ครบรอบ 67 ปี "บิ๊กตู่" รับปากจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด การแก้ รธน.รายมาตราก็ไม่มีปัญหา ลั่นถ้าระแวงจะสืบทอดอำนาจก็ไปแก้มาให้ได้ จะไม่เลือกตนก็ไม่ได้ขัดข้อง "อนุทิน" แจง "ไดโนเสาร์" หมายถึงระบบที่มาของนายกฯ ย้ำต้องมาจาก ส.ส. พร้อมหารือ ปชป.-ชทพ.แก้ไขรายมาตรา "จุรินทร์" ไม่ถอนตัว อ้างยุบสภาต้องใช้กติกาเดิม "เทพไท" เสนอ ครม.เป็นเจ้าภาพแก้ไข รธน.จะได้รับผิดชอบทางการเมือง "ศรีสุวรรณ" ยื่น ป.ป.ช.ฟัน 208 ส.ส.-ส.ว. ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยศาล รธน.
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 11.55 น. วันที่ 22 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวขอบคุณสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลที่ได้มอบการ์ดอวยพรวันคล้ายเกิดย้อนหลังอายุครบ 67 ปี ซึ่งเป็นการ์ดเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ขอบคุณในคำอวยพร ขอบคุณเพลงไพเราะภายในการ์ดที่มอบให้ ผมขอสัญญากับพวกท่านทุกคน ผมจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เราจะต้องแก้ปัญหาของประเทศให้ได้โดยเร็วที่สุดในทุกๆ เรื่องและทุกมิติ"
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการให้สัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ยกการ์ดของสื่อมวลชนที่มอบให้ พร้อมร้องเพลงคลอว่าแฮปปี้เบิร์ธเดย์ทูมี และกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า "ให้การ์ดแล้วก็ทำดีๆ ให้ผมด้วย"
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบคำถามถึงความคืบหน้าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าได้นำรายชื่อทูลเกล้าฯ ถวายหรือยังว่า เร็วๆ นี้กำลังจะทำขึ้นไป อย่าให้เป็นเรื่องทุกเรื่องเลย มันเป็นเรื่องของการทำงาน ถ้าไม่ดีก็ปรับใหม่ วันหน้าอะไรจะเกิดขึ้นก็ยังไม่รู้ ทำให้มันสงบก่อนแล้วกัน
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า ก็ว่ากันไป ตนไม่ได้มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว ตนบอกแล้วว่ารัฐบาลก็เสนอแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนว่าจะแก้ไขทั้งฉบับหรือแก้เฉพาะหลายมาตรา ตนเองก็ไม่ขัดข้องถ้าทำได้ ก็ต้องไปดูที่กฎหมาย ดูว่ารัฐบาลโน้นเขียนไว้อย่างไรก็แค่นั้น ตนไม่จำเป็นจะต้องไปสั่งใคร ทุกคนต่างก็มีความคิด ความคิดดีๆ ก็มี ความคิดมันไม่ดีก็มี
"ถ้ามีการระแวงว่าผมจะสืบทอดอำนาจก็ไปแก้มา จะเลือกผมหรือไม่เลือกผมก็ไม่ได้ขัดข้อง ไม่เลือกก็ได้ ก็ไปแก้มา แก้ให้ได้ก็แล้วกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์จุดยืนของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ที่ถูกคว่ำว่า พรรคได้แสดงจุดยืนไปแล้วคือ ทำตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากตรงไหนต้องทำประชามติเราก็พร้อมจะทำตาม และเจตนารมณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ทำให้ถูกต้องตามกระบวนการ ส่วนการคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่จะแก้ไขเป็นรายมาตรา เดี๋ยวไปว่ากัน ต้องไปดูเหตุผลและวิธีการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เรามี ส.ส.ที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของสภาและถือเป็นสปิริตของแต่ละพรรค ที่จะต้องแก้ไขให้เกิดความเหมาะสมเพื่อเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง จะร่วมแก้ไขรายมาตราร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) หรือไม่ ต้องหารือกันอะไรที่หารือและเป็นประโยชน์ไปด้วยกันได้ก็ไป อย่าผิดกฎหมาย อย่าผิดขั้นตอน อย่าผิดคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐจะธรรมนูญ หลักการมีแค่นี้
เมื่อถามว่า ภายหลังที่ออกมาพูดถึงเรื่องของไดโนเสาร์ ได้เห็นปฏิกิริยาของ ส.ว.แล้วหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า "ไดโนเสาร์คือสิ่งที่ไม่ใช่คน แต่เป็นสิ่งที่เราไม่ชอบในเรื่องของที่มาของนายกรัฐมนตรี คนที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนอย่างพวกผม การเลือกนายกฯ ก็ควรมาจากการเลือกตั้งของ ส.ส. ก็แค่นั้นเอง แต่ในเมื่อมีบทเฉพาะกาลเราก็ต้องยอมรับ ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี เดี๋ยวก็หมดก็รออีกแป๊บเดียว ถ้าเทียบตอนนี้และทำไปเรื่อยๆ มันก็พอๆ กัน ซึ่งผมเป็นวิศวกรชอบเปรียบเทียบอะไรลักษณะอย่างนี้ พิสูจน์ได้ไม่ต้องมานั่งเดากัน"
ภท.-ปชป.ไม่ถอนตัว
เมื่อถามว่ามี ส.ว.บางคนเดือดร้อนกับคำว่าไดโนเสาร์ นายอนุทินหัวเราะก่อนตอบว่า "ต่างคนต่างอยู่ไม่ดีกว่าหรือ เพราะทุกคนทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้หมด เราก็ทำในส่วนของเราที่เป็น ส.ส.และประชาชนเลือกมา เราก็ทำตามกฎหมายและเคารพประชาชน"
เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรต่อแรงกดดันที่ต้องการให้ ภท.และ ปชป.ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มีแรงกดดันอะไรและไม่รู้สึกอะไรเลย ตนทำตามหน้าที่ทำตามกฎหมายและทำตามในสิ่งที่ควรจะเป็น
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณีที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.วิจารณ์นักการเมืองและพรรคการเมืองต่อกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลว่า ตนจะไม่พาดพิงถึงการตัดสินใจของวุฒิสมาชิกหรือพรรคการเมืองอื่น ไม่ว่าพรรคใด แต่สำหรับพรรค ปชป.ได้ยืนหยัดชัดเจนในเรื่องของการแก้ไข รธน.มาโดยตลอด และได้ทำหน้าที่จนวินาทีสุดท้ายด้วยการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ดังเป็นที่ทราบกันชัดเจนอยู่แล้ว นายวันชัยต่างหากที่ต้องตอบคำถามว่าอยู่ที่ไหนขณะที่มีการโหวตลงคะแนนวาระ 3 เพราะเคยบอกไว้ว่าจะสนับสนุนการแก้ไข รธน.
"สำหรับการร่วมรัฐบาลนั้น เชื่อว่านายวันชัยรู้ดีว่าถ้ารัฐบาลพังหรือยุบสภาในขณะนี้ การแก้ไข รธน.ก็จะพังตามลงไปด้วย และต้องนำไปสู่การเลือกตั้งโดยใช้กติกาเดิม ซึ่งเท่ากับนายวันชัยสามารถรักษาอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ ได้อีก การเมืองก็จะย้อนกลับมาที่เดิม ผลการเลือกตั้งก็อาจจะเป็นเบี้ยหัวแตกเหมือนเดิม และจะกลับไปสู่จุดที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอีก" นายจุรินทร์กล่าว
นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีที่นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ชทพ.ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการหนึ่งว่า รัฐบาลจะถูกมองว่าผิดคำพูด หากผิดสัญญาในการเดินหน้าแก้ไข รธน. ว่า นายนิกรเป็นนักการเมืองอาวุโสท่านหนึ่ง การพูดเช่นนี้ของนายนิกรจะทำให้หมดความเคารพนับถือจากเด็กรุ่นหลัง เปรียบเสมือนการเอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ถ้าจะพูดเพื่อรักษาฐานเสียงของพรรคนายนิกรก็พูดไปถือว่าเป็นสิทธิ แต่อย่ามาก้าวก่ายพรรค พปชร.หรือรัฐบาลว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ อย่ามาตีกินเล่นบทพระเอกเช่นนี้ รัฐบาลเองก็ไม่ได้มีท่าทีคัดค้านในการแก้เป็นรายมาตรา และยังมองว่าแนวทางนี้คือแนวทางที่ดีด้วย ซึ่งต่อจากนี้ก็ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของส.ส.ในสภาแล้ว เพราะฉะนั้นยังไม่มีใครทำผิดสัญญากับประชาชน
"หากมีความไม่สบายใจในการทำงานร่วมกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรอเรื่องรัฐธรรมนูญมาตัดสินอีก นายนิกรและพรรคชาติไทยพัฒนาสามารถถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลได้ในวันนี้เลย เพราะถ้าทำงานร่วมกันแต่มีความเคลือบแคลงใจกัน ก็ไม่ควรอยู่ด้วยกัน อีกทั้งตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีก็จะว่างลง 2 ตำแหน่ง จะได้เปิดโอกาสให้คนที่เขาไม่ลำบากใจมาทำงานแทน" นายสิระกล่าว
แนะ ครม.เสนอแก้ รธน.
ด้านนายนิกรกล่าวว่า ตนไม่ขอตอบโต้เพราะตนทำงานอยู่ในการเมืองมานาน? เพียงแต่อยากให้นายสิระกลับไปฟังให้ได้ศัพท์ จับประเด็นให้ได้ก่อนว่าตนได้พูดเอาไว้ว่าอย่างไร เพราะในเมื่อจำเป็นต้องยื่นแก้ไข รธน.เป็นรายมาตรา ตนและอดีต กมธ.ในฐานะตัวแทนของ 3 พรรค พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยที่ได้ทำงานใน กมธ.ร่วมกันเป็นเวลาเกือบๆ 2 ปี ก็ได้มีความเห็นร่วมว่า เรื่องนี้เราควรจะดำเนินการแก้เป็นรายมาตราต่อไป ส่วนกรณีที่ไล่ให้พรรคชาติไทยพัฒนาถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล ตนไม่มีความเห็น เพราะเรื่องนี้ตนให้ความเห็นในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายบริหาร ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เพราะถือเป็นเรื่องของผู้ใหญ่แกนนำรัฐบาลคงตัดสินใจกันได้
"คิดว่าการทำงานร่วมกันของรัฐบาลผสมเหมือนคนที่อยู่ในบ้านมากกว่า 1 หลัง ในรั้วเดียวกัน ไม่ควรที่สมาชิกของบ้านหลังใหญ่จะไปว่าหรือกล่าวหาความเห็นคนอื่นเป็นไปในแง่ร้ายเสียหมดเพราะมันไม่ดี ซึ่งเรื่องนี้เราจำเป็นต้องช่วยกันแก้ไข รธน.ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน ดังนั้นในฐานะส่วนหนึ่งที่อยู่ในรั้วเดียวกัน ก็ต้องช่วยกันผลักดันนโยบายนี้ที่ให้ไว้กับประชาชนในทุกทางที่สามารถทำได้" นายนิกรกล่าว
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคปชป.กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำให้การแก้ไข รธน.มีความสำเร็จได้ ถ้าหากปล่อยให้เป็นเรื่องแต่ละพรรคคิดกันไปเอง อยากจะเสนอเรื่องการแก้ไข รธน.ให้เป็นเรื่องที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล จึงควรให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพเสียเอง เป็นผู้เสนอการแก้ไข รธน.ต่อที่ประชุมรัฐสภา จะได้เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง เพื่อให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบในนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ถ้าจะให้พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเสนอร่างแก้ไข รธน.กันเองอีก เมื่อร่างแก้ไข รธน.ถูกคว่ำในที่ประชุมรัฐสภา ก็ไม่เห็นมีพรรคการเมืองใดแสดงความรับผิดชอบ แต่กลับลงมติคว่ำร่างแก้ไข รธน.ที่พรรคตัวเองเสนอไป เปรียบเสมือนการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า เป็นความอัปยศอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้ไข รธน.เป็นนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 12 ที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา แต่รัฐบาลกลับวางแผนร่วมกับเครือข่ายสืบทอดอำนาจในระบอบประยุทธ์ ทำแท้งรัฐธรรมนูญอย่างเป็นกระบวนการ กรณีมีกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเสนอไม่ผ่านสภา เช่นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ถ้าสภาลงมติไม่ผ่านรัฐบาลต้องรับผิดชอบ โดยการลาออกหรือยุบสภาทันที ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีความสำคัญยิ่งกว่ากฎหมายอื่น เพราะเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ เมื่อรัฐบาลนำร่างเข้าสู่สภาแล้วร่างกฎหมายมีอันตกไป รัฐบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ต้องลาออกหรือยุบสภาทันที
ยื่น ป.ป.ช.ฟัน 208 ส.ส.-ส.ว.
วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยกรณีกลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 208 คนให้ความเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.วาระสาม ทั้งๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ว่า หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อน จึงนำความมาร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ไต่สวนและมีความเห็นว่าการกระทำของสมาชิกรัฐสภาที่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวาะสามทั้ง ส.ส. 206 คน และ ส.ว. 2 คนนั้น เป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่อย่างไร หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ขอให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยลงโทษตามครรลองของกฎหมายต่อไป
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า มีสมาชิกรัฐสภาที่เป็นพรรคการเมืองอีกไม่น้อยกว่า 8 พรรคการเมืองที่ให้ความเห็นชอบในวาระสามดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ม.92(2) มีโทษถึงขั้นอาจถูกยุบพรรคได้ จึงขอให้ ป.ป.ช.พิจารณาไต่สวนและมีความเห็นในเรื่องดังกล่าว
ขณะที่นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป.กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พรรคไม่ได้กังวลใจ และยืนยันว่าการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาเป็นไปตามเอกสิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ อีกทั้งการแสดงความสุจริตใจในการทำหน้าที่จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด พร้อมชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาโดยยืนยันว่าไม่มีการกระทำใดที่จะเป็นความผิด สมาชิกรัฐสภาทุกคนเคารพคำวินิจฉัยศาล หากนายศรีสุวรรณคิดว่าผิดก็น่าจะร้องนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะผู้เสนอญัตติขอให้ที่ประชุมพิจารณาระเบียบวาระเรื่องด่วนให้โหวตวาระสามด้วย ซึ่งในการโหวตนั้นมีสมาชิกรัฐสภาโหวตให้เดินหน้าลงมติวาระสามทั้งสิ้น 474 คน ในการลงมติวาระที่ 3 ก็ยังมีสมาชิกรัฐสภา 94 คนโหวตงดออกเสียงอีก ซึ่งคนที่งดออกเสียงก็คือผู้ที่ใช้สิทธิ์ในการโหวตเช่นกัน
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ในฐานะโฆษก กมธ.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา เปิดเผยว่า กมธ.?ได้นัดประชุมวันที่ 1-2 เมษายน เพื่อพิจารณาเนื้อหาตามที่มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กฤษฎีกาพิจารณาปรับเนื้อหา ตามที่รัฐสภาเห็นชอบให้ปรับแก้ไขมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ตาม กมธ.เสียงข้างน้อยที่ เสนอให้ปรับแก้ไขเนื้อหาให้เพิ่มเติมสิทธิ์ของประชาชนและรัฐสภาขอทำประชามติ หาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติผ่านจะมีผลกระทบต่อรัฐบาล แต่หากไม่ให้ผ่าน ตามที่มีคนระบุว่าอาจถูกคว่ำวาระสาม นั่นจะเป็นปัญหากับรัฐบาลเช่นกัน เพราะร่าง พ.ร.บ.ประชามติถือเป็นกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลและเป็นกฎหมายปฏิรูปที่สำคัญ ดังนั้นหากร่างกฎหมายถูกคว่ำโดยรัฐสภา อาจเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลต้องยุบสภาหรือลาออกได้ เหมือนกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุครัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ ที่ต้องยุบสภาเพราะร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ผ่านสภา
"ร่างกฎหมายประชามติเป็นชนวนระเบิดของรัฐบาล เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีผมตอบไม่ได้ว่าเนื้อหาของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อถ่วงดุลสิทธิของรัฐสภาและประชาชนจะเป็นอย่างไร เพราะต้องรอพิจารณาวันที่ 1-2 เมษายน ที่ กมธ.นัดประชุมอีกครั้ง ทั้งนี้ กมธ.มีสิทธิ์ปรับปรุง เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ก่อนที่จะเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาในวาระสองต่อไป" นายวันชัยกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |