรมนูญถูกล้มกระดาน จะเป็นการเติมฟืนเข้ากองไฟ ทำให้ประชาชนไม่พอใจ มวลชนจะลุกฮือ แต่ก็อย่างที่เห็น ผ่านมาได้สัปดาห์กว่าหลังมีการล้มกระดานการแก้ไข รธน. ปรากฏว่ากระแสไม่พอใจรัฐบาล-พรรคพลังประชารัฐในเรื่องนี้ กลับไม่ร้อนแรงอย่างที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้

                เพราะขนาดการชุมนุมของม็อบสามนิ้ว ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันพุธที่ 24 มี.ค. ก็เห็นแล้วว่า แกนนำและแนวร่วมม็อบสามนิ้วเน้นหนักประเด็นการเคลื่อนไหวไปที่เรื่องการเรียกร้องให้ปล่อยแกนนำที่ถูกคุมขัง และการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นหลัก แทบไม่มีการเทน้ำหนักไปที่เรื่องการล้มกระดานการแก้ไข รธน.แต่อย่างใด ทั้งที่เรื่องการแก้ไข รธน.เคยเป็นประเด็นหลักในการเคลื่อนไหวของม็อบปลดแอก ที่ทำให้มีคนเห็นด้วยและมาร่วมชุมนุมจำนวนมาก

                หากเป็นเช่นนี้คือ ม็อบสามนิ้วเทน้ำหนักไปที่เรื่องการยกเลิก 112 เรียกร้องให้ปล่อยแกนนำม็อบ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยกับรัฐบาลประยุทธ์ เพราะเป็นเรื่องของศาล-ฝ่ายสภาฯ ในการจะแก้ 112 จึงย่อมส่งผลให้ นับจากนี้รัฐบาลประยุทธ์จะไม่ถูกกดดันจากม็อบสามนิ้วมากนัก ไม่เหมือนตอนช่วง ต.ค-พ.ย.ปีที่แล้ว ที่ม็อบเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก-ยุบสภาฯ-แก้ รธน. ที่ทำให้รัฐบาลซวนเซ เจียนอยู่เจียนไปมาแล้วในช่วงปลายปีที่แล้ว

                เมื่อข้อเรียกร้องของม็อบสามนิ้วไม่ได้พุ่งตรงมาที่รัฐบาลโดยตรง ทำให้รัฐบาลมีหน้าที่เพียงแค่คอยดูแลการชุมนุมให้ดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ให้เกิดเหตุเผชิญหน้า ความรุนแรง โดยเฉพาะต้องไม่ให้เกิดเหตุสูญเสียเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน แล้วก็คอยประคองสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เพราะดูแล้ว ยังไงการเคลื่อนไหวของม็อบคงดำเนินไปเรื่อยๆ จะมีการนัดชุมนุมกันหลายครั้งต่อเนื่องกันไปตลอด เรียกได้ว่าเป็นศึกที่สู้กันยืดเยื้อ ยาวนาน ไม่เลิกรากันง่ายๆ

                ยิ่งข้อเรียกร้องอย่างเรื่อง ยกเลิก 112 - ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ - ปล่อยแกนนำม็อบ เป็นข้อเรียกร้องที่เห็นผลยากในเวลาอันสั้น หรืออาจเรียกได้ว่า บางเรื่อง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่หากม็อบสามนิ้วและแกนนำยังคงเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่อไป แม้ต่อให้แกนนำถูกคุมขัง แต่แนวร่วมยังไม่ยอมหยุด การรับมือกับการชุมนุมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง จึงเป็นงานทางการเมืองที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรัดกุมในการควบคุมสถานการณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงและความสูญเสีย

                ควบคู่ไปกับการที่พลเอกประยุทธ์และรัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหาของประเทศในด้านอื่นๆ เพื่อให้ปัญหาคลี่คลายโดยเร็ว เพราะถึงตอนนี้ นับจากการเลือกตั้ง เมื่อ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 99 บัญญัติว่า อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกําหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง

จึงเท่ากับว่า อายุของสภาฯ ชุดนี้ที่ก็คืออายุของรัฐบาลชุดนี้ด้วย ก็เหลือเวลาอีก 2 ปีเท่านั้น ก็จะครบเทอม หากไม่มีการยุบสภาฯ เกิดขึ้นกลางคัน

                2 ปีที่ผ่านไปของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เจอศึกหนักๆ หลายเรื่อง แต่หนักสุดคงไม่พ้น 2 เรื่องนี้คือ

“สงครามโควิด-ม็อบสามนิ้ว” 

ที่ทำเอารัฐนาวาบิ๊กตู่สะบักสะบอมพอสมควร แต่ก็ยังผ่านมาได้ ซึ่งถึงตอนนี้ภาพรวมก็เริ่มเห็นแล้วว่า สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว โดยเฉพาะหลังมีการฉีดวัคซีนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เริ่มมีการวางปฏิทินเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงปลายปี

ขณะที่ม็อบสามนิ้วก็ต้องยอมรับความจริงกันว่า แม้การชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีคนมาร่วมระดับหนึ่งจะช่วยปลุกเร้าความฮึกเหิมให้แนวร่วมมีความหวังในการเคลื่อนไหวได้บ้าง หลังม็อบแผ่วมานาน แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ม็อบสามนิ้วก็แผ่วไประดับหนึ่ง ไม่พีกเหมือนช่วงปลายปีที่แล้ว ที่ก็คงลดความหนักใจให้กับพลเอกประยุทธ์และรัฐบาลไปได้บ้าง

2 ปีที่เหลือต่อจากนี้ ยังยากจะคาดการณ์ได้ว่า พลเอกประยุทธ์และรัฐบาลจะต้องเจอกับปัญหาหนักๆ อะไรอีกบ้าง แต่ก็ควรที่รัฐบาลจะต้องใช้ช่วงเวลาที่มีอยู่ เร่งแก้ปัญหาประเทศในด้านต่างๆ ให้เร็วและได้ผลมากที่สุด อย่าใช้โอกาสทำงานเปลืองไปนัก เพราะหากใช้โอกาสเปลือง แล้วผลงานไม่ปรากฏออกมา  กระแสเบื่อรัฐบาลอาจเกิดขึ้นได้ จนรัฐบาลกว่าจะรู้ตัวก็อาจสายเกินไป!!!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"