ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ หรือจะไปตายเอาดาบหน้า?


เพิ่มเพื่อน    

 ผ่าทางตันร่าง พ.ร.บ.ประชามติ หรือจะไปตายเอาดาบหน้า?

                แม้จะอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภา แต่การผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ ที่เป็นกฎหมายสำคัญก็อยู่ในความสนใจของทุกฝ่าย หลังที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระ 2 ที่เป็นการพิจารณารายมาตรา เกิดการพลิกผันกลางห้องประชุม เมื่อเสียงส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบด้วยกับการแปรญัตติให้มีการเพิ่มอำนาจรัฐสภาและภาคประชาชนสามารถส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีจัดทำประชามติได้  จากเดิมที่เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีแต่เพียงฝ่ายเดียว จนทำให้การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติในวันดังกล่าวต้องหยุดชะงักเดินต่อไปไม่ได้ และต้องมีการขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 7-8 เม.ย.นี้อีกครั้งเพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

            เส้นทางของร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา-โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... ของรัฐสภา ได้วิเคราะห์ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษครั้งนี้ ซึ่งโฆษก กมธ.เริ่มที่การพูดถึงความเป็นมาของการต้องออกร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติให้ออกมาเป็นกฎหมายว่า ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ รธน.ฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560 บัญญัติไว้ในมาตรา 256 ว่า กรณีหากมีการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ในประเด็นต่างๆ ที่ รธน.กำหนดไว้ต้องส่งไปทำประชามติ ที่ก็คือ หากรัฐสภามีการแก้ไข รธน. จนที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบตั้งแต่วาระแรกจนถึงวาระสาม ก่อนจะนำร่างแก้ไข รธน.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต้องส่งไปทำประชามติก่อน ประการที่สอง อยู่ใน รธน.มาตรา 166 บัญญัติไว้ว่า หากคณะรัฐมนตรีเห็นสมควร เช่น ครม.เห็นว่ามีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน แล้วเป็นเรื่องสมควรต้องฟังเสียงประชาชน ก็ให้ทำประชามติได้

            ทั้งหมดคือกลไกตามที่ รธน.บัญญัติไว้ จึงต้องมีการออก พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ เพื่อรองรับทั้ง 2 กรณีดังกล่าว ประกอบกับที่รัฐบาลเห็นว่าการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติให้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะช่วงก่อนหน้านี้มีการเสนอให้มีการแก้ไข รธน.มาตรา 256 ที่หากการแก้ไข รธน.ผ่านวาระ 3 ก็ต้องส่งไปทำประชามติ ทำให้มีการเร่งรีบจะออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อรองรับการทำประชามติการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.

            โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติของรัฐสภา กล่าวถึงหัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติคือ การทำประชามติที่จะเกิดขึ้น ถือว่าเป็นการทำประชามติครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตย เพราะที่ผ่านมาการทำประชามติในประเทศไทย เราเห็นมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ก็เกิดขึ้นในช่วงมีสถานการณ์พิเศษ เกิดขึ้นในยุคที่มีการทำรัฐประหาร (คมช.) ส่วนประชามติครั้งที่ 2 คือประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็เกิดขึ้นในสถานการณ์พิเศษ คือเกิดขึ้นในช่วงที่มีการทำรัฐประหารเช่นกัน (คสช.)

...แสดงว่าการทำประชามติในช่วงที่ผ่านมาในชีวิตของใครหลายคนเกิดขึ้น 2 ครั้ง แต่เกิดขึ้นในช่วงรัฐประหาร ที่คนก็มองว่าเป็นการทำประชามติที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยนัก เกิดขึ้นในลักษณะแบบที่ไม่ค่อยมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโต้แย้ง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ที่หมายถึงมี ข้อจำกัด ในการทำประชามติ ทำให้ตอนมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้ามาที่รัฐสภา จึงมีการอภิปรายโต้แย้งกันอย่างหนักว่า การทำประชามติครั้งต่อไปควรต้องมีความเป็นเสรีและเสมอภาค

            ...ทำให้ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติเน้นว่าการทำประชามติจะต้องเสรี ประชาชนต้องมาออกเสียงประชามติได้อย่างอิสระ ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายการชุมนุม ทำให้มีการเขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ.ว่าการทำประชามติต้องเสรี ประชาชนต้องมีอิสระเต็มที่ในการมาออกเสียงประชามติ

            ...นอกจากนี้ยังเน้นเรื่อง ความเสมอภาค คือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ต้องมีสิทธิให้รณรงค์กันได้ ซึ่งในกฎหมายฉบับที่ใช้เดิม ไม่เปิดโอกาสเรื่องการรณรงค์ ทำให้การรณรงค์ที่ผ่านมา มันเป็นเหมือนว่าแค่ภาครัฐเท่านั้นที่ทำ หรือผู้มีอำนาจในอดีตเท่านั้นที่จะพยายามรณรงค์ ทำให้อีกฝ่ายไม่มีเสรี ไม่มีความเสมอภาค ทำให้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการเติมเรื่องนี้เข้าไปว่า ต้องมีเสรี มีความเสมอภาค และเหนือสิ่งอื่นใด ต้องเปิดโอกาสให้มีการรณรงค์โต้แย้ง เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยอย่างเต็มที่ และที่สำคัญก็มีการเขียนกำหนดไว้ว่า สื่อต่างๆ ทั้งหมดไม่ว่าจะรณรงค์ด้วยประการใด แต่ต้องเปิดให้อีกฝ่ายหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นได้ด้วย ที่ก็คือการลดข้อครหา ข้อโต้แย้งในอดีต ประเด็นเหล่านี้คือเรื่องใหม่ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

            ...อีกประเด็นสำคัญคือ ในการทำประชามติมีการเขียนห้ามฝ่ายที่จะทำประชามติ ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐเอง หรือในการทำประชามติเมื่อมีการแก้ไข รธน. ห้ามทำคำถามในลักษณะที่เป็น การชี้นำ เพราะมีข้อโต้แย้งว่าคำถามในการทำประชามติในอดีต คำถามที่ตั้งแล้วใช้ทำประชามติ เช่นจะรับหรือไม่รับร่าง รธน. หรือในคำถามพ่วงตอนทำประชามติร่าง รธน. มีข้อครหาว่าคำถามดังกล่าวเหมือนกับเป็นการชี้นำ แต่ต่อไปนี้ไม่ได้ ที่ก็คือคำถามที่จะใช้ทำประชามติต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาดูได้ จากเดิมทีเดียวจะให้ใช้ว่า ให้ส่งคำถามที่จะทำประชามติส่งไปให้ กกต.เลย แต่ก็มีคนขอแปรญัตติในวาระ 2 ว่า คำถามที่ใช้ทำประชามติต้องให้ กกต.พิจารณากลั่นกรองด้วย ที่ก็ถือเป็นการจะออกกฎหมายประชามติในยุคประชาธิปไตย

            วันชัย-โฆษก กมธ. กล่าวอีกว่า ในร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ เขียนถึงเรื่องการทำประชามติไว้ว่า เมื่อจะมีการทำประชามติ การทำประชามติดังกล่าวต้องมีคนมาออกเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง เช่น มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 50 ล้านคน ก็ต้องมีคนมาออกเสียงไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน จะมาใช้สิทธิ์ออกเสียงกันแค่ 10 ล้านหรือ 20 ล้าน ไม่ได้ หรือหากมีประชาชนมีสิทธิ์ออกเสียง 40 ล้านคน ก็ต้องมีคนออกมาใช้สิทธิ์ 20 ล้านคน และต้องลงคะแนน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์

“เรียกว่าเป็นการฟังเสียงลักษณะแบบ Double คือครั้งแรกต้องมาใช้สิทธิ์ออกเสียงทำประชามติเกินกว่ากึ่งหนึ่งก่อน คือ คนมีสิทธิ์ 40 ล้านคน ต้องมาใช้สิทธิ์เกินกว่ากึ่งหนึ่งคือ 20 ล้านคนขึ้นไป และใน 20 ล้านคนขึ้นไปดังกล่าว จะต้องมีเสียงเกินกว่า 10 ล้านคนขึ้นไป อย่างนี้จึงถือว่าเป็นมติของมหาชน" 

