ทุ่ม3.5แสนล้าน อุ้มธุรกิจสู้ไวรัส คนละครึ่ง3มีแน่


เพิ่มเพื่อน    

 ครม.ไฟเขียว 3.5 แสนล้านอุ้มธุรกิจสู้โควิด ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ-ผุดโกดังพักหนี้ คาดช่วยผู้ประกอบการ 6 หมื่นราย-ไม่ตกงาน 8.2 แสนตำแหน่ง เคาะทัวร์เที่ยวไทยวงเงิน 5 พันล้าน ลุยเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 อีก 2 ล้านสิทธิ์ “บิ๊กตู่” ลำบากใจยังไม่เคาะ“เราผูกพัน” ให้ ขรก. คลังแย้มคนละครึ่งเฟส 3 มีแน่หลังเดือน พ.ค.

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ารัฐบาลให้ความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะประชาชน ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำต่างๆ ทยอยปลดล็อกออกมา เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงในเรื่องมาตรการเยียวยาของรัฐ ซึ่งวันนี้ได้เห็นชอบหลักการขั้นต้น ส่วนรายละเอียดต่างๆ เป็นเรื่องของหน่วยงานปฏิบัติ จะต้องดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น ส่วนการขยายโครงการคนละครึ่งเฟส 3 นายกฯ กล่าวว่า กำลังดำเนินการอยู่ เดี๋ยวให้สอบถามกับทางฝ่ายที่ดำเนินการ
    เมื่อถามว่า รวมถึงโครงการเราผูกพันที่ช่วยเหลือข้าราชการด้วยใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังๆ ของข้าราชการเดี๋ยวต้องดูก่อน เห็นใจจริงๆ ในส่วนของข้าราชการ แต่เขามีเงินเดือน ลำบากเหมือนกัน จะไปดูว่าจะทำอย่างไรได้ สิ่งสำคัญที่สุดจะเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ต้องมองด้วย ขอร้องทำความเข้าใจกับข้าราชการ ไม่ใช่รัฐบาลไม่ห่วงใย แต่เป็นเรื่องของการเยียวยา
    ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวม 2 มาตรการ รวมวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจได้ 6 หมื่นราย และสามารถรักษาการจ้างงานได้ 8.2 แสนตำแหน่ง 
    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม.เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2 มาตรการ วงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท และมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาก่อนดำเนินการตามกระบวนการตรากฎหมายต่อไป ประกอบด้วย 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท โดยกำหนดกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีพื้นฐานดี แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสมผ่านกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิตของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวสามารถประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมทั้งปรับปรุงธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง
    สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ.2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 ก.พ.2564 สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกที่สถาบันการเงินได้รับแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกำหนดให้มีกลไกค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุด 40% ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการ ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันโดยเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปี และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ตลอดสัญญาได้ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดจำนองหลักทรัพย์ค้ำประกันจากการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เหลือ 0.01% เพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ
    2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราวและไม่ถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริงให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ทั้งนี้ ธปท.จะสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถขายทรัพย์สินคืนให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินรายเดิมในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป นอกจากนี้ สถาบันการเงินสามารถให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงระยะเวลามาตรการได้อีกด้วย
    ทั้ง 2 มาตรการมีระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี โดย ครม. สามารถขยายระยะเวลามาตรการออกไปได้อีก 1 ปี ในกรณีที่มีความจำเป็นและมีวงเงินเหลืออยู่ และ ครม.ยังสามารถอนุมัติให้เกลี่ยวงเงินระหว่างมาตรการได้
    ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท., นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย, นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงมาตรการเพิ่มเติม โดยมั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ และจะสามารถดำเนินการได้จริงภายในเดือน พ.ค.นี้
    วันเดียวกัน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการ "ทัวร์เที่ยวไทย" วงเงิน 5,000 ล้านบาท จำนวน 1 ล้านสิทธิ์ โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าเดินทางลักษณะร่วมจ่าย ร้อยละ 40 รายละไม่เกิน 5,000 บาท โดยผู้ประกอบการบริษัททัวร์ต้องมาลงทะเบียนกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวในระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ต้องกำหนดราคาที่พักและร้านอาหารไม่เกิน 12,500 บาทต่อโปรแกรม กำหนด 1 ล้านสิทธิ์ บริษัททัวร์แต่ละแห่งรับลูกค้าได้ไม่เกิน 1,000 ราย เริ่มเดือน พ.ค.ถึง ส.ค.64 โดยเป็นการท่องเที่ยวในช่วงวันธรรมดา และต้องชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังเท่านั้น
    นอกจากนี้ ที่ประชุมยังอนุมัติโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 จำนวน 2 ล้านสิทธิ์ เริ่มใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.ถึง ส.ค. โดยจะแก้ไขระบบไม่ให้มีการฉวยโอกาส ซึ่งจะเพิ่มขั้นตอนให้ผู้ประกอบการต้องให้ความยินยอมใหม่อีกครั้ง ให้ ททท.ตรวจสอบข้อมูลที่พักว่าแต่ละแห่งมีจำนวนห้องเท่าใด รวมถึงต้องส่งข้อมูลราคาห้องมาให้ตรวจสอบ สำหรับการจองที่พักต้องจองล่วงหน้า 7 วัน เพื่อให้ธนาคารกรุงไทยส่งข้อมูลให้ ททท.ตรวจสอบ และต้องใช้การสแกนใบหน้า และมีข้อมูลจีพีเอสในการใช้งานด้วย
    นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ ซึ่งจะไม่ได้ต่อโครงการทันทีที่จบเฟส 2 ในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าโครงการจะออกมาได้หลังจากที่โครงการเราชนะ และ ม33เรารักกันสิ้นสุดในช่วงเดือน พ.ค. โดยผู้ได้รับสิทธิรายเดิมอาจจะไม่ต้องลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง เนื่องจากมีข้อมูลในแอปพลิเคชันเป๋าตังแล้ว ซึ่งจะใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินในก้อนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีวงเงินเหลืออยู่กว่า 2 แสนล้านบาท.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"