รอยเตอร์อ้างสื่อท้องถิ่นและผู้เห็นเหตุการณ์ว่า กองกำลังความมั่นคงเมียนมายิงสังหารประชาชนอย่างน้อย 90 คน รวมถึงเด็กชายวัย 5 ขวบ ระหว่างการปราบปรามผู้ประท้วงในหลายเมืองเมื่อวันเสาร์ ซึ่งตรงกับวันกองทัพเมียนมา
ผู้ประท้วงปะทะกับกองกำลังความมั่นคงในเมืองย่างกุ้งเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 (Photo by Stringer/Anadolu Agency via Getty Images)
การปราบปรามที่นองเลือดที่สุดนับแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตรงกับวันกองทัพบกเมียนมา 27 มีนาคม 2564 ที่ซึ่งพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร กล่าวระหว่างพิธีสวนสนามที่กรุงเนปยีดอว่า กองทัพจะปกป้องประชาชนและต่อสู้ดิ้นรนเพื่อประชาธิปไตย
เมื่อวันศุกร์ สถานีโทรทัศน์ของทางการเมียนมาเพิ่งเตือนว่า ผู้ประท้วงที่มาชุมนุมในวันกองทัพเสี่ยงต่อการโดนยิง "ที่หัวและหลัง" แต่ผู้ประท้วงไม่หวาดกลัวต่อคำเตือนนี้ และยังคงออกมาชุมนุมกันในหลายเมืองทั่วประเทศ โดยเฉพาะในสองเมืองใหญ่ที่สุดคือ ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์
รอยเตอร์อ้างสำนักข่าวออนไลน์ เมียนมานาว ว่ามีคนโดนกองกำลังความมั่นคงฆ่าตายแล้วอย่างน้อย 91 คนทั่วประเทศในวันเสาร์ มีรายงานของสื่อท้องถิ่นด้วยว่า เด็กชายวัยเพียง 5 ขวบ เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 29 คนที่โดนฆ่าตายที่เมืองมัณฑะเลย์ ส่วนที่ย่างกุ้งมีรายงานคนเสียชีวิตอย่างน้อย 24 คน
นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้เสียชีวิตในหลายเมือง อาทิ ในภูมิภาคสะกายทางภาคกลาง, เมืองล่าเสี้ยวในภาคตะวันออก, ภูมิภาคพะโคที่อยู่ใกล้ย่างกุ้ง และที่อื่นๆ มีรายงานเด็กวัย 1 ขวบโดนกระสุนยางยิงเข้าตาด้วย
จำนวนผู้เสียชีวิตล่าสุดจะทำให้มีพลเรือนสังเวยการปราบปรามของทหาร-ตำรวจเมียนมานับแต่รัฐประหารแล้วมากกว่า 400 คน
ผู้ประท้วงเผาสิ่งของกลางถนนระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่เมืองมัณฑะเลย์เมื่อวันเสาร์ (Photo by Stringer/Anadolu Agency via Getty Images)
ขณะเดียวกัน สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 24 กลุ่มในเมียนมา กล่าวว่า ทหารเคเอ็นยูได้บุกโจมตีที่มั่นของกองทัพเมียนมาใกล้ชายแดนไทย ฆ่าฝ่ายตรงข้าม 10 คน รวมถึงพันโทเมียนมานายหนึ่ง ส่วนเคเอ็นยูสูญเสียทหาร 1 นาย
รอยเตอร์ยังอ้างคำกล่าวของพลเอกเจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐชาน/กองทัพรัฐชาน-ใต้ หนึ่งในกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา เตือนกองทัพเมียนมาว่า ถ้ายังคงยิงผู้ประท้วงและรังแกประชาชน เขาคิดว่ากลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดในเมียนมาจะไม่ยอมดูอยู่เฉยๆ และไม่ทำอะไรเลย
ด้านผู้แทนสหภาพยุโรปในเมียนมากล่าวว่า วันกองทัพเมียนมาปีที่ 76 จะถูกจารึกไว้ว่าเป็นวันแห่งความหวาดกลัวและความอัปยศ "การสังหารพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ รวมถึงเด็ก เป็นการกระทำที่ไม่อาจแก้ตัวได้"
รายงานเอเอฟพี ซึ่งยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตที่อย่างน้อย 24 คน กล่าวว่า สถานทูตสหรัฐในเมียนมาก็ออกแถลงการณ์ทางเพจเฟซบุ๊กของสถานทูต ประณามรัฐบาลทหารเมียนมาเช่นกันที่สังหารพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ รวมถึงเด็ก ซึ่งเป็นบุคคลที่พวกเขาสาบานว่าจะปกป้อง "การกระทำเหล่านี้ไม่ใช่การกระทำของทหารหรือตำรวจมืออาชีพ" แถลงการณ์กล่าว
อาร์ยานี แมนริง โฆษกสถานทูตสหรัฐประจำย่างกุ้ง กล่าวก่อนหน้านี้ว่า กระสุนปืนหลายนัดโดนศูนย์วัฒนธรรมของสหรัฐในนครย่างกุ้งเมื่อวันเสาร์ แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์นี้อยู่ระหว่างการสอบสวน
ระหว่างพิธีสวนสนามที่เมืองหลวง พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ย้ำคำมั่นสัญญาของเขาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่เขาไม่ได้ระบุกรอบเวลา "กองทัพพยายามหาทางร่วมมือกับประชาชนทั้งชาติเพื่อปกป้องประชาธิปไตย" คำกล่าวของผู้นำรัฐบาลทหารผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ "การกระทำรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความปลอดภัย เพื่อให้ได้ตามที่เรียกร้องนั้น ไม่เหมาะสม"
วันกองทัพเมียนมาที่ตรงกับวันเสาร์เป็นการรำลึกวันเริ่มต้นที่กองทัพบกเมียนมาเริ่มต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นเมื่อปี 2488 โดยมีนายพลอองซาน ผู้ก่อตั้งกองทัพพม่า ซึ่งเป็นบิดาของนางอองซาน ซูจี เป็นผู้นำก่อการ
รอยเตอร์อ้างนักการทูตหลายรายว่า พิธีสวนสนามที่เนปยีดอปีนี้มีผู้แทนจาก 8 ประเทศมาร่วมพิธีด้วย ได้แก่ รัสเซีย, จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เวียดนาม, ลาว และไทย แต่มีรัสเซียประเทศเดียวที่ส่งระดับรัฐมนตรีมา
อเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย ที่มาร่วมชมพิธีสวนสนามครั้งนี้ ได้พบกับบรรดาผู้นำอาวุโสของรัฐบาลทหารเมียนมาด้วยเมื่อวันศุกร์
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |