ยัน7-8เม.ย.ถกประชามติ พลเดชขอโทษสื่อสารผิด


เพิ่มเพื่อน    

  โอละพ่อ! "กฤษฎีกา" โต้ข่าวพิจารณาเนื้อหา พ.ร.บ.ประชามติไม่ทัน ยันไม่จริง จี้คนให้ข่าวแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะทำเสียหาย ด้าน "หมอพลเดช" แจ้นขออภัย สื่อสารผิดพลาด "วิษณุ" เผยไทม์ไลน์เสร็จตั้งแต่ 25 มี.ค.

    เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 นายนพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงกรณีกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ไขร่างกฎหมายประชามติไม่ทันว่า ตามที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวว่า นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ..... รัฐสภา ระบุว่ากฤษฎีกาแจ้งว่าไม่สามารถพิจารณาเนื้อหาให้เสร็จทันตามกำหนด เพราะมีเนื้อหาที่โยงกับมาตรา 9 หลายมาตรา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขอเรียนว่า การให้ข่าวเช่นนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการปฏิบัติหน้าที่
    "กรณีดังกล่าวหาได้เป็นเช่นที่มีการให้ข่าวแต่อย่างใดไม่ ในการนี้ สำนักงานจึงขอให้ผู้ให้ข่าวที่บิดเบือนความจริงเช่นนี้ แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในความเสียหายต่อชื่อเสียงของสำนักงานและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ต่อการกระทำเช่นนี้" นายนพดลกล่าว
    ด้าน นพ.พลเดชเผยว่า ข่าวดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการสัมภาษณ์ แต่เป็นการโทรศัพท์พูดคุยกับนักข่าว และทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่มีแหล่งข่าวยืนยัน โดยให้ความเห็นไปว่าเท่าที่ทราบทางกฤษฎีกาจะทำทันหรือไม่ เพราะกระทบหลายมาตรา ถ้าทำไม่เสร็จคงเข้าเนื้อหาลำบาก
    "ผมติดภารกิจที่ต่างจังหวัดเลยไม่ได้รับทราบข่าวสาร จนกระทั่งประธานกรรมาธิการฯ ได้โทรศัพท์มาพูดคุยจึงบอกไปว่าเป็นความผิดพลาดของผมเอง เพราะไม่ประสงค์เป็นข่าวหรือทำให้สะดุด ถ้าผิดพลาดขออภัย พร้อมขอแรงให้ข่าวหรืออะไรตามแต่เห็นเหมาะสม ยืนยันว่าผู้ใหญ่เข้าใจกันดีแล้ว" นพ.พลเดชกล่าว
    ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ. เผยว่า ทางกฤษฎีกายืนยันว่าจะพิจารณาเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งในวันที่ 26 มี.ค. ครบพอดี และพร้อมที่จะส่งร่างให้ตนในวันที่ 29 มี.ค. ดังนั้นที่มีข่าวว่ากฤษฎีกาทำไม่ทัน และไม่สามารถประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 7-8 เม.ย.ไม่ได้นั้นเป็นข่าวที่คลาดเคลื่อน
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงเนื้อหาร่างเสร็จสิ้นแล้วเมื่อเวลา 13.30 น. เมื่อวันที่ 25 มี.ค. และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติจะคุยกันในวันที่ 1 เม.ย. ดังนั้น วันที่ 1 หรือ 2 เม.ย. น่าจะคุยกันเรียบร้อย และน่าจะประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ตามกรอบเวลาที่เขาวางไว้
    เมื่อถามถึงกรณีมีการร้องสมาชิกรัฐสภาจำนวน 208 คนที่ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 สุ่มเสี่ยงกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เขาไปร้องกันแล้ว แต่ไม่ต้องกลัวเพื่อนเยอะ ถ้าถามว่าสุ่มเสี่ยงหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าไม่
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มั่นใจความเป็นมืออาชีพของสำนักงานกฤษฎีกา และเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาจะได้พิจารณากันอย่างรอบด้าน และยึดหลักการรับฟังเสียงของประชาชนเป็นหลักการสำคัญที่สุด พรรคจะได้มีการเรียกประชุม ส.ส.ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภาต่อไป ร่างกฎหมายประชามติไม่อยากให้นำมาเป็นประเด็นผูกโยงเป็นเรื่องการเมือง แต่ถ้ามีใครตั้งใจดึงรั้งหรือไม่ให้ผ่าน จะด้วยเหตุผลใดก็ดี ผู้นั้นก็ต้องรับผิดชอบ
         นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่เขียนไว้เพื่อเอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นผู้มีอำนาจต่อโดยไม่ต้องสมัครลงรับเลือกตั้ง และยังมี ส.ว. เข้ามามีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ที่มีการกำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ซึ่งการเปลี่ยนกติกาแบบนี้ ส.ว. คือส่วนสำคัญในการผยุงให้พลเอกประยุทธ์กลับมาอีกครั้ง
    เช่นเดียวกับการเลือกองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการตั้งกรรมการสรรหา แต่เห็นว่ากรรมการนั้นยังไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง โดยยกตัวอย่างและย้อนถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ร่วมเป็นกรรมการสรรหานั้น มีความเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ หากพล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ เชื่อประเทศจะไม่มีอนาคต ดังนั้นต้องเอาเสาค้ำยัน ทั้ง ส.ว., พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ออกไปก่อน โดยประชาชนต้องร่วมกันกดดัน  ถ้ามีการกดดัน เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หากรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการแก้ไข ประเทศจะชะงัก.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"