...คือเป็นหลัก double ซึ่งเจตจำนง ความประสงค์อันสำคัญ เขาไม่ได้ต้องการให้เกิดสภาพว่ามาใช้สิทธิ์กันเท่าไหร่ก็ได้แล้วถือเป็นประชามติ เพราะประชามติถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ต้องฟังเสียงคนทั้งประเทศ จะไปฟังเพียงกระจุกเดียว 5 ล้าน 10 ล้านไม่ได้ ซึ่งมติมหาชนก็จะเป็นเรื่องที่รัฐจะนำไปพิจารณาในเรื่องหนึ่งเรื่องใด

            โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวต่อไปว่า สรุปแล้วร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ หัวใจสำคัญคือ 1.ฟังเสียงประชาชนเป็นสำคัญ 2.ต้องมีเสรีภาพ มีความเสมอภาค เปิดโอกาสให้รณรงค์กันได้ทุกฝ่าย และสุดท้าย เสียงนั้นต้องเป็นเสียงสวรรค์ที่มาจากมหาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่คนกระจุกใดกระจุกหนึ่ง ดังนั้นคนจะมาใช้สิทธิ์ จะมาใช้กัน 5 ล้าน 3 ล้าน 2 ล้าน แล้วจะมาบอกว่าเป็นเสียงประชามติแล้วก็ไม่ได้ ต้องเป็นเสียงของผู้มีสิทธิ์เกินกว่ากึ่งหนึ่ง และจะชนะกันได้ ต้องมาใช้สิทธิ์แล้วเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ทั้งหมดคือเจตจำนงของร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ

            ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติจึงเขียนไว้เพื่อรองรับในเรื่องใหญ่ๆ เพราะอย่างเรื่อง รธน.เป็นเรื่องใหญ่แน่นอน แต่บางครั้งรัฐบาลอาจอยากฟังเช่นเรื่อง กาสิโน มันควรจะมีหรือไม่มี เพราะบางทีรัฐออกไปเอง ก็จะเกิดเสียงข้อกล่าวหาโต้แย้ง ก็อาจเอาเสียงของประชาชนเป็นเกราะได้ หรือบางทีรัฐอยากฟังว่า อยากจะทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานอะไรต่างๆ หรือเรื่องที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆ ที่สำคัญ ก็อาจฟังเสียงประชาชนประกอบการตัดสินใจได้ เขาจึงบอกว่า แม้กฎหมายจะให้อำนาจหน้าที่กับฝ่ายบริหาร แต่บางครั้งฝ่ายบริหารก็อาจมาฟังเสียงประชาชนได้ เพราะการทำประชามติไม่ใช่การทำประชาพิจารณ์ เพราะประชาพิจารณ์คือเวทีให้ประชาชนมาวิพากษ์วิจารณ์แล้วก็ถือว่าได้ทำแล้ว แต่ประชามติต้องการให้มีมติ

            การทำประชามติถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ ซึ่งประเทศที่เขาเจริญแล้ว เขาถือว่าการฟังเสียงประชาชนในการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เราเองจึงต้องมีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับรัฐธรรมนูญและเสียงสวรรค์จากประชาชน 

            ส.ว.วันชัย กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาการทำงานของคณะกรรมาธิการที่มีเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการทำงานของ กมธ.ที่จะมีความเห็นแตกต่างกัน แต่ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุ เพราะในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในมาตรา 9 ตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมากคือให้ทำประชามติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่หมายถึง รธน.กำหนดไว้อย่างไร การทำประชามติก็ให้ทำตาม รธน. โดยเสรีและความเสมอภาค สุจริตเที่ยงธรรม และในมาตรา 10 ก็เขียนถึงกระบวนการทำประชามติ กรณีหากมีการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.จะต้องทำอย่างไร ส่วนมาตรา 11 ก็เขียนถึงเรื่องหาก ครม.เห็นสมควรให้ทำประชามติ การทำประชามติต้องทำอย่างไร

            ...ปรากฏว่าในมาตรา 9 นายชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย ได้เสนอแปรญัตติเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการว่าด้วยการทำประชามติ ขอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.การทำประชามติจะเกิดขึ้นเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ที่เป็นไปตามกรอบเดิม 2.ให้ทำประชามติเมื่อ ครม.เห็นสมควรที่ก็เป็นไปตามกติกาเดิม แต่ประเด็นที่ 3 อาจารย์ชูศักดิ์ขอแปรญัตติเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการคือ ให้ทำประชามติเมื่อกรณีที่กฎหมายกำหนด ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายท้องถิ่น กฎหมายป่าไม้ กฎหมายเหมืองแร่ หากกำหนดไว้ก็ให้ทำประชามติได้ และประเด็นที่ 4 นายชูศักดิ์ขอแปรญัตติเข้ามาอีกคือ ให้ทำประชามติได้เมื่อรัฐสภาพิจารณาเห็นสมควรและมีมติ ที่เป็นการแปรญัตติเพิ่มเติมเข้ามา อันหมายถึงหากรัฐสภามีมติเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วส่งให้คณะรัฐมนตรีทำประชามติ และข้อสุดท้ายคือ ให้ทำประชามติเมื่อประชาชนเสนอขอให้ทำประชามติ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด สรุปแล้วอาจารย์ชูศักดิ์เสนอเพิ่มเติมเข้ามา 3 อนุมาตรา คือหนึ่ง-เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สอง-เมื่อรัฐสภาพิจารณาแล้วเห็นสมควรมีมติให้ทำประชามติ และสุดท้ายคือเมื่อประชาชนเสนอชื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ

            ...ตอนประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 18 มีนาคมก็มีการอภิปรายสู้กัน อาจารย์ชูศักดิ์ก็อภิปรายว่าควรให้ประชาชนมีสิทธิ์ด้วย ไม่ใช่แค่ให้รัฐบาล คณะรัฐมนตรีอย่างเดียว เพราะหากประชาชนเห็นว่าถ้ามีเรื่องหนึ่งเรื่องใดควรขอประชามติก็เสนอไปคณะรัฐมนตรีได้ รวมถึงอภิปรายว่า สภามาจากการเลือกตั้ง หากพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้ว ก็น่าจะมีสิทธิ์ นายชูศักดิ์ก็อภิปรายนำเสนอ กรรมาธิการเสียงข้างมากก็อภิปรายโต้แย้งกัน ซึ่งปกติในสภา กมธ.เสียงข้างมากมักจะชนะ โดยที่ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.ก็อยู่ในกรรมาธิการเสียงข้างมาก การประชุมเมื่อ 18 มีนาคมนายชูศักดิ์อภิปรายไป ฝ่ายเสียงข้างมากผมเดาเอาน่าจะประมาท หรืออาจจะไปเข้าห้องน้ำ ไปกินข้าวหรือออกไปไหน ปรากฏว่าไม่อยู่เป็นส่วนใหญ่ พอโหวตกันในห้องประชุมร่วมรัฐสภา เสียงออกมาแพ้ฝ่ายค้านไป 6 เสียง

ต่อมาพอประธานในที่ประชุมจะให้พิจารณามาตรา 10  ต่อไป ทางประธานกรรมาธิการ (สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย  อดีตรองประธานวุฒิสภา) บอกว่าหากเป็นแบบนี้เดินต่อไปไม่ได้ เพราะไม่มีการเขียนในมาตราอื่นๆ ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติรองรับไว้ โดยเฉพาะกรณีหากประชาชนเสนอให้ ครม.ทำประชามติจะต้องมีกระบวนการอย่างไร ไม่ได้เขียนไว้ รวมถึงกรณีหากสภามีมติส่งเรื่องให้ ครม.ทำประชามติ ในร่างก็ไม่ได้เขียนมาตราไหนรองรับไว้เช่นกันว่า หากสภามีมติส่งไป ครม.แล้วจะต้องทำอย่างไร  ทำให้ประธานกรรมาธิการต้องขอพักการประชุมไว้ก่อน

            ...ปรากฏว่าที่หลังบัลลังก์ของประธานรัฐสภาคุยกันตอนแรก 20 นาที ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้บอกกับกรรมาธิการว่า หากมาตรา 9 ออกมาเป็นแบบนี้จะทำให้ไปขัดกับมาตราอื่นๆ ตามร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติอีกหลายเรื่อง เผลอๆ จะไปขัดกับ รธน.อีก เพราะ รธน.บัญญัติเรื่องการประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือ ส.ส.และ ส.ว. จะทำได้มีประมาณสิบกว่าเรื่อง แต่เรื่องจะให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาประชุมกันเพื่อมีมติเรื่องการทำประชามติ รธน.ไม่ได้บัญญัติไว้ให้ทำในโอกาสใด เลยเกรงกันว่าอาจจะขัด รธน.หรือไม่ ก็มีการเถียงกันอยู่หลังบัลลังก์เป็นชั่วโมง จนประธานรัฐสภาถามตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะรับเรื่องนี้ไปพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ภายในกี่วัน ทางตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบว่าใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ส่วนกรรมาธิการจะประชุมกันได้ก็ประมาณสองวันหลังกฤษฎีกาส่งเรื่องกลับมายังรัฐสภา ประธานชวนเลยเสนอให้เลื่อนการพิจารณาเมื่อ 18 มี.ค.ออกไปก่อน แล้วจะไปเจรจากับรัฐบาลเพื่อขอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ

...เท่าที่ทราบตอนนี้ทางฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังจะแก้ว่า จะทำยังไงกับมาตราที่มีการเพิ่มเติมเข้ามาใน 2-3 ประเด็นตามที่อาจารย์ชูศักดิ์แปรญัตติเพิ่มเข้ามา จะแก้กฎหมายมาตราอื่นๆ ให้สอดรับได้หรือไม่  อย่างเช่น "กฎหมายอื่นใด" น่าจะไปเขียนว่ามันคืออะไร  และสำหรับกรณีที่ประชาชนเข้าชื่อขอให้รัฐบาลทำประชามติ ควรจะมีเท่าไหร่ อย่างไร และรัฐสภาหากจะมีมติให้ทำประชามติได้ จะต้องเป็นเรื่องที่มีลักษณะอย่างไร  มีวิธีการประชุมร่วมอย่างไร ซึ่งในมาตรา 14-17 ของร่าง  พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติไม่ได้เขียนไว้เลย เขากำลังหาความพอดีกันอยู่

            โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... ชี้ประเด็นไว้ว่า การเสนอแปรญัตติของอาจารย์ชูศักดิ์ที่เป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยในครั้งนี้ หากสุดท้ายถ้ามันผ่านความเห็นชอบออกมาจริงๆ มันเป็นลักษณะที่เกินกว่ากรอบที่ รธน.กำหนดไว้หรือไม่ เพราะ รธน.กำหนดอยู่แค่สองเรื่อง แต่พอเติมเรื่องที่ 3-4-5 เข้ามาในร่าง พ.ร.บ. มันเกินกว่าที่ รธน.กำหนดหรือไม่ ประการที่สอง หากร่าง พ.ร.บ.ผ่านออกมาแบบนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติ-รัฐสภาจะก้าวล่วงฝ่ายบริหารเกินไปหรือไม่ ประการที่สาม ที่ให้ภาคประชาชนเข้าชื่อกันมาเสนอให้ ครม.ทำประชามติ มันก็จะเป็นการให้อำนาจภาคประชาชนเกินส่วนหรือไม่ เพราะ รธน.ไม่ได้บัญญัติไว้ และการทำประชามติแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท มันน่าจะเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่จะพิจารณา ฝ่ายนิติบัญญัติกับประชาชนมันไม่น่าจะไปก้าวล่วงเขาตรงนี้

“คนเขาก็เลยคิดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้น่าจะขัด รธน.หรือไม่ สอง-เป็นการบีบบังคับฝ่ายบริหารเกินไปหรือไม่ สาม-ถ้าหากยังมีต่อไป มันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติหรือไม่ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติเมื่อเห็นว่าฝ่ายบริหารทำอะไรไม่ดี ก็ควรเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออภิปรายทั่วไปตามรธน. แต่นี่เกิดให้ทำประชามติ มันเป็นการก้าวล่วงระหว่างอำนาจของสองอำนาจนี้หรือไม่ ทั้งหมดก็เป็นประเด็นเป็นปัญหา”

            วันชัย-สมาชิกวุฒิสภา กล่าวต่อไปว่า การประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติวันที่ 1-2 เม.ย.นี้ หากสามารถยอมรับกันได้ โดยที่ไม่สามารถไปทำอะไรกับมาตรา 9 ได้ เพราะที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตไปแล้ว แต่ถ้ามีการแก้ไขแล้วมันสอดรับมันถ่วงดุลกันได้ ก็แปลว่ายอมรับกันได้ การลงมติวาระ 3 ถัดจากนั้นก็อาจให้ผ่านไป แต่หากตกลงกันไม่ได้ยอมรับกันไม่ได้ หรือทางฝ่ายกฤษฎีกาบอกว่าแก้ไม่ได้ เอาละดันกันไปทั้งอย่างนี้แล้วไปโหวตให้ตกในวาระ 3 ได้หรือไม่ แต่ว่าร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติเป็นร่างของรัฐบาล  หากว่าไปตกในการโหวตวาระ 3 มันจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ ก็มีคนคิดกัน หรือว่าจะให้ร่าง พ.ร.บ.ผ่านไป แล้วมีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แล้วหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดกับ รธน. ร่าง พ.ร.บ.ก็ตกไปได้เหมือนกัน หรือว่าร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติผ่านหมด ก็มีคนเขียนในชั้นนี้ว่าก็ให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลได้ไหมว่า ยังไม่ให้ใช้บังคับได้ จะให้ใช้ได้เมื่อนั้นเมื่อนี้ เฉพาะที่เขาขอแปรญัตติ  หรือบางคนบอกไม่ต้องมีก็ได้บทเฉพาะกาล แต่ถึงเวลาพอมันผ่านรัฐสภาไปเรียบร้อยแล้ว ก็รีบเสนอกฎหมายเข้ามาขอแก้ไขเสีย แบบที่ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ไว้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกมายังไง   ต้องรอดูการประชุม กมธ.วันที่ 1-2 เม.ย.นี้

            ...แต่ตอนนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้งในทางเทคนิค ในทางกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเป็นการสะท้อนความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาลที่เห็นไม่ตรงกัน  และหากทางออกของเรื่องนี้ออกมาไม่เป็นที่ยอมรับ และในที่สุดทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไปในรัฐสภา มันก็น่าคิดว่าความรับผิดชอบนี้ที่เป็นคนเสนอกฎหมายจะอยู่กับใคร คนอาจจะเรียกหาความรับผิดชอบจากรัฐบาลที่เป็นคนเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่ากฎหมายของคุณเองแท้ๆ ทำไมทำตก ก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังมองและคิดกันว่าเรื่องนี้อาจเป็นรอยปริในพรรคร่วมรัฐบาล อาจเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง หรืออาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง เป็นเรื่องที่คนคิดไป หรืออาจเป็นเหตุอันสำคัญ คือหากกฎหมายมันตกไปแล้วคนเรียกหาความรับผิดชอบ มันถึงขั้นต้องแสดงความรับผิดชอบอะไรหรือไม่ แต่จริง ๆ แล้วการประชุม กมธ.วันที่ 1-2 เม.ย.อาจหาทางออกเจอก็ได้ ถ้าหาทางออกไม่ได้ก็ดูต่อไปว่าเขาจะไปตายเอาดาบหน้าแบบไหน แต่ผมก็เชื่อว่าไม่ถึงทางตัน แต่มันจะทำให้เห็นถึงรอยปริของความขัดแย้งในบางเรื่อง

            -ที่บอกไปตายเอาดาบหน้าหมายถึง?

            ก็หมายถึงดันให้มันผ่านไป แล้วก็ไปแก้เอาดาบหน้า แบบด้วยวิธีต่างๆ เช่น หนึ่ง-ส่งศาล รธน. อันนี้ก็ดาบหน้า  แต่หากส่งไปแล้วร่างยังผ่าน ต่อไปก็คือก็รีบขอเสนอแก้ไข พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ โดยรีบส่งเรื่องกลับเข้ามายังรัฐสภาใหม่

            -เรื่องร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองอะไรหรือไม่?

            ผมเชื่อว่าคนที่เป็นรัฐบาลทั้งหมด แม้แต่เรื่อง รธน.ที่น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่เขาก็ยังพยายามประคับประคองให้อยู่กันได้ต่อไป ความจริงมันน่าจะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนที่เป็นรัฐบาล เพราะเป็นนโยบาย ก็ยังประคับประคองกันต่อไป ขณะนี้แม้ความเห็นทางการเมืองเรื่อง รธน.ไม่ตรงกัน ถึงขนาดแยกพรรคแยกพวก พลังประชารัฐไปทาง ขณะที่ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนาก็ไปอีกทาง คุณเห็นไหมว่ารอยปริอันเกิดจาก รธน.ก็เริ่มแล้ว มีความระหองระแหงกันพอสมควร แต่แน่นอนว่าเรื่องอำนาจก็ทำให้คงไม่มีใครอยากออกไป แต่ลึกๆ มันมีรอยปริในเรื่องแนวทางต่างๆ เหล่านี้เพียงแต่จะประนีประนอมกันได้นานแค่ไหน

เรื่องร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ซ้ำเติมรอยปริขึ้นมา เพราะฉะนั้นหากมีอุบัติเหตุจากภายนอกเข้ามาผสมปนเป ทั้งเรื่อง รธน.หรือการเคลื่อนไหวในการไล่อะไรที่ทำกันอยู่ ถ้ามันผสมปนเปกันทั้งในรัฐบาล ภายในรัฐสภา และภายนอกรัฐสภา ซึ่งขนาดภายในรัฐสภายังเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้ามีภายนอกเข้ามาผสมปนเป วันนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนก็ได้ ซึ่งผมไม่รู้ การประชุม กมธ.วันที่ 1-2 เม.ย.นี้ต้องดูว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ทางกฤษฎีกา เสนอกลับเข้ามายังกรรมาธิการจะเป็นที่ยอมรับหรือแก้ปัญหาที่เรากังวลนี้ได้หรือไม่ ถ้าแก้ได้ผมก็เชื่อว่าไปได้และเป็นที่ยอมรับได้

            "แต่ถ้ามันเกิดไม่ได้ มันก็จะทำให้เกิดไปตายเอาดาบหน้าคือ ร่างตกในวาระสาม นี่คือตายเอาดาบหน้า หรือตกในชั้นศาล รธน. แล้วก็ต้องเสนอร่างฉบับใหม่เข้ามา อันนี้ก็เรื่องดาบหน้า หรือในที่สุดมันผ่านไปทั้งหมด ก็ต้องเสนอร่างแก้ไขกฎหมายใหม่เข้ามาเพื่อแก้ไข เพราะปล่อยตามที่แปรญัตติไว้ต่อไปจะเป็นปัญหาทั้งต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นปัญหาตาม รธน.

หากการประชุม กมธ. 1-2 เม.ย. ถ้าตกลงกันได้ก็พอที่จะทำให้ปัญหาที่เราวิตกกังวลเป็นไปได้ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ผมไม่รู้ว่าทางออกของปัญหาเหล่านี้ จะนำไปสู่ทางตันและก่อให้เกิดรอยปริทางการเมือง  จนกระทั่งเป็นอุบัติเหตุเหมือนที่เกิดขึ้นกับตอนพิจารณามาตรา 9 หรือไม่" ส.ว.วันชัยกล่าวปิดท้าย. 

                                                โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"