ผู้สูงอายุเป็นวัยที่สภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอยลงและมักประสบปัญหาสุขภาพบ่อยๆ จึงควรต้องมีการเสริมสมรรถภาพด้วยทางด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับสมอง หากไม่ได้รับการดูแลก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน จึงจำเป็นจะต้องมีการพัฒนา บริหาร และกระตุ้นให้อวัยวะส่วนสำคัญนี้ให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีผลต่อการสั่งการไปที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ จึงได้จัด "กิจกรรมออกกำลังกาย ยกกำลังสมอง” เพื่อแนะนำเทคนิคการออกกำลังกายและนำไปปรับใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ จัดขึ้นที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (คลอง 5) จังหวัดปทุมธานี
นายนครินทร์ ภระมรทัต นักบริหารการเรียนรู้ชำนาญการ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า กิจกรรมออกกำลังกาย ยกกำลังสมอง เป็นกิจกรรมที่ได้รับผลการตอบรับอย่างดี จากกิจกรรม SOOK Activity ในโครงการ "เสาร์สร้างสุข" ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ทั้งนี้ เรา ได้เล็งเห็นถึงปัญหาด้านสุขภาวะเป็นสิ่งสำคัญ จึงเลือกมาจัดกิจกรรมที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (คลอง 5) จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากมีคุณตาคุณยายจำนวนมากอาศัยอยู่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำความรู้ที่เราถ่ายทอดไปพัฒนาศักยภาพกระบวนการคิดได้ อีกทั้งการดูแลผู้สูงอายุส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ต้องอาศัยหลักการที่ถูกวิธี และผู้ดูแลก็ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อนำไปปรับใช้ในการดูแลผู้สูงอายุอย่างดีที่สุด
“การบริหารสมองนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้สูงอายุ แต่เยาวชน วัยรุ่นหรือวัยทำงาน ก็ควรที่จะเริ่มบริหารสมองด้วยการทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอเช่นเดียวกัน โดยเริ่มฝึกจากงานอดิเรกที่ตนเองชื่นชอบ เพื่อกระตุ้นสมองให้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ความจำของเรานั้นมีประสิทธิภาพในการคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม อีกทั้งยังได้รับความสนุกและเพลิดเพลินด้วย”
“เราต้องการจุดประกายให้คนมีแนวคิดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพร่างกาย จิตใจ รวมถึงส่งต่อไปยังคนรอบข้าง การจัดทำกิจกรรมเหล่านี้จึงเปิดโอกาสให้คนมาร่วมเรียนรู้ และนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่ทาง สสส.ได้เคยศึกษาไว้มาแปลงเป็นรูปแบบที่ง่ายต่อการนำไปใช้ ก็เป็นสิ่งสำคัญให้คนเริ่มหันกลับมาดูแลตัวเองมากขึ้นแล้ว” นายนครินทร์กล่าว
นางปราณี ประทุมมา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (คลอง 5) จังหวัดปทุมธานี มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ที่ศูนย์ประมาณ 100 คน โดย 60% ในนี้ขาดคนอุปการะ ส่วนอีก 40% ยังมีครอบครัวอยู่บ้าง ซึ่งในการดูแลผู้สูงอายุนั้น เราจำเป็นต้องจัดหากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับพวกเขาได้ปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ชีวิตผ่านไปอย่างน่าเบื่อหน่าย ซ้ำซากจำเจ ซึ่งในวันนี้ได้รับความกรุณาจากทางศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.มาถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพสมอง ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุนำมาปฏิบัติได้ด้วยตนเอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อนำไปปรับใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ
“เมื่อพูดถึงผู้สูงอายุ สิ่งที่หลายๆ คนอาจจะนึกถึงคือความเสื่อมของร่างกาย อาการหลงลืมหรือสมองเสื่อม เป็นเพราะว่าผู้สูงอายุทุกคนมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเซลล์สมองจะตายลงไปทุกวัน ไม่ผลิตขึ้นใหม่ ดังนั้นเราจะทำยังไงเพื่อกระตุ้นเซลล์สมองให้ตายช้าลง ก็คือการให้พวกเขาได้ทำและร่วมกิจกรรมเพื่อให้เกิดการสื่อสารพูดคุย ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยกิจกรรมออกกำลังกาย ยกกำลังสมอง ก็เป็นกิจกรรมเข้าใจง่าย ไม่สร้างความตึงเครียด และถึงแม้ผู้สูงอายุอาจทำไม่ได้ในบางขั้นตอน ก็สามารถให้ผู้ดูแลช่วยทำได้ ซึ่งดีกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ก็จะมีปัญหากล้ามเนื้อรั้ง ตึง การที่คนชราได้ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็ทำให้มีสุขภาพทั้งกาย ใจ และสมองดีขึ้น” นางปราณีเผย
ด้านนางสาวลัดดาวัลย์ ชูช่วย วิทยากรพัฒนาสมอง ความคิดและความจำ, วิทยากรฝึกอบรมหลักสูตร Mind Map (ThinkBuzan Licensed Instructor), หลักสูตรการบริหารสมอง (Brain Gym) จาก สสส. กล่าวว่า การออกกำลังกายเกี่ยวกับสมองจะช่วยทำให้สมองทั้ง 2 ซีก ทำงานสมดุลกันมากขึ้น ซึ่งโดยปกติผู้สูงอายุจะไม่ได้บริหารสมองกันมากนัก แต่เมื่อได้ออกกำลังกายสมองแล้วก็จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้ดีมากยิ่งขึ้น
โดยการบริหารสมอง Brain Gym จะเป็นท่าที่ช่วยให้ความบกพร่องและกระบวนการเรียนรู้ของสมองทำงานได้ดีมากขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำ ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้สภาพจิตใจเกิดความพร้อมที่จะเรียนรู้ เกิดความจำทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีอารมณ์ขันเพราะคลื่นสมอง (Brain Wave) จะลดความเร็วลง คลื่นเบตา (Beta) เป็น อัลฟา (Alpha) ซึ่งเป็นสภาวะที่สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด กิจกรรมนี้สามารถสร้างความสุขในทุกมิติ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้สูงอายุอีกด้วย และหากได้บริหารสมองเป็นประจำนั้นจะดีต่อภาวะอารมณ์ของเราได้อีกด้วย
“สำหรับการบริหารสมองเพื่อสุขภาพที่ดี สามารถปฏิบัติได้บ่อยครั้งตามที่ต้องการ หรือหากเป็นไปได้สามารถทำหลังตื่นนอนตอนเช้า ใช้เวลา 5-10 นาที และควรฝึกท่าต่างๆ สำหรับบริหารสมองซ้ำประมาณ 4-6 ครั้ง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และขณะทำการบริหารควรหายใจเข้า-ออก ช้าๆ ลึกๆ ไม่ควรกลั้นลมหายใจ โดยสามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งในวัยเด็ก วัยทำงานและผู้สูงอายุ” นางสาวลัดดาวัลย์กล่าว
ขณะที่อีกหนึ่งวิทยากรฝึกอบรมออกกำลังกายบริหารสมองจาก สสส. นางขวัญฤดี ผลอนันต์ เผยถึงท่าการบริหารสมอง Brain Gym หลักๆ ที่สามารถปฏิบัติตามได้ โดยท่าแรกที่ต้องปฏิบัติก็คือ การดื่มน้ำ เพราะเป็นสิ่งที่ร่างกายของเราต้องการ ควรเลือกดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงวันละ 7-8 แก้ว คอยจิบทีละน้อย วิธีนี้จะช่วยให้จิตใจและร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา และสมองก็จะเปิดว่าง สามารถรับข่าวสารและข้อมูลได้ดี เพราะน้ำช่วยปรับสารเคมีที่สำคัญในสมองและระบบประสาท และเวลาที่เรารู้สึกเคร่งเครียด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะร่างกายของเราขาดน้ำ เราจึงควรจิบน้ำเปล่าอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำ เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงระบบของร่างกาย
ท่าต่อมาคือ “ท่ากระตุ้นโลหิตเชื่อมสมอง” วางมือข้างหนึ่งไว้บนสะดือ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งให้ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้วางบนกระดูกหน้าอกบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า ค่อยๆ นวดทั้ง 2 ตำแหน่งประมาณ 10 วินาที วิธีการนี้จะช่วยลดความงง หรือความสับสน และกระตุ้นพลังงาน ช่วยให้มีความคิดแจ่มใส
จากนั้น ท่าที่ช่วยในเรื่องการพูด ก็คือ “ท่าหาวเพิ่มพลัง” วิธีทำก็คืออ้าปาก นวดขากรรไกรบน-ล่างหายใจเข้า แล้วหาว หายใจออก แล้วหาว นอกจากนี้ยังมีท่ากระตุ้นการฟัง “ท่าหมวกความคิด” นั่งพักสบายๆ แตะปลายนิ้วทั้ง 2 ข้างที่ใบหู โดยใช้นิ้ว 4 นิ้วไว้หลังใบหู ส่วนนิ้วโป้งอยู่ด้านหน้า เคลื่อนนิ้วไปยังส่วนบนของหู จากนั้นบีบนวด และคลี่รอยพับของใบหูทั้ง 2 ข้างออก ค่อยๆ เคลื่อนนิ้วลงมานวดบริเวณอื่นๆ ของใบหู ดึงเบาๆ เมื่อถึงติ่งหูดึงลง ให้ทำซ้ำกัน 2 ครั้ง วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นการได้ยินและทำให้ความเข้าใจดีขึ้น เพราะเป็นการคลายเส้นประสาทบริเวณใบหูที่เชื่อมสมอง รวมทั้งยังจะช่วยนวดเยื่อ แก้วหูอีกด้วย นอกจากนี้ การที่ขากรรไกรและลิ้นผ่อนคลาย ยังช่วยปรับปรุงความชำนาญทางด้านการพูดได้มากทีเดียว
ต่อด้วยท่ากระตุ้นการเขียนอย่าง “ท่าขยุกขยิกคู่” ทำได้ด้วยการประสานมือทั้งซ้ายและขวาให้ทำงานไปพร้อมๆ กัน โดยที่ผู้ปฏิบัติใช้มือ 2 ข้างเขียนลงในกระดาษวาดภาพหรือเขียนตัวอักษรตัวเดียวกัน โดยวาดไปพร้อมๆ กัน เมื่อฝึกบ่อยๆ ก็จะช่วยประสานสมองทั้งสองซีก ผลดีที่ได้ก็คือทำให้การประสานงานของสมองดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพความทรงจำในเรื่องทิศทาง และทำให้ความชำนาญด้านการสะกดคำและคำนวณดีและรวดเร็วขึ้นอีกด้วย เสริมสร้างความเป็นทีมให้กับสมอง
ปิดท้ายด้วยที่ “ท่าเคลื่อนไหวสลับข้าง” จะช่วยให้เกิดการตื่นตัว เกิดสมาธิพร้อมที่จะเรียนรู้ เป็นการทำงานของสมองทั้งสองซีกโดยถ่ายโยงข้อมูลกันได้ วิธีปฏิบัติคือ เอามือขวามาแตะที่ขาซ้าย และเอามือซ้ายมาแตะที่ขาขวา ทำช้าๆ สลับกัน
คุณยายน้อมจิตต์ อายุ 82 ปี ที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว บอกว่า ดีใจที่ได้ร่วมกิจกรรม ทำให้ร่างกายสดชื่น ท่าบริหารที่ครูสอนก็เป็นท่าง่ายๆ มีความเข้าใจ สามารถปฏิบัติตามได้ ดีกับสมองของเรา เพราะปกติยายเคยแต่ออกกำลังกาย แต่ยังไม่เคยออกกำลังสมอง ทำให้รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก ช่วยบำรุงสมองและความจำ
ส่วนคุณยายนัยนา อายุ 74 ปี กล่าวเช่นกันว่า กิจกรรมที่ทางศูนย์เรียนรู้ สสส.มาสอนออกกำลังกายสมอง เป็นกิจกรรมที่ไม่ยาก ยายชอบที่ช่วยให้ฟื้นฟูความจำ ทำให้สมองถูกกระตุ้น ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตั้งใจว่าจะเอาท่าไปฝึกบ่อยๆ เพื่อสุขภาพร่างกายและสมองจะได้ดีขึ้น
เชื่อว่าไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุที่นำกิจกรรมเหล่านี้ไปใช้เป็นประจำจะส่งผลดีต่อสมองแล้ว บุคคลทั่วไปหากนำไปทดลองใช้ก็ได้ประโยชน์เช่นกัน
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสร้าง SOOK สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง www.thaihealth.or.th/sook และ www.facebook.com/sookcenter หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.08-1731-8270.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |