ระวัง“ยุบสภา” เลือกตั้งกติกาเดิม


เพิ่มเพื่อน    

      ภายหลัง ส.ส.และ ส.ว.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่สามเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา บัดนี้เจ้ากรรมนายเวรเริ่มทำงาน “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นักร้องไมค์ทองคำ และ “ณฐพร โตประยูร” อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)             

                โทษฐาน ส.ส. 206 คน และ ส.ว. 2 คน โหวตขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่

            อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำไม่ได้ พรรคการเมืองที่เคยหาเสียงไว้เมื่อครั้งเลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 60 ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องเดินหน้าต่อไป 

            ตอนนี้หลายพรรคก็มีการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเป็นของตัวเอง เพื่อเตรียมยื่นเข้าสภาอีกครั้ง ลำพังพรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องยืมจมูกใครในการลงชื่อเพื่อเสนอญัตติแก้ไข

            แต่สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา แต่ละพรรคมีจำนวนเสียง ส.ส.ไม่เพียงพอที่จะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นก็ต้องหารือตกลงประเด็นว่าจะแก้มาตราใด อย่างไร โดยขณะนี้แนวโน้มชัดเจนว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่แตะหมวด 1 รูปแบบการปกครอง และหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ แน่นอน 

            ล่าสุดมีความชัดเจนเพิ่มเติมออกมาจาก “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคจัดทำร่างแก้ไขแยกเป็นแต่ละประเด็น ไม่นำมามัดรวมกัน ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดความเห็นว่าในประเด็นนี้เห็นด้วย ประเด็นนั้นไม่เห็นด้วย ก็จะทำให้ทั้งร่างตกไปทั้งหมด

                “จุรินทร์” ระบุด้วยว่า อย่างน้อยที่สุดจะต้องแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเป็นมาตราที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไขและเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญ 

            ส่วนบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรกนับจากรัฐธรรมนูญปี 60 มีผลใช้บังคับนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เป็นการตั้งคำถามว่าเราจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญย้อนกลับ หรือเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตยปกติได้หรือไม่ โดยให้ประชาชนที่เลือกผู้แทนฯ เข้ามาเป็นผู้มีสิทธิ์ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชน โดยไม่รวม ส.ว.ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 

            ด้านพรรคพลังประชารัฐมีความเคลื่อนไหวจาก “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ เปิดเผยว่า ระบบเลือกตั้งก็ต้องนำมาหารือด้วยว่า การจะใช้บัตร 2 ใบมีความเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร ในส่วนของบทเฉพาะกาล มาตรา 270 จากเดิมที่บัญญัติให้ ส.ว.มีอำนาจหน้าที่ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศนั้น ต่อไปจะมีการเสนอให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจดังกล่าว โดยอาจจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา

            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ส.ส.และ ส.ว.เห็นตรงกันว่าจะต้องได้รับการแก้ไข นั่นคือประเด็นระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่มีวิธีการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แปลกประหลาด จนถึงนาทีนี้นักคณิตศาสตร์ก็ยังงงๆ

            นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนอีกหลายจุด เช่น ส.ส.ยื่นยุบพรรคของตัวเองและไปสังกัดพรรคอื่นแทน แต่เมื่อไปอยู่กลับตอบสังคมไม่ได้ว่าตัวเองเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่เท่าไหร่ของพรรคการเมืองนั้นๆ แต่ประเด็นเหล่านี้ไม่อาจแก้เพียงมาตราเดียว เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน ได้เขียนผูกโยงไว้หลายมาตรา จนหลายคนบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากถึงยากที่สุด

            ระหว่างที่พรรคการเมืองใช้เวลาในการปลดล็อกมาตราที่เป็นปัญหาอยู่นั้น สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ การยุบสภา ถ้าเกิดขึ้นจริง เท่ากับว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในกติกาเดิม ปัญหาก็ยังคงวนเวียนอยู่แบบเดิม เรายังจะมี ส.ส.ปัดเศษ มีฤาษีเลี้ยงลิง และลิงพร้อมกินกล้วย มีงูเห่า มี ส.ส.ที่พร้อมออกเสียงสวนมติพรรค และมีพรรคการเมืองที่อ่อนแอ เป็นต้น 

            ปัญหาทั้งหมดนี้ ทุกคนรู้ นายกฯ เองก็รู้ ถ้ายังคิดจะยุบสภาอีก ไม่ทราบว่าบ้านเมืองจะตกอยู่ในสภาพอย่างไร. 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"