เมื่อสหรัฐฯ ปลุกกระแสต้านจีนด้วยการเรียกประชุมสุดยอด Quad ออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ ปักกิ่งจะตอบโต้อย่างไร
ในวงสนทนาของผมกับ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม กับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร เมื่อท่านหนึ่งเล่าจากมุมของอเมริกา อีกท่านก็ต้องโต้ด้วยมุมมองจากจีน
ดร.อาร์มมีหรือจะยอมฟังอยู่เฉยๆ
“อาจารย์ปิติบอกว่าทุกคนพยายามจะปิดล้อมจีน จีนก็ต้องใช้ยุทธศาสตร์แหวกวงล้อม...”
ถ้าดูแผนพัฒนา 5 ปีล่าสุดของจีนก็จะเห็นแนวทางการ “แหวกวงล้อม” ของสหรัฐฯ และพวก
แม้แต่เรื่องพลังงานสะอาดในแผนนี้ก็ถูกเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนความมั่นคง”
เพราะไม่ได้หมายความถึงเฉพาะความมั่นคงทางทหาร แต่เป็นความมั่นคงทางเทคโนโลยีและพลังงาน ต้องไม่ลืม “ความมั่นคงทางอาหาร” อีกด้านหนึ่ง
และยังมี “ความมั่นคงด้านประชากร” อีกด้วย
ดร.อาร์มเตือนว่า อย่านึกว่าประเทศต่างๆ ที่จับมือกับสหรัฐฯ นั้นจะต่อต้านจีนเหมือนกันหมด
“หลายประเทศที่บอกว่าเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ นั้น มือข้างหนึ่งจับกับอเมริกา แต่มืออีกข้างหนึ่งก็ยังแตะกับจีนอยู่”
จีนอาจจะตั้งคำถาม โจ ไบเดน ว่าสหรัฐฯ คิดไปเองหรือเปล่าว่าประเทศต่างๆ ที่เขาเอ่ยว่าเป็นพันธมิตรเขานั้นจะยืนอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐฯ ในทุกๆ เรื่องจริงหรือ
เพราะจีนจะบอกกับอเมริกาว่าประเทศต่างๆ ที่สหรัฐฯ อ้างว่าเป็นพันธมิตรมาปิดล้อมจีนนั้นล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์มหาศาลในจีนทั้งสิ้น
จีนยังใช้ความเป็นตลาดของประชากร 1,400 ล้านคน เป็นอำนาจต่อรองกับนานาชาติ
ยุทธศาสตร์ Dual Circulation ของสี จิ้นผิง อันหมายถึงการที่ตลาดภายในหมุน ตลาดข้างนอกก็หมุนไปพร้อมๆ กัน
ดังนั้นการหมุนเวียนของตลาดภายในของจีนมีพลังดึงดูดนักลงทุนและการค้าขายจากต่างประเทศไม่น้อย
“จีนอาจจะหันมาถามประเทศต่างๆ ว่าแน่ใจแล้วหรือที่จะไม่คบจีน คุณแน่ใจหรือว่าคุณจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของคุณได้โดยไม่คบกับจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลก” ดร.อาร์มแซว
พูดง่ายๆ คือจีนมองว่าตนมีอำนาจต่อรองด้วยความใหญ่ของขนาดตลาด
โจ ไบเดน เคยยอมรับว่าไม่รู้ว่าจะเอาอำนาจต่อรองอะไรไปถ่วงดุลจีนในโลกเหมือนกัน
จีนบอกว่าจะเข้ามาร่วมผลักดัน RCEP อย่างเต็มที่ (อยู่ในรายงานเศรษฐกิจต่อสมัชชาประชาชนแห่งชาติเมื่อเร็วๆ นี้ ของนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง)
และจีนก็เคยแสดงความสนใจจะเข้าร่วม CPTPP อีกด้วย
นี่คือนโยบายจีนที่พึ่งตัวเองมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มี “นโยบายรุกโลก” ไปพร้อมๆ กัน
“จีนต้องการลดการพึ่งสหรัฐฯ แต่ต้องการให้โลกเพิ่มการพึ่งจีนมากขึ้นด้วย” ดร.อาร์มบอก
ถ้ากางแผนที่จะสามารถวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของจีนและสหรัฐฯ ได้ชัดเจน
ทั้งสองยักษ์เก่งเรื่องวางยุทธศาสตร์
สหรัฐฯ เล่นหมากรุก, จีนก็เล่นหมากล้อม
สหรัฐฯ มีคู่มือยุทธศาสตร์, จีนมีตำราพิชัยสงครามตั้งแต่ยุคโบราณ
สองประเทศนี้ชอบดูแผนที่
จีนยอมรับว่าฮวงจุ้ยตัวเองไม่ดีนัก เพราะสามารถถูกปิดล้อมทางภูมิศาสตร์ได้ เต็มไปด้วยความขัดแย้งในทะเลตะวันออกและทะเลจีนใต้
แต่สหรัฐฯ มีฮวงจุ้ยที่ได้เปรียบ เพราะมีทางออกทางทะเลทั้งสองฝั่ง
รายงานของนายกฯ จีนพูดถึงการจะสร้าง Polar Silk Road หรือเส้นทางสายไหมขั้วโลก
เพราะขั้วโลกมีทรัพยากรมากมาย เพราะจีนต้องคิดตลอดเวลาของการแสวงหาแหล่งทรัพยากร
นักวิเคราะห์สหรัฐฯ เคยวิเคราะห์ว่า
ยุคทรัมป์นั้น พอตื่นขึ้นมาก็ตกใจเมื่อมีคนมารายงานว่าหัวเว่ยเป็นเบอร์สองของโลกแล้วในตลาดสมาร์ทโฟน
แต่วันนี้ โจ ไบเดน ตื่นขึ้นมาตกใจที่ได้รับรายงานว่า ในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดนั้น และพวกแร่ธาตุและวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่ ทำโซลาเซลล์นั้น จีนได้ไปยึดเหมืองเกือบทั่วโลกแล้ว
เรากำลังอยู่ในโลกยุคการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ไม่เคยตื่นตาตื่นใจขนาดนี้จริงๆ!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |