หลังมีกระแสข่าวเครือข่าย 3 ป. และคีย์แมนพรรคพลังประชารัฐบางส่วน เตรียมเดินเกมเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อจัดตั้ง "พรรคสำรอง-กลยุทธ์แตกแบงก์พัน" ภายใต้ชื่อพรรค "รวมไทยสร้างชาติ" ที่เคยเป็นมอตโตที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยพูดถึงบ่อยๆ ในช่วงประเทศไทยกำลังสู้กับโควิดรอบแรก และในช่วงม็อบสามนิ้วกำลังพีก จนนายกฯ ต้องออกทีวีเฉพาะกิจ ค่ำวันที่ 21 ตุลาคม 2563
ท่ามกลางกระแสข่าวคนกลางที่จะเป็นตัวประสานขับเคลื่อนตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ คือ "บิ๊กฉิ่ง-ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย" ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ หลังนั่งเป็นปลัดคลองหลอดมา 4 ปีเต็มๆ โดยเก้าอี้ไม่เคยสะเทือน โค่นยาก เพราะทำงานเข้าขากับบิ๊กป๊อก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย น้องกลาง 3 ป. ที่อยู่ในตำแหน่ง มท.1 มาร่วมจะ 6 ปี
จึงทำให้ "บิ๊กป๊อก-บิ๊กฉิ่ง" ทำงานกันแบบมองตาก็รู้ใจกันอย่างมาก ผนวกกับเครือข่ายคอนเน็กชันของปลัดฉิ่งที่เป็นปลัดมหาดไทยมาหลายปี ซึ่งได้วางเครือข่ายไว้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับนายอำเภอจนถึงพ่อเมืองทั่วประเทศ รวมถึงเครือข่ายทางการเมืองและทางธุรกิจที่สะสมไว้หลายปี ตลอดจนเป็นคนที่รู้จักสนิทสนมกับนักการเมืองแทบทุกพรรค แม้แต่กับแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน ทำให้แวดวงการเมืองมองกันว่า หากปลัดฉิ่งลงมาเดิมเกมเคลื่อนไหวตั้งพรรคให้กับเครือข่าย 3 ป. ก็เป็นเรื่องที่น่าจับตาอย่างยิ่ง
เพราะหากสุดท้าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองอย่าง เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ พยายามเคลื่อนไหวอย่างหนักให้มีการแก้ไข รธน.รายมาตรา เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง จากระบบคิดคะแนนเลือกตั้งทั่วประเทศเพื่อคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ในสภาของแต่ละพรรคการเมืองตามระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่มีการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ต่างต้องการให้แก้ไข รธน.และ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ให้กลับมาเป็นระบบปาร์ตี้ลิสต์-บัตรเลือกตั้งใบเดียว หลัง เพื่อไทยและประชาธิปัตย์เห็นแล้วว่า ระบบที่ใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 ทำให้ทั้งสองพรรคได้ ส.ส.ต่ำกว่าที่คาดหมายไว้พอสมควร โดยเฉพาะเพื่อไทยที่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว ซึ่งหากการแก้ไข รธน.เรื่องระบบเลือกตั้งไม่สำเร็จ ย่อมทำให้การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในอนาคตจะยังใช้กติกาเดิม ซึ่งสร้างความได้เปรียบให้กับบางพรรค โดยเฉพาะพรรคปีกรัฐบาล
เลยมีกระแสข่าวว่า เครือข่าย 3 ป.-แกนนำ พปชร.บางส่วนมองว่า หากมีพรรคการเมืองที่เป็นเครือข่ายเดียวกันไว้เป็นพันธมิตร ย่อมเป็นผลดีกว่าที่จะไปรอหวังพึ่งเสียงพรรคอื่นอย่าง ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา มาจับมือกันหลังเลือกตั้ง
คิดง่ายๆ หากพรรคเครือข่ายของ 3 ป.และพลังประชารัฐ ทำยอดได้เก้าอี้ ส.ส.สักระดับ 40-60 เสียงหลังเลือกตั้งก็เพียงพอแล้ว เพราะแกนนำพลังประชารัฐเคยมองว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พรรค พปชร.น่าจะได้ ส.ส.มากกว่ารอบที่แล้ว คือเกิน 130 เสียง แต่อาจไม่เกิน 150 เสียง ซึ่งหาก พปชร.มีพรรคเครือข่ายสักหนึ่งพรรคที่มาดีลตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้ แค่นี้พลังประชารัฐก็ไม่ต้องยอมให้ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ขี่คอแบบตอนตั้งรัฐบาลรอบที่ผ่านมา ซึ่ง พปชร.ทั้งที่เป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล แต่กลับต้องยอมยกกระทรวงสำคัญๆ อย่าง "คมนาคม-เกษตรและสหกรณ์-พาณิชย์-สาธารณสุข-การท่องเที่ยวฯ" ให้กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย
อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เคยเว้นวรรคไว้อย่าง "การทำไพรมารีโหวต" รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ทั้งระบบเขตและทั่วประเทศ ที่ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. บัญญัติให้ต้องทำทุกเขตเลือกตั้ง และทุกพรรคการเมืองที่จะส่งคนลงเลือกตั้ง ซึ่งการทำไพรมารีโหวต หากเป็นพรรคขนาดเล็กหรือพรรคขนาดกลางย่อมเสียเปรียบพรรคขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมในการส่งคนลงเลือกตั้งมากกว่า จึงทำให้การเลือกตั้งรอบหน้า หากพรรคไหนไม่พร้อม โอกาสจะได้ ส.ส.ตามเป้าที่วางไว้ก็อาจน้อยกว่าที่คิด อีกทั้งระบบไพรมารีโหวตทำให้ บางพรรคการเมืองสามารถไปเก็บตกผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ผ่านการทำไพรมารีโหวตจากพรรคใหญ่มาอยู่กับพรรคตัวเองได้ ซึ่งหากมีการตั้งพรรคเครือข่าย 3 ป.-พลังประชารัฐอย่างรวมไทยสร้างชาติจริง ก็ทำให้พลังประชารัฐสามารถผ่องถ่ายผู้สมัคร ส.ส.แถวสอง ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ ให้ไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติได้หากว่าทำได้ทัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใด แต่สภาชุดปัจจุบันที่อยู่มาแล้วครึ่งเทอม 2 ปี ก็เท่ากับเหลือเวลาอีกแค่ 2 ปีเท่านั้น เลยทำให้ข่าวการตั้งพรรคการเมืองจากกลุ่มต่างๆ เริ่มออกมาเป็นระยะ อันรวมถึง "ปลัดฉิ่ง-รวมไทยสร้างชาติ" ด้วย ที่แน่นอนว่าปลัดฉิ่งซึ่งยังเหลืออายุราชการถึงเดือนกันยายน ก็ต้องปฏิเสธเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งหากยังไม่มีความชัดเจนจาก 3 ป. ว่าจะเอาจริงหรือไม่ ถ้าปลัดมหาดไทยพูดอะไรมากไปตอนนี้ สุดท้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็จะหน้าแหกได้
เลยทำให้คนที่เกี่ยวข้องทั้งปลัดฉัตรชัย-พลเอกประยุทธ์-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ-พลเอกอนุพงษ์ ต้องปฏิเสธเสียงแข็ง เพราะของแบบนี้มันต้องดูสถานการณ์และหน้างานตอนมีการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาเปิดตัวแต่หัววัน
ท่ามกลางการจับตามองของสิงห์คลองหลอดทั่วประเทศว่า สุดท้าย ฉัตรชัย-ปลัด มท.คนปัจจุบัน จะเดินตามรอยอดีตปลัดมหาดไทยบางคนที่หลังเกษียณอายุราชการก็ไปร่วมตั้งพรรคการเมือง เช่น "ปลัดฮิ-พิศาล มูลศาสตรสาทร อดีตปลัด มท.ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์" ที่ไปตั้งพรรคความหวังใหม่กับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หรือ "วิเชียร ชวลิต อดีตปลัด มท." ที่ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงเป็นที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตเลขาธิการพรรค พปชร.
หลังก่อนหน้านี้เคยมีกระแสข่าวว่า ในช่วงการเมืองแรงๆ จนมีข่าวพลเอกประยุทธ์อาจยุบสภา ทำให้มีข่าวลือในแวดวงการเมืองว่า ปลัดฉิ่ง-ฉัตรชัยอาจลาออกก่อนเกษียณเพื่อเตรียมตัวไปตั้งพรรค แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มนิ่งสงบ แนวโน้มรัฐบาลอยู่ยาว เลยมีข่าวปลัดฉิ่งจะอยู่จนครบวาระ เพื่อจัดทัพอำนาจในมหาดไทยกับการทำโผบิ๊กคลองหลอดล็อตสุดท้ายก่อนเกษียณ โดยเฉพาะการวางทายาท "ปลัดมหาดไทย" คนใหม่ ที่หากโผไม่พลิก จะเป็น "น้องรักสิงห์ดำ" ของฉัตรชัย ที่เป็นอธิบดีกรมใหญ่ในมหาดไทยในเวลานี้ ขึ้นมารับไม้ต่อคุม ก.มหาดไทย จากปลัดฉิ่งต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |