โพลหนุนเมาแล้วขับขาประจำทำผิดซ้ำสอง ไม่รอลงอาญาติดคุกสถานเดียว


เพิ่มเพื่อน    

          Zero Accident เปิดเวทีสะท้อนปัญหาดื่มแล้วขับ โพล 93% หนุนเมาแล้วขับขาประจำทำผิดซ้ำสอง ต้องเพิ่มโทษหนัก ไม่รอลงอาญา ติดคุกสถานเดียว ส่วนผู้ขายต้องมีส่วนร่วม “ขายอย่างรับผิดชอบ” ลดความสูญเสียบนถนน มั่นใจ “โทษหนักบังคับเข้ม” สร้างความตระหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสังคม วิทยากรชี้เป้า กฎหมายบ้านเราไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่เรามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บันดาลได้ด้วยคำพูดที่ว่าขับรถอย่างไรให้รอดพ้นจากด่านตรวจของตำรวจ คนเมายังขับรถ สังคมต้องใส่ใจ เหยื่อเมาแล้วขับพุ่งชนถึงในบ้านลูกชาย 1 ขวบดับทันที

          เราสูญเสียจากน้ำเมามากเกินพอแล้ว “Our life lost to alcohol is one too many” ข้อความขนาดใหญ่ด้านหน้าเวทีเสวนา “อุบัติเหตุดื่มแล้วขับกับความผิดซ้ำ และการขายอย่างรับผิดชอบ”จัดโดยเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน มีวิทยากร ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล ม.ราชภัฏสวนดุสิต นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สนั่น สุทธิประภา พ่อผู้สูญเสียลูกชายวัย 1 ขวบ จากดื่มแล้วขับ ดำเนินรายการโดย นฤบดี จันทรส เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม

          รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ข่าวสารที่พบเห็นการสูญเสียบนท้องถนนมากมาย และยังมีอีกที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว เทศกาลสงกรานต์มีทั้งความสุขและความสูญเสียเหมือนกับทุกเทศกาล สสส.เริ่มดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ปี 2546 โดยสนับสนุนภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง และร่วมส่งเสริมการสร้างมาตรการองค์กรและมาตรการชุมชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ก่อนหน้านี้มูลนิธิเมาไม่ขับรณรงค์คนที่เมาไม่ขับรถบนท้องถนนเป็นการทำงานในลักษณะบุคคล สสส.ให้กลุ่มคนที่สนใจจัดตั้งเป็นองค์กรหน่วยงานด้วยการหนุนให้เข้มแข็ง เห็นเป้าหมายร่วมกัน “7 วันระวังอันตราย” กระตุ้นภาคีทุกภาคส่วนให้ช่วยกันตระหนักเพื่อลดความสูญเสียในช่วงเทศกาลต่างๆ

          จากข้อมูลคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติจากกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ในเดือนเมษายน ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีจำนวน 17,584 คน ลดลงเหลือเพียง 550 คน ในปี 2563 ของเดือนเดียวกัน หรือคิดเป็นลดลงร้อยละ 96.8

          ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการประกาศเคอร์ฟิว การห้ามจำหน่ายสุรา รวมถึงการปิดผับบาร์ ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้มีผู้ที่มีพฤติกรรมดื่มแล้วขับลดลง สะท้อนให้เห็นว่าการเอาจริงเอาจังของการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการตรวจจับดื่มแล้วขับ เป็นปัจจัยสำคัญในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนได้ ดังนั้นการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีจะยิ่งช่วยให้ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง

          การเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น การใช้ฐานข้อมูลความผิดซ้ำทำให้ทุกคนระมัดระวังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มากยิ่งขึ้นด้วย ภาคีเครือข่ายสนับสนุนเจ้าหน้าที่ การบังคับใช้ กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การสวมหมวกนิรภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อย่าให้การสูญเสียเกิดขึ้นในสังคมหรือเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

          ชมวีดิทัศน์ “อุบัติเหตุดื่มแล้วขับ ซ้ำๆ ใครผิด” ไทยรัฐทีวีช่อง ๓๒ นำเสนออุบัติเหตุบนท้องถนน 11,997 ราย มีการทำผิดซ้ำ 277 ราย ปีใหม่ 2564 มี 4,435 คดี มีผู้ทำความผิดซ้ำ 203 ราย ใกล้เคียงกับปีก่อนแสดงว่ามาตรการบังคับใช้ยังเอาไม่อยู่ หรือ กฎหมายยังไม่หนักพอที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดหลาบจำได้ กล้าที่จะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่วนใหญ่ผู้ขับขี่จะบอกว่าตัวเองไม่ได้เมาแต่อย่างใด ในขณะที่ผู้ผลิตผู้ขายแอลกอฮอล์ต่างก็โยนความผิดไปให้กับผู้ดื่ม มีใครบางคนลอยนวล ผู้ผลิตผู้ขายในผับในบาร์ล้วนส่ายหน้าไม่รับผิดชอบ อีกทั้งยังมีวาทกรรมที่ว่า ”ดื่มแบบรับผิดชอบ”

          ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เสวนา “อุบัติเหตุดื่มแล้วขับกับความผิดซ้ำและการขายอย่างรับผิดชอบ” กล่าวว่า เมื่อดูจากคลิปวิดีโอจะเห็นว่าบ้านเราเรื่องเมาแล้วขับเป็นหัวข้อถกเถียงความผิดและความรับผิดชอบ 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลปีใหม่ 7 วันแห่งความสุข แต่เป็นเรื่องการสูญเสียเข้ามาแทนที่ ปกติการดื่มแอลกอฮอล์เมื่อมีการตรวจเป่าแอลกอฮอล์ถ้าปล่อยให้เนิ่นนานเกินกว่า 3 ชั่วโมงก็จะหายไป ยิ่งปล่อยให้ข้ามวันไปแล้วการเป่าตรวจแอลกอฮอล์ก็จะไม่พบสารแอลกอฮอล์แต่อย่างใด ยิ่งมีคำสั่งให้ตรวจย้อนหลังก็จะไม่พบ

          พ.ศ.2561-2563 มีการสำรวจ 2,152 ตัวอย่าง จากคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จนถึง 45 ปี รวม 16 จังหวัด ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ. พบว่าเด็กที่อยู่ในวงเหล้ากินเหล้าตั้งแต่เด็กๆ เนื่องจากมีสมาชิกในครอบครัวดื่มเหล้าและพาลูกหลานเข้ามาอยู่ในวงเหล้าด้วย เมื่อสำรวจแล้ว 17-20% การรับรู้ กฎหมายและบทลงโทษ 82.57% ที่มีทั้งบทปรับและจำคุก อีก 17% ไม่รู้และไม่แน่ใจว่าบทลงโทษปรับเท่าไหร่ 56.37% รู้แล้วว่าเมาแล้วขับมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อครอบครัวญาติพี่น้อง 36.31% การรับรู้ กฎหมายบังคับใช้ถ้าเมาขับรถแล้วไม่มีสติ ไม่ใส่หมวกกันน็อก โอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์

         

          นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ผลกระทบจากความรุนแรงเมาแล้วขับส่งผลกระทบต่อครอบครัวหลายพันหลายหมื่นครอบครัว 25% มักจะพูดว่าตัวเองไม่เมา เราทำอะไรกันได้บ้าง ได้แต่พูดกันว่าขอให้เป็นคนสุดท้าย แล้วสังคมไทยก็วนเวียน เราต้องส่งสัญญาณถึงคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบ เรามาช่วยกันตั้งโจทย์ดื่มแล้วขับมีเรื่องราวหลายมิติ อยากเห็นผู้รับผิดชอบทั้งต้นน้ำ โดยเฉพาะผู้จำหน่าย กลางน้ำเป็นกลุ่ม A ปลายน้ำ ตำรวจตั้งชุดตรวจจับแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2562 ตรวจแล้วนำส่งฟ้องภายใน 24 ชั่วโมงเป็นความผิด ศาลแขวงสั่งคุมประพฤติ 1.2 หมื่นคน จำนวนนี้มีขาประจำมีความผิดซ้ำ 300 กว่าครั้ง เป็นเพียงเทศกาลเดียวยังทำความผิดซ้ำมากขนาดนี้

          มูลนิธิแห่งเอเชียนำข้อมูลจากหลายแหล่งมาวิเคราะห์ ปี 2557-2558 คนทำผิดซ้ำ 2-3 ครั้งเกือบพันคน จะเห็นได้ว่าบทลงโทษไม่หนักพอทำให้ผู้ทำผิดกล้าทำผิดซ้ำอีกโดยไม่กลัวโทษของ กฎหมาย หนุ่มขับรถหรูมาจอดในที่คนพิการในสนามบินสุวรรณภูมิ มีกล้องวงจรปิดจับภาพอยู่ก็ยังจอดค้างคืน 2 วัน เสียค่าปรับ 500 บาท บทลงโทษไม่หนัก ต้องมีการตั้งด่านตรวจอย่างเข้มข้นหรือกระจายสุ่มตรวจ

          ใน New South Wales เพิ่มการตั้งด่านตรวจเข้มให้มากขึ้น กระจายด่านตรวจให้ทั่วถึง เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากคนเมาแล้วขับเกือบครึ่งหนึ่งคือ 40% จะทำให้อัตราการตายลดลงได้ 15% หลายประเทศใช้มาตรการลงโทษหนัก ญี่ปุ่นเมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุโทษจำคุก สิงคโปร์ครั้งแรกใช้โทษปรับรุนแรง ครั้งที่ 2 ปรับเป็นเงิน 4.5 แสนบาท นอร์เวย์ถ้าทำความผิดซ้ำภายใน 5 ปี โทษยึดใบขับขี่ตลอดชีพ

          แต่ละประเทศมีบทลงโทษที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องรับผิดต่อบุคคลที่ 3 อย่างจำกัด เฉพาะกรณีที่ได้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลที่มึนเมาเป็นอาจิณและผู้เยาว์ บุคคลดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ทั้งยังมีมาตรการทาง กฎหมาย มีการอบรมแก่ผู้มีใบอนุญาต รวมถึงพนักงานให้มีความเข้าใจถึง กฎหมายและความรับผิดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดูลักษณะของความมึนเมาและวิธีจัดการกับสถานการณ์นั้น อบรม ABC’s Licensee Education on Alcohol and Drugs (LEAD) program อบรม 4 ชั่วโมง เป็นการอบรมที่เกิดจากความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ

          ในมลรัฐนิวยอร์กและมลรัฐอิลลินอยส์กำหนดหลักการก่อช่องแห่งภัยที่ถือว่าผู้ประกอบการนั้นเป็นผู้ก่อที่สร้างเงื่อนไขนำไปสู่เหตุละเมิดได้ ผู้ก่อไม่ใช่ผู้กระทำละเมิดโดยตรงแก่โจทก์ แต่การกระทำของผู้ก่อเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิดการละเมิดของจำเลย แต่เพื่อป้องกันความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการที่อาจจะมีความรับผิดเกินสมควร จึงกำหนดให้ผู้ประกอบการที่จะต้องรับผิดนั้น ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุที่ใกล้เคียงก่อความเสียหายแก่บุคคลอื่น ทำให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิ์ที่จะฟ้องให้ผู้ประกอบการรับผิดจากการกระทำของบุคคลที่มึนเมา ซึ่งเป็นลูกค้าของผู้ประกอบการ คือ กฎหมายแดรมชอปกล่าวถึงความรับผิดของผู้ประกอบการ กรณีใดที่ผู้เสียหายสามารถฟ้องผู้ประกอบการได้ รวมถึงค่าเสียหายที่ผู้เสียหายจะสามารถเรียกได้จากผู้ประกอบการ

         

          ในประเทศฝรั่งเศสมีระบบการออกใบอนุญาตที่เข้มงวดมาก ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม กฎหมายในฝรั่งเศสได้จะต้องผ่านการอบรมก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งยังมีการแจกคู่มือในเรื่องวิธีการสังเกตอาการเมา รวมถึงวิธีการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ลูกค้าเมาไว้ให้แก่ผู้ประกอบการด้วย

          ประเทศไทยควรกำหนดนิยามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551ให้มีความละเอียดเหมือนประเทศฝรั่งเศสที่แยกประเภทและชื่อเรียกของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แตกต่างกันตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มนั้น ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้ กฎหมายกรณีที่ผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างผิด กฎหมาย

          ขณะเดียวกันประเทศไทยควรจัดทำคู่มือในการดูลักษณะของบุคคลที่มีอาการมึนเมา รวมถึงวิธีการรับมือในสถานการณ์นั้นแก่ผู้ประกอบการ มีแบบประเมินความเมาก่อนซื้อ แบบประเมินนี้จะใช้เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบการสงสัยว่าลูกค้ามีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้เท่านั้น อีกทั้งการเพิ่มมาตรการในการประชาสัมพันธ์หรือการโฆษณาตามโทรทัศน์และสื่อต่างๆ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้

         

          จากข้อมูลผลสำรวจของสวนดุสิตโพลต่อมาตรการเพิ่มโทษและห้ามการรอลงอาญาในความผิด “ดื่มแล้วขับ” ในกลุ่มตัวอย่าง 2,152 ราย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า กว่าครึ่งร้อยละ 56.37 เคยพบเห็นหรือตกอยู่ในเหตุการณ์เมาแล้วขับ โดยเกือบทั้งหมดร้อยละ 93.96 เห็นด้วยว่าควรมีการเพิ่มโทษ สำหรับผู้ที่ทำผิดซ้ำ ในข้อหาขับรถขณะเมาสุรา และร้อยละ 87.45 เห็นด้วยหากผู้ที่กระทำผิดซ้ำในข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นครั้งที่ 2 ควรถูกตัดสินโทษจำคุกอย่างเดียวโดยไม่รอลงอาญา

          นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างยังเห็นด้วยว่า การบังคับใช้กฎหมายจราจรที่มีประสิทธิภาพ เคารพกฎหมาย จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การ “เมาขับ” กลับมาสร้างความสูญเสียอีก จึงเสนอข้อพิจารณาให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มีมาตรการที่ไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ต้น-กลางและปลายน้ำ แต่ในระยะเร่งด่วนนี้ ให้มีมาตรการบังคับใช้กฎหมาย “โทษหนักบังคับเข้ม” เพื่อสร้างความตระหนักและปรับเปลี่ยนสังคม

 

“ธุรกิจเหล้าปีหนึ่งๆ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 5 หมื่นคน

เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมากกว่า 200 โรค”

 

        

เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า

 

          การรณรงค์ของธุรกิจน้ำเมาให้ “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” Responsible Drinking ฟังดูดี บางคนเห็นคล้อยตามธุรกิจ แต่ถือว่าเป็นการพูดอย่างไร้ความรับผิดชอบ และไร้ความละอาย โยนความผิดให้ลูกค้าว่า เพราะดื่มไม่รับผิดชอบ จึงเกิดปัญหา ทั้งๆ ที่ธุรกิจน้ำเมาไม่มีสิทธิ์บอกว่า ให้คนดื่มรับผิดชอบ แต่ต้องพูดว่า “ขายอย่างรับผิดชอบ” จึงจะถูกต้อง มีงานวิจัยต่างประเทศระบุว่า การรณรงค์ให้ดื่มอย่างรับผิดชอบ ไม่ได้ลดปัญหาจากการดื่ม แต่เป็นเพียงวิธีทางการตลาดของธุรกิจน้ำเมาที่ทำให้ยอดขายสูงขึ้น โดยทำให้คนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชน เกิดความประมาท เข้ามาเป็นนักดื่มหน้าใหม่มากขึ้น และอายุของนักดื่มลดต่ำลง ทำให้เกิดการเสพติดมากขึ้น ธุรกิจน้ำเมาจึงได้ลูกค้าระยะยาว สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อสังคม เพิ่มความรุนแรงในครอบครัว ทำลายอนาคตเยาวชน เกิดอาชญากรรม และสร้างปัญหาเศรษฐกิจในสังคมทุกระดับ

          ธุรกิจการตลาดส่งเสริมการขายทำให้คนประมาท กลายเป็นนักดื่มเยาวชน นักดื่มหน้าใหม่มีแนวโน้มที่จะเป็นลูกค้าระยะยาว บุหรี่ก็ใช้วิธีการนี้เช่นกัน มีการฟ้องร้องในศาลถูกบังคับให้เอาหลักฐานในศาล "อนาคตบุหรี่อยู่ได้ต้องทำให้เยาวชนเป็นนักสูบ" ขณะนี้ บ.เหล้าต่างประเทศลงทุนตั้งชมรมรักกันเตือนภัยในมหาวิทยาลัยรณรงค์ให้เด็กดื่มและรับผิดชอบต่อตัวเอง เป้าหมายให้เด็กดื่มเร็วขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่าดื่มไวน์วันละแก้วเป็นประโยชน์ต่อระบบเลือดและหัวใจ ทำให้งานวิจัยได้รับสปอนเซอร์จาก บ.ไวน์และเหล้า”

          มีการเก็บข้อมูลจากงานวิจัย 600 งาน ใน 200 ประเทศ ใช้เวลา 26 ปี ได้ข้อสรุปว่า ไม่มีขนาดแอลกอฮอล์ปลอดภัยแม้ดื่ม 1 แก้ว แต่เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็ง แม้จะไม่เป็นโรคหัวใจ การดื่มน้อยรับผิดชอบสุขภาพตัวเองไม่ได้ การดื่มเหล้าเพียง 1 แก้ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ส่งผลให้การตัดสินใจช้าหลายวินาที อุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ เยาวชนดื่มแอลกอฮอล์อันตรายมากที่สุด เพราะการตัดสินใจไม่ดีพอคือเมา บางคนแม้ไม่เมาก็ตัดสินใจช้าอยู่แล้วก็ยังเกิดอุบัติเหตุได้

          ในต่างประเทศมี กฎหมายบังคับ รถกระบะห้ามคนจำนวนมากขึ้นรถกระบะ ร้านขายเหล้าในต่างประเทศต้องมีใบอนุญาต ถ้าทำผิดต้องยึดใบอนุญาต เป็นเรื่องความรับผิดชอบร่วมกัน สิ่งเหล่านี้สังคมไทยต้องเรียนรู้ เพราะคน 70% เป็นเหยื่อเมาแล้วขับ “ผมขอเรียกร้องให้สังคมไทยสนใจปัญหา ธุรกิจเหล้าร่ำรวยมหาศาล ติดอันดับสร้างปัญหาให้สังคม ปีหนึ่งๆ ทำให้คนเสียชีวิตมากถึง 5 หมื่นคน และยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมากกว่า 200 โรค เกิดปัญหาสร้างความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุบนท้องถนน มาตรการควบคุมยังไม่ดีพอ สังคมไทยจะต้องมีมาตรการให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม กฎหมายควบคุมการโฆษณา”

 

“มนุษย์คนเดียวกันกล้าที่จะเมาและขับรถในเมืองไทย

เพราะสภาพแวดล้อมที่มีบทลงโทษไม่สูง”

 

นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ

         

          กฎหมายบ้านเราไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ แต่เรามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บันดาลได้ด้วยคำพูดที่ว่าขับรถอย่างไรให้รอดพ้นจากด่านตรวจของตำรวจ ถ้ามีปัญหาจะเคลียร์กับตำรวจได้ไหม ดังนั้นเราจะเห็นคนขับแล้วเมาก็ยังกล้าขับรถโดยไม่ยอมใช้รถสาธารณะ มนุษย์คนเดียวกันกล้าที่จะเมาและขับรถในเมืองไทย เพราะสภาพแวดล้อมที่มีบทลงโทษไม่สูง มีการซื้อ license ในการทำความผิด อย่างที่เรียกว่า เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ยอม ด้วยพฤติกรรมของคนที่คิดว่าไม่คุ้ม แต่ไม่กล้าเมาและขับในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เนื่องจากบทลงโทษสูงมาก ถ้าเมาแล้วขับรถให้รับผิดชอบตัวเอง ไม่มีใครกล้าเสี่ยงด้วย

          ใน club house มีการพูดกันผมว่าผมรอดตลอด แต่คนที่ถูกตำรวจจับถือว่าเป็นความซวย เพราะเจอตำรวจไม่ยอม ประสบการณ์ของคนเป็นไกด์จะให้ข้อมูลอย่างละเอียดในการขับรถถูกต้องตาม กฎหมายในประเทศต่างๆ พร้อมกับสำทับด้วยว่า ถ้าเมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุ ไกด์ก็ช่วยเหลือไม่ได้ หลายประเทศต้องมีใบอนุญาตขับรถสากลจึงจะขับรถในประเทศของเขาได้

          เกิดเหตุทุกครั้งมีคนบาดเจ็บและตาย ให้อำนาจหมอตรวจแอลกอฮอล์ การที่ปล่อยให้คนเมาขับรถเป็นการละเมิดสิทธิ์คนปกติ เราต้องออก กฎหมายให้ร้านค้ามีความรับผิดชอบในการขายแอลกอฮอล์ให้กับผู้ซื้อที่มีอาการเมามายแล้วเท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเมาแล้วขับรถ ส่วนใหญ่แล้วคนเมาขับรถจะอ้างว่าตัวเองไม่ได้เมา

         คนทำธุรกิจก็คือคนทำธุรกิจ แต่ธุรกิจน้ำเมาเป็นธุรกิจที่ไม่ปกติ เพราะตัวสินค้าทำให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคม ทั้งจากปัญหาอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท ฯลฯ สิ่งสำคัญทำอย่างไรให้คนไทยรู้ถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในการทำงานของมูลนิธิเมาไม่ขับ ตนเห็นด้วยกับการรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่สำหรับกลุ่มคนที่ยังไม่สามารถลด ละ เลิกได้ มูลนิธิเมาไม่ขับขอวิงวอน อย่าได้ออกมาขับรถอย่างเด็ดขาด เพราะมีความผิดตามกฎหมาย โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นแล้วยังมีภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งกับตนเองและผู้อื่น เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับกล่าว

 

 

“ชีวิตครอบครัวเปลี่ยนไปเหมือนตกนรกทั้งเป็น เรียกอะไรกลับคืนมาไม่ได้” 

                              

 สนั่น สุทธิประภา

         “การสังสรรค์ดื่มเหล้ากันอย่างมีความสุข แต่กลับไปก่อทุกข์ให้กับคนอื่น ไม่ใช่ความสุขแน่ๆ อนาคต 7 วันแห่งความสุข 365 วันแห่งความสุขของทุกคน ไม่มีใครสูญเสียจากความไม่รับผิดชอบจากคนไทยด้วยกันเอง ครอบครัวสุทธิประภานอนอยู่ภายในบ้านตัวเอง แต่มีโชเฟอร์เมาแล้วขับพุ่งเข้ามาถึงในบ้าน ทำให้ครอบครัวต้องสูญเสียบุตรชาย 1 คน ภริยาและบุตรสาวบาดเจ็บได้รับการรักษา” เป็นประเด็นสำคัญที่ สนั่น สุทธิประภา พ่อผู้สูญเสียลูกชายวัย 1 ขวบ จากดื่มแล้วขับ นับเป็นความสูญเสียที่ไม่เคยลืม

          สนั่นเล่าถึงบรรยากาศเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีก่อน ที่เกิดขึ้นรวดเร็วมาจนตั้งตัวไม่ทัน เพราะกำลังนอนหลับอยู่ รถยนต์พุ่งเข้าชนในบ้าน ทำให้บุตรชายวัย 1 ขวบ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันทีในบ้านย่านปทุมธานี ส่วนลูกสาวบาดเจ็บต้องผ่าตัด ส่วนภริยาอีกปีหนึ่งได้รับการผ่าตัด เพราะมีผลกระทบต่อสมองและสายตา ส่วนผู้ที่ขับรถยนต์เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา และทราบว่ามีอาการเมาสุราด้วย

          ชีวิตครอบครัวเปลี่ยนไปเหมือนตกนรกทั้งเป็น เรียกอะไรกลับคืนมาไม่ได้ “ตอนนั้นผมทำอะไรไม่ถูก ทุกอย่างมาไวเกินไปไม่ทันได้ตั้งตัว เพื่อนข้างบ้านมาช่วยเอารถยนต์ออกจากบ้านและนำศพลูกชายออกมา อยากฝากว่าเมาแล้วขับขนาดนอนอยู่ในบ้านยังทำให้เกิดความสูญเสียได้ ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุคือ สถานบริการควรปิดให้เร็ว เพื่อไม่ให้คนมีเวลาดื่มนาน รวมถึงโทษที่เกิดจากเมาแล้วขับควรเพิ่มมากขึ้น เพราะจะได้เกิดความกลัวกฎหมายไม่กล้าทำผิดซ้ำอีก” 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"