เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงรับการฉีดวัคซีนโควิดแอสตราเซเนกา ไม่มีพระอาการแพ้ใดๆ "อนุทิน" ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 พร้อมหนุนองค์การเภสัชฯ ผลิต "วัคซีนไทยแลนด์" อย่าตกใจตัวเลขคลัสเตอร์ ตม.พุ่ง ยืนยันไม่ใช่ระลอก 3 ครม.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน 1 เม.ย.-31 พ.ค. ศบค.พบผู้ป่วยใหม่ 401 ราย โดย 318 ราย พบในสถานกักกัน ตม.บางเขน อยู่ระหว่างสอบสวนโรค เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 สธ.ยันไม่เคยมี ปชช.รอบ "รพ.สนาม" ติดเชื้อ
วันที่ 23 มีนาคม 2564 เว็บไซต์ HRH Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทรงรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ เนื่องจากทรงอยู่ในกลุ่มบุคคลที่มีการเดินทางและพบปะผู้คนจำนวนมาก วัคซีนแอสตราเซเนกาป้องกันการป่วยรุนแรง ลดโอกาสรับเชื้อและแพร่เชื้อซึ่งได้รับการรับรองว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ในผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
โดยการฉีดมี 8 ขั้นตอนตามระบบของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เริ่มจากการลงทะเบียน, ตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต คัดกรองความเสี่ยง รับการฉีดวัคซีน, จัดห้องพักสังเกตอาการหลังฉีดเป็นเวลา 30 นาที มีแพทย์ประจำเฝ้าสังเกตอาการ ทรงปลอดภัยและไม่มีพระอาการเเพ้ใดๆ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าวันนี้ตนจะฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 2 ส่วนกรณีที่องค์การเภสัชกรรมได้ฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัคร ซึ่งเป็นวัคซีนที่คนไทยผลิตเองจากเชื้อตายโควิด-19 นั้น เป็นวัคซีนที่ร่วมพัฒนากับสถาบันทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเท่าที่ฟังจาก นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ว่าวัคซีนตัวนี้ทำมาจากเชื้อตายของโควิดที่ใช้ไข่ไก่สด ซึ่งทางองค์การเภสัชกรรมมีเทคโนโลยีนี้ และมีโรงงานวัคซีนนี้อยู่แล้ว จึงได้มีการพัฒนาและวิจัยขึ้นมา จนมาถึงขั้นที่ได้ฉีดในอาสาสมัครกว่า 100 คน ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้ เขาก็ต้องผ่านเฟส 1 เฟส 2 เฟส 3 มาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนและเป็นไปตามมาตรฐานทุกอย่าง
รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า ถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้ เราก็จะมีวัคซีนไทยแลนด์ ซึ่งคนที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีก็คือคนไทย โดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งการพัฒนาก็จะเป็นไปในหลายรูปแบบ โดยทราบว่าความสามารถในการผลิตคือ 30 ล้านโดสต่อปี นี่คือเบื้องต้น ถ้ามันเวิร์ก กำลังการผลิตเราสามารถขยายได้ในอนาคต ตอนนี้องค์การเภสัชกรรมใช้เงินของตัวเองอยู่ ถ้าสำเร็จเขาก็คงมาขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาให้การสนับสนุน
ต่อมากรมควบคุมโรคถ่ายทอดสดผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ภายหลังฉีดเข็มแรกไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 โดยวันนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. เป็นผู้ฉีดวัคซีนให้ โดยมีทีมแพทย์ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งขณะรับวัคซีน นายอนุทินได้ชู 2 นิ้วด้วย หลังเสร็จสิ้นก็ได้รับใบรับรองการฉีดวัคซีน จากนั้นดูอาการ 30 นาที ขณะที่ลำดับต่อไปที่เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เช่นกันคือนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ต่อด้วยปลัด สธ. และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ว่า ครม.เห็นชอบขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค.นี้ ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ให้ความเห็นชอบ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในเมียนมาหรือไม่ ว่าไม่เกี่ยว แต่เกี่ยวเฉพาะเรื่องการบูรณาการและการใช้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายปกติ เช่น การให้ทหารหรือตำรวจมาดูแลเรื่องสถานที่ควบคุมโรคหรือไปตรวจตามถนนหนทาง ซึ่งหลายหน่วยงานไม่มีกฎหมายตัวนี้ ดังนั้นย้ำว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเป็นการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ให้สามารถทำงานได้ ขณะที่ สธ.ก็ระบุว่าจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ก่อน เพราะหน่วยงานเดียวคงไม่ไหวในการดูแลในพื้นที่ต่างๆ ตั้งด่านตรวจจุดสกัด รวมถึงการควบคุมชายแดนด้วย
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 วงเงิน 699 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระยะที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563-วันที่ 28 ก.พ.2564 สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ในส่วนของสถานที่เอกชนจำนวน 32,907 คน
นายอนุชาเปิดเผยด้วยว่า ครม.เห็นชอบแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2564 ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” เน้นวัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยวและสุขภาพ โดยจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์แบบฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากและมีการสัมผัสกันใกล้ชิด การดำเนินกิจกรรมสงกรานต์ต้องสอดคล้องกับแนวทางมาตรการเทศกาลสงกรานต์ 2564 ของ ศบค.
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ครม.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีเป็นพิเศษ (ฉบับที่..) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่เดินทางมากับเรือสำราญและกีฬา (เรือยอชต์) เพื่อมาท่องเที่ยวในไทย สามารถขอรับการตรวจลงตราวีซ่าประเภท Special Tourist Visa (STV) ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
นายอนุทินยังกล่าวถึงการประสานงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในการตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่สโมสรตำรวจถนนวิภาวดีฯ ว่าทาง พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ได้โทรศัพท์พูดคุยกับตนหลายวันแล้ว และได้มีการเตรียมความพร้อมการสร้างโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ที่ติดเชื้อที่ลักลอบเข้าเมืองมา ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุม และเป็นสิ่งที่ได้เตรียมการบริหารจัดการเป็นอย่างดี โรงพยาบาลสนามสามารถเกิดขึ้นมาได้ด้วยในระยะเวลาอันสั้น เชื่อว่าทาง ตร.ที่มีโรงพยาบาลตำรวจและมีแพทย์ตำรวจ ในส่วนของ สธ.หากมีการร้องขอสิ่งใดมา เราก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่เมื่อประชาชนทั่วไปเห็นตัวเลขรายวันที่เพิ่มขึ้นแล้วก็รู้สึกตกใจ นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนใหญ่คนเหล่านี้ไม่แสดงอาการ ดังนั้นเมื่อเจอตัวเขาก็ต้องนำมารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม ถือเป็นการควบคุมโรคที่ปลอดภัยที่สุด บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนในวัยทำงาน อายุไม่มาก เมื่อไม่แสดงอาการเราก็ต้องใช้เวลาเป็นตัวรักษา เพราะถ้าไม่แสดงอาการเลยก็ไม่ต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว 10 วันเขาก็จะหายเอง โควิด-19 ก็เป็นอย่างนี้ มีส่วนที่แรง ส่วนที่เมื่อครบ 10 วันแล้วก็จากไปดื้อๆ
"ตอนนี้อย่าไปดูยอดตัวเลข แต่ดูว่าการกระจายอยู่นอกเหนือการควบคุมหรือเปล่า ซึ่งตอนนี้ไม่มีการกระจายอยู่เป็นคลัสเตอร์ เป็นที่ๆ ไป สะเก็ดไฟไปตรงไหน กรมควบคุมโรคก็สามารถตะครุบได้ ตอนนี้ยังไม่มีหลุด นี่คือโรคระบาดระดับโลก ก็ต้องมีแบบนี้ ยืนยันว่าอันนี้ไม่ใช่ระลอกสาม" นายอนุทินกล่าว
ที่อาคารโรงยิมกองสวัสดิการ สโมสรตำรวจ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. กล่าวระหว่างแถลงชี้แจงรายละเอียดการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราว สตม. ว่าผู้ต้องกักที่อยู่ในความดูแลของ สตม.มีทั้งหมด 1,615 คน อยู่ที่ห้องกักบางเขน จำนวน 490 คน ห้องกักสวนพลูจำนวน 1,125 คน ตรวจพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 393 คน เป็นชาย 370 คน และหญิง 23 คน นอกจากนี้ยังมีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสัมภาระผู้ต้องกักติดเชื้อ 1 นาย สตม.จึงได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราวขนาด 300 เตียงขึ้น เพื่อแยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ออกมาจากผู้ต้องกักรายอื่น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สธ. เรื่องมาตรฐานการควบคุมโรค การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยตำรวจจะจัดกำลังรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดออกนอกพื้นที่
ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า โรงพยาบาลสนามที่จัดตั้งขึ้นห่างไกลจากชุมชน มีระบบระบายอากาศ และมาตรการป้องกันผู้ปฏิบัติงานทั้งแพทย์และตำรวจอย่างดี ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการแพร่เชื้อออกนอกพื้นที่ ส่วนผู้ต้องกักติดเชื้อทั้ง 393 คนนั้น เป็นผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อย ยืนยันไม่มีผู้ต้องกักหรือตำรวจเสียชีวิต
วันเดียวกัน ศบค.เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 401 ราย โดยเป็นผู้ป่วยในประเทศ 383 ราย ได้แก่ จากการตรวจพบระบบเฝ้าระวังและบริการ 46 ราย ประกอบด้วย กรุงเทพฯ 29 ราย, ขอนแก่น 1 ราย, นครปฐม 9 ราย, ปทุมธานี 1 ราย, สมุทรสาคร 5 ราย, นนทบุรี 1 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 337 ราย ประกอบด้วย จ.นครปฐม 2 ราย, สมุทรสาคร 12 ราย, กรุงเทพฯ 5 ราย และ กรุงเทพฯ (สถานกักกัน ตม.บางเขน) 318 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 18 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 28,277 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 103 ราย รวมรักษาหายป่วยสะสม 26,766 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 1,419 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 75 ปี มีโรคประจำตัวลิ้นหัวใจรั่ว ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ วันที่ 14 มี.ค. เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เข้ารับการตรวจเชื้อโควิด-19 ผลตรวจยืนยันพบเชื้อ วันที่ 15 มี.ค.อาการแย่ลง และเสียชีวิตในวันที่ 19 มี.ค. ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมรวม 92 ราย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |