10 ผลงานศิลปะสะสมน่าดูที่สุด ที่แนะนำ


เพิ่มเพื่อน    

ผลงาน หมู ปี 2517 เทคนิคบรอนซ์ ศิลปิน ชิน ประสงค์

 

 

 

     สำหรับใครที่กำลังหานิทรรศการดีๆ ที่น่าดูที่สุด พร้อมเรื่องราวการเติบโตของศิลปินไทย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้รวบรวมผลงานศิลปะจากการสะสมมาไว้ให้ที่นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะสะสมของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (OCAC’s ART COLLECTION) ถ้าไม่อยากพลาดผลงานศิลปะโดดเด่นของไทย ต้องมาเยี่ยมชมให้ได้

        นิทรรศการนี้คนรักงานศิลปะจะได้พบกับผลงานศิลปะล้ำค่ามากกว่า 70 ผลงาน ถ้าได้ดูครบทุกชิ้นงาน แล้วจะรู้ว่าวงการศิลปกรรมบ้านเราไม่ได้ด้อยกว่านานาชาติ เพราะ สศร.เก็บรวบรวมองค์ความรู้อันทรงคุณค่าด้านศิลปะร่วมสมัย จากผลงานของศิลปินผู้มีชื่อเสียงในแวดวงศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยจากอดีตสู่ปัจจุบันผ่านนิทรรศการซึ่งจัดแสดงให้ชม ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

 

        10 ผลงานแนะนำภายในนิทรรศการ เริ่มจากภาพร่างผลงาน : Sketch for Nature Breath ปี 2538 ศิลปินมณเฑียร บุญมา เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบผลงานประติมากรรมจัดวางแบบมีส่วนร่วมที่โด่งดังมากที่สุดชุดหนึ่งของมณเฑียร ศิลปินสร้างประติมากรรมจัดวางคล้ายสถูปขนาดย่อม ประกอบจากกล่องโลหะโปร่งเจาะรูเรียงซ้อนกันคล้ายซี่โครง ส่วนบนปรากฏประติมากรรมรูปปอดช้าง ทำจากโลหะ ภายในกล่องโลหะทุกใบบรรจุด้วยสมุนไพรกลิ่นหอม อีกทั้งรูปปอดโลหะเคลือบด้วยสมุนไพรแห้ง เพราะศิลปินต้องการให้ผู้ชมพบกับสภาวะธรรมชาติ  ผ่อนคลาย มีสมาธิ รีบมาดูกัน

ภาพร่างผลงาน : Sketch for Nature Breath ปี 2538  ศิลปิน มณเฑียร บุญมา

 

        ที่น่าดูอีกชิ้น ผลงานไม่ปรากฏชื่อ ปี 2504 ศิลปิน ประหยัด พงษ์ดำ เทคนิคสีน้ำมันบนกระดาษพิมพ์ เป็นเนื้อเรื่องของคนตาย สะท้อนความทุกข์หนักของศิลปินที่เสียแม่โดยไม่มีโอกาสเห็นหน้ากันครั้งสุดท้าย ชิ้นน่าดูถัดมายกให้ผลงาน ”พลังการผลิต” ศิลปิน ประเทือง เอมเจริญ เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ มีล้อเกวียนกลางภาพ คันไถและงอบ เมล็ดข้าวขนาดใหญ่อยู่ด้านล่าง แสดงการเปลี่ยนไปของแต่ละช่วงจากเหลืองสดสู่ความมืด แทรกพื้นหลังภาพด้วยทุ่งนาและบ้านในชนบท สื่อชาวนาผู้ปลูกข้าว หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน

ผลงาน ”พลังการผลิต” ศิลปิน ประเทือง เอมเจริญ

 

        ผลงานที่พูดถึงอย่างมากเต็มไปด้วยอารมณ์ แนะนำผลงาน หมู ปี 2517 เทคนิคบรอนซ์ ศิลปิน ชิน ประสงค์ ทุกมัดกล้ามเนื้อบนตัวหมู ศิลปินสร้างให้ปูดโปนเกินจริง แผงขนที่แน่นหนาบนหัวยกชันทอดต่อถึงแนวกลางหลังให้สายตาได้ล้อลงสู่ปลายหาง แล้วมาที่ส่วนขาหลังหน้าท้อง บรรจบตรงจมูกปากที่ยื่นออกมา ให้อารมณ์ร้ายของหมูป่าเต็มที่ 

 ประติมากรรม ”สังสารวัฏแห่งความปรารถนา” ปี 2545 นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน

 

       ติดใน 10 ผลงานแนะนำ ยังมีภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ  Grappelensee mit Schafberg ศิลปิน นที อุตฤทธิ์, ผลงานประติมากรรม สังสารวัฏแห่งความปรารถนา ปี 2545 เทคนิคบรอนซ์ ศิลปิน นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน สื่อชีวิตมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่กับความปรารถนา, ผลงานสื่อผสม  กาละ ศิลปิน ดำรง วงศ์อุปราช, ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบแนวเสียดสี Sickly Sweet ปี 2542 ศิลปินชาติชาย ปุยเปีย ดูเผินๆ เห็นภาพกลุ่มนางรำนั่งพับเพียบแบบไทยๆ สวยงาม แต่ศิลปินสอดแทรกภาพหมาเน่าลอยน้ำตาย คนโก้งโค้งหันบั้นท้ายให้ผู้ชม และใบหน้าศิลปินแสยะยิ้มราวคนวิกลจริต, ผลงาน Untitled (Camouflage) 02 โดยฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช  และจิตรกรรมไม่มีชื่อ ศิลปิน ชวลิต เสริมปรุงสุข ปี 2540 

        ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการ สศร. กล่าวว่า นิทรรศการแสดงผลงานสะสมฯ จัดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินผู้สร้างคุณค่าในเชิงสุนทรียะอันเป็นเครื่องสะท้อนประวัติศาสตร์ศิลป์ในแต่ละยุคสมัยให้เป็นที่ประจักษ์  โดยได้นำผลงานศิลปะอันล้ำค่าของศิลปินระดับชาติ ทั้งศิลปินรุ่นใหม่ ศิลปินรุ่นกลาง ศิลปินอาวุโส ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่ง สศร.ได้จัดซื้อจากศิลปินหรือทายาท เพื่อเก็บสะสมไว้เป็นสมบัติของชาติกว่า 10 ปี มาจัดแสดงมากกว่า 70 ผลงาน ประชาชนจะได้ชมนิทรรศการแสดงผลงานอย่างใกล้ชิด

ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบแนวเสียดสี Sickly Sweet ศิลปินชาติชาย ปุยเปีย

        ดร.วิมลลักษณ์ กล่าวว่า ผลงานศิลปะแห่งความภาคภูมิใจเหล่านี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และพัฒนาการของศิลปินไทยแล้ว ยังเป็นเครื่องสะท้อนคุณค่าในเชิงสุนทรียะในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินไทย ด้วยการใช้เทคนิคต่างๆ ภายใต้บริบททางสังคมในแต่ละยุคสมัย หลายผลงานยังไม่เคยนำมาจัดแสดงมาก่อน และหาชมได้ยากอย่างผลงานสีน้ำมันบนกระดาษพิมพ์ ปี 2504 ของ ศ.ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ, ผลงานสื่อผสม "กาละ" ปี 2508 ของ นายดำรง วงศ์อุปราช, จิตรกรรม สีน้ำมันบนผ้าใบ "พลังการผลิต" ปี 2522 ของนายประเทือง เอมเจริญ,  ประติมากรรม บรอนซ์ "สังสารวัฏแห่งความปรารถนา" ปี 2545 ของ ศ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน เป็นต้น

        “นิทรรศการนี้จะเป็นต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจ การศึกษาเรียนรู้ให้กับศิลปินรุ่นใหม่สามารถสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยหลากหลายเทคนิคให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งจะใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีของประเทศได้อีกด้วย“ ผอ.สศร.กล่าว

        ทั้งหมดเป็นงานศิลปะล้ำค่า ควรไปชม รับรองไม่มีผิดหวัง ดูแล้วถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย แบ่งการจัดแสดงนิทรรศการและเปิดให้เข้าชมจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกระหว่างวันที่ 19 มี.ค.-9 พ.ค. ที่บริเวณโถง ชั้น 1 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 7 เม.ย.-9 พ.ย. ที่ห้องจัดนิทรรศการ ชั้น 2 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"