ถวายสัตย์27มี.ค. ‘บิ๊กตู่’นำ4รมต.ใหม่เข้าเฝ้าฯ/ประเมินผลงานทุก3เดือน


เพิ่มเพื่อน    

“พล.อ.ประยุทธ์” เตรียมนำ 4 รัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าฯ    ถวายสัตย์ปฏิญาณในวันเสาร์ที่ 27 มีนาคมนี้ ชี้ รมต.มีหน้าที่นำนโยบายรัฐบาลและนายกฯ ไปสู่การปฏิบัติ ขอประเมินผลงานทุก 3 เดือน ไม่ดีพร้อมปรับ “วิษณุ” ยก “จาตุรนต์-หมอเสริฐ” ไม่ต่างจากกรณี “ตรีนุช” เพื่อไทยเงียบฉี่ แต่ “ก้าวไกล” สับเละประยุทธ์ 2/4

    เมื่อวันพุธที่ 24 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐมนตรีใหม่ ว่าจะนำรัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าฯ  ถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 27 มี.ค. ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร ส่วนที่สังคมมอง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ไม่มีประสบการณ์ด้านการศึกษามาก่อนนั้น การทำงานมีหลายระดับ โดยระดับนโยบายคือนายกฯ  และรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งนโยบายที่ออกไป จะให้แนวทางวางแผนดำเนินการ มีกรอบยุทธศาสตร์ กรอบการปฏิรูปการศึกษา มีเรื่องพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และมีแผนงานหลายอย่างที่รัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมาดำเนินการไว้แล้ว ฉะนั้นใครจะมาเป็นอะไรก็ตาม ต้องปฏิบัติตามนี้ นายกฯ ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาเป็นพิเศษอยู่แล้ว
    “อย่ามาบอกว่านายกฯ ไม่รู้ ผมรู้ แต่นายกฯ ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ นายกฯ เป็นผู้กำหนดนโยบาย และติดตามสั่งการในการปฏิบัติ กำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ว่าใครจะพัฒนาอย่างไร การศึกษาวันนี้ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งในระบบ นอกระบบ เราก็เดินหน้าตรงนี้อยู่ โรงเรียนที่เก่งอยู่แล้วจะทำอย่างไรให้เขาเก่งที่สุด ส่วนการศึกษาในระบบที่มีประสิทธิภาพน้อย ก็ต้องทำให้เก่งมากขึ้น รวมถึงโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดครู ก็ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน” นายกฯ ระบุ
    พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า การทำงานของรัฐบาลไม่ใช่ทำงานการเมือง เป็นการทำงานตามกรอบอำนาจหน้าที่ฝ่ายบริหาร ซึ่งทุกคนที่เข้ามาเป็น ส.ส. เป็นคนที่ประชาชนเลือกมา ก็ต้องเคารพเขาในการที่มาเป็นรัฐมนตรี หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทั้งหมดต้องถูกบริหารโดยนายกฯ ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งบริหารผ่านช่องทางคณะรัฐมนตรี เมื่อเช้าเห็นนักวิชาการพูดในโทรทัศน์ ก็เคารพในความรู้ของท่าน แต่ในเชิงบริหารท่านก็ต้องเข้าใจว่าบริหารกันอย่างไร ถ้าตามหลักวิชาการคิดว่าไม่ต่างกันมากไปกว่านี้ เพราะทุกคนก็สร้างการรับรู้เยอะแยะกันไปหมด แต่จะทำกันอย่างไร นั่นก็คือความร่วมมือ ความเข้าใจในนโยบายของรัฐ
ประเมินผลงานทุก 3 เดือน
นายกฯ กล่าวอีกว่า จะเรียกรัฐมนตรีมาคุยก่อนปฏิบัติหน้าที่ หลังจากมีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว ขอร้องว่าให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีคนไหนก็ตาม ทุกคนก็ต้องทำตามสิ่งเหล่านี้ และไม่เคยปล่อยปละละเลย ซึ่งย้ำอยู่เสมอว่าต้องระมัดระวังเรื่องของการทุจริต ต้องโปร่งใส มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการใช้จ่ายงบประมาณและบริหารราชการอย่างมีเป้าหมาย ต้องดูว่าจะทำงานอะไรบ้างให้กับแต่ละกลุ่มแต่ละภาคส่วน ถือว่าขอร้องแล้วกัน ขอให้ช่วยกันสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งแผนปฏิรูปการศึกษา ถ้าเราขัดแย้งกันมากๆ ก็คงทำอะไรไม่ได้อยู่ดี
    "ผมไม่อยากให้มีคำว่าเด็กดี เด็กเลว ทุกคนต้องร่วมมือกัน ทำให้เด็กของเราเป็นคนดี เพราะทุกคนคือพลังสำคัญของชาติ ต้องเรียนรู้ว่าอะไรคือความถูกต้องความชอบธรรม อะไรคือประชาธิปไตยที่เป็นสากล ไม่เช่นนั้นก็จะพูดกันว่านายกฯ เผด็จการๆ ผมขอถามว่าเผด็จการตรงไหน วันนี้ยังไม่เห็นมีเผด็จการอะไรเลย ผมสั่งเฉพาะในอำนาจของผม ในฐานะฝ่ายบริหาร”นายกฯ กล่าว
    นายกฯ กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนในกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และกระทรวงคมนาคม (คค.) ว่าต้องการให้ทั้ง 2 กระทรวงมีการขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในช่วงนี้ โดยเฉพาะการสร้างโอกาสเรื่องของสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ทุกคนเข้าถึงให้ได้โดยเร็ว เพื่อที่จะได้มีรายได้ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและการขนส่งสินค้า ส่วนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นั้น มีความสำคัญ หลายอย่างอาจมีปัญหาอุปสรรคและการติดขัด เนื่องจากความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน และการสื่อสารออกไปบางครั้งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อีกทั้งความคิดของแต่ละคนห้ามไม่ได้ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยตนไปบังคับไม่ได้ ซึ่งจะต้องหาความร่วมมือระหว่างกันต่อไป
“ขอร้องว่าต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ก็ดูก่อน ครม.ใหม่เข้ามา เพราะ ครม.ก็ไม่ได้อยู่ตลอดไป ก็มีการปรับอยู่เรื่อย ถ้าทำไม่ดีก็ต้องปรับออก ปรับใหม่ และผมจะประเมินผลงานของรัฐมนตรีทุกกระทรวงเองอยู่แล้ว วันนี้ก็ได้มอบหมายให้มีการรายงานผลความคืบหน้าในการทำงานของทุกกระทรวงในทุกช่วง 3 เดือน รวมทั้งข้าราชการและหน่วยงานท้องถิ่นด้วย ไม่เช่นนั้นก็ไปด้วยกันไม่ได้ และคิดว่าน่าจะดีขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ น.ส.ตรีนุชว่าจบเศรษฐศาสตร์ มาบริหารกระทรวงศึกษาธิการเหมาะสมหรือไม่ ว่าอย่าไปพูดอย่างนั้นเลย รัฐมนตรีไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค และต้องขอยกพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งนายจาตุรนต์ ฉายแสง เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณเป็น รมว.ยุติธรรม โดยโยกมาจากกระทรวงพลังงาน โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชกระแสในวันดังกล่าวว่า รัฐมนตรีนั้นไม่ใช่ผู้ปฏิบัติการ แต่เป็นผู้กำหนดนโยบาย เป็นผู้บริหาร เพราะฉะนั้นจะจบอะไรมาถือเป็นนักบริหาร ถ้าเป็นนักบริหารต้องบริหารได้ คือ บริหารคน บริหารเงิน และบริหารงาน เขาไม่ได้ตั้งใจว่าหมอเท่านั้นที่ต้องเป็น รมว.สาธารณสุข ครูเท่านั้นต้องเป็น รมว.ศึกษาธิการ ทหารเท่านั้นต้องเป็น รมว.กลาโหม
“ถ้าไปดูในอดีต รมว.หลายกระทรวงที่เราอาจจะยี้เมื่อตอนเข้ามา แต่ต่อมากลายเป็น รมว.ที่ดีมาก หรือดีที่สุด เช่น พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น และมาเป็น รมว.สาธารณสุข ใครๆ ก็แหย่เรียกหมอเสริฐทำนองว่ายี้ แต่ต่อมา พล.ต.อ.ประเสริฐเป็น รมว.สาธารณสุขที่ทำความเจริญให้กับกระทรวงมากที่สุด จนเป็นที่ร่ำลือถึงปัจจุบัน ดังนั้นอย่าไปสนใจเรื่องเช่นนี้” นายวิษณุระบุ
ซัดแค่สับเปลี่ยนขั้วอำนาจ
ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/4 ว่าสะท้อนชัดเป็นการปรับตำแหน่งเพื่อการขยับสับเปลี่ยนขั้วอำนาจเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหาคนที่เหมาะสมมาขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนเลย อย่างนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส และ น.ส.ตรีนุช ต่างก็ทราบว่าเป็นผู้ที่มีความสนิทและใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ การได้มาซึ่งตำแหน่งรัฐมนตรีของทั้ง 2 ท่านนี้ จึงเป็นการปรับตำแหน่งเพื่อยึดโควตารัฐมนตรีคืนจากกลุ่ม กปปส. ตามสำนวนไทยที่ว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนทัพเท่านั้น
“น.ส.ตรีนุชไม่เคยมีบทบาทที่เด่นชัดในงานด้านการศึกษาเลย ไม่เคยแสดงให้สาธารณชนรับรู้ถึงแรงบันดาลใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของของเด็กและเยาวชนเลย ไม่เคยแสดงให้ประชาชนได้เห็นถึงความทุ่มเทในการแก้ไขปัญหาการศึกษาของชาติ จึงเป็นที่สงสัยของประชาชน นักเรียนนักศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ว่าจะเข้ามาแก้ปัญหา พัฒนาการศึกษาของชาติให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และอยู่ในแนวทางที่อารยประเทศเขาขับเคลื่อนกันได้หรือไม่” นายวิโรจน์กล่าว
    นายวิโรจน์ยังตั้งข้อสังเกตถึงนายชัยวุฒิว่า เป็นผู้ภักดีต่อทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร และมีท่าทีปฏิปักษ์อย่างชัดเจนต่อผู้ชุมนุมและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตว่าการเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีดีอีเอสครั้งนี้ อาจเข้ามาเพื่อเซ็นเซอร์ จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในโลกไซเบอร์มากกว่า ส่วนนายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชยนั้น ก็มาจากการคัดเลือกแบบโหวตภายในพรรคประชาธิปัตย์ โดยที่ยังไม่ทราบว่าจะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงใด จึงสะท้อนชัดเจนว่าเป็นการคัดเลือกผ่านระบบมุ้งและเครือข่ายอำนาจภายในพรรคเท่านั้น
วันเดียวกัน กลุ่มเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือวีแฟร์ นำโดยนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เดินทางมายื่นหนังสือกับตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อทวงถามความคืบหน้าถึงรัฐสวัสดิการที่พรรคได้เคยหาเสียงไว้ ก่อนอ่านแถลงการณ์ และในช่วงบ่ายกลุ่มดังกล่าวก็ได้มายื่นหนังสือที่พรรค ปชป.เช่นกัน โดยมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค เป็นตัวแทนรับเรื่อง ซึ่งนายชินวรณ์ยืนยันว่า ให้ความสำคัญเรื่องสังคมและรัฐสวัสดิการ ที่ผ่านมาพรรคได้ผลักดันมีความคืบหน้าไปมาก.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"