“สันหลังมังกร” สุสานหอยล้านปีกลางทะเลอันดามันจุดขายที่ตันหยงโป
ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยเป็นเมืองในฝันของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่าปีละ 32 ล้านคน ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศประมาณปีละ 16 ล้านล้านบาท แต่เมื่อต้องเจอกับพิษโควิด-19 รายได้จากการท่องเที่ยวแทบจะเป็นศูนย์ ธุรกิจการท่องเที่ยวจึงเหมือนกับคนไข้ในห้องไอซียู ขณะที่ภาครัฐต้องงัดมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อสนับสนุนให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวเพื่อช่วยกันต่อลมหายใจให้กับธุรกิจท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของชุมชนต่างๆ ที่มีการจัดการ ‘การท่องเที่ยวโดยชุมชน’ แม้จะไม่ได้รับผลกระทบเหมือนกับธุรกิจเอกชนมากนัก แต่ชุมชนต่างๆ เหล่านี้ต่างก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ดังตัวอย่างที่ตำบลตันหยงโป อ.เมือง จ.สตูล และเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนอำเภอปะทิว จ.ชุมพร
‘ตันหยงโป’ “ถ้าเราไม่รักษาทะเล อย่าหวังว่าทะเลจะรักษาเรา”
ตำบลตันหยงโป อ.เมือง จ.สตูล อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นชุมชนประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเลอันดามัน มีอาณาเขตทางทะเลติดต่อกับเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย สภาพตำบลมีลักษณะเป็นแหลมหรือ “ตันหยง’” ในภาษามลายู ในสมัยก่อนมีต้นมะม่วงใหญ่หรือ “เปาฮฺ” (ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “โป”) ขึ้นอยู่บริเวณหัวแหลม เป็นหมุดหมายของเรือประมง จึงเรียกแหลมนี้ว่า “ตันหยงโป” ปัจจุบันมี 3 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 3,000 คนเศษ เกือบทั้งหมดเป็นชาวมุสลิม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เช่น จับปลา ปูม้า กุ้ง หอย กั้ง ทำกะปิ ปลาเค็ม ปลาแห้ง
อิดริส อุเส็น อดีตกำนันตำบลตันหยงโป เล่าว่า ตำบลตันหยงโปในสมัยก่อนมีสัตว์น้ำต่างๆ ชุกชุม เพราะมีป่าชายเลน ป่าโกงกาง หญ้าทะเล แนวปะการัง และสภาพท้องทะเลมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ สัตว์น้ำต่างๆ จึงมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ ก่อนปี 2537 สัตว์น้ำต่างๆ ถูกเรืออวนรุน-อวนลากต่างถิ่นเข้ามาจับปลาแบบทำลายล้าง จับกันทั้งวันทั้งคืน มีเรือที่เข้ามาทำประมงผิดกฎหมายประมาณ 200 ลำ เรือประมงเหล่านี้จะใช้อวนตาถี่กวาดปลาเล็กปลาน้อย กุ้ง หอย ปู กั้ง ปะการัง ติดไปกับอวนจนเกือบหมดทะเล แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่เข้มงวดกวดขัน เรือประมงผิดกฎหมายจึงจับปลากันอย่างสบายใจ
อิดริส อุเส็น
“ช่วงปี 2538 ตอนนั้นผมยังเป็นชาวบ้านธรรมดา แต่มองเห็นปัญหา จึงมาคิดว่าถ้าชาวบ้านไม่ร่วมกันปกป้องท้องทะเลหน้าบ้าน ซึ่งเป็นหม้อข้าวหม้อแกงของเราก็จะหมดไป เพราะพวกเราเป็นชาวประมง ไม่มีที่ดิน ไม่มีสวนยาง มีแต่ทะเล ถ้าเราไม่รักษาทะเล อย่าหวังว่าทะเลจะรักษาเรา ผมจึงชวนแกนนำในชุมชน 4-5 คนมาช่วยกันออกเรือตรวจตราและประกาศห้ามเรือประมงผิดกฎหมายเข้ามาที่อ่าวตันหยงโป เริ่มจากคนไม่กี่คน ต่อมาชาวบ้านก็เข้ามาร่วมมากขึ้น ผู้หญิงก็ออกมาด้วย ช่วยกันออกเงินซื้อน้ำมันวิ่งเรือตรวจเอง ใช้เวลา 3-4 ปีจึงเริ่มเห็นผล พวกเรือประมงผิดกฎหมาย เมื่อเห็นว่าพวกเราเอาจริงก็ถอยไป ไม่กล้าเข้ามาอีก” อิดริสเล่าถึงการปกป้องทะเลหน้าบ้านซึ่งเป็นเสมือนธนาคารอาหารของชุมชน
ต่อมาเมื่ออิดริสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 บ้านบากันเคย ( ‘บากัน’ คือที่พัก ‘เคย’ คือกะปิ หมายถึงที่พักทำกะปิ) และเป็นกำนันตำบลตันหยงโปในเวลาต่อมา จึงทำให้การปกป้องท้องทะเลเข้มข้นขึ้น เพราะมีอำนาจหน้าที่และกฎหมายรองรับ ไม่ใช่เป็นผู้นำมือเปล่าเหมือนแต่ก่อน มีการตั้งกฎ กติกาของชุมชน เช่น ไม่จับสัตว์น้ำในรัศมี 300 เมตรจากชายฝั่ง เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เมื่อได้ปลา ปู กั้งตัวเล็กจะต้องปล่อยคืนทะเล
นอกจากนี้ยังห้ามทำลายป่าชายเลน ป่าโกงกาง หากตัดไม้มาใช้ประโยชน์ 1 ต้นจะต้องปลูกใหม่ 10 ต้น ฯลฯ เมื่อการดูแลท้องทะเลเห็นผล หน่วยงานต่างๆ จึงเริ่มเข้ามาสนับสนุนชุมชน เช่น ให้เรือตรวจการณ์ที่มีความเร็วกว่าเรือประมงพื้นบ้านจำนวน 1 ลำเพื่อปกป้องท้องทะเล รวมทั้งอิดริสในฐานะผู้นำยังขยายเครือข่ายจากแต่เดิมที่ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรเฉพาะที่บ้านบากันเคย ได้ขยายผลและเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ในตำบลและอำเภออื่นอีกด้วย
วิถีประมงพื้นบ้านจับปูได้ครั้งละ 1 ตัว หากเป็นเรืออวนลากหรือประมงพาณิชย์จะกวาดทั้งทะเล
‘ธนาคารกั้ง’ แห่งแรกของประเทศไทย
ธนาคารกั้ง จัดตั้งขึ้นที่บ้านบากันเคยในช่วงปี 2549 โดยการนำของอิดริส อุเส็น ถือเป็นธนาคารกั้งแห่งแรกในประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดสงขลา-สตูล โดยชาวชุมชนช่วยกันลงแรงนำไม้ไผ่และกระเบื้องมุงหลังคามาปักเป็นแนว 4 เหลี่ยมในทะเลชายฝั่งที่เป็นดินเลน แล้วนำอวนมากั้นเป็นบ่อเลี้ยงกั้งริมทะเล
เมื่อชาวประมงจับกั้งได้ก็จะนำมาฝากที่ธนาคารแห่งนี้ ส่วนกั้งตัวเล็กๆ ก็จะปล่อยคืนทะเล โดยจะมีการจดบันทึกชื่อผู้ฝากและจำนวนกั้งที่ฝาก รวมทั้งปล่อยพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กั้งลงในบ่อเพื่อให้ขยายพันธุ์ ใช้ปลาเล็กปลาน้อยเป็นอาหารกั้ง แบ่งพื้นที่เพาะเลี้ยงตามขนาดของกั้ง คือ ไซส์ A B และ C โดยไซส์ A จะใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 2 เดือน ไซส์ B ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน และไซส์ C ประมาณ 6-7 เดือน เมื่อกั้งโตได้ขนาดผู้ฝากก็จะจับกั้งไปขาย ราคาในช่วงนั้นประมาณกิโลกรัมละ 600-800 บาท
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกั้งดำเนินการได้ประมาณ 2 ปีก็ต้องยุติลง เนื่องจากไม้ไผ่และกระเบื้องมุงหลังคาที่นำมาปักเป็นแนวได้รับความเสียหายจากลมมรสุมและคลื่นในทะเลที่ซัดใส่อยู่ตลอดเวลาทำให้บ่อกั้งพัง การซ่อมแซมต้องใช้งบประมาณและกำลังคนมาก
“ธนาคารกั้งเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป้าหมายของเราจริงๆ ไม่ใช่ทำเพื่อธุรกิจ แต่เราต้องการขยายพันธุ์กั้งให้มีจำนวนมากๆ และเป็นแหล่งเรียนรู้วงจรชีวิตของกั้ง เพราะกั้งมีหลายชนิด บางชนิดอาศัยอยู่ในทะเลลึก บางชนิดอาศัยอยู่ในรูโคลน และมีการหากินไม่เหมือนกัน เราก็ต้องศึกษาเรียนรู้ต่อไป และถึงแม้เราจะไม่มีธนาคารกั้ง แต่หากเรามีจิตสำนึก ไม่จับกั้งตัวเล็ก ปล่อยให้กั้งได้เติบโตตามธรรมชาติ ก็เหมือนกับธนาคาร ถ้าเราถอนเงินอย่างเดียว เงินก็จะหมดไป เราจึงต้องฝากด้วย ทะเลก็เหมือนกัน ถ้าเราช่วยกันดูแล ทะเลก็จะสมบูรณ์ เป็นธนาคารที่ทุกคนมาเบิกได้ แต่ก็จะต้องฝากด้วย” ผู้ก่อตั้งธนาคารกั้งกล่าวย้ำ
การ ‘ย่ำกั้ง’ จับ‘กั้งตั๊กแตน’ ในเลนโคลนที่เด็กชายชาวเลจับด้วยมือเปล่า ทำรายได้วันละกว่า 1 พันบาท
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งธนาคารปูม้า เพื่อนำแม่ปูไข่ที่จับได้มาเพาะเลี้ยงให้ไข่โตเต็มที่ ตัวหนึ่งจะมีไข่ตั้งแต่ 200,000-2,000,000 ฟอง (ตามขนาดของปู) แล้วนำปูวัยอ่อนปล่อยคืนสู่ทะเล (อัตรารอดต่ำสุดประมาณ 2 %) เพื่อให้ลูกปูม้าเจริญเติบโต เป็นแหล่งอาหาร แหล่งรายได้หมุนเวียนของชาวประมงตันหยงโป รวมทั้งยังปล่อยพันธุ์กุ้ง ปลากะพง ปีละ 2 ครั้ง ฯลฯ
“ไม่ใช้เงินลงหุ้น แต่ใช้แรงงานแทนเงิน”
จากการจัดตั้งธนาคารกั้งแห่งแรกในประเทศไทยในปี 2549 จึงทำให้มีกลุ่มองค์กรและผู้นำชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศเดินทางมาศึกษาดูงานธนาคารกั้งที่บ้านบากันเคยเป็นจำนวนมาก อิดริสจึงมีแนวคิดจัดทำที่พักรองรับผู้ที่มาศึกษาดูงานแห่งนี้ โดยไปศึกษาดูงานการจัดทำที่พักโฮมสเตย์ที่จังหวัดตราด
เริ่มทำที่พักริมทะเลบ้านบากันเคยในปี 2550 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณเบื้องต้นจากศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จำนวน 280,000 บาท เพื่อก่อสร้างที่พักแบบง่ายๆ ใช้งบประมาณไม่มาก ไม่ใช้วิธีการระดมเงินจากชาวบ้าน แต่เน้นใช้การลงแรงจากชาวบ้านแทนการลงหุ้น และต่อมาได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดสตูลจำนวน 1 ล้านบาทเพื่อสร้างร้านอาหารและปรับปรุงที่พัก จึงขยายไปสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยจัดตั้งเป็น ‘กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านบากันเคย จังหวัดสตูล' มีที่พัก อาหาร และเรือนำนักท่องไปชมทะเลและวิถีชีวิตชาวประมง
รีสอร์ทชุมชนบ้านบากันเคย
“ที่นี่เราจะไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง เพราะหากใช้เงินลงหุ้น คนที่ไม่มีเงินก็จะไม่ได้เป็นสมาชิก เราจึงให้คนที่จะเป็นสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวฯ ใช้แรงทำงานให้แก่กลุ่ม เมื่อครบ 100 ชั่วโมงจึงจะให้เข้าเป็นสมาชิก เช่น คนที่จะเอาเรือมารับนักท่องเที่ยวจะต้องวิ่งเรือรับนักท่องเที่ยวให้กลุ่มฯ 100 ชั่วโมง จากนั้นกลุ่มจะพิจารณาให้เข้าเป็นสมาชิก เมื่อมีรายได้จะหักค่าเรือเข้ากลุ่มเพื่อเป็นค่าบริหารจัดการเที่ยวละ 100 บาท” อิดริสบอกและย้ำว่า การใช้แรงงานเป็นหุ้นทำให้สมาชิกมีส่วนร่วมและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ส่วนการบริหารกลุ่มท่องเที่ยวฯ ผู้นำต้องมีความซื่อสัตย์ ทำงานด้วยความโปร่งใส สมาชิกสามารถตรวจสอบได้
ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจและทุนชุมชน
ต่อมาในปี 2553 อิดริสจึงรวบรวมกลุ่มต่างๆ ในตำบลตันหยงโปจำนวน 35 กลุ่ม จัดตั้ง ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลบากันเคย’ ขึ้นมา (ตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มีรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีหน้าที่ส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชนฯ ) เพื่อใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน เป็นเวทีประชุม ปรึกษาหารือ รวมทั้งวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนตำบล มีการวางแผนพัฒนาและปรับปรุงทุกๆ 5 ปี มีแผนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่งเสริมอาชีพประมง การแปรรูปอาหารทะเล การท่องเที่ยวโดยชุมชน
โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน กลุ่มฯ มีเป้าหมายจะพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพราะจังหวัดสตูลมีชายแดนทั้งทางบกและทางทะเลติดต่อกับประเทศมาเลเซีย และอยู่ไม่ไกลจากบรูไนและสิงคโปร์
โดยในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียนิยมมาท่องเที่ยวและกินอาหารทะเลที่จังหวัดสตูล เนื่องจากอาหารทะเลที่สตูลมีราคาถูกกว่าและอร่อยกว่า แต่เมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 แผนงานดังกล่าวจึงต้องระงับไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ปกติ
อาหารทะเลจากกลุ่มแม่บ้านประมงอาสา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน (มีนาคม 2564) ยังมีนักท่องเที่ยวชาวไทยจากทั่วภูมิภาคเดินทางมาท่องเที่ยวที่ตันหยงโป มาใช้บริการท่องเที่ยว ที่พัก และกินอาหารทะเลที่บ้านบากันเคยเป็นปกติ แต่จำนวนลดน้อยลง ไม่คึกคักเหมือนในยามปกติ แต่ก็ยังสร้างและกระจายรายได้ให้ชาวชุมชนอย่างทั่วถึง
โดยชุมชนมี Facebook ‘รีสอร์ทชุมชนบ้านบากันเคย ทะเลแหวกสันหลังมังกร จ.สตูล’ เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยว รีสอร์ทชุมชนมีที่พัก 7 ห้อง ค่าที่พักห้องละ 800 บาทพร้อมอาหารเช้า ห้องพักรวม 3 ห้อง (หัวละ 200 บาทพร้อมอาหารเช้า) รับนักท่องเที่ยวได้พร้อมกัน 80 คน ค่าเรือท่องเที่ยวลำละ 2,000 บาท ค่าอาหารหัวละ 200 บาทขึ้นไป
บุหงา อุเส็น ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านประมงอาสาบ้านบากันเคย บอกว่า ตอนนี้ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทุกวัน วันละ 2-3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งประมาณ 5-6 คนขึ้นไป จนถึง 20-30 คน บางกลุ่มมาจากกรุงเทพฯ จองห้องพักและอาหารล่วงหน้า บางกลุ่มมาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น ยะลา สงขลา บางกลุ่มไม่ได้เข้าพักแต่มากินอาหารทะเลและซื้อสินค้าจากกลุ่มแม่บ้าน เช่น กะปิ ปลาแห้ง มันกั้ง ฯลฯ
“อาหารทะเลที่ขึ้นชื่อของบากันเคยก็คือ กั้งทะเลสดๆ ตัวใหญ่ๆ จะเอามาทอดกระเทียมหรือยำก็ได้ นอกจากนี้เรายังมีกุ้งแชบ๊วย ปลาเก๋า ปลาจาระเม็ด หมึก ปูม้า ปูดำ แล้วแต่นักท่องเที่ยวต้องการจะกินอะไร หรือช่วงนั้นเรือประมงจับปลาอะไรได้ ค่าอาหารราคาต่อหัว 200 บาทขึ้นไป ส่วนกลุ่มแม่บ้านที่มาช่วยงานก็จะมีรายได้ตอบแทน เช่น แม่ครัวจะได้ค่าแรง 50 บาทต่อนักท่องเที่ยว 1 คน ถ้ามีนักท่องเที่ยวมากินอาหาร 10 คนก็จะได้ 500 บาท
ถ้าลงเรือท่องเที่ยว 1 ลำ ราคา 2,000 บาท มีไกด์ 1 คน เจ้าของเรือจะได้ 1,700 บาท ไกด์จะได้ 300 บาท คือถ้ามีนักท่องเที่ยวมา รายได้ก็จะกระจายไปทั้งชุมชน แม้แต่ตอนช่วงโควิด นักท่องเที่ยวที่เคยมา แต่เมื่อมาไม่ได้ก็จะสั่งซื้ออาหารทะเลแห้ง โดยเฉพาะกะปิขายดีมาก กระปุกละ 60 บาท ตอนนี้ส่งขายเดือนหนึ่งประมาณ 1,000 กระปุก ต้องระดมกลุ่มแม่บ้านมาช่วยกันทำกะปิและปลาแห้งต่างๆ เพื่อให้มีรายได้ในช่วงนี้” ประธานกลุ่มแม่บ้านฯ บอกถึงการปรับตัวรองรับสถานการณ์โควิด-19
ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วไปก็คือ ‘ทะเลแหวกสันหลังมังกร’ เพราะมีรายการทีวีและท่องเที่ยวต่างๆ นำออกไปเผยแพร่ มีลักษณะเป็นสันทรายที่ผุดขึ้นมากลางทะเลอันดามัน ทอดตัวยาวเชื่อมระหว่างเกาะหัวมันกับเกาะสาม มีความยาวประมาณ 4.5 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 20 เมตร ซึ่งเกิดจากซากหอยกาบงหรือหอยกะพง (คล้ายหอยแมลงภู่แต่ตัวเล็กกว่า ทำอาหารได้หลายอย่าง) รวมทั้งซากหอยอื่นๆ ทับถมกันจนกลายเป็นสุสานหอยล้านปี นักท่องเที่ยวขึ้นไปเดินเล่นได้ และที่ผ่านมาเคยมีการจัดขี่จักรยานและวิ่งแหวกสันหลังมังกรมาแล้ว เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวนี้ให้เป็นที่รู้จัก
‘สันหลังมังกร’
นอกจากนี้ยังมีหาดทรายดำ นำทรายละเอียดสีดำคล้ายแป้งมาทำสปาพอกผิว พอกใบหน้า บำรุงผิวพรรณ ดูวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน เช่น การ ‘ย่ำกั้ง’ หรือจับกั้งตั๊กแตนที่อาศัยอยู่ในดินโคลนกลางทะเลคล้ายกับการใช้ไม้กระดานไถหาหอยหลอด แต่กั้งที่นี่จะอยู่ลึกในโคลน นักย่ำกั้งจะดูรูกั้งว่าอยู่ตรงไหนแล้วใช้มือล้วงลงไปจับกั้ง ราคาตามขนาด ขนาดใหญ่ตัวยาวประมาณ 10 นิ้ว (4 ตัวมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม) ราคากิโลกรัมละ 1,300 บาท ตัวเล็กกิโลกรัมละ 300 บาท ถ้ากั้งตัวเล็กเกินไปจะปล่อย
ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเรือท่องเที่ยว จะแบ่งรายได้เข้ากลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนครั้งละ 100 บาท ส่วนรายได้จากห้องพักเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะนำมาจัดสรรปันผลให้สมาชิก (มีสมาชิก 30 ราย) 60 % , ค่าบริหารจัดการ น้ำประปา ไฟฟ้า ซ่อมแซมที่พัก 20 %, จัดการและดูแลสิ่งแวดล้อม 10 % และช่วยเหลือเด็กกำพร้า คนยากจน (ซะกาต) 10 %
เสนอออกข้อบัญญัติตำบลเพื่อปกป้องท้องทะเล
แม้ว่าชาวประมงตันหยงโปและชาวบ้านบากันเคยจะร่วมกันปกป้องท้องทะเลตั้งแต่ปี 2538 แต่ปัจจุบันสภาพต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป จำนวนเรือประมงเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 1,500 ลำ เพิ่มเป็นประมาณ 3,000 ลำ รวมทั้งมีเรือประมงพาณิชย์ และเรือประมงผิดกฎหมาย เช่น วางยาเบื่อปลา ใช้เครื่องมือทำลายล้าง กวาดสัตว์เล็กสัตว์น้อยไปหมด ทำให้กั้ง หอย ปู เคยที่ใช้ทำกะปิลดน้อยลง ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อปากท้องของทุกคน
วิถีประมงพื้นบ้าน
“ตันหยงโปมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดสตูล ตอนนี้มีนักธุรกิจมากว้านซื้อที่ดินชายทะเลตันหยงโปเพื่อจะทำรีสอร์ทและร้านอาหาร จากเดิมที่ไม่มีใครสนใจ แต่ตอนนี้ที่ดินราคาขึ้นไปไร่ละ 2-3 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกันท้องทะเลก็กำลังได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำเสียในเมืองลงสู่ทะเล น้ำเสียจากบ่อกุ้ง มีทั้งสารเคมีและฟอร์มาลีน
รวมทั้งผลกระทบจากการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายจากเรือประมงต่างถิ่น และการทำประมงที่เพิ่มมากขึ้น เพราะชาวบ้านที่เคยไปทำงานที่มาเลเซียกลับมาจากปัญหาโควิด จึงมาทำประมง รวมทั้งคนที่มีครอบครัวขยายก็มาทำประมงเพิ่มขึ้น ตอนนี้ผมประมาณว่ามีเรือประมงที่หากินในอ่าวตันหยงโปประมาณ 3,000 ลำ เพิ่มขึ้นจากหลายปีที่มีเรือประมาณ 1,500 ลำ เรือเยอะขึ้น แต่ทะเลเท่าเดิม ปู ปลา กั้งจึงหาได้น้อยลง” อิดริสบอกถึงสภาพท้องทะเลในปัจจุบัน
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้น อิดริสบอกว่า ตนในฐานะที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนกำลังผลักดันให้มีการจัดทำ ‘ข้อบัญญัติตำบล’ โดยจะใช้เวทีประชุมสภาองค์กรชุมชนฯ จัดทำข้อเสนอให้ อบต.ตันหยงโปใช้อำนาจออกข้อบัญญัติตำบลขึ้นมา เพื่อประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรในทะเล เช่น กำหนดเขตพื้นที่ใดให้ทำประมงชนิดใด เขตใดห้ามทำประมง ให้มีเรือตรวจการณ์ มีคนออกตรวจตราการลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย โดยใช้การประชาคมเพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นและลงมติ เพื่อให้ข้อบัญญัติได้รับการยอมรับและตรงกับความต้องการของชาวบ้าน ข้อบัญญัติจึงจะเกิดผลจริง
“ทะเลก็เหมือนกับธนาคารของเรา ถ้าทุกคนมาเบิก แต่ไม่ฝาก ความอุดมสมบูรณ์ก็จะหมดไป และหากเราไม่ช่วยกันรักษาทะเล ก็อย่าหวังเลยว่าทะเลจะรักษาเรา” อิดริสกล่าวย้ำท้าย
ชุมชนประมงอ่าวตันหยงโป
หมายเหตุ : เรื่องและภาพโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |