ผู้นำสิงคโปร์ประกาศว่าเตรียมจะ "เปิดประเทศ" หลังโควิด-19 ภายในสิ้นปีนี้เพื่อให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นได้ แต่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในภูมิภาคนี้จะทำให้เศรษฐกิจแถบนี้ต้องเผชิญกับปัญหาตามมาหรือไม่
เป็นคำถามที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เสียนหลงของสิงคโปร์ตอบคำถามของ BBC เมื่อสัปดาห์ก่อนไว้น่าสนใจ
เป็นวิธีคิดที่สะท้อนถึงแนวทางการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อวางยุทธศาสตร์ของเกาะเล็กๆ แห่งนี้ที่คนไทยควรติดตาม
เริ่มแรกนายกฯ หลี่ เสียนหลงบอกว่าการ "กระทบกระทั่ง" ระหว่างสองยักษ์ใหญ่ระดับโลกอาจจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว
แต่เขาก็เชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งทางทหารถึงขั้นสัประยุทธ์กันนั้น "ยังมีไม่สูงนัก"
ถึงกระนั้นก็ประมาทไม่ได้เพราะถ้าสี จิ้นผิงกับโจ ไบเดนเน้นการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศตนเป็นหลัก ไม่พยายามเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง อาจทำให้ทั้งสองชาติเดินเข้าสู่ "ทางตัน" ได้อย่างง่ายดายเช่นกัน
หลี่ เสียนหลงบอกว่า เขาหวังว่าการพบปะระดับสูงของสองประเทศที่อะแลสกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเป็นการเปิดช่องทางการแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศนี้เพื่อลดช่องว่างความเข้าใจระหว่างกัน
แต่เอาเข้าจริงๆ พอระดับนำของนโยบายต่างประเทศของสองชาตินี้เจอกัน ก็กลายเป็นสงครามน้ำลายเผ็ดร้อนเสียฉิบ
สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะคลี่คลายลงไหม?
นายกฯ สิงคโปร์ยอมรับว่ายังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ว่าโจ ไบเดนจะใช้วิธีการที่นุ่มนวลขึ้นกับจีน เพียงแต่ตั้งความหวังว่าผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่จะ "เชื่อในระบบพหุภาคีและการค้าระหว่างประเทศ"
เพราะนั่นจะทำให้ลดความตึงเครียดในบรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศลงได้ระดับหนึ่ง
ประเด็นปัญหาของโลกวันนี้คือ สหรัฐฯ ยังคงเป็นอันดับหนึ่ง แต่หมายเลขสองคือจีนนั้นก็อยู่ห่างไปไม่ไกลนัก
และนี่คือสิ่งที่สหรัฐฯ ยากที่จะยอมรับได้
ไบเดนก็คงจะได้อ่านรายงานหลายชุดที่ชี้ว่า เศรษฐกิจจีนอาจจะแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2028
นั่นเท่ากับเร็วกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ 5 ปี
และนี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะต้องหาทางสกัดการรุกคืบของจีน
เพราะจีนไม่ได้เติบโตเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น
แต่ยังมาพร้อมกับท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
ซึ่งถูกมองว่าคือ "เหมา เจ๋อตง" แห่งศตวรรษที่ 21
ขณะที่หลายประเทศถูกบังคับให้ต้อง "เลือกข้าง" ระหว่างสองมหาอำนาจ นายกฯ หลี่ เสียนหลงบอกว่าสิงคโปร์ไม่สามารถเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้
"นั่นเป็นปัญหาสำหรับหลายๆ ประเทศ และนั่นคือเหตุผลว่าเราทุกคนต่างหวังและสนับสนุนให้ทั้งสองมหาอำนาจคิดอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสินว่าอีกฝ่ายเป็นปฏิปักษ์ และต้องหาทางสกัดไม่ให้ความขัดแย้งเติบโตไปมากกว่านี้"
หลี่ เสียนหลงสาธยายต่อว่า
"สิ่งที่เราอยากเห็นคือ จีนเป็นประเทศที่ประเทศอื่นๆ ในโลกมีความยินดีต่อความเจริญ การพัฒนา และความเข้มแข็งที่เพิ่มมากขึ้น"
หากเป็นได้อย่างนั้นประเทศทั้งหลายเหล่านั้นก็จะเห็นโอกาสที่จะเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และอยู่ร่วมโลกที่มั่นคงและยั่งยืนด้วยกัน
ความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกหลายระดับเมื่อความตึงเครียดของสองยักษ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
ผู้นำสิงคโปร์เชื่อว่าสิ่งที่เรียกว่า "โลกาภิวัตน์" ยังมีข้อดีและประโยชน์อยู่มาก เช่นกรณีที่ประเทศต่างๆ ต้องร่วมมือกันกระจายวัคซีน
เขาบอกว่า "คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เพราะถ้ากลับไปยังจุดที่เคยอยู่ในอดีตก็เท่ากับกลับไปหาความยากจน ความสิ้นหวัง และอาจจะเป็นความไม่มั่นคง รวมถึงความขัดแย้ง"
หลี่ เสียนหลงย้ำว่า สิงคโปร์กำลังพิจารณาประเด็นการเปิดประเทศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมา
เพราะสิงคโปร์พึ่งพาการค้าและการท่องเที่ยวอย่างมาก การเปิดให้มีการใช้ "วัคซีนพาสปอร์ต" อาจเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ปัญหา
แต่เขาก็ย้ำว่าทุกอย่างต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน
และคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับคืนสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19
"จะไม่มีอะไรกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่คุณสามารถแค่ซื้อตั๋ว ขึ้นเครื่องบิน แล้วออกไปฮ่องกง กรุงเทพฯ หรือบาหลีในช่วงสุดสัปดาห์หรือวันหยุดสบายๆ"
แต่ถ้าฟังให้ดีจะได้ยินว่า ผู้นำสิงคโปร์กำลังวางตารางเวลาไว้ว่าจะเปิดประตูการท่องเที่ยว "ภายในสิ้นปีนี้" หรือ "ภายในปีหน้า" หากไม่สามารถเร็วกว่านี้ได้
หากไทยเราเดินหน้าทำเรื่อง "วัคซีนพาสปอร์ต" อย่างจริงจังก็ควรจะต้องมี "ตารางเวลา" สำหรับการเปิดประตูอย่างระมัดระวังในช่วงจังหวะเดียวกันนั้นได้เช่นกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |