วันนี้ - นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานพิธีบวงสรวงงานบูรณะพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นางเสริมกิจ ชัยมงคล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการ และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมในพิธี
นายประทีป เปิดเผยว่า พระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นอาคารสำคัญที่ใช้สำหรับประกอบพิธีสำคัญๆ ของเมืองนครศรีธรรมราช มาแต่โบราณ เช่น ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีแต่งตั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พิธีสมโภชพระบรมธาตุประจำปี และใช้ประกอบพิธีต่างๆ ทางศาสนา ปัจจุบันพระวิหารหลวงมีสภาพชำรุดทั้งส่วนโครงสร้างอาคาร รวมถึงเครื่องประกอบสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ซึ่งความชำรุดเหล่านี้ มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพตามกาลเวลาจากอายุของการก่อสร้างและภัยธรรมชาติ ปีงบประมาณ 2564 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร จึงได้จัดทำโครงการบูรณะพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานอันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ายิ่งของชาติให้คงอยู่ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 30,000,000 บาท โดยจะทำการบูรณะในส่วนหลังคาอาคารเพื่อแก้ไขปัญหาการรั่วซึม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้พระวิหารหลวงชำรุดทรุดโทรม รวมทั้งซ่อมแซมอนุรักษ์เครื่องลำยอง (ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์) งานประณีตศิลป์หน้าบัน และงานเพดาน
" สำหรับในปีงบประมาณ 2565 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร ได้ขอตั้งงบประมาณต่อเนื่อง ในลักษณะงบอุดหนุนร่วมกับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นเงิน 40,000,000 บาท งบประมาณกรมศิลปากร 30,000,000 บาท และของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร 10,000,000 บาท ดำเนินการบูรณะพระวิหารหลวงในส่วนงานที่เหลือ ประกอบไปด้วย ผนังอาคาร พื้น งานศิลปกรรม และการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ เพื่อให้พระวิหารหลวงกลับมามีสภาพแข็งแรงเรียบร้อยสวยงามดังเดิม " นายประทีป กล่าว
สำหรับพระวิหารหลวง หมายถึง วิหารหลังใหญ่ หรืออีกนัยหนึ่งคือวิหารที่เป็นของกลาง เนื่องจากแต่เดิม วัดพระมหาธาตุเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา วิหารหลังนี้จึงเป็นของส่วนรวมที่ใช้ประกอบพิธีกรรมร่วมกัน ต่อมาจึงได้ แปลงเป็น “พระอุโบสถ” แต่ผู้คนยังนิยมเรียกพระวิหารหลวงอยู่เช่นเดิม ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า พระวิหารหลวง สร้างโดยพระศรีมหาราชา เมื่อมหาศักราช 1550 (พ.ศ. 2171) ในสมัยแรกสร้างนั้นเป็นพระเจดีย์วิหารสูง 7 วา และสร้างรุ่นราวคราวเดียวกับวิหารธรรมศาลา สภาพปัจจุบันเป็นวิหารขนาด 13 ห้อง ลักษณะแบบผนังรับน้ำหนัก ซึ่งเดิมน่าจะออกแบบสร้างเป็นอาคารจตุรมุข ส่วนลักษณะอาคารที่เป็นมุขประเจิด และส่วนฐานแอ่นโค้งก็กำหนดอายุได้ในช่วงอยุธยาตอนกลาง - ตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21-23 ซึ่งสอดคล้องกับผลการขุดค้นทางโบราณคดี ที่มีการกำหนดอายุโบราณวัตถุ (อิฐฐานรากอาคาร) ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ได้ค่าอายุประมาณครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |