ทั้งตร.-ปชช.โดนลูกหลงม็อบ20มีค.ในพระบรมราชานุเคราะห์


เพิ่มเพื่อน    

  “ในหลวง” ทรงรับ ”ตำรวจ-ผู้สื่อข่าว-ประชาชนที่โดนลูกหลง” จากการชุมนุม 20 มี.ค.เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ “ประยุทธ์” รับกังวลมีประชาชนไม่พอใจม็อบอาจเกิดการปะทะกัน เดือด! ลูกสาว-ครอบครัวถูกคุกคาม ย้ำตำรวจถูกกระทำก่อนแต่กลายเป็นผู้ร้าย ศาลให้ประกันเกลี้ยง 16 กลุ่มรีเดมและเยาวชน ส่วนคดีจดหมายน้อย  “อานนท์” นัดฟังคำสั่ง 29 มี.ค.นี้ “เพนกวิน” อาการหนักยกชั้นเทียบ “โสเครตีส-กาลิเลโอ” คดีละเมิดอำนาจศาล ก่อนยอมรับทำจริงด้วยเหตุอัดอั้นไม่ได้ประกัน เจอลงดาบกักขัง  15 วัน

     เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก  บช.น.ได้แถลงข่าวย้ำถึงการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มี.ค.ที่เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยได้ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการบังคับใช้กฎหมายให้ฟัง
โดย พล.ต.ต.ปิยะกล่าวอีกว่า ผลของการเข้าบังคับใช้กฎหมายสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 20 ราย ล่าสุดได้แยกผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ส่งฝากขังศาลอาญา ส่วนผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชนได้ทำตามสนธิสัญญาเจนีวาว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก และนำตัวส่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งศาลได้ให้ประกันตัวเรียบร้อยแล้ว ส่วนกรณีผู้สื่อข่าวช่อง 8 ซึ่งถูกกระสุนยางบริเวณศีรษะและพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอแสดงความเสียใจ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้สั่งการมายัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ให้ดูแลคนเจ็บทุกราย พร้อมกำชับการปฏิบัติของตำรวจให้เป็นไปตามยุทธวิธีสากล
“เป็นที่น่าปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับคนเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ผู้สื่อข่าว และประชาชนที่โดนลูกหลงจากการเข้าจับกุมผู้ก่อเหตุวุ่นวายเมื่อวันที่ 20 มีนาคม เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติอย่างหาที่สุดมิได้” พล.ต.ต.ปิยะกล่าว
ที่ศาลอาญา พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามได้ยื่นคำร้องฝากขังกลุ่มผู้ต้องหา 16 คน ที่ร่วมกันชุมนุมกับกลุ่ม  REDEM ที่ท้องสนามหลวงและพื้นที่โดยรอบเมื่อวันที่ 20  มี.ค.64 รวม 3 สำนวน คดีดำ ฝ.365 - 367/2564 โดยทำการฝากขังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (ตชด.ภ.1) จ.ปทุมธานี ซึ่งใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา ในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืน  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกแล้วไม่ยอมเลิกฯ, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ และร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โดยชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ แต่เจ้าหน้าที่ได้ขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ 12 วัน พร้อมคัดค้านการประกันตัว
    ต่อมาเวลา 17.57 น. นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์คนละ 35,000  บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ
    ส่วนการประกันตัวผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน ซึ่งถูกจับกุมคดีร่วมชุมนุมกับกลุ่ม REDEM ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้แจ้งว่า คดีอาญาที่เกี่ยวกับมาตรา 112 และที่เกี่ยวเนื่องนั้น ศาลตีราคาประกัน 20,000 บาท และกำหนดรายงานตัวงานรับฟ้องในวันที่ 27 เม.ย.64 เวลา 08.30 น. ส่วนคดีอาญาที่ไม่มีมาตรา 112 นั้นศาลตีราคาหลักประกัน 3,000  บาท และกำหนดรายงานตัวงานรับฟ้องในวันที่ 27 เม.ย.64 เวลา 13.30 น.
สมช.จับตาม็อบตลอด
ขณะที่ในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ครั้งที่ 2/2564 โดยก่อนการประชุมนายกฯ ปฏิเสธตอบคำถามถึงการชุมนุมเมื่อวันที่ 20  มี.ค.ที่มีเสียงดังคล้ายระเบิดขึ้น โดยทำเพียงพยักหน้าตอบรับ
    ต่อมาหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมว่า ที่ประชุม สมช.ได้ประเมินมาโดยตลอด ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการแยกสลายไปหลายกลุ่ม บางกลุ่มไม่มีความรุนแรง แต่บางกลุ่มก็ใช้ความรุนแรง จะเห็นได้ว่าเขามีการปรับเปลี่ยนวิธีการมาโดยตลอด ซึ่งรัฐบาลมองว่าจะทำอย่างไรจะให้เหตุการณ์สงบ ประชาชนมีความปลอดภัย ซึ่งเรามองว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นประชาชนคนไทยเหมือนกัน สิ่งที่กังวลคือมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งหรือจำนวนหนึ่งที่เขาไม่ค่อยชอบ ก็ต้องไประวังตรงนั้นด้วย ไม่ให้เขาเกิดการทำร้ายซึ่งกันและกัน ทั้งนี้หากไม่ทำอะไรให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกันก็จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ฉะนั้นสื่อต้องช่วยตรงนี้นิดหนึ่ง การถ่ายภาพอะไรต่างๆ และวันนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพครอบคลุมพื้นที่ไว้ด้วย ซึ่งเป็นห่วงสื่อมวลชนที่อยู่ใกล้ในพื้นที่ชุมนุมมากๆ เวลามีการปฏิบัติอะไรย่อมได้ผลกระทบบ้าง  อาจเกิดอันตรายซึ่งมีความเป็นห่วง
“ได้สอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว เขายืนยันว่ากรณีที่มีการใช้อาวุธปืนกำลังติดตามสอบถามจากกล้องทั้งหมดอยู่  แต่เขายืนยันว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่แน่นอน มีการทำร้ายกันของประชาชนกลุ่มหนึ่ง และพวกนี้ผ่านไปก็ไปช่วยเขา ปรากฏว่าก็มีการใช้อาวุธออกมา ตรงนั้นคือสิ่งที่ผมเป็นห่วง ส่วนเจ้าหน้าที่ผมได้ย้ำเสมอว่าต้องระมัดระวังที่สุด ใครได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติของเราก็ต้องไปดูแลรักษาพยาบาลอะไรก็ว่าไป เราต้องดูทั้งสองมิติ” นายกฯ ระบุ
    เมื่อถามว่า มีการกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจเวลาปฏิบัติการสลายชุมนุมจะแยกแยะเรื่องสื่อด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าได้กำชับไปแล้ว จะแยกแยะอย่างไรก็ขอกรุณาสื่ออย่าไปอยู่ใกล้แนว เพราะมันอาจเกิดการปะทะกัน สื่อต้องเอาตัวเองออกมาในที่ปลอดภัยเข้าใจหรือไม่ ก็ขอให้ระมัดระวังตัวกันหน่อย เป็นห่วงเวลาไปทำข่าวสื่อเยอะเต็มไปหมด แล้วไปยืนอยู่ฝั่งผู้ชุมนุมแล้วถ่ายภาพเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเดียว วันนี้จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายไปฝั่งผู้ชุมนุมเยอะๆ จะได้เห็นว่าพวกเราอยู่ในจุดเสี่ยงแค่ไหนอย่างไร ก็เป็นห่วง
เมื่อถามว่าแต่ในสถานการณ์สื่อก็เลี่ยงไม่ได้ นายกฯ  กล่าวว่า สื่อรู้อยู่แล้วจะแรงตอนไหน ทำไมจะเลี่ยงไม่ได้ เมื่อรู้ว่าเขาเริ่มจะแรงกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปราบ สื่อก็ต้องไปถ่ายภาพข้างๆ ไม่ใช่ไปยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเขาต้องทำงาน เขาประกาศแล้วไม่ใช่หรือจากนี้จำเป็นต้องทำให้เหตุการณ์สงบ สื่อไม่เห็นหรือก่อนที่ตำรวจจะดำเนินการ เขาถูกกระทำอะไรบ้าง ตำรวจทำอะไรก่อนหรือเปล่า และถ้าไม่มีอะไรเขาจะทำหรือไม่ ตำรวจเคลื่อนกำลังไปหาผู้ชุมนุมหรือไม่ ถ้าไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือส่อเจตนาให้เกิดความบานปลาย ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศ สื่อต้องหลบถอยออกมา จะปล่อยให้ไปอยู่ทั่วพื้นที่มันได้หรือไม่ ทุกประเทศเขาก็เป็นอย่างนี้ ควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด จะชุมนุมก็ชุมนุมไปเถอะ ในพื้นที่ชุมนุมก็ว่าไป แต่การเคลื่อนย้ายไปโน่นไปนี่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่นใช่หรือไม่ ถ้ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ไม่ทำ แล้วคนพวกนั้นเขาร้องเรียนขึ้นมาจะไม่ดูแลเขาหรืออย่างไร
“การใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ถือว่าไม่ถูกต้อง เข้าใจหรือไม่ สื่อถ่ายรูปแต่เจ้าหน้าที่อย่างเดียวแล้วเอาภาพไปลงหน้าหนึ่ง มันดีอะไรกับประเทศบ้างหรือไม่ขอถามหน่อย มีความรับผิดชอบกับผมบ้างหรือไม่ ประเทศชาติ การสร้างความรับรู้กับต่างประเทศจะว่าอย่างไร จะทำให้เขาเข้าใจผิดหรือไม่ ทำไมไม่มีรูปคนพวกนี้บ้าง ทำร้ายตำรวจแบบนี้มันควรรับได้หรือไม่ และขอถามว่าตำรวจเขาทำอะไรรุนแรงหรือไม่ เริ่มต้นเขาทำอะไรไหม เขาไปประคับประคองเจรจาพูดคุย อย่าทำผิดกฎหมาย เขาพูดจนคอจะแตกอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว  
เดือด! ลามปามยกครัว
    เมื่อถามถึงกรณีการระดมความเห็นผ่านทวิตเตอร์ให้คุกคามลูกสาวนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์เล็กน้อยว่า แล้วมันควรหรือไม่ สื่อก็พูดไปว่าไม่ควร  สื่อทุกคนต้องช่วยบ้าง ไม่เคยเห็นสื่อที่ไหนพูดให้ตนเองซักคน ทำไมล่ะ ส่วนจะดำเนินคดีหรือไม่นั้น ฝ่ายกฎหมายจะดูเอง มีคนดูให้อยู่แล้ว ใครที่พูดจาให้ร้าย เกลียดชัง ดูหมิ่น ก็ถือว่าหมิ่นประมาทอยู่แล้ว หากใครมาทำลูกสาวท่าน ท่านยอมหรือไม่ กฎหมายมีหรือไม่-ก็มี ก็อย่าฝืนกฎหมาย ลูกและครอบครัวไม่เคยมาสร้างหรือทำอะไรให้เกิดความเสียหาย ไม่เคยออกมาให้ใครเห็นอยู่แล้ว
    เมื่อถามว่าจะเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไรบ้าง เพราะวันนี้พุ่งเป้าไปที่สถาบันเป็นหลักไม่ใช่รัฐบาล นายกฯ กล่าวว่าก็รู้อยู่เขามุ่งหมาย และต้องการอะไร
      นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวเรื่องนี้ว่า เสียใจที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้น และเราเคารพทุกการชุมนุม สิ่งที่พี่น้องประชาชนทุกฝ่ายให้ความเห็น ได้พูดออกมา เราฟังหมด เห็นทำเป็นหน้าเฉยๆ เราฟังหมด อันไหนที่เป็นประโยชน์ก็นำไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ไม่ใช้ เอาไปทำตาม ไม่ใช่ว่าเราไปดื้อแพ่งเสียเมื่อไหร่ แต่อย่าใช้ความรุนแรงกันเลยคนไทยด้วยกัน ถามว่าทำแล้วใครเจ็บก็พวกเรากันทั้งนั้น ตำรวจ ทหาร ประชาชนที่มา ก็ญาติพวกท่านทั้งหลาย  เราชุมนุมด้วยความสงบและสันติได้ เราเห็นต่างได้แต่ไม่ใช่เอากำลังมาต่อสู้กัน และไม่มีใครกล้าต่อสู้กับประชาชน
เมื่อถามว่า ในการชุมนุมพุ่งเป้าไปที่เรื่องสถาบัน  นายอนุทินกล่าวว่า ต้องดูที่เจตนารมณ์ สถาบันไม่เคยทำความเดือดร้อนอะไรให้ประชาชน คนไทยทุกวันนี้มีประเทศมาแบบนี้ได้โบราณกาลมา ไม่ใช่เพราะพระมหากรุณาธิคุณหรือ นี่คือความคิดของตนเอง
    ขณะที่รัฐสภา กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน  (ศปปส.) เข้ายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบจรรยาบรรณ ความเหมาะสม และทัศนคติของ ส.ส.ที่มีต่อสถาบันอย่างไม่เหมาะสม  โดยกลุ่มได้เคยยื่นร้องเรียนต่อสภามาแล้ว แต่ยังไม่เห็นบทลงโทษหรือมาตรการใดๆ โดยนายสมบูรณ์ยืนยันว่าจะนำเรื่องดังกล่าวแจ้งต่อประธานสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ภาพร่วมการชุมนุมกับกลุ่มรีเดมเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ว่า ส.ส.มีหน้าที่ดำรงไว้ในการปกป้องสถาบัน แต่นางอมรัตน์กลับไปอยู่ร่วมชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ไม่ช่วยปกป้องสถาบันในช่วงที่มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ จะมาอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ โดยจะยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบจริยธรรมนางอมรัตน์  รวมถึงยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการจริยธรรมสภาด้วย เพราะทำตัวเป็นเตี้ยหลังม็อบ และถ้าพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินการทางคดีอาญาต่อไปด้วย
    ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการแก้ปัญหาความรุนแรงในการชุมนุมว่า 1.การหยุดความรุนแรงต้องเริ่มจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐก่อน ต้องมีความอดทนอดกลั้นให้มากกว่านี้ 2.การปล่อยแกนนำออกมาเพื่อชุมนุมตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ จะทำให้การชุมนุมไม่เกิดบรรยากาศแบบนี้ได้ และ 3.ต้องแก้ปัญหาสิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง ถ้าแก้ได้ก็ไม่มีใครอยากไปชุมนุม ซึ่งเสนอบันได 3 ขั้นนี้ คิดว่าทุกอย่างจบ
กสม.รุดเข้าห้องขัง
    วันเดียวกัน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยนายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)? ได้เดินทางมาดูความเป็นอยู่ของผู้ถูกควบคุมตัว โดยได้พูดคุยกับนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่ม wevo และคนอื่นๆ  ผ่านการโทรศัพท์และกล้องวงจรปิด เพื่อสอบถามถึงสภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำ โดยนายสุวัฒน์กล่าวว่า วันนี้เป็นตัวแทนของ กสม.มารับฟังความคิดเห็นต่างๆ ของผู้ถูกควบคุมตัว และมาดูความเป็นอยู่ว่าปกติดีหรือไม่ ซึ่งภาพรวมจากการพูดคุยรับฟังและสำรวจ พบว่าปกติดีไม่มีปัญหาอะไร
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดคุยและร้องเรียนเรื่องการถูกทำร้ายร่างกายในเรือนจำหรือไม่ นายสุวัฒน์กล่าวว่า จากการพูดคุยไม่มีการร้องเรียนถึงเรื่องนี้ ทุกคนยังมีสภาพร่างกายและจิตใจปกติ ไม่ได้มีความหวาดระแวงกลัวที่จะถูกทำร้ายหรือมีอันตรายแต่อย่างใด
        ส่วนกรมราชทัณฑ์?ออกเอกสารชี้แจง โดยนายธวัชชัย  ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ ตอบประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับจดหมายของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่?มราษฎร 63 ?ว่าถูกส่งให้บุคคลภายนอกได้อย่างไรว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบเนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในระหว่างที่นายพริษฐ์และนายอานนท์ถูกนำตัวขึ้นศาล จึงต้องใช้เวลาตรวจสอบอย่างละเอียดและถี่ถ้วน
        นายธวัชชัยยังกล่าวถึง?การอดอาหารของนายพริษฐ์ว่า  เจ้าตัวยังคงปฏิเสธการรับประทานอาหารเช่นเคย โดยดื่มเพียงนม น้ำหวาน โอวัลติน และผงเกลือแร่โออาร์เอส  ซึ่งเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลได้เข้าตรวจร่างกาย พบว่าความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกาย และระดับน้ำตาลในเลือดลดลง สภาพร่างกายทั่วไปมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติดี
    ขณะเดียวกันที่ศาลอาญา ศาลนัดไต่สวนคำร้องคดีหมายเลขดำ อ.287/2564 กรณีนายอานนท์เขียนจดหมายร้องถึงศาลขอให้คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต หวั่นถูกทำร้ายในเรือนจำ โดยศาลได้เบิกตัวนายอานนท์, นายจตุภัทร์  บุญภัทรรักษา หรือไผ่ และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์  มาเป็นพยานเบิกความ ซึ่งทั้งคู่เบิกความในท่วงทำนองเดียวกัน และในช่วงบ่าย นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะผู้ควบคุมดูแลเหตุการณ์ได้ขึ้นเบิกความ ก่อนที่ศาลจะเปิดคลิปวิดีโอซึ่งถูกส่งมาเป็นวัตถุพยานต่อหน้านายอานนท์และผู้ได้รับอนุญาตเข้ารับฟังการพิจารณาคดี ซึ่งในคลิปวิดีโอมีการถ่ายทอดภาพและเสียงในห้องควบคุมในเรือนจำ ซึ่งเห็นกลุ่มจำเลยดังกล่าว ภายหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนศาลนัดฟังคำสั่งต่อไปในวันที่ 29 มี.ค.64
    ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายศาลอาญายังออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา หรือ ผอ.ศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา นายพริษฐ์ กรณีเมื่อวันที่ 15 มี.ค.64 เวลา 10.00 น.ที่นายพริษฐ์อ่านแถลงการณ์โดยลุกขึ้นยืนบนเก้าอี้ จนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายมีคนเขวี้ยงขวดนำลงพื้น
    โดยนายพริษฐ์ถูกเบิกตัวมาศาลด้วยการนั่งรถเข็นวีลแชร์ โดยมีทีมพยาบาลจาก รพ.ราชทัณฑ์ 2 คนมาคอยดูแลอาการ ซึ่งศาลได้อ่านข้อกล่าวหาให้นายพริษฐ์ฟังจนเป็นที่เข้าใจ ประกอบกับมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ และได้สอบถามนายพริษฐ์จะให้การว่าอย่างไร ซึ่งนายพริษฐ์ได้ขอเวลาระบายความอึดอัดใจพร้อมกับการแถลง โดยศาลอนุญาตให้แถลงในเวลา 5 นาที เมื่อนายพริษฐ์ลุกขึ้นยืนแถลงศาลเกี่ยวกับความอึดอัดที่ไม่ได้รับการประกันตัวใน 2 คดีที่ถูกฟ้อง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องคอยช่วยประคอง
'กวิ้น' ยกชั้นเทียบกาลิเลโอ
นายพริษฐ์แถลงด้วยวาจามีเนื้อหาสรุปได้ว่า ตัวเองได้ถูกพรากอิสรภาพไปแล้วเมื่อ 2,000 ปีก่อนหน้านี้ โสเครตีสถูกประหารชีวิตด้วยยาพิษ เพราะศาลเมืองเอเธนส์บอกว่าโสเครตีสมอมเมาคนรุ่นใหม่เป็นอาชญากรร้ายแรงทางความคิด ต่อมากาลิเลโอก็ถูกกักขังจนตาย จากการเสนอทฤษฎีว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล จึงไม่อยากให้มีการทำผิดพลาดซ้ำรอยประวัติศาสตร์โลก
ทั้งนี้ ศาลได้ปรามนายพริษฐ์โดยขอให้แถลงให้ตรงประเด็นการไต่สวนวันนี้ ซึ่งเป็นคดีละเมิดอำนาจศาล ถ้าแถลงไม่ตรงประเด็นศาลจะสั่งงดไต่สวน แต่นายพริษฐ์ยังอ้างว่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้ และแถลงด้วยวาจาต่อไปว่าตนถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว ทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสินคดีใดๆ โดยศาลให้เหตุผลว่ากลัวกลับไปกระทำผิดซ้ำ ทั้งที่ยังไม่มีการตัดสินว่าการกระทำของตนเองเป็นความผิดแต่อย่างใด ทั้งยังบอกว่าตนเองไม่ควรได้สิทธิประกันตัว เพราะเหยียบย่ำหัวใจคนไทย เท่ากับว่าศาลได้ตัดสินให้มีความผิดแล้ว จึงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ยังไม่ถูกพิพากษาถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องไม่ถูกปฏิบัติแบบนักโทษ ไม่คำนึงถึงการใช้ชีวิตของตนเองที่ยังเป็นนักศึกษา ไม่สามารถไปเล่าเรียนได้ตามปกติ ต้องเข้าห้องสมุดหาหนังสือวรรณกรรมชั้นเลิศอ่าน ทั้งนี้ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดี ถ้าหากตนเองจะถูกลงโทษก็ไม่เสียใจ  เพราะยังไงตอนนี้ก็ถูกคุมขังในเรือนจำอยู่แล้ว
ศาลได้สอบถามนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ว่าอยู่ในห้องพิจารณาวันเกิดเหตุด้วยหรือไม่ โดยนายกฤษฎางค์ตอบว่า วันนั้นมีจำเลยที่ได้รับความเดือดร้อนหลายคนแย่งกันพูดหลายรอบหลายหน
จากนั้นศาลได้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกภาพในห้องพิจารณาคดีขณะเกิดเหตุ ระหว่างนั้นนายพริษฐ์ขอกระดาษจากผู้สื่อข่าวในห้องมาเขียนจดหมาย ก่อนยื่นให้ทนายความ 3 แผ่น โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ขอตรวจสอบเนื้อหาในจดหมาย แต่ทนายความไม่อนุญาต โดยนายกฤษฎางค์กล่าวภายหลังว่า จดหมายทั้ง 3 แผ่น นายพริษฐ์เขียนไว้ใช้เป็นหลักฐานในการยื่นอุทธรณ์คดีนี้ หากศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุกจะต้องยื่นภายใน 15 วัน จึงถือว่าเป็นหลักฐานในคดี  ไม่สามารถให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตรวจสอบได้
    และภายหลังเปิดภาพกล้องวงจรปิดได้ราวๆ 5 นาที  ทนายความได้ไปปรึกษาคดีกับนายพริษฐ์ จากนั้นทนายความได้แถลงต่อศาลบอกว่า นายพริษฐ์ยอมรับว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง แต่เกิดจากสิ่งอัดอั้นที่อยู่ในใจเรื่องไม่ได้รับการประกันตัว
ภายหลังศาลไต่สวนเสร็จสิ้นโดยใช้เวลาประมาณ 2  ชั่วโมง ศาลจึงทำการปรึกษากันภายในองค์คณะก่อนอ่านคำสั่งว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลและประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา 31(1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และมาตรา 180 จึงมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 1 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78  คงจำคุก 15 วัน เมื่อพิจารณาถึงอายุ การศึกษาอบรม สภาพความผิด และความรู้สำนึกในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ประกอบกับโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้ถูกกล่าวหามีกำหนดไม่เกิน 3 เดือน และไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกมีกำหนด 15 วัน นับแต่วันนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
    จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวนายพริษฐ์กลับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
    ทั้งนี้ นายกฤษฎางค์กล่าวว่า โทษนับจากวันนี้ แต่มีโอกาสที่จะอุทธรณ์ภายใน 30 วัน โทษกักขังซึ่งอยู่ในเรือนจำอยู่แล้วนับไป 15 วัน ซ้อนกับคดี ป.อาญา ม.112 สมมติถ้าคดีนี้ได้ประกันตัว ก็ยังต้องติดคดีละเมิดอำนาจศาลให้ครบ 15 วัน การกักขังและการจำคุกแตกต่างกันที่โทษกักขังไม่ใช่โทษจำคุก อาจกักขังที่บ้านหรือสถานที่ที่ไม่ใช่เรือนจำก็ได้  ในกรณีที่ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ แต่กรณีนี้อยู่ในเรือนจำก็คือกักขังที่เรือนจำ และไม่นับเป็นโทษจำคุก
    ส่วนที่ จ.ขอนแก่น 16 แกนนำคณะราษฎรขอนแก่น ได้เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน สภ.ขอนแก่น ตามฐานความผิดใน 3 ข้อหา ก่อนจะมีปล่อยตัวไป ส่วนที่ จ.สมุทรปราการ น.ส.สุพรรษา เจือเพชร อายุ 33 ปี ผู้ต้องหาในคดี ม.112 พร้อมด้วยทนายความและพรรคพวกรวม 4 คน ได้เดินทางมาที่ สภ.บางปูเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งเบื้องต้น  น.ส.สุพรรษาได้ให้การปฏิเสธในข้อกล่าวหา และขอให้การในชั้นศาล.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"